++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2548

เรียนรู้สู้ได้

จาก HOW TO BE TWICE AS SMART
โดย สก๊อตต์ วิทท์

โลกเรานั้น ชื่นชมในบุคคลที่มีความสามารถ ในการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและตอบแทนผลรางวัลให้ด้วย
photo บุคคลผู้มีหน้าที่ตัดสินใจ จะจับตามองบุคคลที่สามารถหยิบจับงานชิ้นใหม่ๆได้อย่างรวดเร็ว และถือว่าบุคคลผู้นั้น เป็นผู้ที่มีหัวก้าวหน้า เหมาะสมแก่การที่จะมอบโอกาสให้
ความเป็นจริง 2 ประการ ในการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว
  1. แม้ว่า การเรียนรู้อย่างรวดเร็ว จะเท่าเทียมกับการมีไอคิวสูง แต่การวัดพลังสมอง ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ระดับของไอคิว มีความสำคัญน้อยกว่าการที่คุณนำมันออกมาใช้
  2. จะต้องถือว่า คุณเป็นบุคคลที่โชคดีอย่างยิ่ง ถ้าจะมีใครสักคนคอยช่วยแนะแนวทางให้ เพราะคุณจะต้องใช้เวลานานเป็นปี ในการฝึกฝนตนเองกว่าจะเรียนรู้เทคนิคในการเรียนรู้อย่างเร็ว ซึ่งมีอยู่ในเอกสารหน้านี้แล้ว
เมือคุณกำลังอ่านเอกสารหน้านี้อยู่ คุณย่อมนับตัวเองว่า เป็นผู้โชคดีได้ในทันที เพราะคุณกำลังจะได้รับการชี้แนะแนวทาง ซึ่งบุคคลอื่นจะต้องใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถ กว่าจะเรียนรู้เทคนิคนี้ได้ หลักสูตรที่ได้รับการพัฒนาแล้วนี้ สามารถจะทำให้ใครก็ตาม ได้รับความรู้ความชำนาญ ในช่วงเวลาอันสั้นกว่าที่คาดหมายไว้

อะไรคือเทคนิคการเรียนเร็วซึ่งมีประสิทธิภาพที่สุด? ต่อไปนี้ เป็นบางประการ ที่คุณจะได้พบในเอกสารชิ้นนี้
  1. การฝึกสมองให้มีความคล่องแคล่ว
  2. การนำตนเองเข้าไปเกี่ยวข้อง
  3. การเรียนรู้วิธีการตั้งโปรแกรม
  4. การคิดประดิษฐ์วิชาชวเลขขึ้นใช้ส่วนตัว
  5. เพิ่มพูนสมาธิ

การฝึกสมองให้คล่องแคล่ว - เทคนิคที่เรียนรู้ได้ในทันที


นักกรีฑา นักเล่นหมากรุก ผู้บริหาร นักศึกษา และบุคคลในทุกวงการ ล้วนแล้วแต่แสวงหาความเป็นเลิศในกิจกรรมที่ตนประกอบอยู่ต่อกันทั้งสิ้น แล้วเขาเหล่านั้นทำอย่างไร?

เมื่อใดก็ตาม ที่เขาจะต้องเรียนวิชาที่ต้องการการฝึกหัดหรือจะต้องซักซ้อมอยู่เสมอ เขาจะใช้พลังสมองเข้ามาช่วย ผมจะอธิบายถึงการฝึกพลังสมอง ด้วยการเล่าเรื่องของทีมโบว์ลิ่งทีมหนึ่งให้คุณฟัง

บุคคลในทีมนี้ มีความสงสัยว่า พลังสมองจะช่วยให้แต้มในการโยนลูกของพวกเขาเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ จึงตัดสินใจว่า จะต้องทดลองดู ด้วยการแบ่งสมาชิกในทีมออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่ม เอ. ทุกคนในกลุ่มจะซ้อมโยนโบว์ลิ่ง วันละครึ่งชั่วโมง เป็นเวลาทั้งสิ้น 20 วัน และจะมีการจดแต้มการโยนในวันแรก กับวันสุดท้ายของการซ้อมไว้
กลุ่ม บี. สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มนี้ จะโยนเฉพาะในวันแรก กับวันที่ 20 ของการซ้อม ซึ่งจะมีการจดแต้มลงไว้เช่นกัน แต่ตลอด 19 วันที่เหลือนั้น พวกเขาจะไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่จะอุทิศเวลาวันละครึ่งชั่วโมง ซักซ้อมการโยนโบว์ลิ่งทางสมอง โดยจะต้องมองให้เห็นภาพตนเอง ปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่างเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมทีมในกลุ่ม เอ. รวมทั้งจะต้องสร้างความรู้สึก ในการโยนทั้งมวล ให้บังเกิดขึ้นในจิตใจด้วย
กลุ่ม ซี. สมาชิกทุกคนในกลุ่มนี้ จะโยนโบว์ลิ่งในวันแรกกับวันที่ 20 เช่นกัน เพียงแต่ว่าอีก 19 วันที่เหลือนั้น คนกลุ่มนี้ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น (ไม่ว่าทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ และมีการจดแต้มลงไว้เช่นกัน

ผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมาก็คือ
  • กลุ่ม เอ. ซึ่งมีการฝึกซ้อมโดยตลอดวันๆละครึ่งชั่วโมง เป็นเวลา 20 วัน สามารถปรับปรุงความสามารถในการทำแต้มเพิ่มขึ้น 23 เปอร์เซ็นต์
  • กลุ่ม บี. ซึ่งมีการฝึกซ้อมทางสมอง (หรือทางจิต) อยู่ตลอดเวลา 19 วัน สามารถปรับปรุงความสามารถในการทำแต้ม เพิ่มขึ้น 22 เปอร์เซ็นต์
  • กลุ่ม ซี. ซึ่งมิได้มีการฝึกซ้อมเลย มิได้มีแต้มเพิ่มขึ้น
จากการนี้ ทำให้นักโยนโบว์ลิ่งทีมนี้ ได้ค้นพบความจริงประการหนึ่งว่า ในขณะที่การซ้อมเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเพิ่มการทำแต้มให้กับตนเองนั้น มันไม่จำเป็นจะต้องมีการฝึกซ้อมทางกายเสมอไป ซึ่งหมายถึงว่า ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อมทางด้านร่างกาย หรือจิตใจ ก็สามารถจะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตัวเองได้ทั้งสิ้น

แต่คุณก็อาจจะกังขาว่า "แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร สำหรับการฝึกซ้อมทางสมอง หรือทางจิตใจนั่น ถ้ามันจะมีผลเพียงแค่การเพิ่มประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการฝึกซ้อมทางร่างกาย ก็แล้วทำไมเราจึงไม่ปฏิบัติของจริงกันเสียเลยเล่า?"

