ช่วงนี้สังเกตว่า มีผู้ปฏิบัติธรรมทั้งพระและฆราวาสมาอธิบายธรรมะผ่านการได้ลงมือปฏิบัติเองและครูบาอาจารย์ช่วยแนะนำ โดยครูอาจารย์ที่ปฏิบัติธรรมทุกวัน มักจะอธิบายทุกเรื่องเป็นธรรมะไปหมด ก็พอดีกับได้ฟังคำสอนง่ายๆ แต่หนักแน่นของพระครูกิตติสารโกศล (พระอาจารย์นิคม สุนฺทโร) เจ้าอาวาสวัดสุวรรณภักดี (วัดทุ่งไก่ดัก) ต.ท่ากุ่ม อ.เมือง จ.ตราด ที่พัฒนาวัดจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดตราดแห่งที่ 3 เมื่อ 10 มกราคม 2550 โดยมีสถานที่รองรับผู้ปฏิบัติธรรมประจำตลอดทั้งปี
ท่านพูดถึงวิธีปฏิบัติธรรมว่า "คนเมื่ออ่านหนังสือไปเรื่อยๆ เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี ย่อมได้อะไรจากหนังสือนั้นบ้างไม่มากก็น้อย แล้วคิดดูว่าถ้าเราได้นั่งอ่านตัวเอง ได้พิจารณาตัวเองเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปีทำไมจะไม่เข้าใจตัวเองบ้างละ"
ในวัดจึงมีกุฏิที่สร้างไว้สำหรับปฏิบัติธรรม เพื่อเฝ้าดูตัวเองอยู่จำนวนหนึ่ง อีกส่วนของวัดก็พัฒนาให้สัปปายะ คือสะดวกสบายสำหรับผู้ต้องการพักผ่อนจิตใจ โดยจะมีพระอาจารย์ลงแรงร่วมกับพระและแม่ชีภายในวัดดูแลทำงานด้านต่างๆ ทั้งวัน โดยอาศัยการทำงานเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว เพื่อปิดกั้นไม่ให้มีช่องว่างให้กิเลสรบกวนจิตใจได้ง่ายนัก
และสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผู้เขียนคือ การผสมกันระหว่างธรรมชาติของจิตเข้ากับวัตถุ เพราะถ้าใครได้ไปที่นั่นจะเห็นโต๊ะและเก้าอี้ไม้ที่ทำจากรากไม้บ้าง กิ่งไม้บ้าง โดยมีรูปลักษณ์ต่างๆ กันไป และเศษหินแตกๆ ที่ถูกจัดวางเสียใหม่กลายเป็นพื้นและกำแพง มีดีไซน์งดงามไปอีกแบบ โดยทั้งหมดมาจาก ไอเดียของพระอาจารย์ที่มองเห็นคุณค่าจากสิ่งที่คนอื่นคิดว่าเป็นขยะ
ผู้เขียนเลยนึกไปถึงเรื่องบัณฑิตสามเณร ตอนที่สามเณรเดินบิณฑบาตกับพระอุปัชฌาย์ แล้วเดินไปเห็นชาวนากำลังเอาน้ำออกจากนาอยู่ จึงถามอุปัชฌาย์ "เขาทำอะไรกันครับ"
"เขากำลังเอาน้ำออกจากนา เพื่อเกี่ยวข้าวกัน" พระอุปัชฌาย์ตอบ
"แล้วน้ำมีจิตไหมครับ"
"ไม่มีหรอกเณร"
"แล้วเขาสามารถทำให้น้ำที่ไม่มีจิตให้ไหลไปตามที่ปรารถนาได้หรือครับ"
"ได้ซิเณร"
สามเณรเลยคิดต่อว่า "คนเราสามารถทำน้ำที่ไม่มีจิตไปที่ไหนก็ได้ แล้วทำไมคนมีจิตจึงบังคับจิตตัวเองไม่ได้"
พอเดินไปต่อก็ไปพบช่างธนูกำลังนำลูกศรมาลนไฟแล้วเล็ง ดัดจนลูกธนูตรง จึงถามขึ้น "คนพวกนี้ทำอะไรกัน"
"เขาเป็นช่างธนู คอยลนไฟลูกธนูแล้วดัดให้ตรง" พระอุปัชฌาย์ตอบ
สามเณรก็ถามต่อ "แล้วลูกศรมีจิตไหม"
"ไม่มีหรอกเณร"
สามเณรเลยคิดต่อ "ขนาดลูกธนูไม่มีจิต แต่อาศัยคนที่มีจิตก็ทำให้ตรงได้ แล้วคนเรามีจิต ทำไมจะฝึกจิตตัวเองไม่ได้ แล้วปฏิบัติธรรม"
พอคิดเท่านั้นจึงขอลาอุปัชฌาย์กลับไปวัดก่อนเพื่อปฏิบัติธรรม ซึ่งอุปัชฌาย์ก็อนุญาต
ผู้เขียนเล่าเรื่องนี้ด้วยความเข้าใจส่วนตัวว่า ผู้ปฏิบัติธรรมล้วนพัฒนาจิตตนเองจนละเอียดอ่อน และหลอมรวมทุกอย่างให้เป็นธรรมะ หรือธรรมชาติไปหมด และธรรมชาติไม่ว่าที่ไหนก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะอยู่ในธรรมชาติหรือในตัวเรา เมื่อเข้าใจอย่างไหนก่อนก็จะเข้าใจได้ทั้งหมดและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ดังที่เราต้องการ
เช่นเดียวกับที่พระอาจารย์ที่ปฏิบัติธรรม จนสามารถบังคับใจตัวเองให้พร้อมสำหรับการงานแล้ว ย่อมไม่อยากที่จะเข้าใจและเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่มีจิตใจให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการได้เช่นกัน
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ
หน้าต่างศาสนา/ข่าวสดออนไลน์, 21 มิ.ย.2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น