++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2548

การขุดค้นเพื่อแสวงหาแนวความคิดและหนทางในการแก้ปัญหา

จาก HOW TO BE TWICE AS SMART
โดย สก๊อตต์ วิทท์

คำ ว่า WILD CATTERS (ไวด์แคทเตอร์) นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า หมายถึงคนที่ขุดบ่อน้ำมันลงไปในพื้นดิน ที่ไม่รู้ว่าจะมีน้ำมันหรือไม่ แต่เขาจะขุดอยู่เช่นนั้นจนก่าวจะพบน้ำมัน หรือไม่ก็หมดเงินลง แม้เขาจะไม่แน่ใจ แต่ก็รู้ว่า ถ้าเขาพบบ่อน้ำมันได้จริงแล้วล่ะก็ มันย่อมหมายถึงความมั่งคั่งร่ำรวยอย่างไม่ต้องสงสัย และในหัวข้อนี้ เราจะพูดถึงการเป็นนักขุดอีกรูปแบบหนึ่ง คือ เราไม่ได้หาน้ำมัน แต่จะหาแนวความคิด และหนทางในการแก้ปัญหา เพียงแต่ว่า ในการขุดหาทั้งสองสิ่งนั้น คุณจะต้องไม่เสียอะไรเลย (นอกจากเวลาบ้างเพียงเล็กน้อย) และผลที่จะได้รับนั้น เป็นผลดีอย่างแน่นอน

บุคคลที่ใช้สมองในการขุดค้นหาขุมทรัพย์ดังกล่าว จะได้พบ ไม่ว่าจะเป็นแนวความคิด หรือหนทางในการแก้ปัญหา ขอให้คุณมองในแง่ที่ว่า ถ้านีกขุดบ่อน้ำมัน สามารถจะขุดเจาะลงไปหลายๆหลุมในตำแหน่งต่างๆกันได้ ไม่ช้าก็เร็ว เขาจะต้องพบบ่อน้ำมันเข้าจนได้ ซึ่งก็ทำนองเดียวกันกับการที่เราจะขุดเพื่อหาความรู้ มันจะทำให้คุณเกิดความรู้ขึ้นมาว่า จะหาแนวความคิดต่างๆได้จากที่ใด และคุณจะพบบ่อน้ำมันได้เร็วกว่า โดยไม่เสียเงินทองแต่อย่างใดเลย

การขุดค้น : รูปแบบอันทรงพลังของอิทธิพลทางด้านจิตใจ


คุณได้เรียนรู้วิธีการต่างๆ ที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับพลังสมองมาแล้วหลายวิธี แต่กระนั้น มันก็ยังมีวิธีที่ดีที่สุด ติดตามมาอยู่เรื่อยๆ และการขุดค้นก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง เพราะมันเป็นงานที่ทำได้ง่ายๆ และยังมีความเพลิดเพลินอีกด้วย

การขุดค้นทางสมอง ก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร? .... มันเริ่มต้นจากสิ่งนี้

ในขณะที่คุณแสวงหาแนวความคิด หรือหนทางในการแก้ปัญหานั้น คุณจะต้องจดบันทึกหนทางอันเป็นไปได้ ที่เกิดขึ้นในสมองลงไว้ คุณจะต้องเขียนลงไว้ในทันที โดยไม่จำเป็นต้องหยุดคิดพิจารณาว่า มันจะเป็นไปได้หรือไม่... เช่นเดียวกับที่นักขุดบ่อน้ำมัน ขุดเจาะลงไปตามหลุมต่างๆ ทั้งที่ไม่รู้ว่า ในบริเวณนั้นจะมีน้ำมันหรือไม่

การที่คุณได้ความคิดที่ออกจะไกลความจริงนั้น นอกจากจะเป็นสิ่งที่คุณจะต้องยอมรับแล้ว มันยังเป็นสิ่งที่กระตุ้น หรือเร่งเร้าจิตใจของคุณอีกด้วย เพราะฉะนั้น จงเขียนแนวความคิดทั้งหลายให้มากที่สุดเท่าที่จะคิดขึ้นมาได้ และแล้ว ก็เอากระดาษแผ่นนี้วางไว้เสียข้างหนึ่ง จากนั้น คุณก็เอากระดาษออกมาอีกแผ่นหนึ่ง และเขียนแนวความคิดที่คล้ายคลึงกันลงไป และดึงแนวความคิดที่เสริมขึ้นออกมาไว้ข้างบน

ถ้าสถานการณ์ให้ คุณอาจจะเขียนแนวความคิดของเพื่อนๆลงไว้ด้วยก็ได้ จากนั้น คุณก็เอาแนวความคิดต่างๆนั้นมาคำนวณดู ซึ่งคุณจะต้องได้พบกับความแปลกใจ คุณอาจจะใช้วิธีให้คะแนนแต่ละข้อเข้ามาช่วย ซึ่งคุณจะเห็นว่า ประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ของแนวความคิดนั้น มีหนทางในการปฏิบัติได้ และจะมีอยู่ 1-2 ข้อ ที่เป็นแนวความคิดที่ดีที่สุด

