++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ปริญญาตรีเตะฝุ่นพุ่ง



ท่ามกลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไร้แรงขับเคลื่อนเป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกัน ทำให้ภาคธุรกิจในหลายๆ สาขาอุตสาหกรรมจำต้องปรับลดกำลังการผลิต ลดชั่วโมงการทำงาน และชะลอการจ้างแรงงานใหม่

ในปี 2557 สถานการณ์ตลาดแรงงานไทย อาจต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติมากขึ้นกว่าเดิม เพราะในขณะที่แรงงานขั้นพื้นฐาน ที่ยังคงเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่แรงงานที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี น่าจะหางานทำได้ยากขึ้น ซึ่งทำให้ภาวะการจ้างงานในภาพรวม ยังมีแนวโน้มชะลอตัวตามบรรยากาศเศรษฐกิจ และผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง ที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจในหลายๆ อุตสาหกรรม

ทั้งนี้ สัญญาณอ่อนแอของตลาดแรงงานได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว นับจากต้นปี 2557 สะท้อนจากจำนวนผู้ว่างงานในไตรมาส 1/2557 ที่เพิ่มขึ้นมามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.44 แสนคนต่อเดือน (เพิ่มขึ้น 28.2% หรือประมาณ 75,700 คน จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 2.69 แสนคนต่อเดือน) ทำให้อัตราการว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสแรกปี 2557 ขยับขึ้นมาที่ 0.9% เทียบกับ 0.7% ในช่วงเดียวกันปีก่อน

ประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้น่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ 1.8% อาจกดดันให้ตลาดแรงงานในภาพรวมมีภาพที่ซบเซาลง ทั้งนี้ คาดว่าอัตราการว่างงานในปี 2557 อาจขยับขึ้นมาที่ 0.8% จาก 0.7% ในปี 2556

โดยจำนวนผู้ว่างงานอาจปรับขึ้นมาที่ 3.20 แสนคน จากระดับ 2.82 แสนคนในปี 2556 โดยหากพิจารณารวมจำนวนผู้ทำงานต่ำกว่าระดับที่น่าจะเพิ่มขึ้นมากในปีนี้ (สะท้อนถึงภาวะการว่างงานแฝงที่น่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น) ก็อาจทำให้อัตราการว่างงานรวมผู้ทำงานต่ำระดับขยับสูงขึ้นมาที่ 1.5% เทียบกับ 1.3% ในปี 2556

อย่างไรก็ดี แม้อัตราการว่างงานของไทยในปี 2557 จะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แต่มองว่ายังเป็นระดับที่ต่ำมาก และบ่งชี้ถึงสภาพความตึงตัวของตลาดแรงงานไทยที่ยังคงอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานพื้นฐานที่รองรับการทำงานประเภท 3-D ได้แก่ งานสกปรก (Dirty) งานยาก (Difficult) และงานอันตราย (Dangerous) รวมถึงงานที่ไม่ต้องการทักษะที่ซับซ้อนมากนักในภาคบริการ เช่น งานแม่บ้าน และงานบริกร เป็นต้น

ขณะที่แรงงานในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานปริญญาตรีในสาขามนุษยศาสตร์/สังคมศาสตร์ ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด อาจเผชิญปัญหาที่ตรงกันข้าม คือ เผชิญความยากลำบากในการหางานทำ และอาจไม่สามารถต่อรองค่าตอบแทนได้มากนัก เนื่องจากมีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนมากเมื่อเทียบกับตำแหน่งงาน

คอลัมน์ เศรษฐกิจติดดิน
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
ข่าวสดออนไลน์, 16 พ.ค.2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น