Theขี้ฝุ่นริมทาง
วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2557
ความตายในรูปของการเปลี่ยนแปลง
พุทธศาสนาเชื่อว่า ชีวิตมีอยู่ เป็นอยู่ เพราะมีปัจจัยต่างๆ มาประกอบกันอย่างเหมาะสม และปัจจัยสำคัญก็คือ ขันธ์ ๕ ดังที่ได้แสดงมาแล้ว ตามความเชื่อนี้ ความตายก็เป็นอะไรอื่นไปไม่ได้นอกจากคือความสิ้นไปแห่งปัจจัยเหล่านั้น หรือมิฉะนั้นก็เป็นการประกอบส่วนที่ผิดเพี้ยนไป อันเกิดจากความไม่เที่ยงและความไม่มีตัวตน ของปัจจัยเหล่านั้น นี่เป็นหลักกว้างๆ ที่อิงอยู่กับหลักธรรมเรื่อง ไตรลักษณ์ และหลักธรรมเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา ที่ว่าด้วยความเป็นเหตุเป็นผลแบบ อิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลาย ทำนองว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น, เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงดับไป
ความสิ้นไปแห่งเหตุปัจจัยนั้น อาจมองว่าเป็นเพียงมิติหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แม้ในขณะที่ชีวิตยังมีอยู่ ความเปลี่ยนแปลงนี้ คือกระบวนการที่ทั้งความเกิดและความดับ เกิดต่อเนื่องสลับกันไป มองในแง่นี้ ในชีวิตก็มีทั้งการเกิดการดับอยู่ตลอดเวลา การเกิดและการดับ ในลักษณะเช่นนี้ไม่ได้ทำให้ชีวิตหมดไป คือ ไม่ตาย ในความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป แต่ก็แน่นอนว่าย่อมทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปได้ทั้งในด้านรูปธรรมและนามธรรม ดังจะเห็นได้จากการที่หน้าตาและร่างกายของเราเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ถ้าถือว่าเป็นการตาย นี่ก็คือการตายจากสภาวะหนึ่งแล้วไปเกิดในอีกสภาวะหนึ่ง เช่น จากเด็กเล็กเป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่ และเป็นคนชรา เป็นต้น ในความตายแบบนี้เหตุปัจจัยแห่งชีวิตไม่ได้หมด และชีวิตก็ไม่ได้สิ้นไปจริงๆ เพียงแต่เปลี่ยนแปลงสภาวะไปเท่านั้น
แต่ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดที่ทำให้สิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยของชีวิตหมดไป ก็ถือว่าเป็นความตาย ตามหลักความเชื่อในพุทธศาสนา ความเปลี่ยนแปลงของเหตุปัจจัยที่ทำให้ชีวิตหมดไป (คือตาย) อาจเกิดได้ในกรณีต่อไปนี้ (พระมหาบุญมี มาลาวชิโร, ๒๕๔๗; พระดุษฎี เมธังกุโร, ๒๕๔๔)
๑. สิ้นอายุขัย (อายุกขยมรณะ) คือ ตายเพราะสิ้นอายุ ซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เกิดมา กล่าวคือ ทุกสิ่งตกอยู่ในกฎแห่งการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป ชีวิตของมนุษย์ที่เกิดมานั้น แม้จะไม่มีโรคภัยหรือเหตุอื่นให้เสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร ก็ดำรงอยู่ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ถ้าจะเปรียบก็คงจะเหมือนชิ้นส่วนอีเลคโทรนิคชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีอายุการใช้งานจำกัดอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อพ้นจากนั้นไป ชิ้นส่วนนั้นก็หมดสภาพ คือไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้ต่อไป ชีวิตของคนเราก็คล้ายกัน นั่นคือมีอายุขัยที่จำกัด นอกจากนี้ อายุขัยของคนเรายังไม่เท่ากัน และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย 5 ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่สนับสนุนและเอื้ออำนวยหลายด้าน เช่นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการแพทย์ สภาพแวดล้อมในการทำงาน และรูปแบบตลอดจนพฤติกรรมการดำรงชีวิตเป็นต้น
การตายเพราะสิ้นอายุขัยนั้น อาจเปรียบได้กับตะเกียงที่ไส้หมด แม้น้ำมันจะยังเหลืออยู่ แต่ก็ไม่สามารถจะให้เปลวไฟที่มีแสงสว่างต่อไปได้