คนส่วนมากที่นำเทคนิคนี้มาใช้ และเปรียบเทียบกับวิธีการแบบเดิมที่ตนเคยใช้อยู่ ทำให้เขาได้รับคำตอบว่า
  1. เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยคาดคิดมาก่อน
  2. เป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง
  3. มีความเหนือกว่ามาก
มีคนเป็นจำนวนมาก ที่ขุดค้นหาแนวความคิดใหม่ๆ เช่นนี้ อาทิ
  • ผู้จัดรายการสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ใช้เทคนิคในการขุดค้นนี้ เพื่อช่วยให้เขาเกิดแนวความคิด ในการจัดรายการแสดงแปลกๆใหม่ๆทุกปี
  • ผู้จัดการร้านอาหารแบบฟาสท์ฟู๊ด จะปิดประตูห้องทำงานของเขาลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่ยอมรับโทรศัพท์จากใครทั้งสิ้น และใช้กระบวนการขุดค้นนี้ แก้ปัญหาอันยากยิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา
  • สมุห์บัญชี บริษัทโฆษณาใหญ่แห่งหนึ่ง ได้ความรู้ใหม่ เกี่ยวกับการโฆษณา เมื่อใช้เทคนิคขุดค้นที่ว่านี้
  • แม่บ้านผู้หนึ่ง ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ สมาคมครู และผู้ปกครอง ใช้วิธีการขุดค้น ช่วยในการวางแผนรณรงค์ ในเรื่องงบประมาณประจำปีที่บีบรัดอยู่
  • ทนายความคนหนึ่ง ซึ่งจะต้องพบกับคดีที่ยุ่งยากมาก ใช้การขุดค้นหายุทธวิธี ที่จะทำให้ลูกความของตน ชนะความในศาล
  • ฯลฯ

ปลดปล่อยข้อมูลที่เก็บกักไว้ออกจากจิตใจ


ระหว่างสมองของคนเรากับเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น มีความคล้ายคลึงซึ่งกันและกันอยู่ เพราะฉะนั้น ผมจะไม่เถียงใครในเรื่องที่ว่า คอมพิวเตอร์สามารถคิดได้หรือไม่ ?แต่ ผมจะชี้ให้เห็นว่า ทั้งสมองและคอมพิวเตอร์นั้น ต่างก็เก็บกักข้อมูลไว้ในระบบความทรงจำเหมือนกัน ซึ่งหมายถึงว่า ผู้ใช้สามารถจะเข้าถึงทุกส่วนของข้อมูลนั้นได้ และโดยทุกวิธีการตามที่เขาต้องการ

และนั่นคือสิ่งที่คุณจะต้องทำ เมื่อใช้เทคนิคขุดค้น

คุณหยิบยกเรื่องหนึ่งขึ้นมา เป็นเรื่องซึ่งอาจจะต้องการแนวความคิด หรือหนทางในการแก้ปัญหาก็ตาม จากนั้น คุณก็จะขุดลึกลงไปในส่วนของสมอง ที่เก็บความคิด ความทรงจำ ข้อมูล ความเชื่อ และอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ออกมา ซึ่งคุณก๋จะจดบันทึกลงไว้ เช่นเดียวกับข้อมูลที่คอมพิวเตอร์พิมพ์ออกมา บางข้อมูลนั้น ก็ออกจะยุ่งยากมาก บางอย่างก็ดี บางอย่างก็ดีมากเช่นนี้เป็นต้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้ จะทำให้คุณได้แนวความคิด หรือวิธีการแก้ปัญหาตามที่ต้องการ

การเพิ่มความเร็วให้แก่การปฏิบัติการ


ในหัวข้อที่ผ่านมา เราได้พูดถึงเรื่องของจิตใต้สำนึก และกระบวนการในการทำงานของมันมาแล้ว และเรายังได้พูดถึงวิธีการ ที่จะให้ได้มาซึ่งข้อมูลต่าง ๆ

แต่คุณก็คงจะสังเกตเห็นอยู่ประการหนึ่งว่า ปฏิบัติการของจิตใต้สำนึกนั้น ค่อนข้างช้า แม้จะได้ผมอย่างไม่ต้องสงสัยเลยก็ตาม โดยปรกติแล้ว เราจะต้องรอ จนกว่าจิตใต้สำนึกจะทำงานของมันมาให้

แต่การขุดค้นเป็นไปในทาตรงกันข้าม ปฏิบัติการของมัน มีความเร็วใกล้เคียงกับการทำงานของคอมพิวเตอร์ โดยปรกติแล้ว ในการทำงานระดับปรกติ จะใช้เวลาอย่างมาก 10-15 นาที เท่านั้น คุณจะพบว่า ตัวเองเกิดแนวความคิด เร็วเท่าๆกับที่คุณจดบันทึกมันลงไป ทั้ง นี้ เพราะมีเซลล์ที่ให้ข้อมูลนั้นแก่คุณ ตั้งอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ และการขุดค้น ก็เท่ากับเป็นการเปิดช่องทางระหว่างจิตใต้สำนึก กับโลกภายนอก ให้ติดต่อกันได้เร็วขึ้น