photoประโยชน์ของการนี้อยู่ตรงที่ว่า การฝึกซ้อมทางสมองนั้น คุณสามารถทำได้มากกว่า เพราะคุณจะทำที่ไหนก็ได้ เช่น
  • ขณะกำลังพักผ่อนอยู่กับบ้าน
  • ขณะที่อยู่ในห้องนั่งเล่น
  • ขณะที่เดิน หรือจ๊อกกิ้งออกกำลังในตอนเช้า
  • ขณะที่เดินทางอยู่ในรถยนต์ รถประจำทาง รถไฟ หรือเครื่องบิน
  • ขณะรับประทานอาหาร
  • ขณะที่รับฟังการบรรยายที่น่าง่วง
  • ขณะที่คุณทำอะไรอยู่ก็ตาม ซึ่งไม่ต้องการสมาธิ
บุคคลที่รู้จักการนำพลังสมองมาใช้ จะพัฒนาความสามารถของตนเหนือเพื่อนร่วมงาน หรือคู่แข่งขัน ได้อย่างน้อยถึง 2 เท่า ซึ่งทำให้เขาได้รับประโยชน์มากกว่า แต่ขณะเดียวกัน ผมก็รู้สึกว่า คุณอาจจะมีคำถามที่ต้องการคำตอบขึ้นมาอีกแล้วว่า "การฝึกสมองให้คล่องแคล่วนี้ เพียงเพื่อจะพัมนาความชำนาญทางร่างกายเท่านั้นหรือ?"

มันมิได้มีขอบเขตจำกัดอยู่เพียงแค่นั้นแน่ แต่มันยังช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของคุณ ให้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิมได้อีกด้วย

การที่อเล็กซานเดอร์ อะเลคิน มีความเชี่ยวชาญในสนามหมากรุก ก็เนื่องจากการใช้พลังสมองให้เป็นประโยชน์ ด้วยการมองให้เห็นภาพการเล่นโดนตลอดทั้งเกม ซึ่งการฝึกซ้อมในลักษณะนี้เพียงแค่ 3 เดือน ก็ทำให้เขาได้ตำแหน่งแชมเปี้ยนโลกมาครอง และยังได้ชื่อเสียงว่า เป็นนักเล่นหมากรุกผู้ยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 20 อีกด้วย

การฝึกสมอง ยังนำมาใช้ในการเรียนภาษาต่างประเทศได้อีกด้วย นั่นคือ การฝึกฝนด้วยวิธีการพูดภาษานั้นๆกับตนเองในใจ ในลักษณะเดียวกับการเรียนด้วยของจริง แต่ทว่าได้ผลมากกว่าการเรียนในห้องเรียน หรือจากตำรา

การฝึกสมอง จะช่วยให้คุณ มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาทุกแขนง ซึ่ง
  1. ได้มีการวางรูปแบบของโครงสร้างขึ้นมา ไม่ว่าโครงสร้างนั้นจะใช้พลังกายหรือพลังสมอง
  2. ต้องการการฝึกฝน เพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ประโยชน์อันยิ่งใหญ่ประการหนึ่ง ก็คือ เป็นการฝึกสมองให้มีปฏิกิริยาตอบโต้ ต่อสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อัตโนมัติ

เพื่อนของผมคนหนึ่ง เป็นนักแข่งเรือใบ ซึ่งเธอได้นำพลังสมองเข้ามาช่วยฝึกฝนให้ตนเอง มีความเชี่ยวชาญเกิดขึ้นอย่างมาก เธอได้สร้างภาพขึ้น มองให้เห็นตัวเองตกอยู่ในสถานะต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการแข่งเรือใบ และมองให้เห็นภาพวิธีการที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหานั้นๆ

เธอเล่าให้ผมฟังว่า "ฉันพยายามทำให้สถานการณ์ต่างๆ มันเลวร้ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งถ้าจะพูดกันตามความจริงแล้ว ฉันเคยชนะการแข่งขันในชีวิตจริง มากครั้งกว่าในการฝึกซ้อมทางสมองมาก" ซึ่งสถานการณ์เลวร้าย ที่เธอสร้างขึ้นให้กับตนเอง ตลอดเวลาที่ฝึกซ้อมอยู่ในสมองนั้น ทำให้เธอสามารถเตรียมตัวได้อย่างเต็มที่ เพื่อต้อนรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ และกระแสลมในขณะที่มีการแข่งขันจริงๆ เกิดขึ้น

วิธีนำพลังสมองมาใช้ให้เกิดประโยชน์


หลังจากที่คุณได้ทดลองทำด้วยตนเองสักไม่กี่ครั้ง คุณจะพัฒนาวิธีที่ชอบที่สุด ในการนำพลังสมองมาใช้ และต่อไปนี้ เป็นบางข้อเสนอแนะก่อนที่คุณจะเริ่มต้น

  1. จงฝึกในขณะที่สมองของคุณปลอดโปร่งแจ่มใส และตื่นอยู่เต็มที่( เพราะถ้าคุณมิได้ลืมตาตื่นอยู่อย่างเต็มที่แล้ว ผลที่เกิดขึ้น ก็จะเหมือนกับการนับ 1-100 แทนที่จะเป็นการฝึกที่ให้ผล กลับจะทำให้คุณรู้สึกง่วงเหงาหาวนอน) ถ้าคุณเป็นบุคคลที่ออกกำลังกายอยู่อย่างสม่ำเสมอ เวลาที่ดีที่สุด คือ ภายหลังจากการออกกำลังกายแล้วในทันที
  2. จงกระทำในสถานที่ซึ่งปราศจากการรบกวน
  3. จงทำไปให้ตลอดตามโครงการที่คุณได้ตั้งขึ้นไว้ และต้องการจะให้ได้ผลสมบูรณ์แบบที่สุด ตั้งแต่ต้นจนจบ จงมองให้เห็นภาพของตัวเองในทุกบทบาท สร้างอารมณ์ให้เกิดขึ้นไปพร้อมกัน ถ้าในโครงการดังกล่าว จำเป็นจะต้องใช้กล้ามเนื้อในร่างกายเข้ามาช่วย ก็จงสร้างความรู้สึกให้กล้ามเนื้อตึงตัวขึ้น จะช่วยให้โครงการของคุณสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
  4. จงมองให้เห็นภาพของตนเอง กระทำไปตามโครงการ อย่างปราศจากความผิดพลาดเสมอ (ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณวาดภาพว่า กำลังเล่นบาสเกตบอลอยู่ การโยนลูกลงห่วงจะต้องตรงเป้าทุกครั้ง) ซึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะนั่นคือการสร้างภาพพจน์ของตัวเองในทางบวก ทำให้คุณบังเกิดความมั่นใจในความสำเร็จอย่างแรงกล้า
  5. ระยะเวลาที่ใช้ในการฝึก ควรจะอยู่ระหว่าง 15-30 นาที ถ้าคุณฝึกน้อยกว่า 15 นาที ย่อมไม่ได้รับผลตามที่ต้องการ และถ้าคุณฝึกนานเกินกว่า 30 นาที คุณจะรู้สึกเหนื่อยอ่อน และประโยชน์ที่ได้รับจะลดน้อยลงมา โดยเฉพาะการสร้างภาพพจน์ของตนเองในทางบวก
photoสมาชิก ของทีมโบว์ลิ่ง ที่คุณได้อ่านผ่านมาแล้วนั้น จะทำการฝึกในลักษณะนี้วันละหลายๆครั้ง โดยประสมประสานกันอยู่ระหว่างการฝึกทางกาย และฝึกทางจิต

