โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
เพื่อน คนหนึ่งกำลังวุ่นวายใจเกี่ยวกับเรื่องลูกชายที่ตอนนี้น้ำหนักเกินพิกัด
เรียกว่า อ้วนเอาอ้วนเอาชนิดติดสปีดเลยทีเดียว
ตอนนี้เจ้าตัวเล็กมีอายุได้ 4 ขวบเศษ เข้าอนุบาลสองไปหมาดๆ
แต่มีน้ำหนักเกือบ 30 กิโลกรัมซะแล้ว แก้มก็ยุ้ย ตัวก็กลม
เธอส่งรูปของเจ้าตัวเล็กมาให้ดู ไม่เหมือนเจ้าตัวเล็กเลย
เพราะตัวใหญ่และอวบอิ่มจริงๆ แหละ
สาเหตุที่เธอฟันธง ก็คือ เจ้าตัวเล็กของเธอชอบกินขนมถุงสุดๆ
เรียกว่า ตอนที่ลูกชายเรียนอยู่ระดับชั้นอนุบาลหนึ่ง
ลูกชายของเธอจะต้องขอกินขนมระหว่างกลับบ้านเป็นประจำทุกวัน
บางวันก็ถุงเดียว บางวันก็ 2 ถุง
เธอเองแม้จะรู้ดีว่าให้ลูกกินขนมถุงเป็นประจำไม่ดี แต่ทำไงได้
ก็กลัวลูกหิวนี่หน่า
แล้วระหว่างทางเดินไปขึ้นรถกลับบ้านก็เจอร้านค้าอยู่ทุกวัน
ลูกชายก็ไม่เคยอดใจได้ บอกว่าหนูหิว เธอพยายามให้กินอย่างอื่น
ก็ไม่สำเร็จ
ไม่ ค่ะ ยังไม่จบ...พอวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
ลูกชายก็ต้องซื้อขนมถุงแถวบ้านมานั่งกินขณะดูทีวีอีกต่างหาก
ตอนนี้เธอกลุ้มใจมาก เพราะช่วงเวลาเป็นปีที่ผ่านมา
เธอไม่ได้ใส่ใจปัญหาเรื่องนี้เท่าไร คิดว่าขนมกับเด็กเป็นของคู่กัน
และเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ราคาก็ไม่เท่าไร แต่หารู้ไม่ว่า
ปัญหาที่เธอต้องเผชิญทุกวันนี้กลายเป็นฝันร้ายของครอบครัวไปซะแล้ว
เธอยอมรับเต็มปากว่าเธอผิดพลาดที่ปล่อยให้ปัญหานี้ลุกลาม
กลายเป็นเจ้าตัวเล็กติดขนมถุงไปซะแล้ว และตอนนี้ต้องการแก้ไขเป็นการด่วน
แล้วคุณล่ะคะเคยประสบปัญหาทำนองนี้กันบ้างไหมคะ ?
อาจจะไม่ใช่เรื่องขนมถุงอย่างเดียว แต่เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
ที่บางครั้งเราดูเบาต่อปัญหาดังกล่าว
จนกระทั่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ในภายหลัง
ลองสำรวจตัวเองดูก็ดีนะคะ...!
ปัญหาเรื่องขนมถุงในบ้านเรามีมานานแล้วล่ะค่ะ
อย่าว่าแต่เด็กเลยค่ะ ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็กินเพลินๆ บ่อยๆ เหมือนกัน
และเวลาที่กินก็ติดพันอีกต่างหาก นับประสาอะไรกับเด็กที่เห็นพ่อแม่ก็กิน
โฆษณาตามทีวีก็เห็นอยู่ทุกวัน ก็ไม่เห็นแปลกนี่น่า
เมื่อก่อนขนมถุงก็ไม่มากมายขนาดนี้
เดี๋ยวนี้มีสารพัดยี่ห้อที่แข่งกันผลิตออกมาล่อตาล่อใจและล่อปากล่อเงิน
เด็กๆ กันหลากหลายชนิด
จริงอยู่เด็กกินขนมก็ไม่เห็นแปลก เด็กจะกินบ้างก็ไม่เป็นไร
ประเด็นก็คือ ต้องสอนให้ลูกรู้จักกิน กินได้
แต่ก็ต้องรู้ว่ามันไม่มีประโยชน์อย่างไร
สอนให้ลูกรู้จักโภชนาการที่ดีเป็นอย่างไร และใช้ขนมถุงเป็นบทเรียนซะเลย
ประการแรก สอนให้รู้ว่าส่วนผสมหลักของขนมถุงส่วนใหญ่ คือ
คาร์โบไฮเดรต รองลงมาเป็นน้ำตาล อาจมีโปรตีนอยู่บ้าง ก็น้อยนิด
แต่ที่มีมากสุดก็คือ เครื่องปรุงรสที่อยู่ในขนมนั่นเอง
แล้วเจ้าสารพัดรสชาติที่ทำให้เด็กๆ
ติดขนมถุงก็เพราะเจ้าเครื่องปรุงรสนั่นเอง
ถ้าขนมถุงที่มีรสเค็ม ก็จะมีเกลือผสมอยู่มาก
ว่าแล้วก็ชวนให้ลูกดูฉลากขนมถุงซะเลย ถ้าระบุว่า มีเกลือไม่เกิน 0.25
กรัม หรือ โซเดียมไม่เกิน 0.1 กรัม แสดงว่า มีไม่มาก แต่ถ้าระบุว่า
มีเกลือเกิน 1.25 กรัม หรือมีโซเดียม 0.5 กรัมขึ้นไป (เทียบจากอาหาร 100
กรัม) แสดงว่าอาหารถุงนี้ มีเกลือมากเกินไป เพราะอย่าลืมว่าในแต่ละวัน
เรายังรับประทานอาหารที่มีเกลือผสมอยู่ในชนิดอื่นๆ ด้วย
และหากร่างกายได้รับเกลือมากเกินไป
จะทำให้ไตซึ่งมีหน้าที่ขจัดของเสียเสื่อมสภาพเร็ว
และไม่สามารถขับโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกายได้
ทั้งยังเสี่ยงต่อภาวะความดันเลือดสูง ทำให้มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้
