++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สาธารณสุขสงขลา ย้ำโรคมือเท้าปากส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ผู้ปกครองต้องร่วมเฝ้าระวังการแพร่กระจายของเชื้อโรค หากพบเด็กเล็กมีไข้สูงซึม หรือ อาเจียน ให้รีบพาไปพบแพทย์


สาธารณสุขสงขลา ย้ำโรคมือเท้าปากส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ผู้ปกครองต้องร่วมเฝ้าระวังการแพร่กระจายของเชื้อโรค หากพบเด็กเล็กมีไข้สูงซึม หรือ อาเจียน ให้รีบพาไปพบแพทย์
by ฝ่ายสุขศึกษาประชาสัมพันธ์และประสานเครือข่ายพันธมิตรสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหว
สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ปัจจุบันยังไม่มีการแพร่ระบาดที่รุนแรง หากพบเด็กเล็กที่มีอาการป่วยในโรงเรียนอนุบาลหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต้องให้หยุดเรียน พร้อมทั้ง ร่วมกันทำความสะอาดสิ่งของอุปกรณ์เครื่องใช้ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค นายแพทย์ศิริชัย ลีวรรณนภาใส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ป่วยเริ่มมีอาการป่วยภายใน 3 – 5 วันหลังจากรับเชื้อ โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรง อาการของโรคที่สำคัญคือ เด็กจะมีอาการไข้ เจ็บปาก น้ำลายไหล กินอาหาร ได้น้อย เนื่องจากมีแผลที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก มีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้นและอวัยวะเพศ อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขา อาการดังกล่าวมักมีเกิดขึ้นประมาณ 2-3 วันและ ดีขึ้นจนหายได้ใน 1 สัปดาห์ โดยทั่วไปมักมีอาการไม่รุนแรงสามารถหายป่วยได้เอง มีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง ทำให้เกิดอาการสมองอักเสบร่วมกับระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว และเสียชีวิตได้ เด็กที่มีอาการรุนแรงมักมีไข้สูง ซึมอ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหอบ และชัก ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาพบแพทย์โดยด่วน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ และยังไม่มียารักษาจำเพาะ แพทย์ให้การรักษาตามอาการ สำหรับเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปาก จะเข้าสู่ร่างกายทางปากโดยตรง โดยเชื้อติดมากับมือ ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน เช่น ช้อน แก้วน้ำ หรือของเล่นที่ปนเปื้อน น้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง แผลในปาก หรืออุจจาระของผู้ป่วย ทั้งนี้ เชื้ออาจจะอยู่ในอุจจาระผู้ป่วยได้เป็นเดือน ทำให้ผู้ป่วยยังคงสามารถแพร่กระจายเชื้อโรคได้ ดังนั้น สถานที่ที่มักมีโอกาสเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย จะเป็นแหล่งรวมของเด็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี เช่น ในโรงเรียนอนุบาล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และ สถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปาก ประชาชน ควรปฏิบัติดังนี้ • พ่อแม่ผู้ปกครองควรแนะนำสุขอนามัยส่วนบุคคลแก่ลูกหลาน โดยเฉพาะการล้างมือให้สะอาด ก่อนกินอาหาร และหลังขับถ่าย การใช้ช้อนกลาง รวมทั้งไม่ใช้แก้วน้ำ หรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับคนอื่น ผู้ปรุงอาหารต้องล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังการเตรียมอาหารทุกครั้ง • ไม่ควรพาเด็กเล็กไปในที่แออัดที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมากๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ ควรอยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี • ควรทำความสะอาดของเล่น อุปกรณ์เครื่องใช้ และสภาพแวดล้อมภายในบ้าน โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกวัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค • ผู้ปกครองหมั่นสังเกตอาการป่วยที่สงสัยเป็นโรคมือเท้าปากในเด็กเล็ก หากพบว่า มีตุ่มในปากโดยที่ยังไม่มีอาการอื่น ให้หยุดเรียนและอยู่บ้านไว้ก่อน ให้เด็กถ่ายอุจจาระลงในที่รองรับแล้วนำไปกำจัดให้ถูกสุขลักษณะในส้วม หากเด็กมีอาการป่วยที่รุนแรงขึ้น เช่น ไม่ยอมทานอาหาร ไม่ยอมดื่มน้ำ ต้องรีบพาไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที นายแพทย์ศิริชัย ลีวรรณนภาใส ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โรคมือเท้าปากในประเทศไทย จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.– 9 ก.ค. 2555 พบผู้ป่วย 12,581 ราย อัตราป่วย 19.80 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต พบมากที่สุดในอายุ 1 ปี ร้อยละ 28.19 รองลงมา อายุ 2 ปี ร้อยละ 25.94 และ3 ปี ร้อยละ 17.45 ส่วนจังหวัดสงขลา จากข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 18 ก.ค. 2555 พบผู้ป่วย 309 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 0-4 ปี (ร้อยละ 90) อำเภอที่พบผู้ป่วยสูง ได้แก่ อำเภอเมือง เทพา และสทิงพระ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนไม่ต้องตระหนกต่อสถานการณ์ของโรคมือเท้าปากในขณะนี้ แต่ขอให้มีการร่วมมือเฝ้าระวังป้องกันตามมาตรการข้างต้น รวมทั้งมีการป้องกันโรคมือเท้าปากอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปฏิบัติตามมาตรการ “ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ” คือ กินอาหารสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด ใช้ช้อนกลางในการกินอาหาร ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น และล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังขับถ่ายทุกครั้ง รวมทั้ง ร่วมทำความสิ่งของ อุปกรณ์เครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกันเช่น โต๊ะ เก้าอี้ในบ้าน โรงเรียน และ ศูนย์เด็กเล็ก ก็จะช่วยป้องกันโรคมือเท้าปากได้ *****นายทีปวัฑฒ์ มีแสง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ /รายงาน 20 ก.ค.2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น