เรย์ จี. กล่าวว่า " ในตอนบ่าย ผมจะฝึกซ้อมด้วยการโยนลูกจริง เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง แต่ในวันเดียวกันนั้น ทุกครั้งที่มีโอกาส ผมจะฝึกซ้อมทางจิตไปด้วย ซึ่งผมได้พบว่า การฝึกซ้อมด้วยวิธีการเช่นนี้ ได้ผลดีสำหรับผมอย่างยิ่ง เพราะดูเหมือนมันจะไม่ได้ทำให้ผมเกิดความรู้สึกแตกต่าง ระหว่างการโยนในราง กับการโยนด้วยสมองเลย"

นักจิตวิทยา ไม่สามารถจะให้คำตอบอย่างสมบูรณ์ได้ว่า เพราะเหตุใด การฝึกสมอง จึงสามารถจะนำมาใช้ได้ประโยชน์อย่างดียิ่ง? แต่เขาก็เชื่อว่า การสร้างภาพพจน์ของตนเองในทางบวก เป็นผลดีต่อจิตใจอย่างยิ่ง

การที่คนเราทำอะไรประสพความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นภาพที่เกิดขึ้นในสมอง ก็สามารถจะสร้างความมั่นใจ ให้บังเกิดขึ้นในการทำงานในชีวิจจริงได้

การฝึกฝนตนเอง ให้มองเห็นภาพสะท้อนที่เกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมาก ความคล่องแคล่วในการใช้สมอง จะช่วยสร้างภาพสะท้อน ให้เกิดขึ้นได้ เท่ากับคุณได้เตรียมตัวเองไว้ให้พร้อม เพื่อที่จะเผชิญกับทุกสถานการณ์อันจะเกิดขึ้น และคุณสามารถรู้ได้ล่วงหน้าว่า จะจัดการกับสถานการณ์นั้นๆอย่างไร

การใช้พลังสมองของเรย์ จี.นั้น มิได้เพียงแต่เฉพาะในเรื่องของโบว์ลิ่งเท่านั้น แต่เขายังใช้มันในการสร้างอาชีพใหม่ให้กับตนเองอีกด้วย

เมื่อบริษัทที่เรย์ ทำงานอยู่ สั่งย้ายเขาไปอยู่ในเมืองที่ห่างไกล เรย์ก็ตัดสินใจว่า จะไม่ยอมย้าย เขาลาออก เอาเงินที่ฝากไว้ ออกมาทำทุนตั้งร้านอาหาร "ผมมีความรู้ในเรื่องธุรกิจการตั้งร้านอาหาร พอๆ กับที่คนทั่วๆไปมี ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีของไอน์สไตน์ นั่นแหละ " เรย์ บอก " แต่ผมคิดว่า มันเป็นสิ่งที่เรียนกันได้ และผมก็เอาการฝึกสมองมาใช้ให้เป็นประโยชน์"

แม้ว่า เขาจะตั้งตัวเองเป็นพ่อครัวสมัครเล่น แต่เรย์ก็ไม่เคยยึดถือเป็นอาชีพมาก่อน แต่เมื่อมาถึงปัจจุบันนี้ เขามีอาหารจานพิเศษ ไว้คอยบริการลูกค้าที่ติดใจอย่างมาก

"ก่อนหน้าที่ผมจะเปิดร้านอาหารนั้น ผมก็ไปรับการฝึกอบรมเกี่ยวกับอาหารประเภทต่างๆแล้วก็มีความรู้สึกว่า ตนเองเป็นคนที่โง่เง่าที่สุด เพราะฉะนั้น ผมก็เลยต้องใช้การฝึกสมองเข้ามาช่วย ไม่ว่าผมจะมีเวลาว่างมากน้อยเท่าไรก็ตาม ผมจะนั่งลง แล้วลงมือ ปรุงอาหาร ขึ้นทีละจาน ๆ เช่นเดียวกับเวลาทีเราทำในร้าน ผมพยายามมองให้เห็นภาพว่า อาหารแต่ละจาน จะต้องมีส่วนผสมอย่างไรบ้าง จะต้องปรุงมันขึ้นมาอย่างไรจึงจะอร่อย และผมก็เพิ่มความเร็ว และความมั่นใจขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น พอถึ วันเปิดร้านเข้าจริงๆ ผมก็เลยทำงานทุกอย่างในร้านได้ ด้วยความสบายใจ ซึ่งทั้งหมดนี้ ผมยกประโยชน์ให้กับการฝึกทางสมอง ที่ทำให้ร้านอาหารของผมประสพความสำเร็จ มาตั้งแต่แรกเริ่มทีเดียว "

การใช้ตัวเองลงไปเกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดการเรียนให้เร็วขึ้น


มีคำพังเพยอยู่ประโยคหนึ่งว่า "คุณจะว่ายน้ำไม่เป็น ถ้าไม่เอาตัวเองลงไปในน้ำเสียก่อน" นั่นเป็นข้อความที่ผมได้ยินมา ในขณะที่ผมไปเรียนว่ายน้ำ ในแค้มป์ฤดูร้อนร่วมกับเด็กๆ และผมก็ได้ตระหนักว่า คำพังเพยดังกล่าวนี้ มิได้ใช้แต่เฉพาะกับในเรื่องของการว่ายน้ำเท่านั้น แต่ใช้ได้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เราต้องการจะเรียนรู้

คุณอาจจะเรียนทฤษฎีต่างๆ โดยทั้งจากคำพูด และจากตำรา แต่คุณจะมิได้เรียนรู้ในเนื้อแท้ของมัน จนกว่าจะได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง

ควรพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง หมายถึง การลงมือปฏิบัติมากกว่าการศึกษาหาความรู้ มันจะเป็นเครื่องส่งเสริมความรู้ใหม่ที่คุณได้รับมา และทำให้ความรู้นั้นมีความหมายมากขึ้น อัตราของความรู้จะเพิ่มพูนขึ้น ตามความเกี่ยวข้องที่คุณพาตัวเองลงไปเสริม

ดังนั้น ถ้าคุณได้รับคำแนะนำพร้อมๆกับเพื่อนในกลุ่ม และคุณเสมอตัวเองเข้าไปทดลองปฏิบัติแล้ว คุณย่อมจะเรียนรู้ได้เร็วกว่า และดีกว่าเพื่อนๆทุกคน

ถ้าเราจะมองอย่างผิวเผิน มันก็ออกจะเป็นการง่าย ที่จะแสดงออกในเรื่องของกิจกรรมทางร่างกาย อาทิ การว่ายน้ำ หรือ การโยนโบว์ลิ่ง... แต่แล้ว ในเรื่องของวิชาคณิตศาสตร์ หรือ จิตวิทยา หรือความรู้ใหม่อื่นๆ ที่คุณต้องการเรียนรู้เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเล่า? ในกรณีเช่นนี้ การพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง จะต้องเป็นไปในรูปแบบที่แตกต่างออกไป แต่มันก็ยังเพิ่มความเร็ว ให้กับกระบวนการในการเรียนรู้ เพราะคุณสามารถประยุกต์ข้อมูลที่เรียนรู้มา เข้ากับหนทางในการปฏิบัติได้

