++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

กรุงเก่าจัดใหญ่ “อยุธยามหาสงกรานต์ แผ่นดินมรดกโลก”

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำหนดงาน “อยุธยามหาสงกรานต์ แผ่นดินมรดกโลก 2555” อย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 12-15 เม.ย.นี้ ภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ การเล่นน้ำสงกรานต์ การแสดงน้ำพุประกอบแสง เสียง การสรงน้ำพระเกจิอาจารย์สำคัญ พร้อมกันนี้ ยังมีการจำลองพระราชพิธี “สัมพัจฉรฉินท์" มาเป็นไฮไลต์ของงาน

จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดเทศกาลสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่ “อยุธยามหาสงกรานต์ แผ่นดินมรดกโลก 2555” ระหว่างวันที่ 12-15 เมษายนนี้ ที่ “อนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี” ซึ่งมีพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพระพุทธรูปประทับยืนสูงถึง 9.84 เมตร เป็นประธาน พร้อมอัญเชิญรูปหล่อของพระเกจิอาจารย์มาประดิษฐานโดยรอบทั้ง 8 ทิศ ให้สรงน้ำเพื่อเป็นสิริมงคล อาทิ หลวงปู่ทิม วัดพระขาว, หลวงพ่อปาน วัดบางโพธิ์, หลวงพ่อดู่ วัดสระแอ, หลวงพ่อสวรรค์ วัดศาลาปูน ฯลฯ พร้อมรับน้ำมนต์จากทั้ง 8 วัด ให้ผู้มาเที่ยวชมงานได้รับทั้งความสุขใจ และสนุกสนานกับการเล่นน้ำสงกรานต์ที่ลานน้ำพุดนตรี เพลิดเพลินกับการแสดงและกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การแสดงชุด “เถลิงศกมหาสงกรานต์” การประกวดก่อพระเจดีย์ทราย ประกวดคู่รักอมตะ ประกวดหนูน้อยสงกรานต์ เป็นต้น ในบรรยากาศที่หลากหลาย ทั้งอุทยานน้ำพุกลางป่าหิมพานต์ โซนน้ำพุประกอบแสงเสียง “มหาสงกรานต์นาคาธิบดี” และตลาดน้ำโบราณที่รวมของดี-ของอร่อยจากทุกอำเภอของอยุธยา

สำหรับการแสดงที่เป็นไฮไลต์ของงานนี้ คือ การจำลอง พระราชพิธี “สัมพัจฉรฉินท์" ซึ่งเป็นพระราชพิธีในเดือน 4 จาก “พระราชพิธี 12 เดือน” เป็นพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์ทรงประกอบขึ้นในวันแรม 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 4 สืบมาตั้งแต่สมัยอยุธยากรุงเก่า โดยการประกอบพิธีทั้งพุทธ และพราหมณ์ เสด็จออกทรงธรรม และทรงยิงปืนทั่วพระนคร เป็นการแผ่ส่วนบุญแก่ผี ยักษ์ ภูติ ปิศาจ และอมนุษย์ เพื่อขอพรให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขก่อนถึงวันปีใหม่ (สงกรานต์) แสดงให้เห็นถึงความผูกพันของพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีต่อบ้านเมืองและราษฎรในพระองค์ โดยจะจัดแสดงเพียงรอบเดียวเท่านั้น ในวันที่ 12 เมษายน เวลา 19.00 น.

นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า “พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้เป็นพิธีที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ทั่วพระนคร โดยได้เลิกราไปในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อกว่าร้อยปีมา แล้ว อยากให้ผู้ชมได้เห็นว่า เรามีพิธีการเปลี่ยนศักราช หรือสมัยนี้เรียกกันว่า Count Down อย่างมีแบบแผนลึกซึ้งมาก ไม่ใช่เพียงเพื่อความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว เราจัดแบบการจำลอง หรือสาธิตให้เห็นเฉพาะในส่วนที่สำคัญ มีนักแสดงกว่าร้อยคน ซึ่งนับว่ามากสำหรับการจัดแสดงสาธิต แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับพิธีการจริง มีอุปกรณ์ประกอบเป็นปืนใหญ่ และปืนคาบศิลาอย่างโบราณจำนวนมาก ควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญด้านปืนกว่า 30 ปี การจัดในครั้งนี้ถือเป็นวาระที่เหมาะสมกับโอกาสอันเป็นมงคล เพื่อแสดงให้ประชาชนได้เข้าใจแบบแผนที่พระมหากษัตริย์ทรงมีต่อบ้านเมืองและประชาชน ที่สำคัญคือ ในสมัยนี้หาชมไม่ได้ง่ายๆ แล้ว”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น