++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ถอนพิษ "จำนำสินค้าเกษตร" ระวังกับดัก "ประกันราคา"

โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง 1 มิถุนายน 2552 10:47 น.
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

ถาม : อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่
ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์จะยกเลิกการรับจำนำข้าว และสินค้าเกษตรอื่นๆ ?

ตอบ : ดี เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ

การรับจำนำข้าวและสินค้าเกษตรมีมานานแล้ว
แต่ในช่วงตั้งแต่รัฐบาลทักษิณเป็นต้นมา
เป็นการกำหนดราคารับซื้อสินค้าเกษตรสูงกว่าราคาตลาด (อ้างว่า
รับจำนำในราคาสูงกว่าราคาตลาด) ผลประโยชน์จึงตกอยู่แต่เฉพาะเกษตรกรบางราย
และผู้ที่สวมสิทธิเป็นเกษตรกร เช่น โรงสี และพ่อค้าบางราย

ที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลรับซื้อ (จำนำ) สินค้าเกษตรแล้ว
สินค้าก็วนเวียนอยู่ในโกดัง ในระบบตลาด
ราคาตลาดก็ยังเป็นอยู่ในระดับที่มันเป็น
ส่วนราคาที่รัฐบาลซื้อสูงก็เป็นอีกระดับราคา
ที่คนบางคนสามารถซื้อสินค้าเกษตรจากราคาตลาดมาขายให้รัฐบาล

รัฐบาล ต้องมีภาระต้นทุนในการกักเก็บ แปรรูป ขนส่ง
ค่าบริหารจัดการ มีการรั่วไหล โกงกินมโหฬาร เกือบทุกขั้นตอน
และเมื่อถึงเวลาขายระบายสินค้าเกษตรของรัฐ ก็มีการหาผลประโยชน์
โดยการขายให้ผู้ส่งออกในราคาต่ำๆ (ต่ำกว่าราคาตลาด)
แล้วมีการจ่ายส่วนแบ่งผลประโยชน์ให้ผู้มีอำนาจถึงตันละ 1,000 บาท

ข้าว 2.6 ล้านตัน ก็คิดเป็นเงิน 2,600 ล้านบาท !

ถาม : ถ้ารัฐบาลจะนำระบบ "ประกันราคาข้าว" และ
"ประกันราคาสินค้าเกษตรอื่นๆ" มาใช้ด้วย อาจารย์คิดเห็นอย่างไร?

ตอบ : หลักการมันดีกว่ารับจำนำแบบที่ทำกันมาอยู่แล้ว
แต่ก็ขึ้นอยู่กับวิธีประกันราคาของรัฐบาล ว่าจะใช้วิธีอย่างไร

แต่เดิม ตั้งแต่สมัยรัฐบาลเปรม เราก็เคยมี "การประกันราคาข้าว"
โดยกำหนดราคาที่รัฐบาลรับซื้อในราคาสูงกว่าตลาด
เป็นวิธีเดียวกับที่เขาเรียก "จำนำข้าว" ที่รับจำนำในราคาสูงกว่าตลาด
เกิดความสูญเสียแก่รัฐบาลมาก
จนกระทั่งประชาชนตั้งชื่อองค์การคลังสินค้าหรือ "อ.ค.ส." ว่าเป็น
"องค์การค้าข้าวเสื่อม" และเรียก "อ.ต.ก." หรือองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร
ว่า "องค์การต้มตุ๋นเกษตรกร"

