++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ตลาดนัดสีเขียว...ความฝันของคนรักสุขภาพ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ท่าม กลางความเร่งรีบของสภาพเศรษฐกิจ
ผู้คนจำนวนมากใส่ใจแต่เรื่องการหาเลี้ยงปากท้อง
แต่กลับหลงลืมการใส่ใจต่ออาหารที่จะนำเข้าสู่ปากท้องไปโดยสิ้นเชิง
หลายครอบครัวผูกขาดแกงถุงหน้าปากซอย
แม่บ้านยุคใหม่ไม่น้อยชอปปิ้งอาหารแพ็กในซูเปอร์มาร์เก็ต
หนุ่มโสดบางรายตัดปัญหาความยุ่งยากด้วยการกินข้าวนอกบ้าน
สุดแต่วันนั้นอยากกินอะไร

แต่ท่ามกลางความวุ่นวายเร่งรีบจนอาหารการกินดูจะกลายเป็นภาระของ
หลายๆ คน ยังคงมีคนกลุ่มเล็กๆ
ที่เข้มแข็งยืนหยัดต่อสู้เพื่อคุณภาพของวัตถุดิบทางอาหารที่สะอาดและปลอดภัย
จากสารเคมี คนเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งออกตัวมาเพียง 1-2 ปี บางคนรณรงค์มา
5-10 ปี และอีกไม่น้อยที่ต้องทุ่มเทเกือบทั้งชีวิตเพื่อให้คนไทยได้กินอาหารปลอดภัย
หรือที่รู้จักกันในนามของกลุ่ม "ตลาดนัดสีเขียว"
ผู้พยายามผลักดันอาหารทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพให้เข้ามาในตลาดบริโภคของประชาชนทั่วไป
อาหารที่ว่า นั่นก็คือ "อาหารอินทรีย์" คืออาหารที่ปลอดจากสารเคมีนั่นเอง


-1-


"ชิดณัฎฐา เข็มราช" จากสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน (ISAC)
แห่งเมืองเชียงใหม่ บอกเล่าถึงความพยายามในการนำ "ตลาดสีเขียว"
เข้าไปใกล้ชิดคนเชียงใหม่ให้ได้มากที่สุด ด้วยวิธีการต่างๆ ว่า
ถือเป็นความยากของการทำตลาดอาหารอินทรีย์ในเชียงใหม่

เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีห้างสรรพสินค้ามาก
ทำให้หลายครอบครัวหันไปจับจ่ายซื้ออาหารใน "ตลาดติดแอร์" กันมากขึ้น
และสนใจเดินตลาดนัดน้อยลง
ทำให้การทำตลาดนัดสีเขียวของกลุ่มจำเป็นต้องหากลยุทธ์สร้างความสนใจจาก
ประชาชนให้ได้มากขึ้น

"เราจัดเป็นตลาดนัดสีเขียว
เปิดพื้นที่ให้พี่น้องเกษตรกรที่ปลูกผักปลอดสารพิษมาซื้อขายกันได้
ก็พยายามทดลองตลาดไปเรื่อยๆ เราสลับตลาดสีเขียวไปตามจุดต่างๆ
ของเชียงใหม่ให้ทั่วถึง ตอนแรกคิดว่ากลุ่มที่มีการศึกษาอย่างแพทย์ พยาบาล
หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยจะสนใจสินค้าของเรา แต่จริงๆ ปรากฏว่า
คนเหล่านี้ไม่สนใจเลย บางครั้งเราขอไปเปิดตลาดที่โรงพยาบาล
บางแห่งก็ไม่ให้ความร่วมมือเลย บางครั้งก็ให้ความร่วมมือแต่ก็จะขอว่า
ขอให้ลดราคาผักให้เท่ากับผักธรรมดาได้ไหม อะไรแบบนี้
ส่วนอาจารย์มหาวิทยาลัยจะชอบซื้อแกงถุงเป็นอาหารในครอบครัว"

"อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเปิดตลาดหลายๆ แบบหมุนเวียนไปหลายๆ แห่ง
โดยกำหนดจุดที่จะไปเปิดตามวันในสัปดาห์ ทำให้เราพบลูกค้าหลายกลุ่มมากขึ้น
เราพบว่าลูกค้าหลักของเราจริงๆ คือแม่บ้านตามหมู่บ้านจัดสรร
และนักเรียนในโรงเรียน
ซึ่งนักเรียนพวกนี้ส่วนใหญ่จะมาซื้อสินค้าสีเขียวของเราเอาไปฝากผู้ปกครอง
จนในที่สุดผู้ปกครองหลายคนก็กลายมาเป็นลูกค้าเรา"