ส่วน ขนมถุงที่มีรสหวาน ส่วนใหญ่จะมัดใจเด็กๆ ได้ผลชะงัด
ส่วนผสมก็มีทั้งแป้งและน้ำตาล เช่น ลูกอม เยลลี่ รวมไปถึงน้ำอัดลม
น้ำหวานต่างๆ ฯลฯ
ผลที่ตามมาที่ควรจะต้องสอนลูกก็คือ อาการฟันผุ
ล่าสุด พบว่า เด็กไทยอายุไม่เกิน 3 ขวบ มีปัญหาฟันผุสูงขึ้น
เริ่มพบว่าเด็กฟันผุตั้งแต่อายุ 9-12 เดือน
การกินอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลมาก ก็มีผลทำให้ฟันเป็นคราบเหลืองได้
ถึงแม้จะแปรงฟันสะอาดก็ตาม
ตามมาด้วยโรคอ้วนถามหา หรือไม่ก็เติบโตไม่สมวัย
เพราะเมื่อเด็กกินขนมมาก ก็กินข้าวไม่ลง
จึงไม่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์เข้าสู่ร่างกายอย่างเพียงพอ
ทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร ร่างกายเติบโตไม่สมวัย
นี่ยังไม่นับรวมประสิทธิภาพของสมองที่ลดลง
เพราะสารอาหารที่เป็นประโยชน์ช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมอง
ต้องได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ด้วย ไม่เช่นนั้นสมองก็จะเฉื่อยชา
เรียนรู้ได้ไม่ดี
นอกจากผลเสียเรื่องสุขภาพแล้ว อย่าคิดว่าขนมถุงราคาถูกนะคะ
ผลวิจัยพบว่า เด็กไทยเสียค่าขนมเฉลี่ยคนละ 9,800
บาทต่อปี...สูงนะนั่น...เก็บเอาไว้เป็นค่าเทอมลูกไม่ดีกว่าหรือคะ
แล้วทำอย่างไรไม่ให้ลูกติดขนมถุง ?
ประการแรก - ฝึกวินัยการกินให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก
ยิ่งถ้าเป็นเด็กเล็กไม่ควรซื้อขนมถุงให้ลูกกิน
เมื่อโตขึ้นอาจให้ลูกกินได้บ้างนานๆ ครั้ง
และต้องตกลงกันก่อนว่ากินได้ถุงเดียว อ้อ..ต้องเป็นถุงเล็กนะคะ
อย่ามัวคำนึงว่าถ้าซื้อถุงใหญ่แล้วคุ้มกว่า
เพราะถ้ากินของที่ไม่มีประโยชน์ เขาไม่เรียกว่าคุ้มกว่าหรอกค่ะ
ประการที่สอง - ให้ลูกกินขนมถุงหลังมื้ออาหาร
เพราะเมื่อลูกกินอาหารมื้อหลักอิ่มแล้ว ก็จะไม่สามารถกินขนมถุงได้เยอะ
อาจจะกินได้เพียง 2-3 ชิ้น ก็อิ่มแล้ว
ประการที่สาม - ระหว่างที่ลูกทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง หรือดูทีวี
อย่าให้ลูกกินขนมขบเคี้ยวเพราะจะทำให้ติดเป็นนิสัย
ประการที่สี่ - อย่าซื้อขนมถุงติดบ้าน เพราะเมื่อไม่มีให้เห็น
ก็ไม่เป็นการล่อตาล่อใจ แต่ลองเปลี่ยนเป็นผลไม้เป็นอาหารมื้อว่าง
ที่สามารถมองเห็นได้ง่าย ก็จะฝึกนิสัยให้ลูกชอบกินผลไม้ด้วย
โดยเริ่มจากผู้ใหญ่ในบ้านเป็นผู้กระตุ้นให้ลูกกินผลไม้ที่หลากหลายเป็นประจำ
และอย่าลืมบอกถึงประโยชน์ของการกินผลไม้ด้วยนะคะ
ประการสุดท้าย - ให้ลูกได้เห็นภาพของเด็กๆ
ที่ติดขนมถุงแล้วประสบปัญหาต่างๆ เช่น ฟันผุ โรคอ้วน
หรือขาดสารอาหารว่าเป็นอย่างไร
หรืออาจจะเป็นหนังสือนิทานที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินที่ไม่
เหมาะสมก็นำมาเล่าให้เขาหรือเธอตัวน้อยฟังตั้งแต่เล็กๆ ก็ได้ค่ะ
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้
ไม่สำคัญเท่ากับประเด็นที่คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่กินขนมถุงให้ลูกดูเป็น
ตัวอย่าง ไม่ใช่ห้ามลูก แต่ตัวเองกินเอากินเอา
รับประกันว่าลูกทำตามพ่อแม่แน่ๆ
เรื่อง ขนมถุงอาจดูเป็นเรื่องเล็ก ถ้าเราไม่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ
แต่มันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทีเดียว
ถ้าเราตระหนักถึงภัยที่ตามมาของขนมถุง ...ทุกวันนี้
หลายเรื่องราวที่เป็นปัญหาสังคมในบ้านเรามากมาย
ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่ก็คือ เรามักมองว่าปัญหานั้นๆ เป็นเรื่องเล็ก
หรือไม่ได้มองว่านั่นเป็นปัญหา ...!!
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000064954
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น