++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552

รศ.ดร. นฤมล แสงประดับและคณะทำงาน - ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชูหิ่งห้อยในพื้นที่ม.เป็นแหล่งท่องเที่ยว

ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เตรียมผลักดันหลายพื้นที่ในรั้วมข.ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชมหิ่งห้อยยามค่ำ
คืน หลังนักวิจัยพบช่วงปลายฤดูร้อนถึงต้นฤดูฝนมีหิ่งห้อยนับหมื่นตัวบินจับคู่
ผสมพันธุ์ ในช่วงพลบค่ำ


ผศ.ดร. วินัย ใจขาน รองอธิการบดีฝ่ายสังคมและชุมชนสัมพันธ์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โดยภาควิชาชีววิทยา ร่วมกับศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์
เตรียมผลักดันให้หลายพื้นที่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัย อาทิ
บริเวณพื้นที่โดยรอบสะพานขาวทั้งสองฝัง (ใกล้สระพลาสติก
และหลังคณะศิลปกรรมศาสตร์)พื้นที่ป่าติดคณะนิติศาสตร์ตรงข้ามโรงเรียนสาธิต
ศึกษาศาสตร์ บริเวณป่าหน้าศูนย์สุขภาพนักศึกษาติดคณะมนุษย์ศาสตร์ฯ
เป็นพื้นที่แหล่งอนุรักษ์และจุดท่องเที่ยวชมหิ่งห้อย

ทั้งนี้ จากการศึกษาของ รศ.ดร. นฤมล แสงประดับ
นักวิจัยทางด้านชีววิทยาและนิเวศวิทยาของแมลง และ อ. วุฒิพงศ์ มหาคำ
จากภาควิชาชีววิทยา และศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์
พบว่าพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นพื้นที่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับการ
ดำรงชีวิตของหิ่งห้อย
และในช่วงปลายฤดูร้อนถึงต้นฤดูฝนนี้จะมีหิ่งห้อยระยะตัวเต็มวัยเป็นจำนวนมาก
นับหมื่นตัวบินออกมาจับคู่ผสมพันธุ์ ในช่วงระยะเวลาพลบค่ำ (โพล้เพล้)

โดยจะมีมากที่สุดในช่วงเวลาประมาณ 19.00-20.00
น.ซึ่งจำนวนหิ่งห้อยที่จะพบขึ้นกับสภาพอากาศในแต่ละวันด้วยเช่นกัน
หากวันไหนมีอากาศร้อนจะมีหิ่งห้อยออกมาเป็นจำนวนมาก
โดยจะมีหิ่งห้อยปรากฏเช่นนี้ในทุกๆ ปี
หากพื้นที่ป่าในมหาวิทยาลัยยังคงมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ ดังนั้น
หิ่งห้อยสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่าง
ดี

จากจุดนี้นี่เองที่ชี้ให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์
นอกจากนี้หิ่งห้อยยังสามารถนำมาใช้เป็นแมลงต้นแบบที่สามารถเรืองแสงได้เพื่อ
ศึกษาวิจัยในระดับเชิงลึกได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะการพัฒนาเชิงชีววิศวกรรม
เพื่อพัฒนาระบบการสร้างแสงเย็นเลียนแบบธรรมชาติ

จากการสำรวจหิ่งห้อยภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นพบว่า
หิ่งห้อยมีวงจรชีวิตประมาณ 6 เดือน - 1 ปี โดยเริ่มจากระยะไข่
พัฒนาเป็นตัวอ่อน ดักแด้ และตัวเต็มวัยในที่สุด
โดยช่วงที่มีการลอกคราบเป็นระยะตัวเต็มวัยคือช่วงหน้าร้อน
ประมาณปลายเดือนพฤษภาคม ถึง ช่วงเดือนมิถุนายน

ทั้งนี้ หิ่งห้อยระยะตัวเต็มวัยที่พบภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนี้มีจำนวนมากเป็น
พิเศษ นับหมื่นตัว โดยจะมีช่วงชีวิตในระยะตัวเต็มวัยนี้ประมาณ 1 เดือน
ทั้งนี้ หิ่งห้อยเป็นแมลงในกลุ่มเดียวกับด้วงปีกแข็ง
ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงไม่กี่ชนิดในโลกที่สามารถเรืองแสงได้ตามธรรมชาติ
จากกระบวนการเรืองแสงทางชีวภาพที่เรียกว่า bioluminescence

แสงที่หิ่งห้อยสร้างนี้เป็นแสงเย็นหรือ cold light
ซึ่งมีลักษณะแสงสีเขียวอมเหลือง
ไม่เหมือนกับแสงความร้อนจากหลอดไฟฟ้าที่เป็นแสงร้อน
แสงดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ การหาอาหาร และการปกป้องตัวเอง
หิ่งห้อยมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศหลายประการ

ผศ.ดร. วินัย กล่าวในตอนท้ายว่า มหาวิทยาลัยพร้อมขานรับให้ มข.
เป็นแหล่งอนุรักษ์และเที่ยวชมหิ่งห้อยในทุกๆ
ปีจะมีหิ่งห้อยจำนวนมากเช่นนี้
เนื่องจากหิ่งห้อยเป็นแมลงที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน
ทั้งด้านตำนานหรือนิยายเล่าขาน และในแง่ความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้หิ่งห้อยยังสร้างความสุนทรีให้กับผู้คนที่พบเห็น

โดยเฉพาะการพบหิ่งห้อยเป็นจำนวนมากนั้นเชื่อว่าน่าจะดึงดูดใจและ
สร้างความสุนทรีให้กับผู้พบเห็นเป็นอย่างดี
และมีพื้นที่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศที่จะสามารถพบหิ่งห้อยได้เป็นจำนวนมาก
เชื่อว่าหากผลักดันให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแหล่งอนุรักษ์สภาพธรรมชาติและ
จุดเที่ยวชมหิ่งห้อยจะเป็นการช่วยสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เป็น
เอกลักษณ์ให้กับมหาวิทยาลัย
และยังกระตุ้นให้ทั้งนักศึกษาผู้คนภายนอกที่สนใจเข้ามาชมความงดงามของ
หิ่งห้อยในรั้วสีเขียวของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ต่อไปในอนาคต


http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000068758
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 มิถุนายน 2552 11:37 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น