เพราะ มีวิธีการอันทรงพลังอยู่มากมาย สำหรับการที่คนเรา จะประยุกต์ความรู้ที่ได้เรียนมานั้น ให้จำหลักลงไว้ในจิตใจ ซึ่งทำให้คุณสามารถจะเรียนได้เร็วกว่า ผู้อื่น

photoแต่ไม่ว่าคุณจะเรียนสูตรใดมาก็ตาม ต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณพึงปฏิบัติ
  1. จงวางแผนในการใช้เทคนิคการพาตัวเองลงไปเกี่ยวข้อง เมื่อใดก็ตามที่คุณได้อ่าน หรือได้พบเห็นความรู้ใหม่ๆ ซึ่งคุณเชื่อว่า จำเป็นจะต้องมีการเสริมพลังขึ้นในจิตใจ
  2. คุณจะต้องเตรียมการที่จะให้การเกี่ยวข้องของตัวเอง แยกออกจากการอ่าน หรือการปฏิบัติตามคำสั่งที่กระทำอยู่เป็นประจำ ซึ่งถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ เมื่อคุณอ่านพบ หรือได้ความรู้ใหม่ๆมา จงปล่อยให้จิตใจของคุณ ได้ซึมซับความรู้นั้นเข้าไว้ ก่อนที่คุณจะนำมันไปประยุกต์ เข้ากับเทคนิคการพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง
  3. แทนที่คุณจะฝึกฝนตนเองด้วยช่วงระยะเวลายาวนาน จงแบ่งการฝึกออกเป็นช่วงสั้นๆ ซึ่งเท่ากับคุณเปิดโอกาสให้สมองของตนเองได้พัก และซึมซับในสิ่งที่ได้เรียนรู้มา และสร้างภาพออกมาได้อย่างถูกต้อง และช่วงเวลาในการฝึก ควรจะเป็นระยะสั้นๆ ประมาณ 3-5 นาที ซึ่งช่วงเวลาขนาดนี้ จะทำให้คุณสามารถฝีกได้ตลอดเวลาในช่วงวัน

เทคนิคการพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง 2 รูปแบบ


ในขณะที่การฝึกฝนในเชิงปฏิบัติ ช่วยให้คุณสามารถแสดงออกถึงกิจกรรมทางร่างกายได้คล่องขึ้น เช่น การว่ายน้ำ เป็นต้นนั้น แต่วิธีการต่อไปนี้ จะแปลกออกไป เพราะเป็นการพาตัวคุณเอง ลงไปฝึกปฏิบัติ โดยมิได้ใช้กิจกรรมทางด้านร่างกายเลย แต่ก็ให้คุณประโยชน์กับคุณได้อย่างมาก..และต่อไปนี้ คือตัวอย่าง

นักธุรกิจผู้หนึ่ง ซึ่งกำลังศึกษาภาษาต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ตนเอง มีความสามารถในการติดต่อกับลูกค้าต่างประเทศได้สะดวกขึ้น ได้นำเทคนิคดังกล่าวนี้มาใช้ด้วยการ
  1. เข้าไปรับประทานอาหาร ในร้านที่มีการใช้ภาษาที่ตนเรียนอยู่
  2. เข้าไปซื้อสินค้า ในร้านที่มีผู้คนซึ่งจะสนทนาด้วยภาษานั้นได้
  3. รับฟังวิทยุจากสถานีวีโอเอ. ภาคภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ เพราะโฆษกของสถานีวิทยุแห่งนี้ จะพูดช้าๆ เป็นการง่ายที่จะทำความเข้าใจ
นักพิมพ์ดีดคนหนึ่ง ซึ่งกำลังศึกษาวิชาคอมพิวเตอร์ อนู่ในมหาวิทยาลัยเอกชนประจำท้องถิ่น มีความรู้สึกว่า เธอจะได้รับประโยชน์ ในการเพิ่มพูนความรู้ทางด้านภาคปฏิบัติมากขึ้น ดังนั้น เธอจึงซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดตั้งโต๊ะราคาไม่แพงมาฝึกที่บ้าน ซึ่งทำให้เธอเรียนรู้ได้เหนือกว่าเพื่อนร่วมชั้นอย่างมาก .. ยิ่งกว่านั้น เธอยังเป็นคนแรกในชั้น ที่ได้รับการว่าจ้าง ให้ไปทำงานในตำแหน่งโปรแกรมเมอร์

ดังนั้น รูปแบบแรกของเทคนิคในการพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงหมายถึง การที่คุณนำความรู้ใหม่ที่เรียนมา เข้ามาใช้ในชีวิตจริง ซึ่งคุณจะเห็นว่า คุณสามารถจะนำมันไปใช้ได้ในทุกสาขาวิชาการ

คุณอาจจะตั้งข้อสงสัยขึ้นมาว่า " แล้วอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อคุณไม่สามารถจะนำความรู้นั้นไปใช้กับสถานการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตจริง ได้? " ถ้าเช่นนั้น คุณก็จะต้องนำวิชานั้น มาใช้ในรูปแบบที่ 2 ของการพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง คุณอาจจะรู้สึกแปลกใจที่ได้รู้ว่า วิธีการดังกล่าวช่างง่ายเสียเหลือเกิน

ทันทีที่คุณลงมือใช้มัน คุณก็จะต้องแปลกในอีก ในประสิทธิภาพของเทคนิคนี้ นั่นคือ "จงเขียนถ้อยคำจากความทรงจำ ในสิ่งที่คุณได้เรียนรู้ หรือเพิ่งผ่านการอบรมมาสดๆร้อนๆ ลงในกระดาษ" การเขียนเพื่อทบทวนความทรงจำของตนเองนี้ ควรจะกระทำภายหลังที่สมองของคุณได้พักสักชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้มันได้ซึมซับข้อมูลต่างๆลงไว้

อะไรคือ สิ่งที่ทำให้เทคนิคนี้มีประสิทธิภาพ?
"กระบวนการที่ทบทวนข้อมูลในสมอง และบันทึกลงไว้ในกระดาษ มีผลดีเช่นเดียวกับการฝึกสมอง และเหมือนกับการลงฝึกซ้อมของด้านร่างกายในสนาม" ในทั้งสองกรณี คุณจะมีความคล่องตัว ในการฝึกซ้อมความรู้ใหม่ที่ได้เรียนรู้มา เท่ากับคุณกำลังบังคับความทรงจำให้ผลักดันข้อมูล เข้าไปสู่สามัญสำนึกที่มีสมรรถภาพที่สุด