แต่หากวิธีการ "ประกันราคา" คือ
การกำหนดราคาให้เกษตรกรรู้ล่วงหน้าว่าในเดือนที่จะขายข้าว (สินค้าเกษตร)
เกษตรกรจะขายผลผลิตได้ราคาเท่าใด แล้วหากราคาตลาดที่เกษตรกรขายได้
อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า "ราคาประกัน" รัฐบาล
ก็จะเขียนเช็คจ่ายให้เพิ่มเติมเท่ากับส่วนต่างของราคาที่ประกันไว้กับราคา
ตลาดที่เกษตรขายได้ ถ้าแบบนี้ ผมก็เห็นด้วย
เพราะรัฐบาลไม่ต้องไปจัดการกับตัวเมล็ดข้าว หรือตัวสินค้าเกษตร
ไม่ต้องไปหาโกดังกักเก็บ แปรรูป ขนส่ง หีบห่อ และขายเพื่อส่งออก

ไม่สูญเสีย ไม่ต้องเปิดช่องให้คนโกงกิน

ไม่แทรกแซงกลไกตลาด ปล่อยให้กลไกตลาดเดินไปตามระบบ ตามธรรมชาติ
ในขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้เกษตรกรได้เงินตามราคาประกันจริงๆ

ถาม : ฟังดู มันดีกว่ารับจำนำนะครับ?

ตอบ : เรื่องดีกว่าน่ะ ดีกว่าแน่ แต่คุณก็ต้องเข้าใจนะครับว่า
มันก็ไม่มีอะไรดี โดยที่ไม่มีข้อด้อย

การประกันราคาข้าวก็มีข้อเสีย ที่เป็นเหมือน "กับดัก"
ที่รัฐบาลพึงระมัดระวังเหมือนกัน

ข้อพึงระวังอย่างแรกเลย คือ ชาวนาหรือเกษตรกรที่ได้รับการอุปถัมภ์
รับแจกเงินส่วนต่างราคา อาจจะทำให้เคยตัวกับระบบพึ่งพา ไม่ช่วยตัวเอง
รอให้คนมาช่วย และตอกย้ำระบบอุปถัมภ์ที่คิดว่า รัฐบาลหรือเจ้านายมีบุญคุณ
มีทรัพยากรมาก จะตอบแทนอะไรก็ได้ พวกเราไม่ต้องพึ่งตัวเอง พัฒนาตัวเอง
หรือช่วยตัวเองก็ได้

ฉะนั้น เพื่อไม่ติด "กับดัก" นี้ ควรให้ชาวนา (เกษตรกร)
ต้องมีส่วนร่วมในโครงการ โดยให้เขาตัดสินใจจ่ายเบี้ยประกัน
ซื้อความเสี่ยงภัยจากราคา

กล่าวคือ แทนที่จะให้ชาวนา(เกษตรกร)
ได้ส่วนต่างของราคาตลาดกับราคาประกันฟรีๆ
ควรจะให้เกษตรกรต้องคิดว่าเขาอยากได้ราคาเท่าใด
เขายินดีจ่ายเงิน(เบี้ยประกัน) เพื่อประกันความเสี่ยงเท่าใด เช่น

หากเราคาดว่า ในเวลาเก็บเกี่ยว ราคาข้าวในตลาดจะอยู่ที่ตันละ
10,000 บาท แต่ชาวนาอยากได้ราคา 11,000 บาท
ชาวนาก็ต้องตัดสินใจว่าจะซื้อประกันหรือไม่ ถ้าไม่ซื้อประกัน
(ไม่ทำประกัน) เมื่อถึงเวลาจริง ราคาตลาดเท่าไหร่ ชาวนาก็ขายได้เท่านั้น,
แต่ถ้าซื้อประกัน (ทำประกัน) ก็อาจจะต้องจ่ายค่าประกันตันละ 300 บาท
รัฐบาลก็จะประกันให้ว่า ชาวนาผู้ทำประกันจะได้ข้าวราคาไม่ต่ำกว่า 11,000
บาทแน่นอน เพราะถ้าราคาตลาดตกต่ำ เหลือ 8,000 บาทต่อตัน
ชาวนาก็สามารถไปขายข้าวในตลาดปกติ
แล้วไปรับเงินส่วนต่างเพิ่มเติมจากรัฐบาลอีกตันละ 3,000 บาท
(11,000-8,000)