บันได 5 ขั้น ที่ก้าวไปสู่ความสำเร็จในการขุดค้น


ประโยชน์อันยิ่งใหญ่ประการหนึ่งของการขุดค้น ก็คือ ความเป็นจริงที่ว่า มันง่ายแก่การทำ และให้ความสนุกเพลิดเพลิน ดังนั้น บุคคลที่ได้ลองใช้มันมาแล้ว จึงพยายามนำมันมาประยุกต์ใช้ในครั้งแล้วครั้งเล่า ทุกครั้งที่เขาต้องการแนวความคิดใหม่ๆ หรือหนทางในการแก้ปัญหา ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนั้น ประกอบด้วยบันได 5 ขั้นง่ายๆ ซึ่งถ้าคุณจะดูจากชื่อของบันไดแต่ละขั้นอย่างผิวเผินแล้ว คุณอาจจะเห็นว่า มันไม่ใคร่น่าสนใจเท่าใดนัก แต่ถ้าคุณได้อ่านต่อไปเรื่อยๆ คุณจะเข้าใจในความหมาย และความมีประสิทธิภาพของมัน ซึ่งบันไดทั้ง 5 ขั้นนั้น มีดังนี้
  1. กลุ่มแนวความคิด
  2. เลือกสรรแนวความคิด
  3. จัดลำดับแนวความคิดที่ดีที่สุด
  4. การสร้างสรรค์ส่วนผสมที่ดี
  5. วิเคราะห์แนวความคิดที่ใช้ไม่ได้
ซึ่งเราจะอธิบายในแต่ละขั้นตอน ว่ามันมีหน้าที่การทำงานอย่างไร บุคคลอื่นๆ นำมันไปใช้โดยวิธีใด และคุณจะนำมันมาปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตได้อย่างไร

บันไดขั้นที่หนึ่ง - กลุ่มแนวความคิด


การขุดค้น เป็นเทคนิคในการกลั่นกรองแนวความคิด ซึ่งคิดขึ้นโดย อเล็กซ์ ออสบอร์น นักโฆษณาผู้มีชื่อเสียง ซึ่งมักจะใช้วิธีรวบรวมความคิด จากพนักงานทั้งหลายในบริษัท เพื่อสร้างแนวทางใหม่ เพื่อการโฆษณา และการรณรงค์ในการโฆษณาใหม่ๆ ซึ่งพนักงานเหล่านี้ จะนั่งลงรอบโต๊ะ รับฟังปัญหา และแล้วก็จะช่วยกันแสดงความคิดเห็นของตนออกมา แต่ทว่า น้อยนักที่ความคิดเหล่านั้นจะใช้ได้ผล

ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น จากการรวบรวมแนวความคิดในลักษณะนี้ ก็คือ มันมิใช่เป็นเรื่องง่ายนัก สำหรับการที่จะเรียกประชุมพนักงานอยู่ตลอดเวลา ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นการเสียเวลาอย่างมากอีกด้วย

ต่อมาในภายหลัง ทั้งนักธุรกิจ และผู้นำในวงราชการ ก็ได้พบว่า การ ที่บุคคลเพียงคนเดียว ใช้ความคิดของตนแค่ตามลำพัง ก็สามารถทำงานอย่างได้ผล เช่นเดียวกับคนทั้งกลุ่ม ถ้าเขา หรือเธอผู้นั้น จะปฏิบัติไปตามระบบที่แสดงไว้นี้ คุณจะต้องเริ่มการรวบรวมความคิด ด้วยการเข้าไปนั่งอยู่ในห้องเงียบๆ ซึ่งจะไม่มีผู้ใดเข้าไปรบกวนได้ จากนั้น ตรงหัวกระดาษ คุณก็เขียนปัญหาที่คุณต้องการจะแก้ หรือแนวความคิดที่คุณกำลังแสวงหาอยู่ลง ซึ่งสิ่งนี้ เราจะเรียกว่า "การท้าทาย" และแนวความคิดที่คุณจะเขียนต่อลงไปข้างล่างนี้ จะมีเป้าหมายในอันที่จะแก้ปัญหาที่ท้าทายอยู่นี้

จากนั้น คุณก็เริ่มคิดถึงวิธีการแก้ปัญหาในลักษณะของความเป็นไปได้ลง โดยไม่ต้องมีการคิดหาเหตุผลมาประกอบว่า มันจะใช้ได้หรือใช้ไม่ได้อย่างไร ตราบใดที่ความคิดวิ่งเข้าสู่สมองของคุณ ก็เพียงแค่จดมันลงไว้

ระบบนี้จะใช้ได้ผล ก็ต่อเมื่อคุณมีความตั้งใจจะเป็นนักขุดค้นอย่างแท้จริง และขุดไปเรื่อยๆตามแต่สมองจะพาไป และจนกว่าสิ่งต่อไปนี้จะเกิดขึ้น คือ
  1. คุณคิดจนหมดสิ้นทุกวิธีการในขณะนั้นแล้ว
  2. คุณเริ่มรู้สึกอ่อนเพลีย และจิตใจล่องลอยไม่อยู่กับที่
  3. เมื่อเวลาประมาณ 20 นาที ได้ผ่านพ้นไปแล้ว
หลังจากนั้น คุณก็ออกไปทำอย่างอื่นเสีย อาจจะเป็นงานประจำที่ทำอยู่ก็ได้ ขณะเดียวกัน ก็เตรียมการขุดค้นสำหรับวันต่อไป ถ้าคุณสามารถจะรอเวลานานขนาดนั้นได้ แต่ถ้าไม่ได้ อย่างน้อย คุณจะต้องปล่อยเวลาให้ผ่านไปสัก 3 ชั่วโมง จึงค่อยกลับมาทำใหม่

