พระอาจารย์ ท่านวิทยากร ในโครงการฝึกอบรมพัฒนาจิตใจด้วยการ วิปัสสนากรรมฐาน มักจะให้ ปัจฉิมโอวาท หรือให้โอวาทครั้งสุดท้ายก่อนปิดการอบรมการวิปัสสนากรรมฐาน คือ
ประการที่ 1 ให้เกิดความภูมิใจต่อบุญกุศลและประสบการณ์ที่ได้รับจากการมาร่วมเข้าหลักสูตรวิปัสสนากรรมฐาน โดยคิดไปจนวันตายว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตของเรา เราได้ประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมอย่างไรบ้าง ปกติคนทั่วไป คนที่ไม่มีบุญ ทำได้ยาก แต่เราทำได้แล้ว เราสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวของเราเอง เป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน เป็นเรื่องปัจจัตตัง เรามีโอกาสทำพร้อมกัน ทั้ง ให้ทาน รักษาศีล และ เจริญสมาธิ และปัญญาไปพร้อม ๆ กันในคราวเดียวกัน
ประการที่ 2 อย่าได้ทอดทิ้งการปฏิบัติ เมื่อเรากลับไปที่บ้านของเราแล้ว ถ้าหากเราทอดทิ้งแล้ว สิ่งเหล่านี้จะหายไปหมด อย่าได้ทอดทิ้ง ถ้าเราไม่ทอดทิ้งการปฏิบัติของเราจะสืบต่อไปได้ ทำให้เกิดบุญกุศล เกิดความก้าวหน้าในชีวิตของเรา อย่างน้อยให้ปฏิบัติติดต่อกัน 2 ปี ให้เป็นนิสัย ก่อนนอน ตื่นนอน ครั้งละ 20 นาที ถึงครึ่งชั่วโมง วันใดไม่ว่างจริง ๆ ก็ชดเชยวันเสาร์และอาทิตย์เอาบ้างก็ได้ หรือในวันที่พอมีเวลา แต่ทำให้เป็นปกติ จะเป็นความสุขใจ เป็นบุญกุศล เป็นความก้าวหน้าในชีวิตของเรา โดยการหยุดความคิดทั้งปวงโดยการเจริญสมาธิ และควบคุมความคิดโดยการเจริญสติให้รู้เท่าทันในสิ่งที่ปรากฏ โดยการทำใจให้เป็นอุเบกขา จิตเราก็จะไม่ทุกข์โดยการตั้งเจตนา มีความตั้งใจด้วยความเพียร โดยมีสติตลอดเวลา ว่าเราจะคิดแต่สิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่ดี เพื่อจะได้พูดแต่สิ่งที่ดี ทำแต่สิ่งที่ดี และถูกต้องตลอดชีวิตที่เหลือของเรา
ประการที่ 3 ให้แนะนำคนที่ควรแนะนำบ้าง ศาสนาของเราดำรงมั่นมาได้จนถึงปัจจุบัน ก็เพราะว่าปู่ย่าตาทวด บรรพบุรุษของเรา ภิกษุสงฆ์ ท่านแนะนำสั่งสอนกันมา ลูกหลานของเรา เพื่อนฝูงญาติมิตรของเราจึงได้รับพระพุทธศาสนา เข้าใจหลักธรรมที่นำไปปฏิบัติ ก็เนื่องมาจากว่าเราชาวพุทธช่วยกัน ถ้าเราไม่ช่วยกันแล้วใครจะช่วยศาสนาของเรา เราก็ต้องช่วยกันแนะนำ ทั้งการพูดและการเขียน แต่ขอย้ำว่า ให้แนะนำคนที่ควรแนะนำเท่านั้น ไม่ต้องแนะนำทุกคน เพราะคนบางคนไม่อยู่ในฐานะที่ควรแนะนำ แม้อยู่ใกล้ชิดกัน เพราะคนบางคนไม่อยู่ในฐานะที่ควรแนะนำ แม้อยู่ใกล้ชิดกัน อยู่ในบ้านเดียวกันกับเรา ญาติพี่น้องของเรา หรือผู้ที่เกี่ยวพันกับเรา ถ้ายังไม่ถึงเวลา ปล่อยเขาไปก่อน ให้แนะนำคนที่ควรแนะนำเท่านั้น อย่าพูดโกรธคนที่ไม่เชื่อคำแนะนำ เพราะบุญของเขายังไม่ถึงระดับ แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงสอน เวไนยสัตว์ ซึ่งแปลว่า ผู้ที่ควรแนะนำ แม้พระพุทธเจ้าเองก็ทรงแนะนำผู้ที่ควรแนะนำ ทรงสอนผู้ที่ควรสอน ไม่ได้ทรงสอนทุกคน
ประการที่ 4 ให้มีศีล 5 ตลอดชีวิต ศีล 5 ไม่เหลือวิสัยที่จะรักษาเป็นประจำ เราในฐานะเป็นชาวบ้าน อาจจะขาดบ้างก็อธิษฐานขึ้นใหม่ก็มีศีลตามเดิม เหมือนเมื่อเราสกปรกเราก็ล้างหรืออาบน้ำเสียใหม่ เราก็สะอาดตามเดิม เสื้อผ้าเราสกปรกเราซักเสีย เราก็มีเสื้อผ้าดีสวมใส่ตามเดิม ศีลของเราขาดไป อธิษฐานขึ้นใหม่ ไม่ต้องพบพระก็ได้ ก็เป็นศีลตามเดิม เพราะฉะนั้น ให้อยู่อย่างมีศีล อยู่อย่างสมภาคภูมิใจความเป็นชาวพุทธ เราอาจตั้งใจไว้ก็ได้ว่า วันใดไม่มีศีล วันนั้นไม่ออกจากบ้าน เพราะมันไม่เป็นมงคลก็ได้
