++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552

โครงการคืนชีวิตเต่าและตะพาบน้ำสู่ธรรมชาติ - ปล่อยเต่าไม่รู้ที่ -บาปแบบไม่รู้ตัว

ปล่อยเต่าไม่รู้ที่ -บาปแบบไม่รู้ตัว'ชมรมรักษ์เต่าแนะคืนชีวิตที่เหมาะสม

นับตั้งแต่เด็ก จวบจนเติบโตมา การทำบุญสะเดาะเคราะห์อย่าง การปล่อยเต่า
ทางด้านความเชื่อนั่นหลายคนเข้าใจเสมอมาว่า "หากปล่อยเต่าแล้วจะได้บุญ"
แต่ทว่าทางด้านความจริงที่เป็นเรื่องของชีวิต
วัภจักรสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตฉันคงต้องเปลี่ยนความคิดไปเป็นหลังมือ
เพราะปัจจุบันเต่าและตะพาบน้ำส่วนใหญ่ที่ถูกปล่อยตามแหล่งน้ำพบว่าบางแห่ง
เป็นแหล่งน้ำที่ไม่เหมาะสม อาทิ

การปล่อย เต่าบกลงบ่อน้ำที่ไม่มีพื้นที่ให้เต่าขึ้นมาพัก
ทำให้เต่าจมน้ำตายในที่สุด แหล่งน้ำเน่าเสียและมีสภาพเป็นกรด
ทำให้เต่าติดเชื้อโรค ตาบอด ถูกน้ำกัดและเป็นแผล
การปล่อยเต่าในแหล่งน้ำขนาดเล็กและคับแคบ ทำให้เต่าอยู่กันอย่างแออัด
เป็นต้น ทั้งหมดนี้ทำให้เต่าต้องทนทุกข์ทรมาน บาดเจ็บ
และจบชีวิตลงอย่างเวทนา
การปล่อยเต่าเพื่อหวังได้บุญใหญ่กลับอาจต้องพบกับบาปมหันต์แทน

และก็เป็นที่น่าดีใจ
ที่ทุกวันนี้เกิดกลุ่มคนที่มีแนวคิดด้านดังกล่าวแล้วจัดทำขึ้นมาเป็นรูปธรรม
กับ โครงการคืนชีวิตเต่าและตะพาบน้ำสู่ธรรมชาติ ภายใต้การดำเนินการของ
"ชมรมรักษ์เต่า" โดย ขจร เจียรวนนท์ ประธานชมรมฯ และ รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา
ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานร่วมฯ ซึ่งจัดให้มีขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ 2546
เพื่อช่วยชีวิตเต่าและตะพาบน้ำที่บาดเจ็บ
ทุกข์ทรมานจากการอาศัยอยู่ในแหล่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติของพวกมัน
โดยจับขึ้นมาทำการอนุบาล และรักษาอาการบาดเจ็บให้หาย
ก่อนจะนำไปปล่อยยังแหล่งที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ที่เหมาะสมต่อไป
ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้สามารถอนุรักษ์ชีวิตเต่าและตะพาบน้ำให้อยู่คู่กับ
สังคมไทยต่อไป

ขจร เจียรวนนท์
ผู้ก่อตั้งโครงการคืนชีวิตเต่าและตะพาบน้ำสู่ธรรมชาติ
กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการทำโครงการนี้ว่า ตอนเด็กๆ คุณแม่พาเข้าวัดบ่อย
เห็นเต่าที่ถูกนำมาปล่อย มีสภาพความเป็นอยู่แออัด
จึงเกิดความสงสารแต่ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะไม่รู้วิธีการรักษา
จนกระทั่งในปี 2545 ได้มารู้จักกับคุณหมอนันทริกา ซึ่งเป็นสัตวแพทย์
จึงได้ปรึกษากันเพื่อหาทางช่วยเหลือเต่า จึงได้เกิดโครงการดังกล่าวขึ้นมา

