++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

ประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม

..

( ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538722260&Ntype=5)



หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หรือ พระราชธรรมาภรณ์ ซึ่งพระเครื่อง"หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ วัดดอนยายหอม" เป็นที่ต้องการของนักสะสมพระเครื่องเป็นอย่างมาก เนื่องจากพุทธคุณ จากประสบการณ์ของผู้ที่พกพาเป็นที่ประจักษ์ให้พบเห็นกันบ่อยๆ ท่านเป็นทั้งพระนักพัฒนา พระปฏิบัติ มีเมตตาธรรม ต่อประชาชนทั่วไป และหลวงพ่อเงิน ท่านยังเคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างมาก ความรู้ด้านวิชา คาถาอาคมของท่านก้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร
หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หรือ พระราชธรรมาภรณ์ จนฺทสุวณฺโณ
ท่านเกิดเมื่อวันอังคารที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๓๓ ตรงกับวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาล ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นบุตรคนที่ ๔ ของ นางกลอง-นายพรม นามสกุล ด้วงพลู ครอบครัวของหลวงพ่อเงิน ถือได้ว่าว่าเป็นผู้มีอันจะกินครอบครัวหนึ่งใน ต.ดอนยายหอม ในขณะนั้น
หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ท่านมีพี่น้องทั้งหมด ๘ คน คือ
นายอยู่ ด้วงพลู
นายแพ ด้วงพลู
นายทอง ด้วงพลู
หลวงพ่อเงิน
นายแจ้ง ด้วงพลู
นายเนียม ด้วงพลู
นางสายเพ็ญ ด้วงพลู
และนางเมือง ด้วงพลู
หลวงพ่อเงิน อุปสมบท มูลเหตุแห่งการบวชตลอดชีวิต
หลวงพ่อเงิน ได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2453 โดยมี พระปลัดฮวย เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายา “จนฺทสุวณฺโณ”
เมื่อหลวงพ่อได้เข้าสู่เพศบรรพชิตแล้ว ท่านได้บอกแก่โยมพ่อของท่านว่า "อาตมาสละหมดทุกอย่างแล้ว โดยขอให้สัจจะปฏิญาณแก่พี่น้องชาวตำบลนี้ว่า อาตมาจะไม่ขอลาสิกขา อาตมาจะเป็นแสงสว่างทางให้เพื่อนมนุษย์ ขอให้โยมร่วมอนุโมทนาด้วยความยินดีและมั่นใจ” ตั้งแต่เริ่มอุปสมบท หลวงพ่อเงิน ท่านมีความตั้งใจอย่างมาก มีขันติ วิริยะ สามารถท่องปาติโมกข์จบ และแสดงในเวลาทำสังฆกรรมได้ตั้งแต่พรรษาแรก หมั่นบำเพ็ญเพียรในการปฏิบัติสมถะ และวิปัสสนากรรมฐาน ตามที่โยมพ่อพรมของท่านแนะนำ เป็นเวลาถึง 4 ปีเต็ม
ในปลายพรรษาที่ 5 หลวงพ่อเงินพร้อมด้วยพระที่วัดอีก 2 รูป ได้ออกธุดงค์ไปตามชนบท มุ่งหน้าขึ้นภาคเหนือ ผ่านป่าสระบุรี ลพบุรี เรื่อยขึ้นไปถึงนครสวรรค์ ค่ำที่ไหนก็ปักกลดพักแรมที่นั่น อาหารที่ฉันก็เพียงมื้อเดียว การเดินทางในสมัยนั้น เดินทางด้วยเท้าเปล่า บ้านคนก็ไม่ค่อยมี ป่าก็เป็นป่าดงดิบ ที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด ซึ่งยากที่พระภิกษุผู้ที่ไม่มีอาวุธ หรือเครื่องมือเพื่อป้องกันภัย จะธุดงค์ได้ตลอดรอดฝั่งด้วยความปลอดภัย เพราะเหตุที่ต้องประสบกับความยากลำบาก ในการออกธุดงค์ในครั้งนั้น จึงมีเรื่องเล่าต่อมา ภายหลังจากที่หลวงพ่อเงินกลับจากธุดงค์เป็นเวลา 4 เดือน หลวงพ่อเงิน ได้มาปักกลดอยู่ข้างบ้านดอนยายหอม โดยที่มีผิวกายดำกร้าน ร่างกายซูบผอมราวกับคนชรา ชาวบ้านที่เดินผ่านไปมาจึงจำท่านไม่ได้ แม้แต่นายแจ้งซึ่งเป็นพี่ ชาย ก็คิดว่าเป็นพระธุดงค์มาจากที่อื่น แต่พอเข้าไปดูใกล้ๆ ก็ตกตะลึง แทบจะปล่อยโฮออกมา พอได้สติจึงยกมือไหว้ แล้วถามท่านว่า
