++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เทคนิคในการบริหารเจ้านาย

» เทคนิคในการบริหารเจ้านาย
» โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เมื่อพูดถึงการบริหารจัดการ เกือบทุกคนจะนึกถึงการบริหารจัดการลูกน้อง หลายคนอาจนึกถึงการบริหารจัดการงาน มีบางคนที่นึกถึงการบริหารจัดการเพื่อนร่วมงาน แต่น้อยคนมากที่จะนึกถึงการบริหารจัดการเจ้านาย !

อันที่จริงศาสตร์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ นักบริหารหลายคนที่มีโอกาสทำงานกับต่างชาติ รู้ดีว่าเมืองนอกมีวิชาการบริหารจัดการหัวหน้า ที่เรียกว่า Managing Up หรือแปลเป็นไทยว่า การบริหารขึ้นข้างบน สอนกันเป็นเรื่องเป็นราวมานานแล้ว

วารสารวิชาการชื่อดังอย่าง Harvard Business Review ก็มีบทความชื่อ Managing Your Boss ซึ่งตีพิมพ์มาหลายปี แต่ยังเป็นบทความที่มียอดซื้อและ Download จากผู้สนใจทั่วโลก เป็นอันดับต้นๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน แสดงให้เห็นว่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่มีแต่คนไทยเท่านั้นที่อยากรู้

การบริหารจัดการเจ้านาย เป็นเรื่องใกล้ตัวที่อาจถูกมองข้ามไป ลูกน้องหลายคนไม่ประสบความสำเร็จเพราะบริหารเจ้านายได้ไม่ดี ในขณะที่บางคนฉลาดกว่าสามารถจัดการเจ้านายได้อยู่หมัด

เทคนิคเหล่านี้มีคนพูดถึงกันมากมาย ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร เรียกว่า “ลูกน้องเรียนได้ เจ้านายเรียนดี”

วันนี้จึงขอนำเทคนิค 10 ประการในการจัดการเจ้านาย มาสาธยายให้ฟัง

◌◌◌◌◌◌

1. ค้นหาให้ได้ว่าหัวหน้าให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร

เจ้านายแต่ละคนมีสไตล์ในการทำงานไม่เหมือนกัน บางคนอยากให้ลงรายละเอียดเยอะ ๆ บางคนอยากได้แต่เนื้อ ๆ บางคนชอบอ่าน บางคนอยากคุยกันแบบเจอหน้า ฯลฯ

การทำงานให้ประสบความสำเร็จ ลูกน้องต้องรู้ให้ได้ว่าเจ้านายสนใจและให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร

เทคนิคง่าย ๆ คือ “ไม่ต้องเดาถามตรง ๆ” ว่าหัวหน้าอยากให้รายงานความคืบหน้าบ่อยแค่ไหน ในรูปแบบใด เป็นต้น แล้วจงตอบสนองตามนั้น

◌◌◌◌◌◌


2. ให้หัวหน้ารับทราบว่าอะไรสำคัญสำหรับคุณ

ในทางกลับกัน การทำงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เจ้านายก็ควรทราบด้วยว่าอะไรสำคัญสำหรับลูกน้อง ดังนั้นไม่ต้องรอให้ถาม บอกตรง ๆ เลยว่าคุณอยากได้รับการสื่อสารและบริหารจัดการเช่นไร

ตัวอย่างเช่น...

“หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ขอให้พี่บอกผมตรงๆ ได้ทันที ไม่อยากให้เก็บไว้บอกภายหลัง”

ถ้าบังเอิญความเห็นของคุณกับหัวหน้าไม่ตรงกัน จงหาทางปรับจูนตั้งแต่แรกก่อนที่จะเริ่มต้นลงมือทำงาน คุยกันซะให้เคลียร์จะได้ไม่ต้องผิดใจกันทีหลัง !

◌◌◌◌◌◌


3. ส่งมอบงานที่ดีที่สุด เพื่อให้เจ้านายดูดี

อย่าเพิ่งเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการ “เชลีย” !
ผมหมายถึงเมื่อได้รับมอบหมายงานมา จงตั้งใจทำให้ดีที่สุดและส่งมอบก่อนเวลาที่กำหนด

จำไว้ว่า...ผลงานของคุณก็คือ ผลงานของเจ้านาย หากงานที่ส่งไป ไม่ต้องเสียเวลาแก้ไข เจ้านายนำไปใช้ต่อได้ทันที

นอกจากเจ้านายคุณจะดูดีแล้วเขายังมีเวลาไปทำงานอื่น ๆ ที่มีคุณค่ามากกว่า
หากทำได้เช่นนี้ … มีหรือที่คุณจะตกต่ำ !