"เรา เริ่มทำกิจกรรมครั้งแรกของโครงการในปี 2546
ตอนนั้นร่วมมือกับทางเขต ทาง กทม. คือเขามาวิดน้ำที่ วัดบวรฯ พอดี
เราจึงขอเอาทีมไปลงจับเต่าขึ้นมา จึงเริ่มจากจุดนั้น
จากนั้นก็มีการประชาสัมพันธ์ข่าวทางสื่อต่างๆ
คนก็เริ่มส่งจดหมายมาให้เราช่วยไปจับที่นั่นที่นี่
ให้ไปช่วยเต่าถูกรถชนบ้าง พอมาเยอะเราก็แย่แล้ว โชคดีที่ทาง ม.เกษตร,
สยามโอเชี่ยนเวิลด์ ที่สยามพารากอน เขามีแพทย์กับอาสาสมัคร
ขอมาช่วยเราอีกแรง และปีหลังๆ
ก็มีอาสาสมัครจากสถาบันการศึกษามาช่วยกันเยอะ แม้กระทั่ง พี่เบิร์ด ธงไชย
กับเพื่อน ก็เคยส่งเงินมาช่วยโครงการเราเป็นแสนเลยนะ ทั้งๆ
ที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน แล้วมีหลายรายก็ทำแบบนี้ ทำให้เราภูมิใจมาก

" ในการไปทำกิจกรรมแต่ละครั้งเราไม่ได้กำหนดว่าต้องไปปีละกี่ครั้งหรือช่วงไหน
แต่อยู่ที่ว่าจะรวมพลได้เมื่อไหร่ อย่างปีที่ผ่านมาอย่างเก่งก็ทำได้ 2-3
ครั้ง คนที่เหนื่อยสุดก็คือคุณหมอ เพราะเต่าบางตัวหายเร็ว
แต่บางตัวที่กระดองหัก ปอดยุบ เพราะโดนรถชนนี่ต้องรักษาเป็นปี
ค่าใช้จ่ายก็สูงมาก บางทีคำนวนมาแล้วอยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท
ต่อตัวเลยทีเดียว แต่ก็น่าดีใจว่าเต่าที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งหมด
ส่วนใหญ่ 90% จะรอดชีวิต
เพราะเมื่อให้การรักษาแล้วก็จะรอดูจนแน่ใจว่าเขาปลอดภัยแล้วจึงนำไปปล่อยสู่
แหล่งธรรมชาติ หลังจากทำการปล่อยเต่าลงแหล่งน้ำใหม่แล้ว
เรามีการติดตามผลด้วยว่าเขาเป็นอย่างไร" ผู้ก่อตั้งโครงการฯ กล่าว

สำหรับปีนี้ ชมรมรักษ์เต่า
ก็มีการจัดโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับ "helplink.net
สื่อกลางแห่งความช่วยเหลือ"
เว็บไซต์ซึ่งมีแนวคิดที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่ง
การช่วยเหลือ จัดกิจกรรมขึ้นที่วัดโพสพผลเจริญ จ.ปทุมธานี
เพื่อจับเต่าที่มีผู้นำมาปล่อยไว้ในบ่อน้ำบริเวณวัดเป็นจำนวนมากจนทำให้เต่า
ต้องอยู่กันอย่างแออัด
นำมาตรวจร่างกายและให้การช่วยเหลือรักษาหากพบอาการบาดเจ็บ
ก่อนที่จะนำไปปล่อยสู่ธรรมชาติในแหล่งน้ำที่เหมาะสม เมื่อวันเสาร์ที่ 13
มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา ณ โครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี โดยมี ผู้บริหารจากทรูฯ, สมาชิกชมรมรักษ์เต่า,
สมาชิก helplink.net, สัตวแพทย์และอาสาสมัครจากสถาบันการศึกษาต่างๆ อาทิ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
ฯลฯ เข้าร่วมกิจกรรมด้วยเป็นจำนวนมาก

ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมปล่อยเต่าลงสู่บ้านใหม่ในแหล่งน้ำธรรมชาติที่
ห้วยองคต ก็ได้มีการเปิดวิดีทัศน์เกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการและกิจกรรมการจับเต่า
ที่วัดโพสพฯ ให้ผู้มาร่วมกิจกรรมได้ทราบรายละเอียดกันก่อน
พอได้เวลาก็เคลื่อนขบวนกันไปที่ข้างสระน้ำซึ่งเป็นจุดที่จะปล่อยเต่า
บริเวณนี้บรรดาสัตวแพทย์และอาสาสมัครทั้งหลายได้สาธิตการถ่ายพยาธิ
โดยใช้ไม้แหย่ให้เต่าอ้าปาก เพื่อจะได้ป้อนยาเม็ดลงไป
เพราะการที่เต่ามีพยาธิในตัวเยอะจะมีผลให้ไปแย่งอาหารในร่างกาย
ทำให้เต่าผอม จากนั้นผู้ใจบุญทั้งหลายก็พากันไปจับเต่าขนาดต่างๆ
ทั้งเล็กและใหญ่กว่าสองร้อยตัวที่นอนเรียงรายอยู่ในพื้นที่ซึ่งกั้นรั้วไว้
เพื่อนำไปปล่อยที่ริมสระน้ำขนาดใหญ่ บ้านใหม่อันแสนสุขของเต่าทั้งหลาย
และที่ไม่ควรลืมคือ ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจับเต่า
เพื่อความปลอดภัยและป้องกันเชื้อโรคที่อาจติดมาจากเต่า

รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา
หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการช่วยชีวิตเต่าที่ได้รับบาดเจ็บ
ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมในการอนุบาล และดูแลรักษาเต่าในเบื้องต้น
กล่าวถึงเต่าที่นำมาปล่อย ณ ห้วยองคตครั้งนี้ว่า มีจำนวน 203 ตัว
ส่วนใหญ่จับมาจากวัดโพสพเจริญผล
รวมกับเต่าบาดเจ็บที่คุณหมอนำไปรักษาอยู่ที่บ้านจนอาการดีขึ้น
อาการเจ็บป่วยของเต่าที่พบ มีหลายอย่าง เช่น ขาดอาหาร บาดเจ็บทางกายภาพ
ถูกรถทับ ติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อต่างๆ
แต่เจอพยาธิกับปลิงในเต่ามากที่สุด
คุณหมอคาดว่าน่าจะมีเต่าที่มีปัญหาอยู่นับเป็นหมื่นตัว ถึงแม้จะมีกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า อยู่แล้วแต่ก็ไม่สามารถช่วยได้อะไรได้เยอะ
ต้องขอบคุณสื่อมวลชนที่ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการฯ
ทำให้คนทั่วไปเข้าใจจุดประสงค์ของชมรมรักษ์เต่า จึงทำงานได้ง่ายขึ้น

"ใน วันที่เราจับเต่าที่วัดโพสพฯ นั้นมีจำนวน 395 ตัว
ทางสัตวแพทย์และอาสาสมัครทั้งหลายได้แบ่งกลุ่มทำหน้าที่ต่างๆ
ในการช่วยเหลือเต่า ขั้นแรกคือ
นำเต่าที่จับได้มาล้างทำความสะอาดแช่น้ำเกลือ กำจัดปรสิตภายนอก
จากนั้นวัดขนาด-ชั่งน้ำหนัก เพื่อบันทึกข้อมูล แยกเพศ และพันธุ์
ขั้นต่อไปคือ ถ่ายพยาธิ ป้อนวิตามิน ตรวจร่างกายเบื้องต้น
จากขั้นตอนเหล่านี้ทำให้เราสามารถแยกเต่าได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มแรกเต่าที่มีสุขภาพแข็งแรง พร้อมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

เราก็นำไปปล่อยที่อุทยานพระพุทธฉาย จ.สระบุรี ในวันนั้นเลย
ส่วนเต่ากลุ่มสองที่มีอาการป่วย ก็ให้การรักษาเบื้องต้นก่อน เช่น ฉีดยา
ทำแผล ให้น้ำเกลือ จากนั้นนำกลับไปที่ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ
คณะสัตวแพทย์ฯ จุฬาฯ เพื่อทำการรักษาต่อเนื่องก่อนนำมาปล่อยในวันนี้
สำหรับเต่ากลุ่มที่สามถูกนำไปที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด
จ.กาญจนบุรี และพักฟื้นเพื่อรอการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติที่โครงการพระราชดำริห้วยองคต
ในวันนี้ช่นกัน ส่วนแหล่งน้ำแห่งใหม่ที่เราจัดหาไว้เป็นที่อยู่ของเต่านั้น
เราพยายามหาแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ อาหารการกินอุดมสมบูรณ์
และเราจะเลือกเฉพาะเต่าที่พบได้ในเขตนั้นไปปล่อย
จะไม่เอาเต่าต่างถิ่นไปปล่อย"