คุณจะเริ่มขุดค้นครั้งที่สอง ด้วยการอ่าน....
  1. ปัญหาท้าทายที่คุณได้เขียนลงไว้บนหัวกระดาษ
  2. แนวความคิดบางประการที่ได้เขียนลงไว้
ขณะที่คุณทบทวนแนวความคิดต่างๆอยู่นั้น ความคิดใหม่จะเกิดตามมา (ทั้งนี้ เพราะจิตใต้สำนึกของคุณ จะทำงานไปพร้อมกันนับตั้งแต่การขุดค้นในครั้งแรก ซึ่งเพราะเหตุนี้ จึงได้มีการแนะนำให้คุณหยุดเว้นระยะ ระหว่างการขุดค้นประมาณ 24 ชั่วโมง) จากนั้น คุณก็ทำไปตามกระบวนการเช่นเดียวกับในครั้งแรก เขียนแนวความคิดใหม่ๆลงไป โดยไม่ต้องสนใจในความสมเหตุสมผลของมัน

ถ้าคุณยังต้องการแนวความคิดเพิ่มเติม คุณอาจจะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นได้... แต่ไม่จำเป็นจะต้องทำถึงขั้นจัดประชุมเพื่อขอความคิด... โดยคุณอาจจะเล่าถึงปัญหาให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือสัก 2 คนฟัง ซึ่งบุคคลผู้นั้น จะต้องไม่มีประสบการณ์ หรือได้รับการอบรมเกี่ยวกับการแก้ปัญหานั้นๆมาก่อน คุณเพียงแต่ขอคำแนะนำ เกี่ยวกับปัญหาที่คุณต้องการจะแก้ไข หรือแนวความคิดที่แสวงหาอยู่เท่านั้น

คำแนะนำชนิดพิเศษ


ความคิดแปลกๆใหม่ๆนั้น มักจะมาจากผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในปัญหานั้นๆมาก่อน จึงทำให้เขามิได้ระมัดระวังในเรื่องกฏข้อบังคับ หรือการจำกัดสิทธิแต่อย่างใด ดังนั้น แนวความคิดของเขา จึงไม่ใคร่เข้มงวดกวดขัน เหมือนผู้ที่ต้องเผชิญกับปัญหาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง ที่คำแนะนำซึ่งคุณแสวงหาอยู่ จะต้องมาจากบุคคลประเภทนี้

ส่วนใหญของคำแนะนำ ที่คุณได้รับมานั้น มักไม่ใคร่มีประโยชน์ แต่อย่างน้อย คุณก็ได้รูปแบบของมันมา และถึงอย่างไร คุณก็ควรจะจดมันลงไว้ บวกเข้ากับหัวข้อที่คุณได้เขียนลงไว้ก่อนหน้านี้

จากประสบการณ์แสดงให้เห็นแล้วว่า 6 เปอร์เซ็นต์ของความคิดต่างๆ เหล่านั้น มิได้เป็นของคุณแต่ผู้เดียว แต่มีของผู้อื่นประสมอยู่ด้วย และสามารถจะนำไปใช้ได้ และความคิดแปลกๆ ของผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ บ่อยครั้งที่มันมีหนทางที่จะเป็นไปได้

"อุปสรรคประการสำคัญ ของการรวมกลุ่มแนวความคิด จากผู้ที่ขาดประสบการณ์ ก็คือ มันทำให้ความคิดดั้งเดิมของคุณ ต้องถูกริดรอนลง และมักจะทำให้คุณเกิดความยุ่งยากใจได้" เป็นคำกล่าวของ ทอม บี. ซึ่งทำงานอยู่ในบริษัทอีเล็คโทรนิคส์ ซึ่งหน้าที่ของเขา คือ การคิดค้น หาเกมอีเล็คทรอนิคส์ และเครื่องเล่นใหม่ๆให้กับผู้ผลิต ซึงส่งไปขายในตลาดสหรัฐอเมริกา

"ถ้าผมจะยึดมั่นอยู่แต่แนวความคิดของตัวเอง หรือแนวความคิดของผู้เชี่ยวชาญในบริษัทแล้ว เราก็แทบจะไม่ประสพความสำเร็จ ในธุรกิจประเภทนี้เลยก็ว่าได้ " ทอม อธิบาย " เรารู้ว่าการออกแบบ และการบรรจุกล่อง มีผลในทางช่วยโฆษณาสินค้าของเราได้ดีเพียงไร แต่บางครั้ง เราก็มองข้ามไปจนไม่เห็นว่า จริงๆแล้ว ผู้ซื้อต้องการอะไร และจะซื้อหรือไม่ เพราะฉะนั้น ในทุกครั้งที่ผมจะต้องขุดค้นหาแนวความคิด ให้กับสินค้าชิ้นใหม่ๆ ผมจะต้องหาความรู้จากบุคคลภายนอกด้วย"

ความคิดที่ดีบางประการของทอมนั้น มาจากลูกๆของเขาบ้าง เพือนบ้าง หรือไม่ก็คนขับรถแท็กซี่ บริกรในร้านอาหาร บาร์เทนเดอร์ และแม้แต่จากช่างตัดผมด้วยซ้ำ