หรือตรงกันข้าม ถ้าถึงเวลาเก็บเกี่ยวจริง
ราคาตลาดพุ่งสูงขึ้นไปถึง 11,000 บาทหรือมากกว่านั้น
ชาวนาขายข้าวในตลาดปกติได้สูงกว่าราคาประกันอยู่แล้ว
รัฐบาลก็ไม่ต้องจ่ายเพิ่มให้ชาวนา และชาวนาก็เสียค่าเบี้ยประกันไป
เสมือนหนึ่งว่าประกันภัยแล้วไม่เกิดความเสียหาย ก็เลยไม่ต้องเรียกประกัน
ภาครัฐสามารถเก็บเบี้ยประกัน
เป็นทุนให้หน่วยงานของรัฐที่รับประกันสะสมไว้ใช้ประกันราคาฤดูกาลต่อๆ ไป

ถาม : อ๋อ... แบบนี้ ก็คล้ายๆ ทำประกันภัยทั่วไปนี่เอง คือ
ทำประกันไว้ก่อน ถ้าเกิดปัญหาก็จะได้รับการชดเชยแน่นอน
แต่ถ้าไม่เกิดปัญหา ก็ถือเสียว่าเงินค่าเบี้ยประกันนั้นเป็น
"ค่าป้องกันความเสี่ยง"

แล้วถ้าให้ชาวนาหรือเกษตรกรทำประกันราคาพืชผลเกษตรของตนเองอย่างนี้จริงๆ
มันจะมีผลอย่างไร ?

ตอบ : ถูกต้องครับ
เพราะชาวนาหรือเกษตรกรของเราต้องประสบปัญหาความเสี่ยงภัยของราคาพืชผลอยู่
เป็นประจำ การให้ชาวนาซื้อประกันราคาพืชผลของตนเช่นนี้
จะมีผลอย่างนี้ครับ

1) วิธีการนี้ จะทำให้ชาวนาได้เรียนรู้ ตื่นตัว
และต้องคำนึงถึงสภาวะของตลาดพืชผลการเกษตรของตนในแต่ละปี
ว่าราคาจะเป็นเท่าใด ควรจะคาดหมายราคาที่ตนเองจะได้รับเท่าใด
และถ้าต้องการราคาสูงๆ ก็ต้องจ่ายเบี้ยประกันแพง หรือถ้าไม่โลภมาก
ต้องการราคาไม่สูงกว่าที่ควรจะเป็นก็จ่ายเบี้ยประกันต่ำ

ยกตัวอย่าง ถ้าอยากประกันราคาข้าว ตันละ 15,000 บาท
ก็อาจจะต้องจ่ายเบี้ยประกันแพงหน่อย อาจจะถึง 3-4 พันบาทต่อตัน เป็นต้น
เพราะความเป็นไปได้ที่ราคาตลาดทั่วไปจะขึ้นไปถึง 15,000 บาทต่อตัน
เป็นไปได้ยาก และถ้าราคาตลาดอยู่ที่ 10,000 บาทต่อตัน
รัฐบาลก็ต้องจ่ายชดเชยให้ถึงตันละ 5,000 บาท (หักค่าเบี้ยประกันไปแล้ว
ชาวนาก็ยังกำไรอยู่ดี)

2) วิธีการนี้
จะทำให้ชาวนาไม่นำเอาปริมาณผลผลิตมามั่วหาผลประโยชน์
เพราะเมื่อมีต้นทุนค่าเบี้ยประกัน ชาวนาก็จะต้องคิดใคร่ครวญ
แล้วมาจดทะเบียนเป็นผู้มาเอาประกัน ว่าจะประกันในปริมาณมากน้อยอย่างไร