วันหลังคุณขออะไร เจ้านายก็ให้ … เชื่อไหม ?

◌◌◌◌◌◌


4. ตอบสนองให้เร็วและให้มากกว่าที่ขอ 1 ขั้นเสมอ

เจ้านายหลายคนรู้สึกหัวเสียกับลูก น้องที่ทำตัวเป็นเหมือน “ทองไม่รู้ร้อน” สื่อสารด้วยก็ไม่มีสัญญาณตอบรับ พอถาม...ก็ทำท่างง ๆ สั่งงานเสร็จ...ก็เงียบหายไป ส่งอีเมล์...ก็ไม่ตอบกลับมา ฯลฯ

ลูกน้องแบบนี้พูดอะไร เจ้านายก็ไม่ฟัง เพราะรู้สึกว่าเป็นคนเฉื่อยชาไม่เอาถ่าน
ดังนั้น หากอยากจะเป็นที่ยอมรับของหัวหน้า เป็นสมบัติล้ำค่าที่หัวหน้าไม่อยากเสียไป พูดหรือให้ความเห็นอะไร ก็ดูมีน้ำหนักเพราะหัวหน้าเชื่อใจ …

จงทำทุกอย่างตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาข้างต้น … ง่าย ๆ เท่านี้เอง

◌◌◌◌◌◌


5. ทำตัวให้น่าเชื่อถือและเป็นที่ไว้ใจ

หากต้องการทำงานอย่างเป็นอิสระ เจ้านายไม่มาก้าวก่ายหรือเจ้ากี้เจ้าการมากเกินไป ไม่มาคอยสั่งโน่นสั่งนี่จนน่ารำคาญ อยากทำอะไรก็ได้ทำเต็มที่ จงเริ่ิมต้นจาก... ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกครั้ง

หากรับปากว่าจะส่งงานวันไหน...ก็ส่งตรงเวลา

หากรับปากว่าจะหาข้อมูลก่อนแล้วกลับมาแจ้งให้ทราบ...ก็กลับมาตามที่รับปาก

ทำแบบนี้ให้เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ใช่สามวันดีสี่วันแย่ ! ค่อย ๆ ทำไป ความเชื่อมั่นคล้ายการลงทุนที่ต้องใช้เวลาสะสมทีละเล็กละน้อยแต่สม่ำเสมอ วันหนึ่งเมื่อจำเป็นต้องใช้ ก็จะมีดอกมีผลที่คุ้มค่า

◌◌◌◌◌◌


6. เน้นย้ำพฤติกรรมดี ๆ ของหัวหน้าที่อยากให้เกิดขึ้นอีก

หลายคนคงไม่ทันคิดว่าลูกน้องก็สามารถแสดงความชื่นชมหัวหน้าได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อหัวหน้าแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่คุณชอบและอยากเห็นหัวหน้าทำแบบนั้นอีก

ตัวอย่างง่าย ๆ แต่ได้ผลจริง เมื่อหลายปีก่อนผมมีเจ้านายคนหนึ่ง แกเป็นคนปากหนัก ชมใครไม่ค่อยเป็น วันหนึ่งไม่รู้อะไรดลใจ อยู่ดี ๆ แกเดินมาชมด้วยน้ำเสียงจริงจังและท่าทางจริงใจ

ผมรู้สึกตื่นเต้นและตื้นตันมาก เลยบอกแกไปตรง ๆ ว่า

“พี่ครับ ตั้งแต่ทำงานด้วยกันมา เพิ่งได้รับคำชมจากพี่เป็นครั้งแรก ผมรู้สึกดีใจมากและเป็นกำลังใจอย่างยิ่งให้ตั้งใจทำงานให้ดียิ่งขึ้น ถ้าโอกาสหน้าผมทำได้ดีอีก อยากให้พี่บอกผมเหมือนอย่างเมื่อกี้นะครับ”

เชื่อไหม เจ้านายผมอายม้วนต้วนไปเลย หลังจากนั้นแกชมมากขึ้นครับ … ไชโย !