ในขณะที่ผมคิดค้นหาแนวความคิดใหม่ๆ ผมจะขอคำแนะนำจากคนพวกนี้ แล้วก็เอามาผนวกเข้ากับแนวความคิดของผม บ่อยครั้งที่ผลิตภัณฑ์ของเรา เกิดจากความคิดของคนภายนอก หรือไม่ก็ประสมประสานกันอยู่กับความคิดของผมเอง"

แม้ว่า ทอมจะใช้เวลาในการคิดค้นประมาณ 15-20 นาที แต่เขาก็จะพกสมุดบันทึกเล็กๆ ติดตัวไปไหนต่อไหนด้วย

"ในบางครั้ง ผมก็ได้แนวความคิดดีๆ จากการขุดค้นนั้น แต่แล้วอีกสักหนึ่งชั่วโมง หรืออีกสักวันหลังจากนั้น มันก็มีความคิดใหม่ๆเกิดขึ้นมาอีก และเพราะผมมีสมุดบันทึกติดตัวอยู่ตลอดเวลา มันทำให้ผมสามารถจดลงไว้ได้ทันทีก่อนที่จะลืม" และนั่นเป็นอีกประโยชน์หนึ่ง ที่คุณได้รับจากจิตสำนึก

บันไดขั้นที่สอง - เลือกสรรแนวความคิด


คุณคงจำคำแนะนำที่ให้ไวได้ว่า จงอย่าคำนึงถึงสมเหตุสมผล ในขณะที่คุณแสวงหา และเขียนความคิดต่างๆลง

ทั้ง นี้ เพราะมันเป็นเทคนิคที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์อันบริสุทธิ์ และการหยุดคิดพิจารณาในความสมเหตุสมผล จะทำให้กระบวนการทางความคิดหยุดชะงักลงได้ แต่เมื่อใดก็ตาม ที่คุณได้แนวความคิดทั้งหมดมาแล้ว ทั้งของตนเองและผู้อื่น ในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 วัน คุณสามารถจะใช้ความคิดพิจารณาได้ เพราะถึงเวลาที่คุณจะต้องเลือกสรรแนวความคิด

จงอ่านหัวข้อของแนวความคิดที่เขียนลงไว้ พิจารณาแต่ละหัวข้อสั้นๆ ในตอนนี้ คุณจะมองเห็นข้อผิดพลาด หรือความไม่เหมาะสม คุณก็จะขีดแนวความคิดที่ใช้ไม่ได้ออกไป และเอาที่เหลือ เขียนลงในกระดาษแผ่นใหม่

ประโยชน์ที่ได้รับจากแนวความคิดที่ใช้ไม่ได้


ทำไมเราจะต้องเก็บรักษาความคิดที่ใช้ไม่ได้ไว้ด้วย

ทั้งนี้ ก็เพราะแนวความคิดนั้น จะยังกลับมาเป็นประโยชน์แก่คุณได้ เมื่อ คุณมาถึงบันไดขั้นสุดท้าย ของเทคนิคในการขุดค้น แล้วคุณจะได้พบว่า โดยแท้ที่จริง มันมิได้เลวจนใช้ไม่ได้ เช่นที่คุณคิดไว้ในครั้งแรกเลย

จูดี้ ไอ. เลือกงานทำด้วยวิธีขุดค้นนี้ ซึ่งถ้าจะพูดให้ชัดเจนลงไปกว่านั้น ก็คือ เธอเลือกงานจากหัวข้อที่เธอไม่ยอมรับในตอนแรก และขีดทิ้งไปแล้วนั่งเอง

"ตอนนั้น ฉันพึ่งหย่าขาดจากสามีใหม่ๆ และเนื่องจากฉันไม่ได้ทำงานเลย เป็นเวลากว่า 10 ปี มันก็เป็นการยากมาก ที่ฉันจะหางานทำได้ มันก็จริงหรอกที่ว่า ฉันทำอะไรเป็นตั้งหลายอย่าง แต่นายจ้างเขาไม่ได้คิดอย่างฉันนี่ "

ในหัวข้อหนึ่งของแนวความคิดที่เธอปฏิเสธตั้งแต่แรก คือ การตั้งบริษัทท่องเที่ยว แนวความคิดนั้น ถูกปฏิเสธด้วยหลายเหตุผล รวมทั้งความจริงที่ว่า จูดี้ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเลย และประการสำคัญ ก็คือ เธอไม่มีเงินมากพอที่จะลงทุนทำธุรกิจเช่นนั้นได้

"อย่างไรก็ตาม ฉันมีความหลงไหลในเรื่องการท่องเที่ยวมาก แม้แต่แค่ได้คุยก็พอใจแล้ว เพราะฉะนั้น มันจึงเร้าใจให้ฉันต้องเขียนเป็นแนวความคิดลงไว้ แต่เมื่อถึงเวลาที่จะเลือกสรรแนวความคิด เพื่อหาข้อที่ดีที่สุด ฉันก็ขีดมันทิ้งไป"

แต่ต่อมาอีกไม่นาน เธอก็ได้พบว่า บันไดขั้นที่ 5 ของเทคนิคการขุดค้นได้แสดงให้เห็นว่า เธอสามารถจะทำความฝันให้เป็นความจริงได้อย่างไร

