++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

ปฐมพุทธพจน์
โดย Dhammachak . Net เมื่อ 2 มีนาคม 2012 เวลา 22:02 น. ·



นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต

อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ



ขอนอบน้อม กราบคารวะในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ

พระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระองค์นั้น ผู้ไกลจากกิเลส

ทรงตรัสรู้ชอบในอริยสัจธรรมด้วยพระองค์เอง





ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่ได้ตรัสรู้ ไม่ได้แทงตลอดอริยสัจ เราด้วยและเธอทั้งหลาย จึงแล่นไป ท่องเที่ยวไปยังสังสารวัฏนี้ตลอดกาลนานอย่างนี้ อริยสัจ ๔ เป็นไฉน คือ เพราะไม่ได้ตรัสรู้ ไม่ได้แทงตลอดซึ่ง ทุกข์....เหตุแห่งทุกข์....ความดับทุกข์....ข้อปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ เราด้วย และเธอทั้งหลายด้วย จึงแล่นไป ท่องเที่ยวไปยังสังสารวัฏนี้ตลอดกาลนานอย่างนี้

" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราด้วยและเธอทั้งหลายด้วยได้ตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้วซึ่งอริยสัจ ๔ ประการ...ตัณหาในภพขาดสูญแล้ว ตัณหาที่จะนำไปสู่ภพใหม่สิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี "(1)

(1) สํ.ม. 19/109/610 วัชชีสูตร





สังสารวัฏฏ์



ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่อนไม้ที่บุคคลโยนขึ้นไปบนอากาศ บางคราวก็ตกลงทางโคน บางคราวก็ตกลงทางขวาง บางคราวก็ตกลงทางปลาย แม้ฉันใดสัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ก็ฉันนั้นแล บางคราวก็จากโลกนี้ไปสู่ปรโลก บางคราวก็จากปรโลกมาสู่โลกนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้...(2)



พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ กัปหนึ่งนั้นนานมาก มิใช่ง่ายที่จะนับกัปนั้นว่าเท่านี้ปี เท่านี้ ๑๐๐ ปี เท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี หรือว่าเท่านี้ ๑๐,๐๐๐ ปี ..ฯ ดูก่อนภิกษุ เหมือนอย่างว่า ภูเขาหินลูกใหญ่ยาว ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบทั้งก้อน บุรุษพึงเอาผ้าแคว้นกาสีมาปัดภูเขาลูกนั้น ระยะเวลาที่ปัด ๑๐๐ ปีต่อครั้ง ภูเขาหินลูกใหญ่นั้น พึงหมดไป สิ้นไป เพราะความพยายามนี้ยังเร็วกว่าแล ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงกาลหมดไป สิ้นไป ระยะกัปนานอย่างอย่างนี้แล บรรดากัปที่นานอย่างนี้ พวกเธอท่องเที่ยวไปแล้วในวัฏฏสงสาร มิใช่หนึ่งกัป มิใช่ร้อยกัป มิใช่พันกัป มิใช่แสนกัป... ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ เพียงพอแล้ว ที่จะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง เพียงพอเพื่อจะละคลายความกำหนัด เพื่อก้าวไปสู่ความหลุดพ้น..."(3)



ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถูกละๆ พวกเธอทราบธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกแล้ว น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกเธอทั้งหลาย ผู้ท่องเที่ยวไปมา ฯลฯ โดยกาลนานนี้แหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของมารดาตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอเหล่านั้น ผู้ประสบมรณกรรมของมารดา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ นั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลยพวกเธอได้ประสบมรณกรรมของบิดา...ของพี่ชาย น้องชายพี่สาวน้องสาว...ของบุตรธิดา ...ความเสื่อมแห่งญาติ...ความเสื่อมแห่งโภคะ ได้ประสบความเสื่อมเพราะโรคตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลของพวกเธอนั้น ผู้ประสบความเสื่อมเพราะโรค คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ เพราะประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ นั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ เพียงพอแล้ว ที่จะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง เพียงพอเพื่อจะละคลายความกำหนัด เพื่อก้าวไปสู่ความหลุดพ้น ดังนี้ ฯ..."(4)