◌◌◌◌◌◌


7. ให้หัวหน้าได้รับรู้ก่อนล่วงหน้า ถึงเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น

ไม่มีหัวหน้าคนไหนอยากรู้สึกประหลาดใจ (Surprise) ด้วยข่าวร้ายที่ไม่เคยระแคะระคายมาก่อน

ดังนั้น จงหาโอกาสบอกหรือเตือนหัวหน้าเสมอ ๆ ถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น

ที่สำคัญจงบอกด้วยว่า...คุณได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่ และวางแผนจะทำอะไรต่อไปกับเหตุการณ์นี้ เพื่อจะได้ไม่ดูตื่นตระหนกจนเกินไป

◌◌◌◌◌◌


8. หากมี`ปัญหา´...จงพา`คำตอบ´ไปด้วย

ในฐานะหัวหน้า ผมพบว่าลูกน้องหลายคนมีแต่ “คำถาม” ไม่มี “คำตอบ” หรือถ้าไม่ถามกลับไป ก็ไม่คิดจะหาคำตอบมาก่อน

ลูกน้องเหล่านี้ ในสายตาผม เขาเป็นลูกน้องธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่ไม่แตกต่างจากลูกน้องคนอื่น ๆ เพราะลูกน้องส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนี้ ดังนั้นสำหรับผม เขาคือ Nobody !

แต่มีลูกน้องบางคนที่แปลกกว่าคนอื่น ตรงที่ทุกครั้งที่มีคำถามก็มีคำตอบมาด้วยเสมอ แม้จะถูกบ้างผิดบ้างแต่ก็ตั้งใจไปคิดหาคำตอบมา สำหรับคนแบบนี้ เขาเป็น Somebody ในสายตามผม !

หลักการง่าย ๆ เวลา Somebody พูดอะไร ผมจะตั้งใจฟัง แต่ถ้า Nobody พูดอะไร ผมก็ปล่อยให้ผ่าน ๆ ไป

◌◌◌◌◌◌


9. เมื่อไม่มีความสุข จงรีบบอกหัวหน้า

อย่าปล่อยให้สถานการณ์บางอย่างที่ไม่พึงประสงค์ ค่อย ๆ กัดกินความสุขในการทำงานของคุณไปโดยไม่พูดอะไร เพียงเพราะหวังว่าเวลาน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้

ในขณะเดียวกัน อย่าคาดหวังให้หัวหน้าเดาความรู้สึกของคุณ หากเป็นเรื่องสำคัญจงรีบบอกอย่างสร้างสรรค์และให้เกียรติ อย่าเล่นเกมหรือข่มขู่เด็ดขาด แต่จงหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน

นิสัยของคนไทยอย่างหนึ่งคือ ไม่ค่อยยอมบอกความรู้สึกของตนเอง แต่คาดหวังให้คนอื่นต้องรับรู้ พอเวลาผ่านไป รอจนทนไม่ไหวก็โพล่งออกไปว่า “อันที่จริงไม่อยากพูดแต่...” จึงอยากเสนอว่า “อันที่จริงควรพูดตั้งแต่แรก” จะดีกว่านะครับ

◌◌◌◌◌◌


10. จงพูดลับหลังเจ้านาย

เปล่าครับ ไม่ได้สอนให้นินทา แต่ต้องการจะบอกว่าเมื่ออยู่ลับหลังเจ้านาย จงพูดเกี่ยวกับเขาในทางสร้างสรรค์ โดยเฉพาะกับหัวหน้าโดยตรงของเจ้านายเราเอง

การให้เกียรติเจ้านายลับหลัง มีพลังมากกว่าที่คุณคิด เชื่อผมครับว่าหน้าต่างมีหูประตูมีตา คุณพูดอะไร ไม่นานก็ถึงหูเขา

◌◌◌◌◌◌

» คำเตือน :

จงทำด้วยความจริงใจเพราะใคร ๆ ก็ดูออกว่าคุณหมายความอย่างที่พูดหรือไม่
หากทำตาม 10 วิธีข้างต้น รับรองได้ว่าคุณจะเป็นขวัญใจที่เจ้านายทุกคนเกรงใจ ต่อไปพูดอะไรก็ดูน่าเชื่อถือ

ที่สำคัญจะมีอิสระในการทำงานอย่างที่อยากได้

ไม่เชื่อลองดู...

◌◌◌◌◌◌


Credit บทความ : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา | กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป | SME Thailand (November 2014)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น