++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ หรือ วัดบุปผาราม

วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่
หรือ วัดบุปผาราม เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ โดยเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามาแต่โบราณ สร้างในสมัย พญากือนา เมื่อปี พ.ศ.1914 โดยได้ทรงถวายอุทยานสวนดอกไม้ส่วนพระองค์ เพื่อสร้างเป็นวัด ถวายแด่ พระสุมนเถระ พระเถระจากเมืองศรีสัชนาลัย ที่พระองค์ได้นิมนต์มาเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเมืองเชียงใหม่ โดยได้พระราชทานนามวัดว่า วัดบุปผาราม
ต่อมาหลังยุคใต้การปกครองของพม่า วัดสวนดอกได้ทรุดโทรมลง จึงมีการบูรณะวัดขึ้นในสมัย พระเจ้ากาวิละ และในสมัยเจ้าแก้วเนารัตน์โดยร่วมกับครูบาศรีวิชัย ทำการบูรณะศาสนสถาน และสร้างพระวิหารโถงหลังใหญ่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2472
ศาสนสถานและปูชนียวัตถุภายในวัดสวนดอก ประกอบด้วย
พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ประธานทรงระฆังผสมล้านนา สร้างขึ้นในสมัย พญากือนา เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระสุมนเถระอัญเชิญมาจากเมืองศรีสัชนาลัย โดยพระเจดีย์ตั้งอยู่บนลานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยม ล้อมรอบด้วยเจดีย์รายทั้งสี่ บัลลังก์ประดับกระจกสี ก้านฉัตรประดับปูนปั้นรูปพระสาวกปางลีลาอยู่โดยรอบ
พระวิหารหลวง เป็นพระวิหารโถงขนาดใหญ่ สร้างขึ้นโดย ครูบาศรีวิชัย และเจ้าแก้วนวรัฐ เมื่อปี พ.ศ.2472 ภายในประดิษฐาน พระเจ้าค่าคิง พระพุทธรูปที่ พระเจ้ากือนา โปรดฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อถวายไว้แทนพระองค์เอง เมื่อครั้งทรงประชวรหนัก ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัย ด้านหลังพระประธานคือพระยืน ที่สร้างขึ้นในสมัยครูบาศรีวิชัย
พระอุโบสถ เดิมเป็นพระอุโบสถวัดเก้าตื้อ ภายหลังได้รวมเป็นวัดสวนดอก ภายในประดิษฐาน พระเจ้าเก้าตื้อ พระพุทธรูปล้านนาที่มีพุทธลักษณะงดงาม สร้างในสมัย พระเมืองแก้ว โดยใช้ทองสัมฤทธิ์ในการหล่อถึงเก้าโกฏิ หรือเก้าตื้อในภาษาเหนือ ซึ่งเป็นที่มาของนามพระพุทธรูป
กู่บรรจุอัฐิครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ผู้ทะนุบำรุงวัดในล้านนา สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานและเพื่อเป็นที่สักการะบูชา ในคราวที่ท่านได้มาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสวนดอก
กู่บรรจุอัฐิเจ้าผู้ครองนคร (ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน) แต่เดิมตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานนวรัฐ (ตลาดวโรรส) ต่อมา ได้ทำการย้ายอัฐิพระประยูรญาติทั้งหลาย ในสมัย พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เมื่อปี พ.ศ.2452 มาไว้ ณ วัดสวนดอก

1 ความคิดเห็น:

  1. ต่อไปไปวัดสวนดอกต้องสนใจดูโดยนำความรู้นี้ประกอบการเรียนรู้

    ตอบลบ