และแล้ว คุณก็ใช้ข้อมูลนั้น มาเป็นหนทางในการปฏิบัติ ซึ่งมันได้รับการพิสูจน์แล้วว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการจดจำข้อมูล ก็คือ นำมันออกมาใช้ ภายหลังจากที่ได้เรียนมาเกือบจะในทันที ต่อ ไปนี้ เป็นอีก 2 ตัวอย่างที่เพื่อนร่วมงานของผม ใช้เทคนิคในการทบทวนความรู้ด้วยการเขียน เพื่อให้ตัวเองได้เข้าไปข้องเกี่ยวกับความรู้ที่เรียนมา

- เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง ซึ่งจะต้องเข้าร่วมประชุมสัมมนา ตามหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับงานประจำที่ทำอยู่ตลอดเวลา ได้ใช้เวลาว่างในตอนเย็นชั่วครู่ เพื่อทำการสรุปประเด็นสำคัญที่เขาได้ความรู้มาในวันนั้น เขากล่าวว่า "การสรุปของผมนั้น ไม่เหมือนกับการที่เราจดบันทึกในระหว่างการเรียน เพราะหลักสูตรในขั้นนั้น เราจะต้องจดลงตามที่อาจารย์บอกหรือบรรยาย แต่วัตถุประสงค์ในการสรุปประเด็นสำคัญจากความทรงจำ เป็นการฝึกซ้อมไปในตัว เป็นสิ่งที่เราได้รับข้อมูลอันเป็นเนื้อแท้ และง่ายมาก ผมใช้วิธีนำข้อมูลมาเปรียบเทียบไว้กับหนทางในการปฏิบัติ โดยอธิบายตามความเข้าใจของผมเอง หลังจากที่ทำเช่นนั้นแล้ว ผมก็จะจดจำข้อมูลนั้นไปได้นานเท่านั้น"

- วิศวกรีเล็คโทรนิคส์คนหนึ่ง ซึ่งจะต้องติดตามพัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในวีชาชีพของตน มีหน้าที่จะต้องอ่านหนังสือทั้งแม๊กกาซีน และหนังสือความรู้ทางด้านเทคนิคอย่างมากมาย เขากล่าวว่า "ทุกเช้า สิ่งแรกที่ผมจะต้องทำ ก็คือ เอากระดาษดินสอออกมา แล้วสรุปข้อมูลสำคัญๆ ที่ผมได้อ่านมาตั้งแต่เมื่อคืน หรือวันก่อน และผมได้พบว่า มันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการที่ผมจะเสริมทักษะให้กับความทรงจำในความรู้ที่ ผมได้รับมา และใส่มันลงในแฟ้มซึ่งผมมีช่องอยู่ในสมอง"

บุคคลทั้งสอง ได้ให้เครดิตในการเขียน เพื่อทบทวนวิชาการต่างๆ โดยการพาตนเองเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้เขาได้รับความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ในวิชาชีพที่ทำอยู่ และแต่ละคน ต่างก็ได้รับชื่อเสียงในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านความรู้ ซึ่งเทคนิคง่ายๆเช่นนี้ ย่อมเป็นประโยชน์ได้สำหรับทุกคน

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมาก ที่มิได้รู้ซึ้งถึงเรื่องนี้ และถึงแม้จะรู้ ก็มักจะไม่ใคร่กระทำ โดยมิได้ตระหนักถึงพลังที่จะช่วยส่งเสริมสมรรถภาพในการเรียนรู้ของตน แต่ขณะนี้ คุณก็ได้รู้แล้ว เพราะฉะนั้น คุณควรจะลองทำดู และผมก็เชื่อว่า คุณเองก็จะได้รับประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ในเทคนิคการพาตัวเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนี้เช่นกัน

วิธีหาประโยชน์จากการเรียนรู้ ในการตั้งโปรแกรมการศึกษา


photoใน หลักสูตรการศึกษาด้วยตนเองนั้น เป็นหลักสูตรที่มีการซื้อขายกันด้วยราคาเป็นร้อยๆเหรียญ ส่วนใหญ่ที่หลักสูตรนี้ประสพความสำเร็จ เนื่องมาจากพวกเขา ได้ใช้ในสิ่งที่เราเรียกกันว่า การตั้งโปรแกรมการศึกษา

แม้ราคาค่างวดของหลักสูตรดังกล่าว กับเอกสารในหน้านี้ จะแตกต่างกันอย่างมาก แต่คุณก็จะได้รับข้อมูลเดียวกัน จากการศึกษาในเอกสารหน้านี้ และการเรียนตามหลักสูตร ซึ่งการศึกษาในเรื่องของการตั้งโปรแกรมนี้ มีค่าอย่างยิ่ง ซึ่งคนทุกคนควรยินดีที่จะเสียเงินเพื่อหาความรู้ไว้ ทั้งนี้ เพราะการตั้งโปรแกรมจะช่วยให้คุณ
  1. ทำให้คุณเรียนได้เร็ว และจดจำได้มากขึ้น
  2. คุณสามารถจะทบทวนความรู้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องอ่านตำรายาวๆในแต่ละบท
  3. เป็นที่น่าเพลิดเพลินกว่าการเรียนตามปกติ
  4. ใช้วิธีการตั้งคำถาม - คำตอบอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้คุณมั่นใจว่า มีความเข้าใจในข้อมูลอย่างกระจ่างชัด
แทนที่คุณจะใช้เวลาอันยาวนานในการอ่านตำรา การตั้งโปรแกรมการศึกษา จะมีการให้ข้อมูลที่สมเหตุสมผล ตามมาด้วยคำถามทบทวนง่ายๆ ดังนั้น คุณจะยังไม่ก้าวไปสู่ข้อมูลอันใหม่ จนกว่า คุณจะได้ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้อ่านผ่านมาโดยชัดเจนแล้ว ทั้งนี้ เพราะมันก็เหมือนกับการเล่นเกมนั่นเอง

กระบวนการทบทวนความจำในลักษณะนี้ ทำให้การเรียนสนุกขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีประสิทธิภาพด้วย และไม่เป็นการสำคัญแต่อย่างใดเลย ว่าสิ่งที่คุณอ่านพบมา จะเป็นอะไร มันอาจจะเป็น
  • ตำราเรียน
  • บทความในแม๊กกาซีน
  • เลคเชอร์
  • การแสดงในชั้นเรียน
  • และ ฯลฯ
การเรียนรู้การตั้งโปรแกรมการศึกษา (PROGRAMMED LEARNING ซึ่งต่อไปเราจะเรียกว่า PL) เป็นความรู้ที่มีประสิทธิภาพยิ่ง ด้วยปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ

  1. ความทรงจำของคุณ เกี่ยวกับข้อมูลสำคัญต่างๆจะเพิ่มขึ้น เมื่อคุณนำประสาทสัมผัสทางร่างกายหนึ่งอย่างเข้ามาใช้ ดังนั้น ในรูปแบบของ PL ที่เราเสนอแนะนี้ คุณจะทบทวนข้อมูลสำคัญๆ ด้วยการใช้ประสาทสัมผัสทางร่างกายมากว่าวิธีอื่นๆ
    ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณศึกษาข้อมูลด้วยการใช้สายตา (เช่นการอ่าน) คุณก็จะใช้หู (รับฟัง) ในการทบทวนความรู้ในการตั้งโปรแกรมไปในตัว
  2. เนื่องจากมีการ ย้ำ ถึงมูลเหตุความเป็นจริง เข้าสนับสนุนความทรงจำของคุณอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ก็เท่ากับคุณได้ย้ำ ความรู้ใหม่ที่เรียนมา เข้าไว้ในความทรงจำด้วยวิธีที่วิเศษสุด
  3. การตั้งโปรแกรมการศึกษานี้ ได้นำเอากระบวนการที่เรียกว่า การเรียกความทรงจำ เข้ามาใช้ ซึ่งทำให้คุณสามารถใช้ความคิดเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆได้อย่างคล่องตัว ซึ่งการจำหลักความรู้ลงในความทรงจำลักษณะนี้ จะทำให้คุณได้รู้ว่า คุณเรียนรู้ในวิชาใดได้ดี และวิชาใดที่ต้องการศึกษามากกว่านั้น
ในหลักสูตรที่นำ PL ไปใช้ทางด้านการค้านั้น ปรกติแล้ว จะมีการบรรยายยืดยาว ตามมาด้วยบททบทวนความจำสั้นๆ ซึ่งบททบทวนนี้ จะประกอบด้วยคำอธิบาย 5 ประโยค ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับข้อมูล ซึ่งมีอยู่ในคำบรรยาย อย่างไรก็ตาม ในบททบทวนดังกล่าว ประโยคที่ตั้งขึ้นไว้นั้น ก็ยังไม่สมบูรณ์เท่าใดนัก มีการนำเอาช่องว่างเข้ามาแทนที่คำ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญ และขึ้นอยู่กับคุณว่า จะเติมคำในช่องว่างนั้นอย่างไร

ดังนั้น นักศึกษาจะต้องอ่านตำราที่มีอยู่แต่ละช่วงตอน และเติมคำลงในช่องว่าง ซึ่งวิธีการนี้ ไม่สำคัญว่า จะทำในใจหรือด้วยการเขียนลงไป เพราะ ส่วนที่สำคัญอยู่ตรงที่ว่า คุณจะต้องใช้ความพยายามตั้งสมาธิให้มั่น เพื่อทบทวนในสิ่งที่ตนเองได้อ่านไปแล้ว และช่องว่างที่ได้ให้ไว้ ก็เพื่อที่จะให้คุณเติมคำตอบง่ายๆ ลงไปนั่นเอง

เพิ่นพูนคุณภาพและอัตราเร็ว


วิธีการง่ายๆที่คุณจะได้เรียนรู้ เพื่อการตั้งโปรแกรมการศึกษาให้กับตนเองนี้ ผมได้รับความรู้มาจากผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารของชมรมสาขาวิชาชีพคนหนึ่ง จุดประสงค์หนึ่งของชมรมนี้ คือ การทำให้สมาชิกทุกคน มีความรู้ในพัฒนาการล่าสุดในสาขาวิชาชีพของตน ซึ่งในทุกปี จะมีหนังสือออกมาแจกให้กับสมาชิกด้วย ซึ่งผู้อำนวยการคนนั้นมองเห็นว่า สมาชิกทั้งหลาย ออกจะมีความยุ่งยากในการศึกษาหาความรู้ และการที่จะจดจำทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้โดยตลอด

ดังนั้น เขาจึงตั้งโปรแกรมการศึกษาขึ้นมาด้วยตนเอง จากนั้น เขาก็จัดให้มีการสัมมนาระหว่างประเทศขึ้น เพื่อแนะนำระบบใหม่กับทุกคน และทุกคน ก็เข้ารับการอบรมด้วยความกระตือรือร้น

ในเวลาเพียงไม่กี่ปี ผู้คนนับร้อย ก็ต้องขอบคุณเขาเป็นการส่วนตัว ที่ได้ให้ความรู้ในการตั้งโปรแกรมการศึกษาขึ้น หลายคนบอกกับเขาว่า ตนสามารถจะเรียนได้เร็วขึ้นเป็นสองเท่า ซึ่งทำให้มีเวลาว่างมากพอที่จะไปทำกิจกรรมอื่นๆ และคุณภาพของการศึกษา ก็เพิ่มตามอัตราความเร็วขึ้นมาด้วย

หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ เขาเรียนได้ดีขึ้น พร้อมๆกับเร็วขึ้น
photoผม ได้เห็นหลักสูตรนี้เป็นครั้งแรก ในการประชุมสัมมนาครั้งหนึ่ง และได้เคยนำไปทดลองใช้ด้วยตนเองมาแล้ว ซึ่งผมรู้สึกพอใจในระบบง่ายๆที่ใครๆก็นำไปใช้ จึงได้ขออนุญาตนำมาอธิบายไว้ในที่นี้ เพื่อที่ว่าคนอื่นๆ จะได้พลอยรับประโยชน์ไปด้วย

วิธีสร้างโปรแกรมการศึกษาขึ้นด้วยตนเอง


ถ้าข้อมูลที่คุณต้องการจะเรียนรู้ อยู่ในรูปของหนังสือ หรือบทความในแม๊กกาซีน การตั้งโปรแกรมการศึกษาจะต้องมีการนำเครื่องบันทึกเสียงหรือเทปเข้ามาช่วย ซึ่งคุณทำได้ดังนี้

1.ขณะที่คุณอ่านบทความ ซึ่งเป็นความรู้ใหม่สำหรับคุณ จงหยุดอ่านในทันที ที่คุณพบประเด็นสำคัญ ซึ่งควรแก่การจดจำ แล้วพูดใส่ลงไว้ในเทป แต่ใช้คำว่า ช่องว่าง แทนคำอันเป็นกุญแจสำคัญในประโยคนั้น ตัวอย่างเช่น ข้อความนั้นมีอยู่ว่า

"ถ้าที่คุณต้องการจะเรียนรู้ อยู่ในรูปของหนังสือ หรือบทความในแม๊กกาซีน การตั้งโปรแกรมการศึกษา จะต้องมีการนำช่องว่า ช่องว่าง"

จากนั้น คุณก็หยุดเว้นระยะสัก 2-3 วินาที แล้วจึงพูดคำตอบของช่องว่างตามลงไป (จากตัวอย่าง คำๆนั้น คือ เครื่องบันทึกเสียงหรือเทป) จากนั้น ก็จงหยุดเทป แล้วจึงเปิดมันขึ้นใหม่ เมื่อถึงตอนสำคัญที่จะต้องจดจำ ก็ทำด้วยวิธีเดียวกัน

2. เมื่อคุณได้บันทึกไปแล้วประมาณ 5-10 ประโยคตามลำดับ หรือมาถึงจุดที่จะต้องหยุดในข้อมูลที่กำลังอ่านอยู่ เช่น ตอนจบบท หรือขึ้นย่อหน้าก็ดี จงเริ่มเล่นเทปใหม่ ในแต่ละประโยคนั้น เมื่อถึงตอนที่เว้นช่อง จงหยุดเทปลง แล้วเติมคำที่ถูกต้องลงไป พยายามนึกคำตอบนั้นให้ออก

