Theขี้ฝุ่นริมทาง
วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555
มข. จัดประชุม APEC-Khon Kaen เตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ
มข. จัดประชุม APEC-Khon Kaen International Symposium 2012 เรื่อง การศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ เล็งดำเนินการต่อเนื่อง3 ปี (ค.ศ.2012-2014) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก APEC-HRD เพื่อพัฒนาโปรแกรมการสอนเกี่ยวกับภัยพิบัติซึ่งเน้นประเด็นหลัก ได้แก่ การป้องกันนักเรียนจากภัยพิบัติ เราจะมีการเตรียมการอย่างไร และประเด็นการพัฒนาความรู้ครูที่เป็นระบบ
รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการจัดการประชุมครั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในฐานะแกนกลางของสถาบันอุดมศึกษาในภาคอีสานตอนบน ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ สสวท. และอีกหลายภาคส่วนพัฒนาบทบาทปฏิรูปการศึกษานั้น ให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงการศึกษาต่างระดับ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา
“มข.ได้จัดประชุม APEC-Khon Kaen International Symposium 2012 เรื่อง การศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ ต่อเนื่อง3 ปี (ค.ศ.2012-2014) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก APEC-HRD เพื่อพัฒนาโปรแกรมการสอนเกี่ยวกับภัยพิบัติซึ่งเน้นประเด็นหลัก ได้แก่ การป้องกันนักเรียนจากภัยพิบัติ เราจะมีการเตรียมการอย่างไร และประเด็นการพัฒนาความรู้ครูที่เป็นระบบ ซึ่งขณะนี้เราได้สร้างเครือข่ายสพฐ.ให้เชื่อมโยง และถ่ายทอดความรู้ต่อกัน คณะศึกษาศาสตร์มีส่วนสำคัญในการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณค่าออกไปสู่สังคม กว่า 10 ปี ที่คณะศึกษาศาสตร์ได้เปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนใหม่ โดยสอนให้เกิดการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ในการพัฒนาข้อมูลเพื่อใช้ในแทบเล็ต เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ได้มีการนำความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้เด็กได้เรียนรู้ ท้ายที่สุด อธิการบดีได้กล่าวขอบคุณ สสวท. สกอ. ที่เห็นความสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขอบคุณ APEC ที่ให้ความช่วยเหลือ เกื้อกูล และพัฒนาการศึกษาของไทย”
Dr. Young Hwan Kim Lead Shepherd of APEC, HRDWG กล่าวว่า โครงการชุมชนการเรียนรู้เอเปคก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มความร่วมมือจากนานาประเทศเมื่อปี ค.ศ.2002 และได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2003 ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จในกลุ่มของเอเปค โดยมีสมาชิกกว่า 500 คน ทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน โดยมีโครงการแลกเปลี่ยนครูและนักศึกษาเป็นประจำทุกปี ในส่วนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น ได้มีการทำงานประสานกับฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และมีการขยายกิจกรรมไปยังโรงเรียนต่างๆ ในเขตจังหวัดขอนแก่นอีกด้วย ประเทศไทยนอกจากมีจุดแข็งที่มีภูมิประเทศที่สวยงาม มีประเพณีทางพุทธศาสนาที่ดีงาม ซึ่งสามารถสืบทอดต่อไปยังคนรุ่นใหม่ได้แล้วนั้น ยังมีประการสำคัญอย่างยิ่งที่ประเทศไทยมีในหลวงที่ทรงพระราชทานการสนับสนุนทางด้านการศึกษาอย่างเข้มแข็ง
ดร.วราภรณ์ สีหนาท รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวแสดงความชื่นชมกับโครงการ APEC ที่ได้ทำสิ่งที่ดีงามก่อให้เกิดผลดีต่อเยาวชนไทย และขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่อง และนำผลงานไปแสดงทุกครั้ง ซึ่ง สกอ.ยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ กระบวนงานที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นับเป็นความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสถาบันอุดมศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการโดยสามารถใช้รูปแบบการเรียนรู้ไปใช้เรียนรู้กับวิชาอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ได้ ทำให้มองเห็นร่วมกันในภาพรวม และสามารถถอดบทเรียนจากกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันได้อีกด้วย
ศ.เกียรติคุณ ดร. มนตรี จุฬาวัฒนทลประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการ สสวท. อยากเห็นความก้าวหน้าของประเทศไทย ยกระดับคุณภาพคลัสเตอร์ในการสอนครูจากคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เพื่อให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นในระดับนานาชาติ และให้ความสำคัญในการเรียนรู้อย่างยิ่ง ไม่ว่าอาชีพใดๆ คนรุ่นเก่าต้องเรียนรู้และสร้างความเข้าใจไปพร้อมกับคนรุ่นใหม่ จะทำให้เกิดการพัฒนาก้าวให้ทันโลก เยาวชนต้องรู้จักคิด วิเคราะห์ให้มากกว่าการจำ และเรียนรู้ในการเตรียมความพร้อมรับความเสี่ยง รู้ทันกับสถานการณ์เฉพาะหน้า เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ เป็นต้น.
ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวว่าศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ เป็นศูนย์วิจัยฯ ที่เน้นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างงานวิจัยที่มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ของประเทศไทย และประเทศในแถบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีการพัฒนาระบบฝึกหัดครูคณิตศาสตร์ในโครงการผลิตครูตามหลักสูตรการศึกษาขึ้นพื้นฐาน และระดับบัณฑิตศึกษา มีการเผยแพร่งานวิจัย โดยการนำเสนองานวิจัยในที่ประชุมทางวิชาการ และผลิตเอกสารสิ่งพิมพ์ สื่อผสมผสาน รวมทั้งการจัดการฝึกอบรมครูประจำการและในระหว่างวันที่ 8-11 กันยายน 2555 ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา และมหาวิทยาลัยทสึคุบะ โดยศูนย์ไครเซ็ด (CRICED) ประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC-Khon Kaen International Symposium 2012 เรื่อง “การศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ” ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ ไต้ฝุ่น ภูเขาไฟระเบิด ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมโครงการนี้ถึง 19 เขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC: Asia Pacific Economic Cooperation) ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี เปรู ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี รัสเซีย มาเลเซีย เม็กซิโก สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม มีผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกว่า 500 คน ประกอบด้วย ครู อาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ ครูในเทศบาลนครขอนแก่น
ทั้งนี้โครงการ APEC-Khon Kaen International Symposium 2012 เรื่อง “การศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ” นี้ ได้รับทุนสนับสนุนจาก APEC-HRD ซึ่งจะมีการดำเนินการต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2555-2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมการสอนเกี่ยวกับภัยพิบัติ ซึ่งเน้นประเด็นหลักใน 3 เรื่อง คือ 1.การป้องกันนักเรียนจากภัยพิบัติ 2.เราจะมีการเตรียมการอย่างไร 3.พัฒนาความรู้ครูที่เป็นระบบ
ผศ.ดร.ไมตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมที่น่าสนใจในงานครั้งนี้ มีการสาธิตการสอนโดย อาจารย์มิสุโอะ โน๊ะบุจิ ครูญี่ปุ่น จากโรงเรียน Demonstration Mito-Eiko Elementary school and Junior High school, Japan เรื่องค้นหาความลับของกล่องโนบุจัง สอนนักเรียนโรงเรียนบ้านบึงเนียม โรงเรียนคูคำพิทยาสรรพ์ จ.ขอนแก่น เน้นความสนใจ ความต้องการ เจตคติ และการคิดทางคณิตศาสตร์ ซึ่งทำให้เด็กๆ สนุกสนานกับการเรียนอย่างมาก จากนั้นมีการสะท้อนผลการสอนโดย ครูผู้สอน, ศาสตราจารย์ Max Stephens จากออสเตรเลีย, ศาสตราจารย์ Yeap Ban Har สิงคโปร์, ศาสตราจารย์ Lim Chap Sam, ศาสตราจารย์ Masami Isoda ญี่ปุ่น และยังมีการนำเสนอโพสเตอร์และนิทรรศการโรงเรียนในโครงการวิจัยฯ อีกด้วย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น