ชิดณัฎฐา เล่าต่อว่า นอกจากทาง ISAC
จะจัดตลาดสีเขียวหมุนเวียนไปตามจุดต่างๆ ของเชียงใหม่แล้ว
ยังได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ชุมชนถึงความปลอดภัยจากการ
กินพืชผักผลไม้ตลอดจนเนื้อสัตว์ นม และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ
ที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ด้วย อาทิ การจัดกิจกรรมเชิญชวนน้องๆ
นักเรียนเจาะเลือดตรวจสารเคมีในร่างกาย
เปรียบเทียบกับคนที่กินอาหารอินทรีย์
ผลปรากฎว่าเลือดของผู้ที่กินอาหารอินทรีย์มีความเสี่ยงน้อยกว่าน้องๆ
นักเรียนที่ไม่ได้กิน รวมถึงการบรรยายให้ความรู้ไปตามเวทีต่างๆ
ที่มีโอกาสร่วมสัมมนา
โดยจะมุ่งเน้นไปในเชิงบรรยายเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจวิธีการเพาะปลูกแบบ
เกษตรอินทรีย์


"และเมื่อเขาเข้าใจแล้ว มันจะไม่มีคำถามประมาณว่า ทำไมเดือน
เม.ย.จึงไม่มีบร็อกโคลี่ หรือทำไมผักอินทรีย์ถึงราคาสูง
เพราะเขาเข้าใจในกรรมวิธีการผลิตอาหารอินทรีย์
แล้วเขาจะยอมจ่ายเพื่อสุขภาพเขา และที่สำคัญที่สุด คือ
จากผลงานตลาดสีเขียวของกลุ่มเรา
มันเกิดปรากฎการณ์พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยเก็บผักเก็บหญ้าข้างบ้านที่เป็นผักพื้น
เมืองมาขาย มีการรวมตัวทำขนมพื้นเมืองขาย
ทำให้ผักท้องถิ่นที่ถูกละเลยกลายเป็นที่สนใจอีกครั้ง
เด็กนักเรียนที่เราไปเปิดตลาดที่โรงเรียนเขาทุกสัปดาห์อย่างมงฟอร์ด
อย่างปรินซ์รอแยล เขาก็เริ่มสนใจผักพื้นบ้าน
เริ่มเลิกกินขนมกรอบแกรบแล้วหันมาเปิดกว้างกับขนมและอาหารพื้นเมืองมากขึ้น"
ชิดณัฎฐา ให้ภาพ


-2-


ในขณะที่อดีตนักการศึกษาผู้ผันตัวมาร่วมดูแลสุขภาพพ่อแม่พี่น้องอย่าง
"พอทิพย์ เพชรโปรี" เจ้าของร้านอาหารออร์แกนิกชื่อดัง Health Me
ในฐานะกำลังหลักที่นำตลาดสีเขียวเข้ามาในกรุงเทพฯ
กล่าวถึงระยะแรกที่กระแสผักออร์แกนิกเริ่มบูมในเมืองใหญ่ ว่า

หลังจากประชาชนเริ่มหันมามองผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์
ก็มีการผลิตออกมามากมาย บางครั้งก็จะใช้คำว่า ผักปลอดสารพิษ
ผักปลอดภัยจากสารพิษ ฯลฯ ทำให้ประชาชนเริ่มสับสนและมองหาของแท้

"มีคนกลุ่มหนึ่งเข้าใจและเห็นแง่มุมที่ดีของอาหารอินทรีย์
ก็ทำให้เราอยู่ได้ แต่เราไม่อยากให้มันโตเร็วเกินไปนัก
อยากให้โตแบบพอเพียง ค่อยเป็นค่อยไป
ถ้าเราโตพรวดพราดมันจะเกิดของปลอมขึ้น จากที่ทำร้านอาหารออร์แกนิก
มีลูกค้าประจำให้ส่งสินค้าให้ พอเราคิดว่า เราควรจะมีตลาดอาหารอินทรีย์
เพื่อให้กลุ่มพี่น้องเกษตรกรสีเขียวได้กระจายสินค้า เขาก็ได้ขายของเขา
คนกรุงเทพฯ ก็ได้กินอาหารดีมีประโยชน์ ก็ได้ที่อาคารรีเจนท์เขาสนับสนุน"

พอทิพย์ กล่าวต่อไปอีกว่า
นอกจากคนที่มาเดินเลือกซื้อของที่ตลาดสีเขียว จะได้วัตถุดิบดีๆ
ที่ปลอดจากสารพิษไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ ชุมชนใหม่ๆ
ที่น่ารักและมีจิตสำนึก

"คนซื้อจะได้ความรู้ในเชิงการปลูกหรือการผลิตอาหารอินทรีย์
เพราะแทบทุกร้านเจ้าของจะไปขายเอง
เจ้าของก็จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ที่มาซื้อของ
มีปฏิสัมพันธ์จนก่อเกิดความสัมพันธ์และชุมชนสีเขียว อย่างที่เห็นง่ายๆ
คือ คนเหล่านี้จะเริ่มดูแลตัวเองก่อนด้วยอาหารที่เขารู้ที่มาที่ไป
ว่าเพาะปลูกอย่างไร เลี้ยงอย่างไร ปลอดสารอย่างไร
ที่มากขึ้นไปกว่านี้ก็คือพอเริ่มตลาดสีเขียวได้สักพัก
ลูกค้าเราหอบถุงผ้ามาเอง ปฏิเสธที่จะให้เราใส่ถุงพลาสติกให้
คือจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบสังคมมันเกิดขึ้น
ซึ่งเราอยากเห็นอะไรแบบนี้"