ถ้าคุณสามารถตอบได้ถูกต้อง ก็เดินหน้าต่อไป แต่ถ้ายังไม่สามารถจะนึกคำตอบที่ถูกต้องได้ จงกลับไปดูจากบทความที่อ่านต่อมา และพิจารณามันอย่างใกล้ชิด แล้วจึงเริ่มใหม่ต่อไป

ผมเคยถามว่า ทำไมคนที่ใช้ PL แบบนี้ จึงได้รับอนุญาติให้ดูคำตอบที่ถูกต้องได้? คำตอบก็คือ นั่น คือส่วนหนึ่งของกระบวนการในการศึกษา เป็นการทบทวนในสิ่งที่คุณอ่านผ่านมา เมื่อคุณไม่สามารถจดจำคำตอบที่ถูกต้องได้ คุณย่อมตระหนักว่า คุณมิได้ศึกษาในต้นเรื่องมาแล้วอย่างดี ดังนั้น คุณจึงมีสิทธิ์ที่จะกลับไปอ่านใหม่ได้

และจงอย่าได้ลบเทปในการทบทวนความรู้นี้ออก จนกว่าคุณจะได้ศึกษาตามหลักสูตรไปจนครบ เมื่อจบหลักสูตรแล้ว คุณก็สามารถจะนำเทปมาเปิดฟังได้ใหม่ เป็นการทบทวนความจำครั้งสุดท้าย เพื่อเป็นการประกันว่า คุณได้รับความรู้ที่ต้องการครวบถ้วนแล้ว

การจดบันทึกที่ให้ผลเป็นสองเท่า

การจดบันทึกนั้น มีส่วนช่วยอย่างมาก ในการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ แต่คนส่วนมากมักจะไม่ใคร่มีความสามารถ ในการจดบันทึก และใช้เวลาค่อนข้างมากในการเขียนสิ่งที่ตนได้ยินได้ฟังมาลงไปทั้งหมด ซึ่งในขณะที่จิตใจพะวงอยู่กับประโยคแรก สามารถจะทำให้พลาดประเด็นสำคัญในประโยคหลังไปได้

มีคุณสมบัติอยู่ 2 ประการ ซึ่งถ้าคุณสามารถฝึกฝนให้เชี่ยวชาญแล้ว ย่อมสามารถทำให้การจดบันทึกของคุณ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ
  1. การประดิษฐ์ตังอักษรชวเลขขึ้นมาเอง
  2. การเรียบเรียงข้อความในใจ
ซึ่งถ้าคุณใช้เวลาในการฝึกซ้อมไม่นาน คุณจะสามารถพัฒนาความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะใช้ไปได้ชั่วชีวิตนี้ ให้เพิ่มความเร็วขึ้นไปได้เรื่อยๆ และผมเอง ก็ใช้เทคนิคทั้งสองประการนี้ มาเป็นเวลานานนับปี และมันไม่เพียงแต่จะช่วยผมได้อย่างมากเท่านั้น แต่ยังสร้างความแปลกใจให้กับผู้อื่นอีกด้วย

บ่อยครั้ง เมื่อมีผู้ให้ข้อมูลกับผมทางโทรศัพท์ ผมสามารถจะจดบันทึกลงได้อย่างรวดเร็ว จนผู้อื่นเกิดความพิศวงและถามว่า "คุณอัดเทปไว้หรือ?"

ผมถูกถามเช่นนี้มานับครั้งไม่ถ้วน และคำตอบของผม ก็มีอยู่เพียงประโยคเดียว คือ "เปล่า ผมจดชวเลขต่างหาก"

แต่จริงๆแล้วมันไม่ใช่ชวเลข หรืออย่างน้อย ก็มิใช่ชวเลขแบบที่เลขานุการทั้งหลายเขาใช้กัน แต่มันเป็นรูปแบบที่ง่ายมาก เป็นแบบเดียวกับที่นักข่าว พนักงานสอบสวน และบุคคลในสาขาอาชีพอื่นจะต้องใช้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของงานในหน้าที่ที่เขาทำอยู่

ชวเลขแบบที่ผมเขียนนั้น เป็นวิธีการเขียนข้อความโดยย่นย่อตัวอักษรที่มีอยู่ในถ้อยคำลง และการตรวจสอบข้อความที่เขียนไว้ในใจ จะช่วยทำให้คุณพิจารณาได้ว่า คุณได้เขียนคำว่าอะไรลงไว้

การคิดประดิษฐ์ชวเลขส่วนตัว - เครื่องมือชิ้นที่ 1


ชวเลขส่วนตัว เป็นที่นิยมใช้สำหรับบุคคลที่มีอาชีพผู้สื่อข่าว ทนายความ พนักงานสอบสวน และบุคคลในวิชาชีพอื่น ที่ต้องการเขียนข้อความให้ได้เร็ว ซึ่งชวเลขแบบนี้ ดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วว่า มิได้เป็นแบบเดียวกันกับที่เลขานุการอาชีพใช้อยู่ ทั้งนี้ เพราะชวเลขแบบส่วนตัวใช้ตัวอักษรจริงๆ และเขียนไปตามแบบการเขียนหนังสือธรรมดา เพียงแต่ย่นย่อข้อความ ด้วยการใช้ตัวอักษรให้น้อยลงเท่านั้น และพยายามกำจัดสระออกให้หมด

ด้วยวิธีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย และอย่างง่ายๆ คุณสามารถขจัดตัวอักษรที่เกินความจำเป็นลงได้กว่า 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ผู้ที่จะอ่านข้อความนั้นออกจะมีเพียงผู้เขียนเท่านั้น และเนื่องจากคุณเป็นผู้เขียน ที่รับฟังข้อมูลทั้งหมดมาด้วยตัวเอง ดังนั้น คุณจึงสามารถจะรู้ความหมาย หรือคำเต็มของตัวย่อทั้งหมดที่เขียนลงไว้

ดังนั้น ในการประดิษฐ์ชวเลขส่วนตัวขึ้นใช้ จึงมีกฏอยู่เพียงประการเดียวคือ คุณ จะต้องพยายามกำจัดตัวอักษร กับสระที่ไม่ต้องการ ออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต่อเมื่อจะต้องนำกลับมาเรียบเรียงใหม่ จึงจะใส่ลงให้เต็มเนื้อความ

การเรียบเรียงในใจ - เครื่องมือชิ้นที่ 2


photoมีสิ่งที่ควรจดจำในการนี้ คือ ขณะที่คุณเขียนข้อความลงด้วยชวเลขส่วนตัวนั้น พึงระลึกไว้เสมอว่า คุณ มิได้มีอาชีพเป็นเลขานุการ ที่จะต้องจดทุกถ้อยคำที่ได้รับคำสั่ง หรือได้ยินมา เพราะตามความจริงแล้ว คุณไม่จำเป็นจะต้องเขียนทุกสิ่งทุกอย่างลง แต่เขียนเฉพาะข้อมูลอันสำคัญที่คุณต้องการจะจดจำก็พอ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้คุณใช้ข้อความน้อยกว่า ผู้พูด

