++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2555

"หัวใจใหญ่กว่าน้ำ"ประสบการณ์ในวันที่เม็ดทรายมีค่ามากกว่าทองคำ จาก "สุกรี เจริญสุข"

"หัวใจใหญ่กว่าน้ำ"ประสบการณ์ในวันที่เม็ดทรายมีค่ามากกว่าทองคำ จาก "สุกรี เจริญสุข"

"ชัยชนะและความสำเร็จ ไม่ได้มาเพราะฝีมือ และความสามารถเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับขนาดของหัวใจ" บทหนึ่งจาก "หัวใจใหญ่กว่าน้ำ" หนังสือที่รวบรวมบันทึกประจำวัน และบทสัมภาษณ์นักสู้สายน้ำ, เจ้าหน้าที่, อาสาสมัคร, นายช่าง, สถาปนิก และเพื่อนๆที่ช่วยเหลือ ป้องกันน้ำท่วมจากอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. ถึง 20 พ.ย. 2554 ที่ผ่านมา โดยมีหัวเรือใหญ่ อย่าง ดร. สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหน้าที่ “บรรณาธิการ” ผู้ส่งต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ผ่านหนังสือเล่มนี้พร้อมกับภาพความทรงจำ ความรัก ความหวงแหน ความเป็นเจ้าของและหัวใจของชาวมหิดลร่วมสู้เพื่อรับมือกับน้ำ

ดร. สุกรี เจริญสุข กล่าวว่าจุดประสงค์ของการบันทึกหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อใคร แค่เพียงต้องการจะยกย่องคนเล็กๆ ที่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ ในระหว่างวันที่มหาวิทยาลัยมหิดลถูกน้ำท่วมหนักจนกระทั่งน้ำลดลง “หัวใจใหญ่กว่าน้ำ ได้บันทึกความรู้สึกนึกคิด ผู้คนที่ต่อสู้เพื่อรักษามหาวิทยาลัยมหิดล แต่ก็ไม่สามารถที่จะนำทุกๆ คนมาบันทึกได้ เพียงนำตัวแทนของกลุ่มต่างๆ ที่ทำงานในภาคสนาม ซึ่งรักและหวงแหนมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง เป็นที่ทำงาน และเป็นที่พึ่งแหล่งสุดท้าย พื้นที่เดียวที่แห้ง น้ำไม่ท่วมในฝั่งตะวันตก หัวใจใหญ่กว่าน้ำได้บันทึกสถานการณ์น้ำด้วยความมุ่งมั่นที่รักษาสัญญา รักษามหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยหัวใจที่เด็ดเดี่ยว ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นอนาคต”

ดร. สุกรี กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้ถูกบันทึกเรื่องราว หลังจากที่ตนต้องหนีน้ำท่วมออกบ้านมาอยู่ที่ทำงาน การต่อสู้กับน้ำจึงเกิดขึ้นโดยบังเอิญ เนื่องจากในขณะนั้นบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยก็ถูกน้ำท่วม เหลือไว้เพียงพื้นที่บางส่วนที่กำลังจะกลายเป็นเกาะในไม่ช้า และตนก็กำลังจะกลายเป็น "นักดนตรีติดเกาะ"

"เรารู้ว่าน้ำมาแน่ และมั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมถึงวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ จึงเตรียมการสะสมข้าวสาร น้ำดื่ม เครื่องใช้อุปโภค บริโภค และทรัพยากรต่างๆ ที่จะสามารถประทัง 70 ชีวิตได้ใน 1 เดือน ซึ่งในระหว่างนั้นก็มีการแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบในตำแหน่งต่างๆ เช่น เป็นยามเฝ้าดูสถานการณ์น้ำ เป็นพ่อครัวแม่ครัวทำอาหาร เป็นแม่บ้านทำความสะอาดที่พัก เป็นต้น และมีฝ่ายสื่อมวลชน ทำหน้าที่เก็บภาพ บันทึกเหตุการณ์ในการลงพื้นที่ สถานการณ์น้ำ บรรยากาศการทำงาน รวมไปถึงขั้นตอนกระบวนการต่อสู้ทั้งหมด ตั้งใจจะเก็บไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และเพื่อเป็นประโยชน์ใช้เป็นกรณีของมหาวิทยาลัยในภายภาคหน้าด้วย"

นอกจากนั้นบรรณาธิการหัวใจใหญ่กว่าน้ำ ยังเล่าต่ออีกว่า ถ้าเรา “ไม่สู้” คำนี้จะจะหลอกหลอนไปจนวันตาย ถ้าเปรียบการต่อสู้กับเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้กับนักรบบางระจันที่สู้รบจนตัวตาย เราจะต่างกันตรงที่ เราสู้จนถึงที่สุดแต่ไม่ยอมตาย และกลายเป็นผู้ชนะ เพราะเรารู้ว่าจุดแข็งของน้ำ คือ ไปได้ทุกที่ เข้าได้ทุกส่วน มาในทุกรูปแบบ แต่น้ำก็มีจุดอ่อนตรงที่ เดินทางช้า ช้ากว่าแรงฮึดของคนเสียอีก

"ผมเชื่อเสมอว่าคนสามารถจัดการน้ำได้ ขึ้นอยู่กับว่า เราจะทำหรือไม่เท่านั้นเอง หลายคนมองว่าน้ำคือ มหันตภัย กลายเป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมภาพความสวยงามของน้ำเอาไว้ เพราะภาพความทุกข์ร้อนจากน้ำท่วมถูกกลืนไปด้วยภาพของน้ำใจ ซึ่งถือเป็นการสะท้อนมุมมองเล็กๆ ทำให้มองเห็นความจริงอีกแบบหนึ่ง ความจริงที่ไม่ใช่การปลุกระดม แต่เป็นการสร้างทัศนคติที่ดี สร้างมุมมอง สร้างแนวคิดที่ดี เพื่อให้หลายคนเตรียมการป้องกันกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างไม่ต้องกังวลใจ" บรรณาธิการทิ้งท้าย

และในวันนี้สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงการต่อสู้ของ “คนตัวเล็ก หัวใจใหญ่” ที่ร่วมมือร่วมใจกันทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลกลายเป็นเกาะศาลายา คือ พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการป้องกันจากแนวกระสอบทรายกว่าแสนกระสอบ และแนวคันดินที่นักสู้สายน้ำช่วยกันลงมือลงแรงสร้างขึ้น เพื่อปกป้องมหาวิทยาลัยอันเป็นที่รักของพวกเขา

:ภาวิณี เทพคำราม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น