++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2548

DNA Microarray ชีวะเพื่อชีวิต

ลัดดา หงส์ลดารมภ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ถึง แม้ว่าทุกๆ เซลล์ในร่างกายมนุษย์มีข้อมูลทางพันธุกรรมที่เหมือนกัน แต่ว่ามีการแสดงออกที่ต่างกัน เราจะเห็นว่าเซลล์ในส่วนต่างๆ ของร่างกายเรามีความแตกต่างกัน ทั้งนี้เนื่องจากยีนที่มีอยู่มากมายในเซลล์แต่ละชนิดทำงานไม่พร้อมกัน ตัวอย่างเช่น ยีนซึ่งผลิตเอนไซม์ที่ใช้ในการกำจัดสารพิษจะทำงานมากในตับ แต่ไม่ทำงานเลยในเซลล์ที่สร้างกระดูก การที่จะศึกษาว่ายีนใดที่ทำงานต่างกันในเซลล์ตับและเซลล์กระดูก ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่ในปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยี DNA microarray (หรือ DNA chips)

เทคโนโลยี DNA microarray นั้น เกิดจากการสังเคราะห์ดีเอ็นเอขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นตัวแทนของยีนทุกๆ ยีนที่ทราบจากเซลล์ของมนุษย์ โมเลกุลของดีเอ็นเอเหล่านี้จะถูกหยอดเรียงกันอยู่บนแผ่นแก้วบาง (ขนาดเพียง 1.6 x 1.6 ตารางเซนติเมตร) โดยแต่ละชนิดของโมเลกุลจะมีตำแหน่งที่แน่นอน ดังนั้นในแผ่นแก้วบางแผ่นเดียวสามารถบรรจุโมเลกุลของดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นตัวแทนของยีนนับพันได้ในพื้นที่จำกัด

จากนั้นเมื่อเรานำ mRNA (หน่วยที่จำลองมาจากยีนที่กำลังทำงาน) ซึ่งสกัดมาจากเซลล์ที่สนใจ (ตัวอย่างเช่น เซลล์ตับ) มาติดฉลากด้วยสีและนำมาจับกับแผ่นแก้วนี้ mRNA ที่เป็นหน่วยจำลองจากยีนตัวใดก็จะจับอย่างเหนียวแน่นกับโมเลกุลของ DNA ที่แทนยีนตัวนั้นบนแผ่นแก้ว เมื่อนำแผ่นแก้วไปล้างและตรวจดูสี ตำแหน่งที่มีสีคือตำแหน่งที่ mRNA เกาะติดอยู่ ซึ่งคือตำแหน่งของยีนที่กำลังทำงานอยู่ในเซลล์ตับ เช่นเดียวกันเมื่อเราใช้วิธีนี้กับ mRNA ที่มาจากเซลล์สร้างกระดูก เราก็จะรู้ได้ว่าในขณะเดียวกันมียีนใดบ้างที่กำลังทำงานอยู่ในเซลล์กระดูก และเปรียบเทียบกับผลจากเซลล์ตับ

ณ ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์เริ่มใช้เทคโนโลยีนี้แล้ว และคาดว่าจะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายประการ เช่น ในการศึกษาโรคที่เราไม่ทราบว่ามียีนใดเข้ามาเกี่ยวข้อง เราสามารถเปรียบเทียบได้ว่ามียีนใดบ้างที่ทำงานแตกต่างกันระหว่างในผู้ป่วย และในคนปกติ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคนั้น หรืออาจนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ศึกษาเชื้อโรคที่ดื้อยา เพื่อค้นหาว่ามียีนตัวใดที่ทำงานต่างกันในเชื้อที่ดื้อยาและไม่ดื้อยา เพื่อปรับปรุงยาให้ดีขึ้น

ข้อมูลจากโครงการวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา/ไบโอเทค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น