1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน มักมีอาการแทรกซ้อนของโรคไตวายเรื้อรังร่วมด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูง อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยทั่วไปมักจะอยู่ในภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งจะส่งผลเสียต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ดังนี้
ส่งผลต่อหลอดเลือดฝอยที่ไต น้ำตาลที่สะสมในผนังหลอดเลือดมาเป็นระยะเวลานานจนทำให้หลอดเลือดตีบและอุดตัน ส่งผลให้ไตมีประสิทธิภาพในการกรองของเสียออกจากร่างกายลดลง จึงพบการรั่วของโปรตีนที่ปนออกมากับปัสสาวะด้วย
ส่งผลต่อเส้นประสาท เมื่อน้ำตาลในเลือดสูง เส้นประสาทในร่างกายจะถูกทำลาย ส่งผลให้การสั่งงานระหว่างสมองและอวัยวะที่ควบคุมมีประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง โดยเฉพาะ ‘กระเพาะปัสสาวะ’ ดังนั้น เมื่อมีน้ำปัสสาวะเต็มกระเพาะปัสสาวะก็จะไม่รู้สึกปวด ความสามารถในการบีบตัวลดลง เกิดความดันและการคั่งของน้ำปัสสาวะในทางเดินปัสสาวะ จนทำให้ไตถูกทำลายในที่สุด
ส่งผลต่อทางเดินปัสสาวะ การคั่งของปัสสาวะเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะและลุกลามขึ้นมาตามทางเดินปัสสาวะ จนทำลายเนื้อไต
@ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม...เลี่ยงโรคไต
1 งดสูบบุหรี่
เนื่องจากการสูบบุหรี่จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง
2 คุมระดับน้ำตาลในเลือด
เป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด แต่ควรปฏิบัติให้อยู่ในเกณฑ์คำแนะนำของแพทย์ ได้แก่ การควบคุมอาหารประกอบกับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ในกรณีที่แพทย์แนะนำให้ใช้ยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทั้งชนิดกินและยาฉีดอินซูลิน ผู้ป่วยจะต้องตรวจวัดระดับน้ำตาลอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
3 คุมความดันเลือด
เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยต้องเอาใจใส่ เพราะหากละเลยอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่ส่งผลกระทบต่อหัวใจ สมอง และไตได้
4 คุมอาหารประเภทโปรตีน
จากผลวิจัยพบว่า การควบคุมอาหารประเภทโปรตีนอย่างเหมาะสมสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีโรคไตร่วมด้วยจึงควรปรึกษาแพทย์
5 คุมไขมันในเลือด
ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่จะมีไขมันในเลือดสูง ซึ่งจะมีผลทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจและสมองตีบตัน จึงจำเป็นที่จะต้องควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ และในปัจจุบันเริ่มมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าไขมันที่สูงในเลือด ก็อาจส่งผลทำให้การทำงานของไตลดลง
6 สังเกตอาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ
โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักมีความผิดปกติของเส้นประสาท ทำให้กระเพาะปัสสาวะมีการทำงานผิดปกติและส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตได้ ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าสังเกตความผิดปกติ เมื่อมีอาการปัสสาวะไม่สุด ต้องเบ่ง มีการคั่งค้าง หรือมีภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ควรปรึกษาแพทย์ทันที
7 ควบคุมการใช้ยาที่มีผลต่อไต
ผู้ป่วยที่มีโรคไตร่วมด้วยต้องระวังการใช้ยาแก้ปวด โดยเฉพาะในกลุ่ม NSAIDs (non-steroidal anti-inflammatory drugs) ทุกชนิด ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา
ที่มา รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์
http://www.siphhospital.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น