ถ้าประกันให้ฟรีๆ คนที่เห็นแก่ตัว ก็จะใช้วิธีแจ้งปริมาณผลผลิตเยอะๆ ไว้ก่อน

3) อย่างไรก็ตาม ในระยะเริ่มแรก
รัฐบาลอาจจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันให้ส่วนหนึ่ง เช่น ออกค่าเบี้ยประกันให้
30% - 50% ของเบี้ยประกัน แล้วแต่ปริมาณที่เอาประกัน
หรือแล้วแต่ท้องที่ที่เอาประกัน

ถาม : แต่ได้ยินมาว่า รัฐบาลจะไม่ใช้วิธีให้ชาวนา(เกษตรกร)
ซื้อและจ่ายค่าเบี้ยประกัน แต่จะออกเบี้ยประกันให้ทั้งหมด หรือให้ฟรี ?

ตอบ : ก็ให้ระวังข้อเสีย หรือกับดักของการให้ของฟรี

เพราะ นอกจากชาวนาจะเสียนิสัย ชอบของฟรีแล้ว
ต่อไปคงจะพัฒนาระบบให้เดินด้วยตนเองได้ยากขึ้น
รัฐบาลก็ต้องเป็นคุณพ่อรู้ดี และชาวนาก็จะแห่กันมาจดทะเบียน
อยากได้ปริมาณมากๆ และราคาประกันก็ต้องสูงๆ และสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี
จากนั้น มันก็อาจจะกลับไปสู่วงจรหายนะ

ถาม : อาจารย์มีคำเตือนอะไรอีกไหมครับ ?

ตอบ : กรณีที่หน่วยงานของรัฐบาลบางแห่ง
แนะนำให้เอาต้นทุนการปลูกข้าวมาคำนวนราคาประกัน
นับว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ในประเทศไทย ต้นทุนการปลูกข้าวในแต่ละท้องที่
มีความแตกต่างกันอย่างมาก ชาวนาแถบภาคกลาง สุพรรณบุรี อ่างทอง ชัยนาท
สิงห์บุรี มีระบบชลประทานดีๆ ต้นทุนการผลิตต่อตันจะต่ำมาก ตันละประมาณ
3-4 พันบาทก็มี และส่วนใหญ่จะเป็นชาวนารายใหญ่ด้วย

แต่สำหรับชาวนาในภาคอีสาน ที่ต้องอาศัยน้ำฝนจากฟ้าในการผลิต
บางท้องที่ บางปี ทำนาปีละ 2 ครั้ง แต่เก็บเกี่ยวได้ครั้งเดียว
เพราะฝนแล้ง ต้นทุนการผลิตข้าวต่อตันจะสูงมาก ถึงตันละ 8-9 พันก็มี

ถ้า บอกว่าตั้งราคาประกันตามต้นทุนการผลิตแถบสุพรรณบุรี
ชาวนาอีสานก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร
แต่ถ้าตั้งราคาประกันตามต้นทุนของชาวนาอีสาน
ชาวนาภาคกลางที่มีระบบผลประทานดีๆ รัฐอุดหนุนน้ำท่าให้อยู่แล้ว
ก็รวยไม่รู้เรื่อง เพราะนอกจากได้ราคาดีแล้ว
ปริมาณการผลิตแต่ละรายยังมีมากอีกด้วย

ทางแก้ไขยังพอมี จะต้องจำกัดปริมาณรับประกันแต่ละราย
และตั้งระบบราคาประกันตามสถาวะตลาดโลก ไม่ใช่ตามต้นทุน

แม้ คิดจะตั้งตามต้นทุนเฉลี่ยก็ไม่ได้
เพราะค่าเฉลี่ยไม่ได้สะท้อนความจริงของต้นทุนท้องที่ใดๆ เลย
ได้แต่ค่าเฉลี่ยที่เป็นที่พอใจของนักสถิติเท่านั้น

ถาม : นอกจากต้นทุนการผลิตข้าวในแต่ท้องที่จะไม่เท่ากันแล้ว
ราคาข้าวที่เห็นซื้อขายแตกต่างกันในแต่ละท้องที่ เกิดจากอะไร ?

