++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2548

ไม่ใช่แค่เลือด.. ที่คุณบริจาคได้

โดย พัชรา อร่ามศรี
4 พฤศจิกายน 2547 09:36 น.
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พูดถึงการบริจาคโลหิต ซึ่งเป็นการบริจาคโลหิตรวม (Whole blood) แต่ที่จริงยังมีอีกหลายอย่าง ได้แก่ การบริจาคพลาสมา (Plasma) การบริจาคเกล็ดโลหิต (Single Donor Platelets) และการบริจาคเม็ดโลหิตแดง (Single Donor Red Cell)


โลหิตแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ

1. เม็ดโลหิต จะมีอยู่ประมาณ 45 % ของโลหิตทั้งหมด ซึ่งมี 3 ชนิด คือ

- เม็ดโลหิตแดง มีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนเพื่อให้เซลล์ต่างๆ ใช้สันดาปอาหารเป็นพลังงาน อายุการทำงานในกระแสโลหิตประมาณ 120 วัน

- เม็ดโลหิตขาว ทำหน้าที่ทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และสารที่เป็นอันตรายอื่นๆ มีอายุการทำงานในกระแสโลหิตประมาณ 10 ชั่วโมง
- เกล็ดโลหิต ทำหน้าที่ช่วยให้โลหิตแข็งตัวตรงจุดที่มีการฉีกขาดของเส้นโลหิต มีอายุการทำงานในกระแสโลหิตประมาณ 5-10 วัน

2. พลาสมา (Plasma ) คือส่วนที่เป็นของเหลวของโลหิตที่ทำให้เม็ดโลหิตทั้งหลายลอยตัว มีลักษณะเป็นน้ำสีเหลือง จะมีอยู่ประมาณ 55 % ของโลหิตทั้งหมด มีหน้าที่ควบคุมระดับความดันและปริมาตรของโลหิต ป้องกันเลือดออก และเป็นภูมิคุ้มกันโรคติดต่อที่จะเข้าสู่ร่างกาย

พลาสมาประกอบด้วยส่วนที่เป็นน้ำประมาณ 92 % และส่วนที่เป็นโปรตีนประมาณ 8 % โปรตีนที่สำคัญ ได้แก่ แอลบูมิน มีหน้าที่รักษาความสมดุลของน้ำในหลอดเลือดและเนื้อเยื่อ และอิมมูโนโกลบูลิน มีหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันโรคติดต่อต่างๆ ที่จะเข้าสู่ร่างกาย

การบริจาคพลาสมา

พลาสมาจะนำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคขาดน้ำเหลือง มีอาการช็อกเนื่องจากน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ หรือช็อคในผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออก

วิธีการก็คือ เจาะโลหิตออกจากร่างกายผ่านตัวกรองหรือตัวปั่น เพื่อแยกพลาสมาออกจากเม็ดโลหิต ส่วนที่เป็นพลาสมาจะถูกแยกส่งไปยังถุงบรรจุที่รองรับอยู่ ส่วนที่เป็นเม็ดโลหิตแดงจะไหลกลับเข้าสู่ร่างกายผู้บริจาค

การบริจาคพลาสมาสามารถทำได้ทุก 14 วัน บริจาคครั้งละ 500 มิลลิลิตร พลาสมาที่ได้รับบริจาค นอกจากจะใช้ในรูปของส่วนประกอบโลหิตที่นำไปช่วยชีวิตผู้ป่วยเฉพาะโรคแล้ว ยังนำไปผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โลหิต เช่น แอลบูมิน แฟคเตอร์ 8 เข้มข้น แฟคเตอร์ 9 เข้มข้น อิมมูโนโกลบูลิน ชนิดฉีดเข้าเส้น เซรุ่มป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี และเซรุ่มป้องกันพิษสุนัขบ้า

การบริจาคเกล็ดโลหิต

ในร่างกายมนุษย์เราจะมีเกล็ดโลหิตประมาณ 1-5 แสนต่อ 1 ลูกบาศก์มิลลิลิตร ถ้ามีภาวะเกล็ดโลหิตต่ำมากจะทำให้โลหิตออกง่าย นอกจากนี้ยังมีโรคหลายโรคที่ทำให้เกล็ดโลหิตต่ำ เช่นโรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว โรคที่เกี่ยวกับไขกระดูกไม่ทำงาน โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคไข้เลือดออก เป็นต้น

ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากที่ต้องใช้เกล็ดโลหิตรักษา ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจะเปิดรับบริจาคเกล็ดโลหิตเฉพาะที่มีการร้องขอจาก โรงพยาบาลเท่านั้น ไม่ได้เปิดรับบริจาคทั่วไปเหมือนรับบริจาคโลหิตหรือพลาสมา เพราะเกล็ดโลหิตเมื่อเจาะออกมานอกร่างกายแล้ว จะมีอายุเพียง 24 ชั่วโมง - 5 วัน ตามลักษณะและกรรมวิธีในการเจาะเก็บ และต้องเก็บรักษาไว้ในตู้ซึ่งควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 22 องศาเซลเซียส พร้อมกับมีการเขย่าเบาๆ ตลอดเวลา

การรับบริจาคเกล็ดโลหิต จะใช้เครื่องมือเฉพาะที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ผู้บริจาคเกล็ดโลหิตจะถูกเจาะโลหิตจากแขนข้างหนึ่งผ่านเข้าเครื่องแยก อัตโนมัติ เพื่อแยกเกล็ดโลหิตออกจากเม็ดโลหิตแดง เมื่อได้เกล็ดโลหิตแล้ว ส่วนประกอบอื่นๆ จะถูกคืนกลับเข้าสู่ร่างกาย ระยะเวลาในการบริจาคเกล็ดโลหิต ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง

คุณสมบัติพิเศษสำหรับผู้บริจาคเกล็ดโลหิต ได้แก่ หมู่โลหิตจะต้องตรงกับผู้ป่วยที่ต้องการเกล็ดโลหิต
เส้นโลหิตตรงข้อพับแขนชัดเจน ไม่รับประทานยาแก้ปวดแอสไพรินในระยะ 5 วันก่อนบริจาค และควรเป็นผู้ที่บริจาคโลหิตสม่ำเสมอ

ผู้บริจาคเกล็ดโลหิตจะไม่อ่อนเพลีย สามารถทำงานได้ตามปกติ ในกรณีจำเป็น อาจให้บริจาคได้ทุก 3 วัน หลังจากบริจาคเกล็ดโลหิตไปแล้ว 1 เดือน สามารถบริจาคโลหิตได้ตามปกติ

การบริจาคเม็ดโลหิตแดง

เม็ดโลหิตแดงใช้ในผู้ป่วยที่สูญเสียโลหิตจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด หรือซีดจากความผิดปกติของเม็ดโลหิตแดง เช่นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย

คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้บริจาคเช่นเดียวกับผู้บริจาคโลหิตทั่วไป เช่น อายุระหว่าง 17-60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่อยู่ระหว่างรับประทานยาต่างๆ สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง แต่มีคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากการบริจาคโลหิตทั่วไปคือ

- ส่วนใหญ่จะรับบริจาคจากผู้ชาย น้ำหนัก 60 กิโลกรัมขึ้นไป ส่วนสูงมากกว่า 155 เซนติเมตร ถ้าเป็นผู้หญิงต้องหนักตั้งแต่ 68 กิโลกรัม และสูงกว่า 165 เซนติเมตร

- ค่าความเข้มข้นโลหิตมากกว่า 40%

- ค่าดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (น้ำหนักหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง) น้อยกว่า 25

- สามารถบริจาคได้ทุก 16 สัปดาห์ หรือทุก 4 เดือน
สำหรับการบริจาคเม็ดโลหิตแดง ไม่มีการเปิดรับบริจาคทั่วไปเช่นกัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โทร. 0-2251-3111

ติดตามรับฟังรายการ “สภาพสุข สุขภาพ”
ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 10.00-12.00 น.
ทางคลื่นสามัญประจำบ้าน เอฟ.เอ็ม. 97.5 เมกะเฮิร์ตซ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น