ถ้าคุณมีความเชี่ยวชาญพอ คุณสามารถตัดสินใจได้ว่า ข้อความใดที่ควรจะต้องเขียน และข้อความใดที่จะผ่านไปได้

เมื่อบุคคลที่เป็นมืออาชีพต้องการจะแถลงข้อมูล โดยปรกติแล้ว เขาจะทำอยู่ 3 ประการ คือ
  1. เขาจะบอกเล่าให้คุณทราบถึงธรรมชาติ และความสำคัญของข้อมูลที่เขาจะแถลง
  2. เขาจะให้ข้อมูลตามความเป็นจริง และ
  3. เขาจะเตือนคุณอีกครั้งหนึ่ง ถึงธรรมชาติ และความสำคัญของข้อมูลที่ได้แถลงไปแล้ว
หรือถ้าจะพูดอีกนัยหนึ่ง ก็คือ เขาบอกให้คุณรู้ว่า เขากำลังจะบอกอะไรกับคุณ แล้วเขาก็บอกคุณ และเขาจะบอกคุณซ้ำ ถึงสิ่งที่ได้บอกไปแล้ว ซึ่งถ้าเป็นเลขานุการอาชีพ จะต้องจดหมดทุกถ้อยกระทงความ แต่สำหรับคุณ สิ่งที่คุณจะต้องจดคือส่วนกลางเท่านั้น จงอย่าเสียเวลากับบทเสนอแนะ และบททบทวนเป็นอันขาด

คุณอาจจะไม่เคยสังเกตมาก่อนก็ได้ว่า เวลาที่มีการแถลงข้อมูลนั้น ผู้แถลงมักจะพูดซ้ำๆ วนเวียนไปมา เพื่ออธิบายประเด็นสำคัญให้เป็นที่เข้าใจ ดัง นั้น คุณเพียงแต่จดประเด็นสำคัญลงก็พอ เพราะเมื่อใดก็ตาม ที่คุณกลับมาทบทวนในประเด็นสำคัญนี้ คุณก็จะนึกถึงข้อความที่ขยายความเข้าใจของผู้พูดได้นั่นเอง

วิธีเพิ่มพลังสมาธิ


ถ้าคุณจับตาดูการทำงานของผู้เชี่ยวชาญ คุณจะได้พบว่า เคล็ดลับประการหนึ่ง ซึ่งทำให้เขาประสพความสำเร็จ คือ สมาธิ

ทั้งนี้ เพราะเขารู้ว่า สมาธิ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของเขา บุคคลที่ได้มีการฝึกฝนการใช้พลังสมอง รู้จักกฏในการที่จะเพิ่มพลังจิตของตนให้มีประสิทธิภาพอย่างดียิ่ง เขาสามารถจะทำให้การศึกษาหาความรู้ของตนก้าวไกลได้ ด้วยการสร้างเงื่อนไขอันถูกต้องให้กับตนเอง ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าว คือกุญแจดอกสำคัญ ในการเพิ่มพลังสมาธิอย่างมีประสิทธิภาพ

เงื่อนไขประการแรกคือ ตั้งความปรารถนา
คุณจะไม่สามารถตั้งสมาธิได้ นอกเสียจากคุณจะมีความสนใจในเรื่องนี้อย่างมองเห็นว่า มันมีความสำคัญต่อชีวิต ก็แล้วถ้าคุณไม่บังเกิดความสนใจอย่างใหญ่หลวงเช่นนั้นเล่า?

ถ้าเช่นนั้น คุณก็ยังเพิ่มพลังสมาธิได้ ด้วยการพิจารณาเป้าหมายของตนเอง เมื่อใดก็ตาม ที่คุณมีความรู้สึก ท้อถอย ในการศึกษาวิชาต่างๆ เกิดขึ้น คุณจะต้องตั้งคำถามแก่ตัวเอง 2 ข้อ คือ
  1. ผมจะได้ประโยชน์อะไรจากการศึกษาในเรื่องนี้บ้าง?
  2. ผมจะต้องเสียประโยชน์อะไรบ้าง ถ้าไม่ได้ศึกษาวิชานี้?
เมื่อคุณมองเห็นเป้าหมาย และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ทั้งสองสิ่งนั้น จะจุดไฟแห่งความสนใจให้เพิ่มมากขึ้น พร้อมๆกันนั้น ความสามารถในการเพิ่มพลังสมาธิก็จะติดตามมา

เงื่อนไขประการที่สอง ก็คือ คุณจะต้องตื่นตัวอยู่เสมอ เพื่อที่จะซึมซับความรู้ใหม่ๆได้ง่ายขึ้น
เทคนิคหนึ่งก็คือ คุณจะต้องอยู่ในห้องที่มีความเย็นของอากาศ ระดับที่พอดี คือประมาณ 65 องศาฟาเรนไฮต์ หรือต่ำกว่านั้นเล็กน้อย เพราะอุณหภูมิในระดับนี้ จะไม่ทำให้บุคคลรู้สึกง่วงเหงาหาวนอน ซึ่งถ้าคุณสังเกตอยู่เสมอ จะเห็นได้ว่าในห้องที่มีอากาศอุ่นเกินไป ทำให้คนเราอยากจะนอน หรือพักผ่อนมากกว่าทำงาน

กับอีกประการหนึ่ง การศึกษาในระหว่างที่ท้องอิ่มเต็มที่ ทำให้คุณง่วงงุนได้ง่าย ดังนั้น จงพยายามหลีกเลี่ยงถ้าทำได้

เงื่อนไขประการที่สาม ก็คือ จงสังเกตว่า ช่วงใดของวัน เป็นช่วงที่คุณสามารถทำงานได้ดีที่สุด
ในตอนเช้า หรือตอนกลางคืน ใช้ช่วงเวลานั้นให้เป็นประโยชน์ ซึ่งจะทำให้การศึกษาของคุณเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับเงื่อนไขประการที่สี่ ก็คือ คุณจะต้องมีสมองที่ปลอดโปร่งแจ่มใส
จากการทดลอง ได้แสดงผลให้เห็นว่า การศึกษาในวิชาใหม่ๆนั้น บุคคลอาจจะลืมได้โดยง่าย ถ้าเขาจะต้องหันไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ซึ่งต้องการสมาธิที่มากกว่า สมองที่ปลอดโปร่งแจ่มใส ย่อมสามารถซึมซับความรู้ไว้ได้ดีกว่าสมองที่วุ่นวายสับสน

ซึ่งถ้าคุณสร้างเงื่อนไขทั้ง 4 ประการนี้ ขึ้นกับตนเองแล้ว พลังแห่งสมาธิของคุณจะเพิ่มขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ และคุณจะได้พบว่า เพราะเหตุใด พลังที่มีประสิทธิภาพนี้ จึงเป็นเครื่องมืออันสำคัญ ซึ่งสามารถจะซึมซับความรู้ใหม่ได้อย่างรวดเร็วราวกับเสกคาถา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น