มันทำให้จูดี้ลงมือเก็บเงิน ด้วยการสมัครเข้าทำงานในบริษัทท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง ภายในเวลาปีครึ่ง เธอก็พร้อมแล้วที่จะเปิดสำนักงานท่องเที่ยวเล็กๆของตนเองขึ้น และมันก็กลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จขึ้นมา

ดังนั้น บทสรุปของบันไดขั้นที่สอง ก็คือ คุณจะต้องเขียนหัวข้อลงไว้ 2 แบบคือ แบบที่หนึ่งเป็นแนวความคิด ที่คุณเชื่อว่า มีค่าควรแก่การพิจารณาต่อไป กับอีกหัวข้อหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์สำหรับคุณเลย

บันใดขั้นที่ 3 - จัดลำดับแนวความคิดที่ดีที่สุด


ในขั้นนี้ คุณจะเลือกแนวความที่ดีที่สุด 2-3 ข้อออกมา ซึ่งตอนนี้ การเลือกจะต้องเป็นหน้าที่ส่วนตัวของคุณ แต่คนส่วนมากจะใช้วิธีให้คะแนนระหว่าง 1-10

คุณก็เพียงแค่อ่านแนวความคิด และให้คะแนนในเหตุผลของแต่ละข้อไปพร้อมกัน ข้อใดที่ได้คะแนนมากที่สุด ก็ถือเป็นข้อที่จะนำไปพิจารณาในบันใดขั้นที่สี่

"ในฐานะที่ผมเป็นวิศวกรก่อสร้าง ผมรู้ดีว่า วิธีให้คะแนน มันไม่ใคร่มีน้ำหนักเท่าไร่นัก แต่ผมก็ใช้อยู่ดี" กิล เอ็ม เล่า "ผมไม่เคยยุติความรู้สึกพิศวง ในทุกครั้งที่ผมสามารถหาทางแก้ปัญหาที่มันยากเย็นได้เลย ในบางครั้ง มันเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ผมนึกไม่ถึงด้วยซ้ำ ผมคิดว่า มันเป็นการดึงเอาสัญชาตญาณแห่งการสร้างสรรค์ ออกมาจากสมองของผมจริงๆ ส่วนการให้คะแนนนั่น มันช่วยให้ผม สามารถวิเคราะห์หนทางที่เป็นไปได้ชัดเจนขึ้น"

มีคนเป็นจำนวนมากที่ได้แนวความคิด หรือหนทางในการแก้ปัญหา เมื่อเขาดำเนินกรรมวิธีมาถึงบันใดขั้นที่สามนี้ บางคนก็ได้ในสิ่งที่ต้องการตั้งแต่ขั้นแรก แต่บันใดทั้ง 5 ขั้นที่เรามานำเสนอนั้น ก็เพื่อให้คุณมีโอกาสพิจารณาเมื่อแนวความคิดอันเหมาะสม ยังไม่ปรากฏออกมาให้เห็น

บันใดขั้นที่ 4 - การสร้างสรรค์ส่วนผสมที่ดี


คุณเคยมีความรู้สึกบ้างไหมว่า สิ่งที่คุณคิดออกมาได้นั้น บางครั้งมันก็เป็นเพียงแนวความคิดที่ดี ต่อเมื่อได้พิจารณาอย่างใกล้ชิดเท่านั้น ? โดยปรกติแล้ว ทุกคนก็มีความรู้สึกเช่นนี้ด้วยกันทั้งสิ้น และถึงแม้มันจะเกิดขึ้น แต่ก็ต้องถูกโยนทิ้งไป สำหรับเทคนิคที่เรากำลังแนะนำอยู่นี้ จะไม่มีวันหายไปไหนได้

ทั้งนี้เพราะถ้าแนวความคิดหนึ่งมีข้อบกพร่อง คุณก็ลองหาจากข้ออื่นๆซึ่งอาจนำมาประสมประสานเข้าด้วยกันได้ และนำไปพัฒนาใช้ แนวควมคิดดีๆ 2 ประการนั้น เมื่อนำมารวมกันเข้า มักจะได้แนวความคิดใหม่ ที่ดีกว่าอันเดิม ขอให้คุณดูตัวอย่างจากดินสอ กับยางลบ ซึ่งมีประโยชน์แตกต่างกันไปคนละทางเลย แต่พอมีคนต้นคิดเอาทั้งสองสิ่งนี้ มาร่วมกันเข้า มันก็กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่นิยมใช้กันทั้งโลก ดังนั้นจงพยายามคิดหาวิธีการที่จะสร้างสรรค์ ให้มีส่วนผสมที่ดีเกิดขึ้น ระหว่างแนวควมคิดต่างๆที่คุณได้เลือกไว้แล้ว เพราะมันจะทำให้คุณได้สิ่งหนึ่งอันสำคัญ คือ หนทางแห่งความเป็นไปได้ ที่จะนำมาแก้ปัญหา โดยไม่ต้องกังวลกับข้อบกพร่องของข้อใดข้อหนึ่งที่มีอยู่