(2) สํ.นิ. 16/132/244 ทัณฑสูตร

(3) สํ.นิ. 16/128/240 ปัพพตสูตร

(4) สํ.นิ. 16/126/237-239 อัสสุสูตร









สิ่งที่ปรารถนาได้ยาก



ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาปฐพีนี้มีน้ำเอ่อล้นเต็มไปหมด บุรุษโยนแอกมีช่องเดียว(ลักษณะคล้ายๆบ่วง) ลงไป ลมในทิศตะวันออกพัดเอาแอกนั้นไปทางทิศตะวันตก ลมทิศตะวันตกพัด เอาไปทางทิศตะวันออก ลมทิศเหนือพัดเอาไปทางทิศใต้ ลมทิศใต้ พัดเอาไปทางทิศเหนือ เต่าตาบอดตัวหนึ่งจะโผล่ขึ้นมาหนึ่งครั้งต่อ ๑๐๐ ปี เธอทั้งหลายจะสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน เต่าตาบอดนั้นซึ่งในระยะเวลา ๑๐๐ ปี มันจะโผล่ขึ้นมาคราวหนึ่ง

...เมื่อโผล่แล้วจะสามารถสอดคอให้เข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวนั้นได้บ้างหรือไม่หนอ ?

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่เต่าตาบอด...จะสอดคอเข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวนั้นเป็นของยากพระเจ้าข้าฯ”

“ ฉันนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การได้ความเป็นมนุษย์เป็นของยาก การที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นในโลกที่เป็นของยาก ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วจะรุ่งเรืองในโลก ก็เป็นของยาก ความเป็นมนุษย์นี้เธอได้แล้ว พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อุบัติขึ้นแล้วในโลก และพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วก็เจริญรุ่งเรืองอยู่แล้วในโลก

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ” (5)

(5)สํ.ม. 19/118/635-636 ฉิคคฬยุคสูตร







สุคติภูมิ



ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเทวดาทราบว่า เทพบุตรองค์นี้จะต้องเคลื่อนจากสวรรค์ ก็พลอยยินดีกับเทพบุตรองค์นั้น ด้วยการอวยพรให้ ๓ ประการคือ

๑. ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้ว ขอให้ได้ไปเกิดใน “สุคติภูมิ”

๒. ท่านเกิดในสุคติภูมิแล้ว ขอให้ได้ “ลาภอันดี”

๓. ท่านเมื่อได้ลาภอันดี ขอให้มี”จิตมั่นคง”

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูล ถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไร เป็นเหตุให้เทพบุตรไปเกิดในสุคติภูมิ อะไร เป็นเหตุให้เทพบุตรได้ลาภอันดี อะไร เป็นเหตุให้เทพบุตรมีจิตที่มั่นคง

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย… ความเป็นมนุษย์เป็นเหตุให้เทพบุตรไปเกิดในสุคติภูมิ เทพบุตรลงมาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว มีความเลื่อมใสในธรรมวินัยที่พระตถาคตเจ้า ประกาศแล้วเป็นเหตุให้เทพบุตรได้ลาภอันดี ก็ศรัทธาของเทพบุตรนั้นแล มีมูลฐานหยั่งลงมั่นคง สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆในโลก ไม่สามารถทำให้ศรัทธานั้นเสื่อมคลายไปได้ นี้เป็นเหตุให้เทพบุตรมีจิตมั่นคง…” ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้วจึงตรัสพระคาถาประพันธ์ว่า

เวลาที่เทพบุตรจะจุติจากสวรรค์ เพราะสิ้นอายุ เทวดาที่พลอยยินดี ย่อมเปล่งเสียงอวยพรให้…

๑. แน่ะท่านผู้เจริญ ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้ว จงไปเกิดในสุคติภูมิ จงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งหมู่มนุษย์เถิด

๒. ท่านเกิดเป็นมนุษย์แล้ว จงมีศรัทธาเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระสัทธรรม

๓. ศรัทธาของท่านจงมีมูลฐานหยั่งลงมั่นคงในพระสัทธรรม ที่พระตถาคตเจ้า ทรงประกาศดีแล้ว ใครๆ ให้เสื่อมศรัทธาไม่ได้ตลอดชีวิต ท่านจงละความประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ และอย่าทำความชั่วที่มีโทษอย่างอื่น ทำความดี ทาง กาย วาจา ใจ ให้มาก“ทำความดีทางใจให้ไพบูลย์จนปราศจากอุปธิ” นอกจากนั้นท่านจงบำเพ็ญบุญ ที่ให้เกิดสมบัตินั้นให้มากด้วยการบริจาคทาน แล้วชักชวนชนอื่นให้ดำรงอยู่ในพระสัทธรรม ในพระพุทธศาสนา…”