ตอบ : ประเด็นนี้สำคัญ จะต้องเข้าใจ "โครงสร้างราคาข้าว"
ในประเทศไทยให้ถูกต้องเสียก่อน

กรุงเทพฯ เป็นเมืองท่าในการส่งออกข้าวของประเทศไทย
ราคาข้าวในประเทศไทยจึงกำหนดจากราคาส่งออกที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก
โดยโรงสีต่างๆ จะคำนวณราคาข้าวสารที่ขายได้ที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก
แล้วหักค่าขนส่งกลับไปตั้งราคาข้าวในท้องที่ของตน

จังหวัดที่อยู่ไกลกรุงเทพฯ ก็หักค่าขนส่งมาก
จังหวัดที่อยู่ใกล้ก็หักค่าขนส่งน้อย

ข้าวชนิดเดียวกัน จึงมีราคาต่างกัน จังหวัดใกล้กรุงเทพฯ
ชาวนาจะขายข้าวได้ราคาดีกว่าจังหวัดไกลกรุงเทพฯ เช่น ชาวนาสุพรรณฯ
จะขายข้าวได้ราคาดีกว่าชาวนาอุบลราชธานี (คิดเทียบข้าวชนิดเดียวกัน
เกรดเดียวกัน และขายเวลาเดียวกัน)

ฉะนั้น ราคาประกันจะตั้งอย่างไร ? เท่ากันไหม? ระดับราคาเท่าใด?

อยากจะเตือนว่า เมื่อปี 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกฯ
รัฐบาลตั้งราคาข้าวเท่ากันทั้งประเทศ ทุกเกรด ทุกเวลา (เดือนใดก็ได้)
ผลก็คือ โครงการพังพินาศมาแล้ว (เอาไว้วันหลังจะเล่ารายละเอียดให้ฟัง)

ถาม : ในสภาพความจริงอย่างนี้ "การประกันราคาข้าว"
จะช่วยชาวนาและเศรษฐกิจในระยะยาวหรือไม่ ?

ตอบ : ช่วยได้ครับ แต่ไม่มาก และไม่ตรงหัวใจทีเดียวนัก

เพราะจะเป็นการทำให้ชาวนาส่วนหนึ่งได้ประโยชน์
หรือได้เงินจากการขายสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป

แต่ประการสำคัญที่สุด ไทยต้องอาศัยการส่งออก หาเงินตราเข้าประเทศ
ต้องแข่งกับข้าวจากประเทศอื่นๆ "การประกันราคา" คงไม่ช่วยอะไร
สิ่งที่จะช่วยได้ คือ ต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มประสิทธิภาพการปลูก
เพื่อให้ต้นทุนการปลูกข้าวลดลง เราจะได้แข่งขันราคากับต่างประเทศได้

กระทรวงเกษตรจะต้องเอาจริงกับการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เช่น
ได้รู้มาว่า ขณะนี้มีชาวนาจำนวนหนึ่ง
เขาใช้เทคนิคตัดยอดต้นข้าวในระยะเวลาที่เหมาะสม ต้นข้าวจะแตกหน่อ
และออกรวงมากขึ้น อย่างนี้ กระทรวงเกษตรจะต้องรีบศึกษาจากชาวนา
ต่อยอดการพัฒนาและเผยแพร่ เป็นต้น

ถ้าเราเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม่ได้ เอาแต่ประกันราคา
แจกผลประโยชน์ เราจะพากันตายในระยะยาว

ถาม : สรุปว่า การเลิกรับจำนำ แล้วหันมาใช้วิธีประกันราคา
เรามาถูกทางแล้วหรือไม่ ?