บันไดขั้นที่ 5 - วิเคราะห์แนวความคิดที่ใช้ไม่ได้


น้อยนักที่เมื่อคุณผ่านบันไดทั้ง 4 ขั้นแล้ว คุณจะไม่ได้แนวความคิด หรือ หนทางในการแก้ปัญหาเลย แต่ในบางครั้ง ที่คุณยังไม่ได้คำตอบที่ต้องการ บันไดขั้นที่ 5 ก็จะช่วยคุณได้

เมื่อคุณทำตามคำแนะนำในบันไดขั้นที่ 2 ที่ให้เขียนแนวความคิดที่ใช้ไม่ได้ประกอบเหตุผลขึ้น แนวความคิดเหล่านี้ สามารถจะพิสูจน์ให้คุณเห็นในคุณค่า ขณะที่คุณวิเคราะห์การที่จะนำมันมาประสมกับความคิดอื่นอยู่ จงเลือกข้อที่ดีที่สุดออกมา และกระทำเช่นเดียวกับในบันไดขั้นที่ 4 คือ พยายามเอามันไปประสมเข้ากับแนวความคิดอื่น และคุณจะได้พบว่า แนวความคิดที่ใช้ไม่ได้ 2 ข้อนั้น เมื่อนำมารวมกันเข้าแล้ว ก็จะเป็นแนวความคิดที่ดีได้

คุณคงจำเรื่องของ จูดี้ ไอ ที่สร้างงานอาชีพของตน ขึ้นจากแนวความคิดที่ใช้ไม่ได้นี้ เหตุผลก็คือ เธอขาดประสบการณ์ และขาดเงินที่จะมาทำธุรกิจนั้น แต่อีกข้อหนึ่งที่เธอปฏิเสธเช่นกัน ก็คือ กาเป็นพนักงานขายแบบกินค่านายหน้า "ฉันรู้ว่า มันเป็นการง่ายที่จะหางานขายแบบนั้น เมื่อคุณไม่มีเครดิตจะไปเสนอให้กับนายจ้าง" จูดี้เล่า "เพราะคุณจะได้รับเงินค่านายหน้า ตามสัดส่วนของงานที่คุณได้ทำ ฉันก็เลยเอาความคิดนี้ ไปประสมเข้ากับเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งก็ได้ผลอย่างมหัศจรรย์จริงๆ" นั่นคือสิ่งที่จูดี้ได้กระทำลงไป และเธอก็ประสพความสำเร็จอย่างแท้จริง

จะทำอย่างไร จึงจะทำให้ความคิดเกิดขึ้นโดยฉับพลัน


"มิวิธีใดบ้างไหม ที่จะบังคับให้แนวความคิด เกิดขึ้นโดยฉับพลันทันที? " นั่นคือคำถามที่ผมได้รับอยู่เสมอ จากบุคคลผู้มีความสนใจในการใช้เทคนิคการขุดค้น เพื่อหาแนวความคิด และหนทางในการแก้ปัญหา

การที่คุณจะนั่งลงแล้ว เขียนความคิดต่างๆที่เกิดขึ้นในสมองนั้น นับเป็นสิ่งปรกติที่ทำกันมา แต่ในบางโอกาส จิตใจของคุณ ก็ไม่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ รวมทั้งสามัญสำนึก และจิตใต้สำนึก ก็ส่งข้อมูลออกมาให้อย่างปราศจากการถูกกระตุ้นให้ริเริ่ม...

การกระตุ้นให้ริเริ่ม คือสิ่งที่คุณจะต้องกระทำ เพื่อให้เกิดตัวเร่งขึ้น
บุคคลผู้มีความเชี่ยวชาญ ในเทคนิคการขุดค้น จะนำสูตรหนึ่งเข้ามาใช้เพื่อประกันการไหลอย่างเต็มที่ของแนวความคิด ตามที่ได้เขียนขึ้นเป็นหัวข้อไว้ เขาจะกระตุ้นสมอง จนกว่าความคิดที่เข้าประเด็น จะหลุดออกมา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ เขาจะไม่รอให้ความคิดเกิดขึ้นเอง แต่จะบังคับมันออกมา สูตรที่เขานำมาใช้ และเป็นสูตรง่ายๆ ก็คือ การหาคำมาประกอบ ซึ่งก็เหมือนกับการเล่นเกมนั่นเองสิ่ง ที่คุณจำเป็นจะต้องมี ก็คือ หนังสือทีมีคำมากๆ หลายคนมักจะใช้หนังสือพจนานุกรม ขนาดพกกระเป๋าติดตัวไว้ ทั้งนี้เพื่อจะใช้เลือกคำพิเศษที่ตนต้องการ

พลังของคำที่นำมาใช้ประกอบ


เทคนิคก็มีเพียงง่ายๆ คือ เมื่อ คุณต้องการจะหาแนวความคิด แต่ปรากฏว่า มันเกิดขึ้นช้ามาก คุณก็หาเปิดหนังสือ เพื่อหาคำประกอบ เพื่อให้เข้ากับสิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับคุณอยู่ ปล่อยให้คำเหล่านั้น เสนอแนะแนวความคิดขึ้น

