++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557

รู้จักไหม...กลุ่มอาการ`กตัญญูเฉียบพลัน!?

 รู้จักไหม...กลุ่มอาการ`กตัญญูเฉียบพลัน!?

เมื่ออาการของแม่เฒ่าดำเนินมาถึงระยะสุดท้าย รักษาไม่หายแล้ว แพทย์พยาบาลที่ดูแลกันมานานก็จะประชุมครอบครัว ให้ความเข้าใจว่าผู้ป่วยกำลังจะเสียชีวิตในเวลาอีกไม่นาน

แนะนำให้เตรียมตัวรับมือกับความสูญเสีย สะสางภารกิจที่คั่งค้าง รวมถึงทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการยื้อชีวิตที่ผู้ป่วยไม่ต้องการ

เช่น... ปั๊มหัวใจ ใส่ท่อช่วยหายใจ ปฏิเสธการให้ยากระตุ้นหัวใจ ผู้ป่วยและครอบครัวก็ดูจะเข้าใจกันดี ยอมรับความตายที่จะมาถึง

::::::::::::::::::

แต่เดี๋ยวก่อน…

นาทีนี้เองที่ “ลูกสาวจากแคลิฟอร์เนีย” ผู้ขาดการติดต่อไปนานแสนนานจะปรากฏตัวด้วยความเกรี้ยวกราด ล้มกระบวนการตัดสินใจทั้งหมดที่ผู้ป่วยและใกล้ชิดได้ตกลงไว้กับแพทย์ พยาบาล พยายามที่จะโน้มน้าวให้รักษาแม่เฒ่าอย่างสุดความสามารถอีกครั้งหนึ่งโดยไม่เกี่ยงค่าใช้จ่าย

เธอขอร้องที่จะส่งแม่เฒ่าเข้าห้องไอซียู หรือไม่ก็ขู่ว่าจะย้ายไปโรงพยาบาลที่ดีกว่านี้ให้จงได้ กำชับหมอให้ปั๊มหัวใจ ใส่ท่อ ทำอย่างไรก็ได้ให้คนไข้รอดตาย

ครอบครัวเกิดความหวั่นไหวอีกครั้งหนึ่ง!?

เหล่าหมอพยาบาลก็พยายามจะเข้ามาสงบสติอารมณ์ของลูกสาวคนนี้ เหตุการณ์จะเป็นไปอย่างสับสนวุ่นวาย

::::::::::::::::::

นี่คือตัวอย่างที่พบเห็นได้ทั่วไปในวงการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย จนเหล่าอาจารย์แพทย์แผนตะวันตกนำมาสรุปบทเรียนและตั้งชื่อที่ฟังดูน่าขบขันปนสลดสังเวชว่า กลุ่มอาการ “ลูกสาวจากแคลิฟอร์เนีย”

ทว่าประเทศไทยที่เป็นเมืองพุทธ ศาสนาที่สอนให้คนเจริญมรณานุสติ – ระลึกถึงความตายว่าเป็นเรื่องที่จะล่วงพ้นไปไม่ได้อยู่เนือง ๆ

ก็ปรากฏกลุ่มอาการแบบนี้เช่นเดียวกันในชื่อที่ว่า “กตัญญูเฉียบพลัน” กล่าวคือ...

ลูกหลานที่ร้อยวันพันปีไม่เคยดูแลใส่ใจพ่อแม่ปู่ย่าตายายเลย แต่เมื่อถึงวาระสุดท้ายก็กลับเกิดความกตัญญูฉับพลัน ทุ่มการรักษาสุดตัวโดยไม่คำนึงว่าผู้ป่วยจะทุกข์ทรมานเพียงใดจากการยืดชีวิต ยื้อความตาย

::::::::::::::::::

กรณีตัวอย่างเช่นนี้...เกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ทั่วโลก อาจเป็นเพราะโครงสร้างครอบครัวที่แยกตัวกันอย่างชัดเจน

สายใยที่ขาดหายระหว่างคนรุ่นแม่กับรุ่นลูก การทำงานที่หนักหน่วงเอาเป็นเอาตาย กิจกรรมหลายอย่างก็ดึงความสนใจออกไปจากครอบครัว

เหล่านี้ทำให้คนรุ่นลูกเสียโอกาสที่จะดูแลคนรุ่นพ่อแม่และปู่ย่าตายายอย่างเต็มที่ในยามที่ยังมีชีวิตอยู่

เมื่อยามต้องตายจากกันจริง ๆ เป็นไปได้ลูกหลานก็เกิดความรู้สึกผิด โกรธ – เสียใจที่รู้ตัวว่าไม่เหลือเวลาแล้วที่จะอยู่ด้วยกัน ทำดีต่อกัน

รวมไปถึงความเข้าใจผิดที่ว่า...

การให้ความรักความเอาใจใส่ที่ดีที่สุดคือการช่วยให้ญาติผู้ใหญ่มีชีวิตอยู่ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่สนว่าคุณภาพชีวิตในระหว่างนี้จะเป็นอย่างไร

บางคนอาจคิดเลยไปว่า...ยิ่งผู้ป่วยมีชีวิตยืดยาวเท่าไหร่ ยิ่งจ่ายค่ารักษาพยาบาลเยอะเท่าไหร่ ยิ่งเท่ากับว่าแสดงความรักความกตัญญูมากขึ้นเท่านั้น

::::::::::::::::::

การเข้าไปสงบสติอารมณ์ พูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นเรื่องที่ยาก มันหมายถึงแพทย์พยาบาลกำลังจะเข้าไปเผชิญกับผู้ที่คุกรุ่นไปด้วยความโกรธ ความรู้สึกผิด ความเสียใจ ความกลัว รวมไปถึงความโศกเศร้าของผู้ที่กำลังจะเผชิญความสูญเสีย

เป็นไปได้หรือไม่ที่ลูกหลานที่มีอาการกตัญญูเฉียบพลันเหล่านี้จะมีอดีตที่เจ็บปวดขมขื่นกับผู้ป่วย

ความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น การจองเวร การทำผิดต่อกันที่ไม่ได้ชำระสะสาง คำมั่นสัญญาที่ยังติดค้าง

เหล่านี้ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความสับสนวุ่นวาย อารมณ์ขุ่นมัว บรรยากาศที่มีความขัดแย้ง ซึ่งไม่เป็นผลดีให้ผู้ป่วยเผชิญความตายอย่างสงบเลย

อย่าลืมว่าอดีตของอนาคตคือปัจจุบัน

ลองถามตัวคุณเองว่าในปัจจุบันนี้คุณทำดีอย่างถึงที่สุดกับคนที่คุณรักแล้วหรือไม่?

เพื่อที่ว่าเมื่อความตายมาเยี่ยมเยือนคนรักของคุณแล้วจริง ๆ คุณจะได้ไม่กลายไปเป็นคนหนึ่งที่มีอาการ “กตัญญูเฉียบพลัน”

หมายเหตุ : สายด่วนให้คำปรึกษาทางจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย “เตรียมตัวก่อนสู่วาระสุดท้ายของชีวิต จะทำอย่างไรดี” ปรึกษาได้ที่ 086-00-22-302

::::::::::::::::::

Credit : เอกภพ สิทธิวรรณธนะ | คอลัมน์บทความพุทธิกา - โพสต์ทูเดย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น