๒. สิ้นกรรม (กัมมักขยมรณะ) คือ ตายเพราะสิ้นกรรม กรรมนั้นคือการกระทำซึ่งมีผลสืบเนื่องตามมา (consequences) อาจเป็นกรรมที่ทำในอดีต ซึ่งอาจไกลออกไปจนถึงในอดีตชาติ หรืออาจเป็นกรรมที่ทำในปัจจุบัน เช่น การดูแลอนามัยเป็นต้น และอาจเป็น กุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าการกระทำที่ได้ทำลงไปนั้นเป็นฝ่ายดีหรือไม่ดี กรรมที่ทำไว้นั้นมีหน้าที่ช่วยสนับสนุนรูปและนาม (ชีวิต) ในภพที่เราเกิดมา เมื่อผลกรรมสิ้นไป ชีวิตก็สิ้นไป เปรียบเหมือนตะเกียงที่น้ำมันหมด แม้ไส้ตะเกียงจะยังเหลืออยู่ เปลวไฟและแสงสว่างก็หมดไป
๓. สิ้นทั้งอายุและกรรม (อุภยักขยมรณะ) คือ ทั้งอายุขัยและกรรม สิ้นไปในเวลาเดียวกัน การตายในกรณีเช่นนี้ จะเห็นได้เช่น การตายของผู้สูงอายุที่แก่หง่อม รูปและนาม (ร่างกายและจิตใจ) หมดสภาพ อีกทั้งกรรม คือ การกระทำที่จะเป็นแรงสนับสนุนให้รูปและนามทำหน้าที่ของมัน ก็หมดไป เปรียบเหมือนตะเกียงที่ทั้งน้ำมันและไส้หมดไปด้วยกัน
๔. มีเหตุหรือกรรมอย่างอื่นมาตัดรอน (อุปัจเฉทมรณะ) ทำให้ชีวิตสิ้นไปกะทันหัน ทั้งที่น่าจะอยู่ต่อไปได้ ในกรณีนี้ ทั้งอายุและกรรมยังไม่หมด แต่เกิดเหตุทำให้เสียชีวิตกะทันหัน เช่นการตายด้วยอุบัติเหตุ หรือโรคระบาดเฉียบพลันร้ายแรง ท่านเปรียบการตายในกรณีเช่นนี้เหมือนกับตะเกียงที่ทั้งน้ำมันและไส้ยังคงมีอยู่ แต่ไฟดับไปเพราะเหตุอื่น เช่น มีลมพัดมาแรง (เหตุภายนอก) จนทำให้เปลวไฟดับไป เป็นต้น
ไม่ว่าความตายจะเกิดขึ้นในกรณีใด สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ในทุกกรณีล้วนมีเหตุปัจจัยที่สามารถอธิบายได้ และความตายในทุกกรณีเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลง
สรุป
เราจะเข้าใจชีวิตและความตายในทัศนะของพุทธศาสนาได้ชัดขึ้น ถ้าเริ่มต้นจากเรื่องของ อิทัปปัจจยตา (ปฏิจจสมุปบาท) และ ไตรลักษณ์ อิทัปปัจจยตา คือ กฎแห่งการเกิดและการดับของสิ่งทั้งหลายที่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย เพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิด ชีวิตจึงมีได้ เพราะเหตุปัจจัยดับไป ชีวิตจึงดับ (ตาย) เหตุปัจจัยที่ใกล้ชิดของชีวิตก็คือ เรื่องของ ขันธ์ ๕ ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้แก่เรื่องของสิ่งที่เป็นรูปธรรม และสิ่งที่เป็นนามธรรม หรือที่เราเข้าใจกันง่ายๆ ว่า กายกับจิต ส่วนประกอบเหล่านี้เอง แต่ละอย่างก็มีเหตุปัจจัยอันเป็นที่มาของมันอีกทีหนึ่ง ชีวิตเป็นกระบวนการที่ส่วนต่างๆ มาสัมพันธ์แบบอิงอาศัยกัน ถ้าส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนที่มาประกอบกันเข้านั้นหายไป สิ่งที่อิงอาศัยส่วนเหล่านั้นเป็นอยู่ ก็หายไปด้วย (ในภาษาทางพุทธศาสนาคือ “ดับไป”) ชีวิตและความตายก็เป็นเช่นนั้น
กฎแห่งความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยกันของกระบวนการชีวิตนี้ มีคุณสมบัติที่อาจถือว่าเป็นสัจธรรมอยู่ 3 ประการ เรียกว่า ไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณะ คือในเมื่อการมีชีวิตอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างก็มีเหตุปัจจัยมาจากสิ่งอื่นอีกทีหนึ่ง ชีวิตจึงมีธรรมชาติไม่เที่ยงแท้ (อนิจจัง) คำว่า “ไม่เที่ยง” ในความหมายของพุทธศาสนา นอกจากจะบ่งนัยว่ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังหมายถึงการไม่สามารถกำหนดหรือบังคับให้เป็นไปตามอำนาจของผู้เป็นเจ้าของชีวิตนั้นด้วย (อนัตตา) และความเปลี่ยนแปลงก็ดี การไม่สามารถบังคับหรือควบคุมให้เป็นไปได้ตามใจของผู้เป็นเจ้าของก็ดี (เช่น ไม่อยากให้แก่ มันก็แก่, ไม่อยากสูญเสีย มันก็สูญเสีย, ไม่อยากตาย มันก็ตาย ฯลฯ) แม้จะเป็นกฎธรรมชาติ แต่ก็เป็นสิ่งที่รับได้ยาก ทนได้ยาก บีบคั้น ฯลฯ นั่นคือเป็นทุกข์ (ทุกขัง) กฎสากลอันนี้พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและเปิดเผยแก่ชาวโลก (พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสร้างกฎนี้ แต่ทรงเป็นผู้ค้นพบเท่านั้น)
เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น?
