++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ความยากจน



ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจถดถอย หลายคนวิตกกันว่าจะยากจนยิ่งขึ้นหรือไม่ ในเรื่องนี้คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ แห่งราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายไว้ดังนี้...

ความยากจน เป็นศัพท์บัญญัติของคำ poverty หมายถึง สภาพที่ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน กล่าวคือ ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะใช้จ่ายในการซื้อสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานในการครองชีพ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ความยากจนอาจวัดได้ใน ๒ ลักษณะ คือ ความยากจนสัมบูรณ์ (absolute poverty) กับความยากจนสัมพัทธ์ (relative poverty)

ความยากจนสัมบูรณ์ คือสภาพที่ประชาชนไม่มีรายได้เพียงพอที่จะมีชีวิตอยู่ได้ ซึ่งอาจแก้ไขได้ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ก็จะช่วยขจัดความยากจนนั้นได้ ส่วนความยากจนสัมพัทธ์เป็นการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มของประชาชนที่มีรายได้แตกต่างกัน ดังนั้น ความยากจนสัมพัทธ์จึงจะมีอยู่ตลอดเวลา แม้ว่ากลุ่มประชาชนที่ยากจนที่สุด มีรายได้เพียงพอที่จะใช้จ่ายในการครองชีพได้ก็ตาม

นอกจากนี้ ยังมีคำ เส้นแบ่งระดับความยากจน หรือ poverty line หมายถึง ระดับรายได้ขั้นต่ำสุดที่ทำให้บุคคลหรือครัวเรือนในประเทศหนึ่ง ๆ มีความเพียงพอในการครองชีพ โดยวัดจากจำนวนเงินที่ต้องจ่ายสำหรับสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล และเครื่องอุปโภคอื่น ๆ ความจำเป็นที่ต้องมีการใช้จ่ายขั้นต่ำนี้ จึงเป็นที่มาของเป้าหมายของรัฐบาล ในการให้สวัสดิการสังคมในรูปแบบต่าง ๆ

ส่วนอีกคำหนึ่งที่น่าสนใจคือ poverty trap หรือ กับดักความยากจน หมายถึง สถานการณ์ที่คนยากจนไม่อาจหลุดพ้นความยากจนนั้นไปได้ ถึงแม้ว่าจะมีงานทำหรือมีค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะเมื่อมีงานทำก็จะถูกลดสวัสดิการ หรือต้องเสียภาษี หรือการที่ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าก็เพิ่มขึ้น

ดังนั้น การมีงานทำหรือมีค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น จึงไม่ได้ช่วยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงาน หรือการมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงไม่ช่วยให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจน คนยากจนจึงต้องอยู่ในกับดักความยากจนต่อไป.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก
คลังความรู้/ราชบัณฑิตยสถาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น