++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

คณะแพทย์จุฬาฯ เตือนภัย "โรคอ้วน" หยุดก่อนสายเกินแก้

ปัจจุบันมีแนวโน้มผู้ป่วยโรคอ้วนผิดปกติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แพทย์จุฬาฯ เตือนควรควบคุมน้ำหนักก่อนถึงขั้นเป็นโรคอ้วนผิดปกติ เผยผลวิจัยโรงพยาบาลจุฬาฯ จากการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนผิดปกติ 100 ราย พบว่า ร้อยละ 28 เป็นโรคเบาหวาน และร้อยละ 56 เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งร้อยละ 80 โรคแทรกซ้อนดังกล่าวหายไปหลังจากลดน้ำหนักลง ตัวแทนโรคอ้วนชี้กลับมาอ้วนได้อีกหากไม่ควบคุมอาหาร


แพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมบรรยาย



รศ.นพ.วีรพันธุ์ โขวิฑูรกิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานสัมมนา “แพทย์เตือนภัย หยุดภาวะโรคอ้วน กรณีศึกษาจากประสบการณ์จริง” ว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และพบว่าโรคอ้วนมีความสัมพันธ์เสี่ยงต่อชีวิตทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ทุกกลุ่มอายุ

"ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI: น้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเซนติเมตรกำลังสอง) มากกว่า 30 จะมีความเสี่ยงต่อชีวิตเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงในการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นตามค่า BMI ที่เพิ่มขึ้น ผู้ที่มี BMI มากกว่า 35-40 ขึ้นไปจะอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยอ้วนผิดปกติซึ่งจะยากต่อการรักษาและควบคุมอาหาร และภาวะเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อน ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองแตก ไขมันในเลือดสูง โรคไขข้อและกระดูกพรุน โรคหยุดหายใจขณะเวลาหลับ ซึ่งผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะมีโรคแทรกซ้อนมากกว่า 1 โรค" รศ.นพ.วีรพันธุ์ กล่าว


ตรวจสุขภาพวัดค่า BMI



ด้าน รศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มค่า BMI ไม่เกิน 35 จะใช้วิธีควบคุมปริมาณอาหาร ลดแป้ง น้ำตาลและไขมัน ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม แต่ในกลุ่มโรคอ้วนผิดปกติได้แก่ผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 40 หรือผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 ร่วมกับมีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน ความดัน เป็นต้น

"การรักษาหลักจะใช้วิธีศัลยศาสตร์ โดยอาศัยหลักการในการการรักษา 2 หลักคือ 1.การลดขนาดกระเพาะ และ 2. การลดการดูดซึม จากสองหลักการดังกล่าวสามารถให้การผ่าตัด 3 วิธี คือ 1. การรัดกระเพาะ โดยใช้ซิลิโคนทางการแพทย์รัดส่วนต้นของกระเพาะอาหารทำให้อิ่มเร็ว 2.การตัดกระเพาะส่วนใหญ่ที่ขยายได้ออกให้เหลือเป็นหลอดของกระเพาะอาหารแทน และ 3. การตัดลดขนาดกระเพาะอาหารและบายพาสลำไส้ซึ่งทำให้กระเพาะมีขนาดเล็กและการบายพาสทำให้น้ำย่อยและอาหารพบกันในระดับที่ไกลลงไปอีก 150 เซนติเมตร วิธีนี้จึงเป็นวิธีหลักและได้ผลดีที่สุด"

รศ.นพ.สุเทพกล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ในการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนผิดปกติใน รพ.จุฬาลงกรณ์ จำนวนทั้งสิ้น 100 ราย โดยเป็นผู้หญิง 51 ราย และผู้ชาย 49 ราย อายุระหว่าง 18 ถึง 57 ปี น้ำหนักเฉลี่ยก่อนรักษาคือ 136 กิโลกรัม (87 ถึง 280 กก.) โดยพบว่ามีโรคแทรกซ้อนคือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ และโรคไขมันในเลือดสูงผิดปกติ

"จากการติดตามหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยดังกล่าว พบว่าโดยเฉลี่ยสามารถลดน้ำหนักได้ถึงคนละ 50 กิโลกรัม และผู้ป่วยทั้งหมดดีขึ้นจากโรคแทรกซ้อน โดยหายขาดจากโรคเบาหวานร้อยละ 82 และโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดและโรคหยุดหายใจขณะเวลาหลับก็หายขาดถึงร้อยละ 60 จากประสบการณ์นี้ทำให้ทราบถึง มหันตภัยจากโรคอ้วน และหากสามารถควบคุมโรคอ้วนได้ โรคแทรกซ้อนต่างๆ จะดีขึ้นหรือหายไป จากความรู้ที่ได้นี้หากเราสามารถช่วยกันหยุด โรคอ้วนได้ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน ต่างๆ จึงอยากเชิญชวนทุกคนดูแลตัวเองไม่ให้อ้วนจะได้มีสุขภาพที่ดี" แพทย์จุฬาฯกล่าว


อัฐพล แดงคำคูณ หรือ ปิ๊ก น้ำหวาน



ขณะเดียวกัน นายอัฐพล แดงคำคูณ หรือคุณปิ๊ก น้ำหวาน หนึ่งในตัวแทนโรคอ้วนผิดปกติและได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะเรียบร้อยแล้วกล่าวว่า ขณะที่มีภาวะโรคอ้วนสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตทุกอย่าง แม้พยายามกินยาลดความอ้วน แต่ก็กลับมาอ้วนอีก เพราะไม่เคยคิดออกกำลังกายเลย แต่การผ่าตัดโรคอ้วนมีผลทำให้น้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่องรู้สึกสบายตัวมากขึ้นและโรคต่างๆ ก็หายไป เช่น โรคหยุดหายใจขณะเวลาหลับหายไปเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นการรักษาที่ปลายเหตุและไม่ใช่คำตอบของคนที่ไม่ดูแลตัวเอง

"แนวทางที่ถูกต้องคือ การสำรวจดัชนีมวลกายของตนเองว่าเกินมาตรฐานหรือไม่ หากเกินกว่า 25 ถือว่าเข้าสู่ภาวะโรคอ้วนต้องพยายามหยุดน้ำหนักไว้ทันที และปรับพฤติกรรมไม่บริโภคแป้งและน้ำตาลร่วมกับเคลื่อนไหวออกกำลังกายให้มากขึ้น โดยหลังการผ่าตัดแล้วต้องมาพบแพทย์เป็นระยะ ๆ เพื่อดูว่าสามารถควบคุมน้ำหนักได้ผลหรือไม่"

ตัวแทนโรคอ้วนทิ้งท้ายว่า การผ่าตัดลดน้ำหนักจะทำให้น้ำหนักลดลงได้อย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องภายหลังจากการผ่าตัด 18-24 เดือน น้ำหนักจะคงที่ แต่มีบางส่วนน้ำหนักจะกลับเพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อย ซึ่งก็ต้องควบคุมอาหารลดจำนวนแป้ง และของหวานของมันเช่นกัน เพราะจะมีผลกับการลดน้ำหนักจะไม่ต่อเนื่องและไม่เป็นผลที่น่าพอใจการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมก็จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคอ้วนสามารถลดน้ำหนักได้ในระยะยาวและลดได้อย่างรวดเร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น