"ที่สำคัญก็คือ
เขาจะได้เข้าใจว่าทำไมสินค้าออร์แกนิกเป็นสินค้าที่มีราคาสูงกว่าสินค้า
ธรรมดา เพราะนอกจากเกษตรกรจะไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช
และสารเร่งผลผลิตเคมีใดๆ ทั้งสิ้นแล้ว
เขายังพยายามเลี้ยงให้มันเป็นวิถีธรรมชาติมากที่สุด
ซึ่งกรรมวิธียากกว่าผลิตอาหารธรรมดาแบบวิถีเคมีมาก
ดังนั้นนอกจากเราจะต้องให้ค่าแรงเขาแล้ว โปรดอย่าลืมว่า
คุณจ่ายค่าที่เขาช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้คุณด้วย เขาไม่ใช้สารเคมี
น้ำก็ไม่ปนเปื้อน ดินก็ไม่ปนเปื้อน นี่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่คุณไม่ใส่ใจ
แต่คนพวกนี้เขาอาสาดูแลให้คุณ" พอทิพย์ แจกแจง


-3-


ทราบเรื่องตลาดสีเขียวเมืองเชียงใหม่และในกรุงเทพฯ กันไปแล้ว
ทีนี้ลองเลี้ยงไปฝั่งอีสานบ้านเฮาดูบ้าง "จันทร์ทิพย์ ใจกล้า"
ผู้ประสานงานเครือข่ายตลาดสีเขียวจังหวัดสุรินทร์
มดงานสีเขียวตัวหลักอีกหนึ่งรายที่ไม่เคยหยุดที่จะขับเคลื่อนงานด้านการ

รณรงค์ให้คนแถบนั้นหันมากินอาหารอินทรีย์มากขึ้นกล่าวถึงความต่างของ
การทำตลาดสีเขียวในจังหวัดสุรินทร์กับกรุงเทพฯและเชียงใหม่ ว่า
สุรินทร์เป็นจังหวัดเล็กๆ มีพื้นที่ไม่มาก
ลักษณะการดำเนินงานจะเป็นไปในรูปขอความร่วมมือจากชาวบ้านชุมชนเข้มแข็งที่
สนใจเรื่องอาหารอินทรีย์และการรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งได้ผลดี

"คนแถวนั้นทำนา แต่การทำนาของเขายิ่งทำยิ่งเป็นหนี้
ทั้งหนี้นอกระบบและหนี้ธกส. แพราะไปกู้มาเพื่อลงทุนทำนา
มันเป็นวงจรวัฏจักร พอเราไปเปิดตลาด เราแนะนำให้ชาวบ้านเก็บผักเก็บหญ้า
ปลูกผักในบ้านแบบปลอดสารพิษแล้วเอามาขายกัน
เชื่อไหมบางคนนี่ปลดหนี้เรือนหมื่นได้เลยนะ ผู้เฒ่าผู้แก่มีความสุขมาก
เพราะเขาได้มีอะไรทำ เพราะทำนามันทำกันเป็นฤดู
หมดหน้านาก็ไม่รู้จะไปทำอะไร หนุ่มสาวก็ทิ้งถิ่น
เราเปิดตลาดให้เขาได้เอาของที่เขาปลูกเขาทำมาขาย สภาพครอบครัวดีขึ้น
เพราะเท่าที่สังเกตส่วนใหญ่เป็นแบบทำกันในครัวเรือน ลูกๆ
กลับจากโรงเรียนก็มาช่วยพ่อแม่"

จันทร์ทิพย์ กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดโปรเจกต์ "น้ำขยะยิ้ม"
ของเธอกำลังไปได้สวย
โดยได้แนะนำให้ผู้สนใจจะมีส่วนร่วมนำเศษอาหารมาหมักในถังเพื่อทำเป็นน้ำ
จุลินทรีย์นำไปรดต้นไม้
เป็นปุ๋ยชีวภาพชั้นดีที่ไม่เสียเงินแถมกระบวนการผลิตก็ช่วยลดปัญหาขยะ

เศษอาหารในครัวเรือน เดือนหนึ่งก็ไม่ใช่เล่นๆ ได้กันเป็นตันๆ
เลยทีเดียว เมื่อได้แล้วทางกลุ่มก็จะนำไปแจกจ่ายแก่เกษตรกร
เพื่อลดต้นทุนการเพาะปลูกและเป็นการโน้มน้าวให้พวกเขาหันมาเพาะปลูกแนวเกษตร
อินทรีย์ด้วย

"ตอนนี้มีคนต้องการเยอะค่ะ ทำเท่าไหร่ก็ไม่พอ" จันทร์ทิพย์ กล่าวปนหัวเราะ

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000065381

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น