ประการที่ 5 ให้สวดมนต์ก่อนนอนทุกครั้ง วันใดถ้าไม่สวดมนต์อย่านอน มันไม่เป็นมงคล จะสวดมากสวดน้อยแล้วแต่มีเวลา มีเวลาน้อยก็สวดน้อย มีเวลามากก็สวดมากหน่อย แต่ไม่ควรสวดเป็นชั่วโมง อย่างมากก็ประมาณ 10 – 20 นาทีก็พอ อย่างน้อยหนึ่งนาทีก็ยังดี ดีกว่าไม่สวดเลย
ประการที่ 6 ให้นำสิ่งที่ได้รับไปใช้ในชีวิตประจำวันให้ได้ การฝึกนี้เราต้องนำไปใช้ ไม่ใช่ฝึกไว้โชว์ ไม่ใช่ฝึกไว้อวดใคร แต่ฝึกเอาไว้ใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับตัวเรา สำหรับครอบครัว และประเทศของเรา เช่น จะพูดจะทำเรื่องใดก็ตาม ต้องตั้งใจคิดในทางที่เป็นกุศล คิดให้ดี ให้รอบคอบ พูดและทำให้ดีและถูกต้อง ผลของการคิดดี พูดดี และทำดีนั้น จะส่งเสริมให้บุคคลแต่ละคน องค์กร สังคม และประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้าด้วยความมั่นคงสวัสดีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นก็มีหลักธรรม เพื่อความสงบสุขในสังคม 5 อย่าง คือ 1. ขันติ (มีความอดกลั้นต่อสิ่งที่ไม่พอใจ) 2. เมตตา (มีความปรารถนาจะให้ผู้อื่นมีความสุข) 3. เสียสละ 4. ให้อภัย และ 5. ปล่อยวาง (ทำใจเป็นอุเบกขาเมื่อช่วยเหลือใดๆมิได้) ขอให้นำธรรมะนี้ไปใช้ จะมีคุณค่า แน่นอนต่อชีวิตของเรา ชีวิตของเราจะดีขึ้นและรุ่งเรืองขึ้น ด้วยอำนาจพระธรรมที่เข้าคุ้มครองรักษา
ประการที่ 7 ให้มาทบทวนการปฏิบัติของตนตามเวลาอันสมควร เราควรหาเวลามาทบทวนการฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนา วิปัสสนาภาวนา อย่างน้อยเดือนละครั้ง หรือ 3 เดือนครั้ง ก็ยังดี มีปัญหามากๆ อย่างน้อยก็ไม่ควรปีละครั้ง โดยควรจะฝึกทั้ง 2 อย่างเพราะสมาธิกับปัญญาต้องช่วยเหลือกัน สำหรับผู้บังคับบัญชาที่มีจิตใจคับแคบ ชอบพูดจาขัดขวางทางบุญของผู้ใต้บังคับบัญชา ระวังทุคติภูมิจะเป็นของท่าน แม้ท่านให้ทานรักษาศีล แต่เทียบมิได้กับการปฏิบัติธรรม หรือการเข้าวิปัสสนาภาวนา ตัวเองไม่พร้อมจะเข้าวิปัสสนา ก็ไม่ควรขัดขวางผู้อื่นด้วยการพูดจา
ประการที่ 8 ถ้าใครถามให้ตอบเท่าที่จำเป็น อย่าได้โอ้อวด เราเป็นศิษย์พระพุทธเจ้า ไม่ต้องโอ้อวด ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน การโอ้อวดไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า และอย่าได้ดูหมิ่นอาจารย์อื่นเขา ทุกสำนักสอนให้ดีทั้งสิ้น แล้วแต่จะดีน้อย ดีมากเท่านั้นเอง เพราะเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ถ้ามีคนอื่นถามก็ตอบเท่าที่จำเป็น ต้องมองดูว่า คนถามนั้นเขาถามเพื่อรู้หรือว่าถามเพื่อต้องการถามไปอย่างนั้นเอง หรือต้องการจะข่มเรา ถ้าเขาต้องการถามเพื่อรู้ก็ตอบเท่าที่รู้ ถ้าถามเพื่อข่มหรือถามไม่อยากรู้ ก็ตอบเท่าที่จำเป็น เช่น เขาถามว่า มาฝึกกรรมฐานคราวนี้ได้อะไรบ้าง ก็ตอบว่า ได้ความสงบ ถ้าเขาถามว่าสงบอย่างไร ก็ตอบว่า “ต้องไปปฏิบัติเอาเอง จึงจะรู้” ไม่ต้องพูดมาก แค่นี้ก็พอ
แหล่งที่มา : www.dhammathai.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น