ประการแรก ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ธรรมชาติและกฎธรรมชาติของชีวิตที่กล่าวมานี้ ก็ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไปได้ เช่น ไม่มีใครที่เกิดมาแล้วไม่แก่และไม่ตาย เป็นต้น ดังนั้น ทางที่จะไม่ให้เป็นทุกข์กับเรื่องของความตายมากเกินไปก็คือ ต้อง “ทำใจ” นี่เป็นการกล่าวแบบทั่วไป ในทางพุทธศาสนาการ “ทำใจ” มีความหมายที่ลึกซึ้ง เริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจและความเห็นในเรื่องธรรมชาติของชีวิตให้ถูกต้อง ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นอย่างไร (สัมมาทิฏฐิ) ไปจนถึงการละตัณหา (ความทะยานอยากทั้งหลายทั้งปวง) และอุปาทาน (การยึดติดในตัวตนและในสิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนาทั้งหลาย) ทำได้เช่นนี้ ชีวิตจะเป็นทุกข์น้อยลง “ทำใจ” ได้มากเท่าไร ก็ทุกข์น้อยเท่านั้น และมีโอกาสที่จะถึงจุดที่ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกว่า เป็น“ตายก่อนตาย” ได้ด้วย คือ ตายจากความยึดมั่นถือมั่นใน ตัวกู ของกู แล้วตั้งแต่ยังไม่หมดลมหายใจ ในสภาพจิตเช่นนั้น แม้ความตายจริงๆ จะเกิดขึ้น ก็ไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งเกิดขึ้น นั่นคือ มองความตายว่า “มันเป็นเช่นนั้น” (ตถตา) เท่านั้น
ประการที่สอง อิทัปปัจจยตา และ ไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นกฎสากลแห่งชีวิตและธรรมชาตินั้น สามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงชีวิตนี้ให้ดียิ่งๆ ขึ้นได้ในทุกทาง แม้ในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณภาพของชีวิตและความมีอายุยืน (ยืดเวลาของชีวิตให้ยาวออกไป) อันเป็นเรื่องที่นักประชากรศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์สุขภาพทั่วไปให้ความสนใจ ก็เป็นไปได้
อิทัปปัจจยตา นั้นคือ กฎแห่งการอิงอาศัยกันของเหตุปัจจัยต่างๆ ทำนองว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ฯลฯ นักวิทยาศาสตร์สุขภาพ และนักพัฒนาสังคม เป็นต้น อาจจะหยิบเอาข้อนี้มาเป็นหลักในการทำงานเพื่อบรรลุจุดหมายว่า จะต้องสร้างเหตุปัจจัยอะไร จึงจะนำไปสู่การมีชีวิตที่มีคุณภาพ และความมีชีวิตยืนยาวของประชาชนทั่วไปได้ (ต้องทำสิ่งนี้ให้มี สิ่งนี้จึงจะมีได้)
ส่วนหลักแห่งไตรลักษณ์ ที่ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงนั้น เราต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้สองทางเสมอ คือ อาจจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหรือเสื่อมลงก็ได้ ดังนั้น ถ้าจะใช้หลักนี้ให้เป็นประโยชน์ ก็ต้องมุ่งสร้างเหตุปัจจัยที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น พูดแบบ อิทัปปัจจยตา ก็คือ ต้องทำสิ่งนี้ (เหตุปัจจัยอันจะนำไปสู่ความเจริญ) แล้วสิ่งนี้ (ความเจริญ) จึงจะมี โดยนัยนี้ กฎแห่งไตรลักษณ์ จึงไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เรางอมืองอเท้า หรือรอให้ความเปลี่ยนแปลงเป็นฝ่ายกระทำต่อเราแต่ฝ่ายเดียว นั่นคือ ไม่ยอมจำนนต่อความเปลี่ยนแปลง ความจริง การที่สิ่งทั้งหลายมีการเปลี่ยนแปลงนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้เราสามารถพลิกสิ่งที่ไม่ดีให้กลับดีได้ ประเด็นหลักอยู่ที่ต้องสร้างปัจจัยและเงื่อนไขที่จะนำไปสู่สิ่งที่ดีให้ได้
ประการที่สาม การมองให้ทะลุว่า ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง คือ มีการเกิดขึ้น ดำรงอยู่และดับไปเป็นธรรมดานั้น จะทำให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องนี้ เราจะได้เตือนตนให้เร่งทำสิ่งที่ดีที่ควรทำ ไม่ผัดผ่อนหรืออ้างเหตุว่ายังมีเวลาในชีวิตอีกมาก ความตายยังอยู่อีกไกล ฯลฯ แล้วไม่ลงมือทำกิจที่ควรทำ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การมีท่าทีที่ถูกต้องในเรื่องชีวิตและความตายโดยนัยที่กล่าวมานี้ จะช่วยให้เราพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้
เรื่องของชีวิตและความตายในทัศนะของพุทธศาสนา มีสาระโดยสังเขปดังได้วิสัชนามาฉะนี้แล
http://www.ipsr.mahidol.ac.th/IPSR/AnnualConference/ConferenceII/Article/Article05.htm
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น