++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

" หลักรัก " โดย พระชยสาโร

" หลักรัก "
โดย พระชยสาโร

"ขอให้เราเรียนรู้เรื่องความรัก
รักอย่างไรเศร้าหมอง
รักอย่างไรผ่องใส
รักอย่างไรทำให้อ่อนแอ
รักอย่างไรทำให้เข้มแข็ง
รักอย่างไรทำให้มีความสุขชั่วแวบเท่านั้น
รักอย่างไรทำให้มีความสุขระยะยาว และสามารถให้ความสุขแก่คนอื่น
ทำอย่างไร เราจะได้พัฒนาขัดเกลาความสุข ความรักของเราให้มีลักษณะเมตตามากขึ้นๆทุกวัน"

ในประโยคว่า "ฉันรักเธอ"
คำว่า "ฉัน" หมายถึง อะไร ?
ตัวฉันแท้ ๆ อยู่ตรงไหน
ตัวฉันวันนี้กับตัวฉันเมื่อวานนี้ คนเดียวกันหรือไม่?
ตัวฉัน 1 ปีที่แล้ว 5 ปีที่แล้ว 10 ปีที่แล้ว 20 ปีที่แล้ว คนเดียวกันหรือไม่ ?

คนเดียวกันก็ไม่ใช่ทีเดียวใช่ไหม
คนละคน ก็ไม่ใช่อีก
นี่คือ ความแปลกประหลาดของสิ่งที่ดูชัดเจนที่สุดในชีวิต

พระพุทธองค์ตรัสว่า ตัวฉันที่เที่ยงแท้ถาวรไม่มี !!
สิ่งที่มีอยู่และเรารู้ได้ คือ ความยึดมั่นถือมั่น ในร่างกาย
และความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ว่าเป็นตัวฉัน

ซึ่งเกิดขึ้นและดับไปตลอดเวลา
เปรียบเทียบเหมือน.. คนบ้า เชื่อว่าเป็นทาส
ดิ้นรนทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อเจ้าของจะได้สบาย ได้รวย ได้เจริญ
ทั้ง ๆ ที่ เจ้าของไม่มีตัวจริง

ความยึดมั่นถือมั่นในกายและใจ
หรือ รูปและนามว่าเป็นตัวเรา เราอยากได้สิ่งต่าง ๆ เพื่ออะไร?
ก็เพื่อปกป้อง และบำรุงตัวฉันนั่นเอง

แต่เนื่องจากว่า ตัวฉัน เป็นชื่อของกระแสธรรมชาติที่ไม่เที่ยง
ไม่คงที่ มันทำให้รู้สึกพร่องอยู่เป็นนิจ ?

เรื่องอนัตตาฟังยาก
เพราะมันฝืนสามัญสำนึก
แต่ผู้ใดต้องการปล่อยวางความทุกข์
จำเป็นต้องเข้าใจในเรื่องนี้

เพราะความรู้สึก ว่าพร่อง ว่าขาด ว่าไม่สมบูรณ์ ว่าอ้างว้าง
เป็นฉากชีวิตปุถุชน
และเป็นเหตุให้อยากได้ความรักเหลือเกิน
และทำให้ความรักที่ได้เศร้าหมองง่าย
เพราะหลงว่ามีตัวเจ้าของชีวิตที่ขาด หรือกลัว หรือแปลกแยก
จึงดิ้นรนเพื่อความรัก โดยรู้สึกว่าฉันมีปัญหา
แท้ที่จริงแล้ว "ฉันคือ ปัญหา"

ถ้าเรารู้สึกว่าเราขาดอะไรสักอย่าง
แล้วก็หวัง ว่ามีคนใดคนหนึ่งที่สามารถเสริมส่วนที่ขาดไปนั้น
เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์กับคนอื่นมีเงื่อนไข

แล้วแปรไปในทางที่ต้องการอะไรสักอย่างจากเขา
เมื่อเราต้องการอะไรสักอย่างจากคนอื่น
และเชื่อว่าถ้าไม่ได้สิ่งนั้น ชีวิตเราจะแย่
ก็ต้องเครียดว่าจะไม่ได้
หรือถ้าได้ ความหึงหวงเพราะกลัวพลัดพราก ก็จะต้องรุนแรง
ถ้าเราฝากความหวังในความสุข
ในความมั่นคงของชีวิตไว้กับคนใดคนหนึ่ง
เราก้อต้องทุกข์กับความไม่แน่นอนของคนนั้น
และความพลัดพรากที่ รอคอยอยู่ข้างหน้า

ใครไม่รู้จักตัวเองและไม่ยอมรับความจริงของธรรมชาติ
คงต้องทุกข์มาก
การรักมากเกินไป
ต้องการสิ่งที่คนอื่นให้เราไม่ได้ คือ ความทุกข์ !!

สรุปได้ว่า คนเราจะอยู่ในโลกนี้อย่างผู้มีปัญญา
ต้องเรียนรู้ธรรมชาติของความรัก
พิจารณาเห็นโทษของมัน ไม่มองแต่ในแง่ดีไปหมด

ควรละตัณหา ซึ่งเป็นเหตุของทุกข์
และโทษที่มาพร้อมกับความรักสามัญ

ควรตั้งเป้าหมายว่า ต้องการเป็นผู้ไม่มีทุกข์
ไม่สร้างทุกข์ เพราะความรัก
ควรชำระความรักให้มีคุณสมบัติของเมตตาให้มากขึ้น

การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง จึงเป็นทางเผชิญหน้ากับความจริง
เห็นความจริงแล้ว ตัณหาก็ลดลงหรือดับไป

ความรักที่มีอวิชชาและตัณหาเป็นเชื้อเพลิงย่อมพลอยดับไป
ส่วนความรักที่ตั้งไว้บนฐานแห่งความรู้ความเข้าใจ
และความอยากฝ่ายดี "ย่อมทนต่อการพิสูจน์"

ในกรณีของความรัก
คุณธรรมที่เด่นที่สุดในการเอาชนะตัณหา
คือ เมตตา และความพยายามเป็นเพื่อนที่ดี (กัลยาณมิตร)

เอกลักษณ์ของความรักที่บริสุทธิ์ คือ
- ไม่มีเงื่อนไข
- ไม่มีขอบเขต เป็นความหวังดีต่อสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
- ไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
- มีปัญญาและอุเบกขา คอยกำกับ

เมตตา คือความรักที่บริสุทธิ์
เพราะปลอดจากอัตตา
ผู้มีเมตตาไม่ต้องการอะไร นอกจากความสุขของชีวิตอื่น

เมตตา คือ ความรักที่ล้นออกมาจากจิตที่เต็มเปี่ยม
ไม่ใช่ความฟุ้งซ่านของจิตที่ขาดที่พึ่ง

เมตตา ไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ เลย
แม้แต่ความรักหรือ ความเข้าใจ..

ความรัก ที่เกิดจากอวิชชา และประกอบด้วยกิเลส
มักนำไปสู่ชีวิต หวาน เปรี้ยว มีความทุกข์
และความสุขคละกันอยู่ตลอด

ส่วนเมตตา เกิดจากการปล่อยวางความเป็นห่วงตัวฉัน
และการเพียรละกิเลส

เพราะฉะนั้น เมตตาจึงเป็นส่วนหนึ่งของมรรค
และเป็นคุณธรรมประจำจิตของพระอริยะเจ้า
ในชีวิตประจำวันเราจึงควรรับรู้ แล้วละทิ้งความหึงหวง
ความอิจฉาพยาบาท และกิเลสอื่น ๆ ที่ทำให้ความรักเป็นภาระหนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น