ยกตัวอย่าง เช่น ในพจนานุกรม บรรจุคำไว้หลายพันคำ เมื่อคุณต้องการหาแนวความคิด ถึงวิธีการหาเงิน มาเพิ่มให้กับริษัทที่คุณทำงานอยู่ คุณก็เปิดพจนานุกรมออก แล้วหาคำบางคำที่จะเข้ากับแนวความคิดของคุณ หรือเป็นตัวนำให้กับความนั้น เช่น

คุณต้องการจัดแข่งขันกีฬาขึ้น สมมติว่า คุณเปิดขึ้นที่ตัว c และพบคำว่า COWBOY คุณก็อาจจะนึกเลยไปถึงการแข่งขันขี่ม้า ขว้างบ่วงบาศก์ในสนามโรดิโอ เป็นต้น

คำทุกคำในพจนานุกรม ใช่ว่าจะนำมาใช้ได้ทั้งหมด แต่เมื่อพบคำที่น่าสนใจ จงใช้เวลาสัก 10-15 วินาที คิดถึงความสัมพันธ์ อันอาจเป็นไปได้ระหว่างคำๆนั้น กับปัญหาที่คุณขบคิดอยู่ เพราะในบางครั้ง มันอาจทำให้คุณพบกับแนวความคิดที่มีค่าขึ้นมาได้

ให้โอกาสตัวเองในการเลือก


เมื่อคุณได้เห็นภาพถ่ายสวยๆในปฏิทิน หรือภาพที่มีพลังในหนังสือพิมพ์หน้าแรก คุณคิดว่า เป็นความสามารถของช่างภาพ ที่ถ่ายภาพนั้นมาใช่หรือไม่?

บางทีมันก็อาจจะเป็นไปได้

แต่จงกำหนดไว้ในใจว่า ช่างภาพผู้นั้น เป็นนักขุดค้นคนหนึ่ง เขาอาจจะต้องถ่ายภาพเดียวกันนั้นเป็นโหลๆ หรืออาจจะถึงร้อยรูป เพียงเพื่อให้ได้ภาพที่จะประทับใจที่สุดเพียงภาพเดียว สิ่งที่นำประโยชน์มาสู่ช่างภาพนั้น ควรจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณ ในการแสวงหาแนวความคิดด้วย จงเปิดโอกาสให้ตัวเองได้มีทางเลือก แล้วคุณจะได้ในสิ่งที่ดีกว่าเสมอ

การทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย


แอนดี้ เค. เป็นผู้จัดการฝ่ายธุรกิจ ของบริษัทละครเร่ ที่ใหญ่มากแห่งหนึ่ง ซึ่งมีทั้งศูนย์สาขา และศูนย์การแสดงตามเมืองต่างๆ และยังโรงละคร ที่ยังใช้ทั้งในการแสดงและประโยชน์อื่นๆ เช่น การจัดประชุมได้อีกด้วย

"คุณคงจะมองภาพออกว่า ผมจะต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง " แอนดี้กล่าว "ถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ตำแหน่งสำคัญๆสักคนหนึ่ง เกิดเจ็บไข้ได้ป่วยลง หรืองานของเขาต้องล่าช้าไป ด้วยสภาพของดินฟ้าอากาศ หรือเครื่องมือสักชิ้นส่งมาไม่ทันเวลา เราก็จะต้องประสบกับปัญหาที่ยุ่งยากมาก"

ซึ่งถ้าแอนดี้ มิได้ใช้เทคนิคการขุดค้น และสูตรในการหาทางออก เตรียมไว้ในกรณีที่ปัญหาเกิดขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเพิ่มมากขึ้นกว่านี้

"ผมจะนั่งลง พร้อมด้วยกรรดาษดินสอในมือ และจะเขียนหัวข้ออันเป็นทางออกไว้ประมาณ 15 - 20 หัวข้อ " แอนดี้อธิบา"ซึ่งจกหัวข้อทั้งหมดนี้จะมีอยู่ 1-2 หัวข้อ ที่ใช้การได้ดี และผมก็สามารถทำงานตามกำหนดการที่กะไว้ได้"

"เวลาที่ผมคิดหาทางออก เพื่อเขียนลงในกระดาษ ผมจะไม่ให้ตัวเองบังเกิดความวิตกกังวล กับปัญหาใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นเลย ผมจะเขียนมันลงไว้ ในทันทีที่มันผ่านเข้ามาในสมอง โดยที่จะไม่ยอมให้มีการวิจารณ์ความคิดนั้นผ่านเข้ามาได้ ทันทีที่ผมเขียนทางออกทั้งหมดลงแล้ว ผมก็จะเดินหน้าต่อไป เป้าหมายของผมอยู่ที่ว่า จะต้องเขียนลงไว้ในหน้ากระดาษ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ภายในเวลาที่กำหนดไว้ "

เช่นเดียวกับบุคคลที่ศึกษาเทคนิคในการขุดค้นทั้งหลาย แอนดี้หลีกเลี่ยงการที่จะวิพากวิจารณ์ หรือวิเคราะห์ข้อมูล ในขณะดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าวอยู่ เพราะเขารู้ดีว่า การทำเช่นนั้น จะทำให้ความคิดทั้งหลายทั้งปวงชะงักงันลง

และขณะนี้ คุณก็ได้เทคนิคในการขุดค้น เข้ามาเป็นเครื่องมือ ในการเพิ่มพลังสมองอีกชิ้นหนึ่งแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น