คุณหมอหนิ่ง-นันทริกา กล่าวเสริมอีกว่า ปัจจุบัน ชมรมรักษ์เต่า
มีค่าใช้จ่ายสูงในการซื้ออุปกรณ์ช่วยเหลือเต่า และยารักษาเต่าที่บาดเจ็บ
ตลอดจนต้องการบุคลากรทางการแพทย์มาช่วยเหลือโครงการฯ
เพราะยังมีเต่าจำนวนมากที่กำลังประสบกับปัญหาเจ็บป่วย เป็นโรค
จากการอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ไม่เหมาะสม หากใครต้องการร่วมบริจาคเงิน
อุปกรณ์ต่างๆ หรือเข้าร่วมโครงการฯ ก็ยินดีต้อนรับเสมอ
"เรา ไม่คาดหวังว่าจะช่วยเต่าได้เท่าไหร่ในแต่ละปี แต่จะค่อยๆ
ทำงานไป สิ่งที่เราตั้งเป้าไว้คือ ต้องการอาสาสมัครเพิ่ม
อยากทำให้เป็นเครือข่ายมากกว่า เราไปเทรนให้ได้
เพื่อที่อาสาสมัครจะได้ดูแลรับผิดชอบเต่าที่มีปัญหาในจังหวัดของตนเองได้
เต่าก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ เป็นสัตว์กินพืช

เต่าบางชนิดกินเนื้อสัตว์ มูลของเต่าก็เป็นปุ๋ย
จึงเหมือนกับเป็นห่วงโซ่อาหาร หมอขอฝากไปถึงคนที่อยากทำบุญปล่อยเต่าว่า
หากอยากได้บุญจริงๆ
ควรดูว่าสถานที่ซึ่งนำเต่าไปปล่อยนั้นมีมลภาวะเป็นพิษหรือไม่
เขาอยู่ได้มั้ย จะกินอะไรเป็นอาหารได้บ้าง
อยากให้ศึกษาข้อมูลหรือสอบถามผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญก่อนนำมาปล่อย
เขาจะได้ไม่เป็นอันตราย
ส่วนพ่อค้าแม่ค้าที่ขายเต่าก็ขอให้ช่วยดูแลเต่านิดนึง
อย่าให้อยู่อย่างแออัด หรือขาดอาหาร
อยากให้เห็นใจสัตว์เหล่านี้บ้างเพราะคุณก็เหมือนกับทำบุญร่วมกับเขา
ใครที่จะซื้อผักไปให้เต่ากินก็ควรล้างผักหน่อยไม่ให้มียาฆ่าแมลง
ขนมปังก็ไม่เหมาะให้เต่ากินเพราะเป็นแป้ง
ถ้าใส่ใจดูแลกันอย่างนี้ก็จะมีความสุขและได้บุญกันทุกฝ่าย" คุณหมอ
ผู้ต่อชีวิตให้เต่าและตะพาบน้ำ กล่าว

ดวงพร สุจริตานุวัต หนึ่งในผู้ที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้
พร้อมกับครอบครัว กล่าวว่า
สนใจมาร่วมกิจกรรมนี้เพราะเมื่อก่อนก็เคยปล่อยเต่า
โดยที่ไม่รู้ข้อมูลที่ถูกต้องเลย แทนที่จะทำบุญจึงกลายเป็นทำบาปแทน
การมาร่วมโครงการฯ
จึงเหมือนมาศึกษาหาความรู้เพื่อที่จะไปบอกต่อให้คนอื่นๆ ทราบด้วย

"จาก ที่ได้ฟังคุณขจรเล่า และเห็นภาพที่นำมาให้ดู
เราเลยรู้ว่าบางทีวัดที่เรานำเต่าไปปล่อยนั้น
กลายเป็นสุสานเต่าเพราะจมน้ำตายเยอะ ต่อไปเราก็จะไม่ทำแบบนั้นแล้ว
ถ้าจะไปปล่อยก็ต้องหาที่เหมาะสมสำหรับเขาเป็นการทำบุญ ไม่ใช่ทำบาป
วันนี้ชวนลูกกับหลานมาด้วย เพราะเขาชอบทำบุญ จะได้รู้และทำอย่างถูกวิธี
เขามีความสุขมากนะที่มาทำกิจกรรมนี้
และเราคงนำความรู้ที่ได้ไปบอกกับคนอื่นต่อแน่นอน อย่างน้อยๆ เรามากัน 4
คน ก็ต้องมีการเผยแพร่ไปอีกทวีคูณ
ถ้าโอกาสหน้ามีกิจกรรมแบบนี้อีกก็จะมาร่วมด้วยความยินดี
และอาจจะชวนคนมามากกว่านี้เพราะเป็นการปล่อยชีวิตเต่าจากสถานที่
ที่อาจทำร้ายเขาโดยไม่ตั้งใจ ให้มาอยู่ในที่มีความสุขมากขึ้น
เราก็มีความสุขที่ได้ทำ" ดวงพร กล่าว