(6)ขุ.อิติ. 25/83/364-366 บุพพนิมิตสูตร







พุทธภาวะ

…ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จพุทธดำเนินทางไกลพราหมณ์ผู้หนึ่งได้เดินทางไกลทางเดียวกับพระองค์ มองเห็นรูปจักรที่รอยพระบาทแล้วมีความอัศจรรย์ใจ ครั้นพระองค์เสด็จลงไปประทับนั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่งข้างทาง พราหมณ์เดินตามรอยพระบาทมา มองเห็นพุทธลักษณาการที่ประทับนั่งสงบลึกซึ้งน่าเลื่อมใสยิ่งนัก จึงเข้าไปเฝ้าแล้วทูลถามว่า…

ท่านผู้เจริญคงจักเป็นเทพเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ไม่ใช่…

ทูลถามต่อไปว่า….ท่านผู้เจริญคงจักเป็นคนธรรพ์ …ยักษ์ หรือเป็นมนุษย์ พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธหมด

…เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านผู้เจริญจะเป็นใครกันเล่า…

“นี่แน่ะพราหมณ์ อาสวะเหล่าใดที่เมื่อยังละไม่ได้จะเป็นเหตุให้เราเป็นเทพเจ้า …เป็นคนธรรพ์…เป็นยักษ์ …เป็นมนุษย์ อาสวะเหล่านั้นเราละได้แล้ว ถอนรากเสียแล้ว…หมดสิ้น ไม่มีทางเกิดขึ้นได้อีกต่อไป” เปรียบเหมือนดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก ซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ แต่ตั้งอยู่พ้นน้ำ ไม่ถูกน้ำฉาบติด ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เกิดในโลก เติบโตขึ้นในโลก แต่เป็นอยู่เหนือโลก ไม่ติดกลั้วด้วยโลกฉันนั้น…นี่แน่ะพราหมณ์ จงถือว่าเราเป็น “พุทธะ” เถิด

(7)อํ.จตุกก. 21/36/49-51 โทณสูตร









อัศจรรย์ ๔ อย่าง

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่ตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะเกิดขึ้น จึงเกิดมี "ของอัศจรรย์ ๔ อย่างนี้" ปรากฏขึ้น คือ

๑. ภิกษุทั้งหลาย ประชาชนทั้งหลาย "พอใจในกามคุณ" ยินดีในกามคุณ บันเทิงอยู่ในกามคุณ ครั้นตถาคตแสดง "ธรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับกามคุณ" ประชาชนเหล่านั้นก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง...



๒. ภิกษุทั้งหลาย ประชาชนทั้งหลาย "พอใจในการถือตัว" ยินดีในการถือตัว บันเทิงอยู่ในการถือตัว ครั้นตถาคตแสดง "ธรรมที่กำจัดความถือตัว" ประชาชนเหล่านั้นก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง...



๓. ภิกษุทั้งหลาย ประชาชนทั้งหลาย "พอใจในความวุ่นวายไม่สงบ" ยินดีในความวุ่นวายไม่สงบ บันเทิงอยู่ความวุ่นวายไม่สงบ ครั้นตถาคตแสดง "ธรรมที่เป็นไปเพื่อความสงบ" ประชาชนเหล่านั้นก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง...



๔. ภิกษุทั้งหลาย ประชาชนทั้งหลาย "ประกอบอยู่ด้วยอวิชชา" เป็นคนมืดบอด ถูกความมืดครอบงำเอาแล้ว ครั้นตถาคตแสดง"ธรรมที่กำจัดอวิชชา"ประชาชนนั้นก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง

ภิกษุทั้งหลาย " นี่คือของน่าอัศจรรย์ ที่ไม่เคยมี...ก็มีขึ้นมา เพราะการบังเกิดขึ้นของตถาคตผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ "(8)

(8)อํ.จตุกฺก. 21/128/180-181 ทุติยตถาคตอัจฉริยสูตร



.......................



คัดเนื้อหามาจาก ภาคที่๑ ปฐมพุทธพจน์, หนังสือวิมุตติธรรม วัดถ้ำดอยโตน

http://vimuttidhamma.org/vimutti_vol4/vimuttidhamma_v4_full.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น