“คุณเงินหรือนี่” ซึ่งหลวงพ่อเงินก็ตอบพร้อมกับหัวเราะว่า “ฉันเอง โยมพี่ทิดแจ้ง” ฉันแปลกมากไปเชียวหรือ จึงจำฉันไม่ได้ ฉันมาปักกลดอยู่ที่นี่นานแล้ว เห็นพวกบ้านเราเขาเดินผ่านไปผ่านมาหลายคน แต่ไม่มีใครทักฉันเลย ฝ่ายพ่อพรมนั้น พอทราบข่าวว่า พระลูกชายกลับจากธุดงค์ด้วยความปลอดภัยแล้ว ก็เต็มไปด้วยความปลาบปลื้มยินดี สาเหตุที่ หลวงพ่อเงิน ท่านไม่อยากครองชีวิตแบบคฤหัสถ์ กล่าวกันว่า เพราะท่านมองเห็นว่า ความสุขทางโลกไม่จีรังยั่งยืน เหมือนความสุขทางธรรม เรื่องของทางโลก มีแต่ความยุ่งยาก วุ่นวาย เดือดร้อน ข่มเหง เบียดเบียน และอิจฉาริษยากันไม่สิ้นสุด ผู้เสพรสของความหรรษาทางโลก ย่อมมียาพิษเจือปนอยู่เสมอ ส่วนผู้เสพรสพระธรรม ไม่มีพิษไม่มีโทษแต่อย่างใด
หลวงพ่อเงิน มักจะปรารภให้ผู้ใกล้ชิด ฟังอยู่บ่อยๆ ว่า ร่างกายมนุษย์เรานี้ ไม่มีแก่น เกิดมาเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร ที่เต็มไปด้วยกองทุกข์ มนุษย์จะหนี ทุกข์ได้ มิใช่มากด้วยสมบัติพัสถาน หรือข้าทาสบริวาร ตรงกันข้าม สิ่งเหล่านี้เป็นพันธะยึดเหนี่ยวจิต เสมือนจิตถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน ต้องพะวักพะวนเศร้าหมอง
คติธรรมที่หลวงพ่อเงินได้ให้ไว้ คือ รู้จักพอ ก่อสุข ทุกสถาน
หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ละสังขาร
หลวงพ่อเงิน ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เมื่อปี พ.ศ.2466 และท่านได้ละสังขารด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2520 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ทั้งนี้ประชาชนใน ต.ดอนยายหอม ตลอดจนประชาชนที่มีจิตศรัทธาต่อวัดดอนยายหอม ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ดังนี้
1. จัดงานวันคล้ายวันมรณภาพหลวงพ่อเงิน ระหว่างวันที่ 9-13 มกราคม ของทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึงบุญบารมีของหลวงพ่อเงิน เพื่อให้ประชาชนใน ต.ดอนยายหอม และประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาได้สักการะ โดยในช่วงงานจะมีพิธีบวชพราหมณ์ เพื่อเป็นการรักษาศีล ตลอดจนเป็นการสร้างความสามัคคีของชาว ต.ดอนยายหอม
2.จัดงานปิด ทองกลางเดือน 4 ขึ้น 15 ค่ำ ของทุกปี เป็นงานประจำปีที่จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชน ต.ดอนยายหอม และประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาสักการะทำบุญ บำเพ็ญกุศลปิดทองรอยพระพุทธบาท รูปปั้นคุณยายหอม รูปจำลองหลวงพ่อเงิน ศิลาเสมาธรรมจักร ซึ่งขุดค้นพบที่เนินพระเจดีย์ ใกล้วัดดอนยายหอม
และ 3.จัดงานคล้ายวันมรณภาพหลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม เจ้าอาวาสรูปต่อจากหลวงพ่อเงิน และเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังอีกท่านหนึ่ง ระหว่างวันที่ 9-13 ธันวาคม ของทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึงบุญบารมีของหลวงพ่อแช่ม ที่มีอุปการคุณต่อชาว ต.ดอนยายหอม ตลอดมา