ตอบ : ถูกแล้วครับ

แต่เราต้องเดินให้ระมัดระวังด้วย ไม่ใช่สะดุดขาตัวเองล้มไปเสียก่อน

การรับจำนำที่ผ่านมานั้น พูดง่ายๆ ว่า
เป็นเหมือนยาพิษที่ทำลายระบบเศรษฐกิจการค้าข้าวของส่วนรวม ถ้าเราเลิกได้
มันก็เหมือนกับการถอนพิษ ซึ่งที่ผ่านมานั้น ได้ทำให้คน 4 กลุ่ม
ไม่ทำหน้าที่ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ

1) ชาวนา ไม่ได้พัฒนาความสามารถของตนเองอย่างเต็มศักยภาพ
บางส่วนนั่งรอเอาผลประโยชน์จากโครงการจำนำ โดยไม่ต้องพัฒนาคุณภาพข้าว
ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต วางแผนการผลิต การใช้น้ำใช้ปุ๋ย
การเลือกพันธุ์ข้าว ไม่ต้องสนใจสภาวะการตลาดการค้าข้าว
รอแต่จะหากินกับการจำนำข้าวราคาสูง

2) โรงสี
ไม่ต้องตั้งใจพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการสีข้าวเพื่อให้ได้คุณภาพและ
ประสิทธิภาพสูงสุด ข้าวไม่แตกหักมาก
แต่คอยจังหวะหากินกับนโยบายรัฐบาลดีกว่า รวยกว่า

3) ผู้ส่งออก ไม่ต้องศึกษา สาะแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ
สร้างสินค้าของเราให้มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาดโลก
มียี่ห้อที่ผู้บริโภคข้าวในตลาดโลกยอมรับเชื่อถือ มีหีบห่อ
มีการตลาดที่ดึงดูด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทยในตลาดโลก
สามารถแข่งกับข้าวประเทศอื่นๆ ได้ แต่หากินกับนโยบายของรัฐบาล
คอยจังหวะซื้อข้าวราคาถูกจากรัฐ
หาทางทำอย่างไรจะซื้อข้าวของรัฐที่เป็นข้าวเสื่อมคุณภาพ จะได้กดราคาได้
แล้วเอาไปส่งออกให้เป็นที่ "ภูมิใจไทยบางคน"
แต่กระทบต่อภาพลักษณ์คุณภาพข้าวไทยทั้งชาติ

3) เจ้าหน้าที่ อคส. ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ นักการเมือง
ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องคิดนโยบายใหม่ๆ บริหารงานให้ก้าวหน้า
แต่ใช้เวลาและเงินเดือนที่ได้จากประชาชนคิดหาช่องทางวิธีการที่แยบยล
ดูเหมือนจะโปร่งใส เพื่อผ่องถ่าย หากิน หาเศษหาเลย หาเงินเข้าพรรคเข้าพวก
เข้าพกเข้าห่อ

เมื่อโดนยาพิษจากการรับจำนำอยู่อย่างนี้
ข้าว-สินค้าเกษตรก็เสื่อมค่า เสื่อมราคา แล้วต่อไป
จะไปแข่งกับประเทศไหนได้ครับ

สรุป รัฐบาลจะเลิกโครงการ "รับจำนำ" ก็ดีแล้ว ขออนุโมทนาด้วย

จะเปลี่ยนเป็น "รับประกัน" ก็ถูกต้องแล้ว ขอสนับสนุน
แต่ให้ระวังรายละเอียด และวิธีการดำเนินงาน อย่าให้ตก "กับดัก"
ทั้งหลายที่อยู่ระหว่างทาง

และที่สำคัญ ต้องไม่ละทิ้ง "การเพิ่มผลผลิตต่อไร่" ลดต้นทุน
เพิ่มประสิทธิภาพให้แก่เกษตรกรไทย เพื่อความภาคภูมิใจของเกษตรกรไทย
ว่าสามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเอง เข้มแข็ง
แข่งขันในตลาดโลกได้อย่างสง่าผ่าเผย โดยไม่ตกอยู่ใต้เงาผลประโยชน์ความ
"ภูมิใจไทยของบางคน" เท่านั้น


http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000061137

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น