ส่วนวิล-ชวิณ เจียรวนนท์ ลูกชายวัย 18 ปี ของ ขจร เจียรวนนท์
ประธานชมรมรักษ์เต่า ซึ่งศึกษาอยู่ชั้นเกรด 11 ที่ Blair Academy
ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงนี้ปิดเทอมจึงกลับมาเมืองไทย
และมีโอกาสมาร่วมกิจกรรมตั้งแต่วันไปจับเต่าที่วัดโพสพฯ
ส่วนในครั้งนี้ก็มาทำบุญคืนชีวิตเต่ากันพร้อมหน้าทั้ง คุณพ่อ คุณแม่
และน้องสาว เลยทีเดียว

"ผม ก็เป็นคนรักเต่าคนหนึ่ง
ที่บ้านก็เลี้ยงเต่าเลี้ยงปลาเรียกว่าโตมากับสัตว์เลี้ยงเลย
พอเห็นเต่าต้องอยู่ในที่แออัดมากๆ น้ำเน่าบ้าง กระดองแตกบ้าง
ก็สงสารที่ไม่มีใครดูแล บางทีอยากเก็บไปให้หมดเลย
อยากช่วยให้เขาได้อยู่ในที่ที่เหมาะสม
วันที่ไปจับเต่าผมก็ไปช่วยจับในแหล่งน้ำ นำมาล้างทำความสะอาด ชั่งน้ำหนัก
จดข้อมูล ผมประทับใจมากที่เห็นทุกคนร่วมมือกันทำงานเพื่อช่วยชีวิตเต่า
อยากชวนให้เพื่อนๆ ที่สนใจมาร่วมโครงการช่วยเหลือเต่ากัน
ช่วงที่ผมเรียนอยู่อเมริกา ก็พยายามหาทุนมาช่วยโครงการเหมือนกัน
และขอฝากบอกถึงใครที่คิดจะนำเต่าไปปล่อยว่า
ขอให้ดูก่อนว่าเป็นเต่าบกหรือเต่าน้ำ ถ้าปล่อยผิดแหล่งเขาก็จะตาย"
หนุ่มวิล กล่าว

น้ำ-ลิสา ทรัพย์ชนะกุล นักศึกษาชั้นปี 6 คณะสัตวแพทย์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
กล่าวว่าเป็นครั้งแรกที่เธออาสาสมัครมาช่วยรักษาเต่า
ร่วมกับอาจารย์และเพื่อนๆ ในโครงการฯ
รู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสมาหาประสบการณ์กับความรู้นอกห้องเรียน
"ปกติ เต่าก็มีพยาธิอยู่แล้ว
แต่ถ้ามีพยาธิเยอะเกินไปมันจะไปแย่งอาหารในตัวเต่า ทำให้เต่าผอมลง
มากิจกรรมนี้ได้ความรู้เยอะ เช่น รู้วิธีป้อนยาเต่า
ได้รู้สภาพของเต่าที่เจ็บป่วย
การรักษาเต่าก็ยากเหมือนกันเพราะเขาไม่ค่อยยอมให้เราจับ
ต้องมีวิธีหลอกล่อ
เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนเพราะสิ่งที่เราเรียนในตำรามันไม่เจาะลึกเรื่อง
ของเต่ามากนัก พอได้สัมผัสประสบการณ์จริงเราก็จะมีความรู้
หากในอนาคตมีเคสเต่าเข้ามา จะได้รู้อาการว่าเป็นอะไร" ว่าที่
สัตวแพทย์คนเก่ง กล่าว

สำหรับโครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
นั้นเป็นสถานที่หลวง คนภายนอกไม่สามารถมาจับเต่าไปขายได้
มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สะอาดเหมาะแก่การอยู่อาศัยของเต่า
ทำให้อยู่ได้อย่างไม่แออัด
มีอาหารอุดมสมบูรณ์ให้เต่าสามารถหากินได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้
ยังมีทางลาดขึ้นจากน้ำให้เต่าขึ้นมาบนบกรับแสงแดด
เพื่อให้กระดองได้รับแคลเซียมด้วย
ถือว่าเป็นสถานที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับเต่าเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม การดำเนิน
"โครงการคืนชีวิตเต่าและตะพาบน้ำสู่ธรรมชาติ"
ต้องอาศัยงบประมาณในการทำงานค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องยารักษา
และอาหารสำหรับเต่าที่อยู่ในการดูแลอนุบาล
สนใจข้อมูลชมรมรักษ์เต่าและการปล่อยเต่าที่ถูกต้อง www.helplink.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น