พระเครื่อง หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม มาจากประสบการณ์ของคนในพื้นที่ และผู้ครอบครองทั่วๆ ไป เป็นการบอกกันปากต่อปาก ประจวบกับพระเครื่องชุดนี้เป็น พระแท้ หาง่าย ราคาไม่แพง จึงถือเป็นเรื่องสะดวกกายสะดวกใจ สบายทรัพย์ ที่คิดจะเก็บสะสมเอาไว้ โดยการสะสมนี้ เริ่มจากศรัทธาตามคำบอกเล่า มิได้เป็นการสะสมในเชิงพาณิชย์เก็งกำไร ตั้งแต่ต้นปี 2548 พระเครื่องหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ยังดังต่อเนื่อง ถึงขั้นขาดแคลน ทั้งมีราคาสูงขึ้น จากที่เคยนิ่งสนิท และไม่เป็นที่สนใจมาเลยก่อนหน้านี้
สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี คือ ตั้งแต่ต้นปี 2547 มานั้น พระเครื่องชุดหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม อยู่ในสภาพซื้อง่าย ขายคล่อง เป็นที่ต้องการสะสมของคนทั่วไป ทั้งยังเป็นเหตุจูงใจให้พระเครื่องสายนครปฐมทั้งหมดกระเตื้อง ตื่นเต้นตามไปด้วย พระหลวงพ่อเงิน ส่วนใหญ่เป็น พระสร้างแจกฟรี แต่คนไทยส่วนใหญ่จะเป็นไปตามสำนวนที่ว่า ใกล้เกลือกินด่าง อย่างกรณี พระหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม เมื่อครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่ คนใกล้วัดคิดอยู่เสมอว่า จะไปขอพระจากท่านเมื่อไรก็ได้ เพราะท่านสร้างแจกฟรีอยู่แล้ว แต่เมื่อท่านแจกหมด จึงกลายเป็นว่า คนที่อยู่ใกล้วัดมีพระหลวงพ่อเงินน้อยมาก
แม้ท่านจะมรณภาพไปนาน แล้วก็ตาม แต่สิ่งต่างๆ ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของบรรดาลูกศิษย์ลูกหา โดยเฉพาะชาวดอนยายหอมอย่างไม่มีวันลืม ต่างยังรำลึกนึกถึงท่านอย่างไม่มีวันเลือนหายไปจากความทรงจำ
ทั้งนี้ท่านได้สร้าง พระเครื่อง-วัตถุมงคลไว้เพื่อเป็นมรดกถึงรุ่นลูกหลาน วัตถุมงคลของท่านยอดเยี่ยมด้านคงกระพันชาตรี เปี่ยมด้วยเมตตามหานิยมยิ่งนัก ประวัติหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ประวัติหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้

พระเครื่องหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
พระเครื่องหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ดังปรากฏเป็นข่าวหน้าหนึ่งของ หนังสือพิมพ์เป็นประจำ พระเครื่องของหลวงพ่อเงิน ปัจจุบันมีอยู่ 4-5 รุ่น ที่มีค่านิยมอยู่ในหลักหมื่นปลายๆ ถึงหลักแสนต้นๆ ได้แก่
1.เหรียญหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม รุ่นแรก
2.เหรียญหลวงพ่อเงิน ปี 2506 เนื้อทองคำ
3.เหรียญหลวงพ่อเงิน หันข้าง ปี ๒๕๑๓ เนื้อทองคำ และ
4.เหรียญหลวงพ่อเงิน รุ่นโก๋ใหญ่ ส่วนรุ่นอื่นๆ มีค่านิยมลดหลั่นกันไป
หนังสือชีวประวัติของหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม
หนังสือเรื่องชีวประวัติของหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม หรือพระราชธรรมาภรณ์ (เงิน จันทสุวัณโณ) นี้ ข้าพเจ้าเขียนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2529 หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว อยู่บ้านมีเวลาว่าง จึงเขียนขึ้นเพื่อบูชาพระคุณของหลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ เป็นการศึกษาธรรมะไปด้วย การเขียนประวัติพระอริยสงฆ์เป็นการเขียนเพื่อปฏิบัติบูชา พระสุปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเหมาะสม แก่พระอริยสงฆ์) พระอุชุปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติงดงามทุกอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง นอน เหยียด คู้ เหลียว มอง พูด ฉัน ขบ เคี้ยว) เป็นพระญายปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะจิต) พระสามีจิปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติด้วยจิตจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า อย่างมอบกายถวายชีวิต ไม่กลัวอดอยาก ไม่กลัวลำบาก ไม่กลัวตาย) หลวงพ่อเงินเป็นพระอริยสงฆ์ตามบทสรรเสริญพระอริยสงฆ์ที่กล่าวไว้ในบทสุปฏิปันโน ไม่ขาดตกบกพร่องเลย จึงไม่ต้องสงสัยว่าพระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน) เป็นพระอริยสงฆ์หรือเปล่า ท่านเป็นพระอริยสงฆ์แน่นอน แต่จักเป็นชั้นไหนเท่านั้นที่เราไม่รู้ ว่าท่านเป็นพระโสดาบัน หรือ พระสกทาคามี หรือพระอนาคามีบุคคล เราไม่รู้
ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้จบเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2529 ใช้เวลา 1 เดือนหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้เขียนอย่างรวบรัด เนื่องจากประวัติโดยพิสดารนั้นนายชื่น ทักษิณานุกุล ลูกบุญธรรมของหลวงพ่อได้เขียนไว้แล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2506 ชื่อหนังสือนั้นว่า "หลวงพ่อเงินเทพเจ้าแห่งดอนยายหอม" หนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากเรื่อง นายชื่น ทักษิณานุกูล เขียนไว้ เพราะนายชื่นเป็น "อันเตวาสิก" ศิษย์ก้นกุฏิ รู้อะไรเกี่ยวกับหลวงพ่อโดยละเอียด ส่วนข้าพเจ้าเป็น "พาหิรวาสิก" ศิษย์ภายนอกที่หลวงพ่อบวชให้เท่านั้น บวชแล้วก็ไปอยู่เสียที่วัดห้วยจระเข้ ไม่ได้อยู่กับหลวงพ่อโดยใกล้ชิดเหมือน นายชื่น ทักษิณานุกูล ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนร่วมชั้นกับ นายชื่น ทักษิณานุกูล ที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และบัดนี้นายชื่น ทักษิณานุกูล ก็ล่วงลับไปนานแล้ว จึงไม่ต้องขออนุญาตคัดลอกเอาเรื่องของเขามาเขียนใหม่ในคราวนี้ เรามีจุดประสงค์ร่วมกันคือเขียนเพื่อเผยแพร่เกียรติคุณครูอาจารย์ให้โลกรู้ นายชื่น คงจะอนุโมทนาด้วย เขียนเสร็จแล้วก็ทิ้งไว้นาน ไม่กล้าพิมพ์เผยแพร่ กลัวจะขาดทุนเปล่า เพราะมีคนคัดลอกเอาไปเขียนกันหลายคนหลายครั้งแล้ว จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ.2535 ฝันเห็นหลวงพ่อเงินยืนอยู่บนภูเขา ข้าพเจ้ากำลังเดินขึ้นไปหาท่าน แต่ไม่กล้าขึ้นไปถึงท่าน กลัวตกภูเขา ดูเหมือนจะเป็นปริศนาธรรมที่ท่านมาเตือนให้พิมพ์เรื่องนี้ออกเผยแพร่ เมื่อรู้สึกว่าเป็นหนี้ที่ยังมิได้ชดใช้ท่าน จึงได้พิมพ์เรื่องนี้เผยแพร่ในครั้งนี้ ท่านผู้ใดอ่านแล้วไม่จุใจอยากจะทราบรายละเอียด ขอให้อ่านจากเรื่อง "หลวงพ่อเงิน เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม" มีอยู่ที่หอสมุดวัดดอนยายหอมหรือตามร้านหนังสือเก่าคงมีเหลืออยู่บ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น