"คี เลชั่น" วิธีรักษาโรคแนวใหม่ สุดฮิตในเมืองไทยแหกตา
อ้างรักษาสารพัดนึก ตั้งแต่โรคหัวใจ ยันเพลีย "หมอวิชัย"
เผยไม่มีองค์กร-ประเทศใดในโลกรับรอง ไร้หลักฐานงานวิจัย กรมพัฒนาการแพทย์
ยันสุดอันตราย อาจ ชัก-ช็อก-ไตวาย-ใจเต้นผิดปกติ ลั่นต้องหยุดทันที
ไม่งั้นฟันทั้งหมอ และเจ้าของสถานพยาบาล จะผิดทั้งจริยธรรมและกฎหมาย
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการคัดกรองศาสตร์แพทย์ทางเลือก
กล่าวว่า ขณะนี้มีสถานพยาบาลของเอกชนและสถานบริการสาธารณสุขของรัฐหลายแห่งในไทย
นำการบำบัดด้วยคีเลชั่น ซึ่งคือ การฉีดสาร EDTA (ethylene diamine
tetraacetic acid เข้าไปทางหลอดเลือดดำเพื่อให้สารชนิดนี้
ไปจับกับโลหะหนัก และขับออกทางปัสสาวะ โดยอ้างว่า
สามารถรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหลอดเลือดหัวใจได้
เพราะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดง
ที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจกลับเป็นปกติได้ ไม่ต้องผ่าตัด
ทั้งยังอ้างว่าคีเลชั่นเป็นการบำบัดแบบแพทย์ทางเลือก
ซึ่งนิยมและยอมรับในต่างประเทศ
"เพื่อ ความปลอดภัยของคนไทย คณะกรรมการจึงศึกษาข้อมูลทั่วโลก
จนได้ข้อเท็จจริงว่าไม่มีสถาบันหรือหน่วยงานใด รับรองว่า "คีเลชั่น"
รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้ The Cochrance Collaboration, National Center
for Complementary and Alternative Medicine (NCCAM) หรือ
ศูนย์ความร่วมมือโครเคนการแพทย์ทางเลือก และ สมาคมโรคหัวใจสหรัฐฯ
มีความเห็นตรงกันว่า ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์
ที่พิสูจน์ได้ ทั้งยังอาจเกิดอันตรายร้ายแรง อาทิ ทำให้ไตวาย
การกดไขกระดูก ช็อค ความดันโลหิตต่ำ ชัก ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ
ขณะนี้มีเพียงสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ
ที่วิจัยเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ"นพ.วิชัย กล่าว
นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า คณะกรรมการจึงมีมติดังนี้
1.ไม่มีหลักฐานว่าคีเลชั่นรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้
จึงไม่สามารถเบิกจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพใดๆ ได้
2.หากผู้ประกอบวิชาชีพต้องการใช้คีเลชั่น รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ
ต้องใช้เพื่อโครงการศึกษาวิจัยในคน
โดยต้องส่งโครงการศึกษาวิจัยในคนให้คณะกรรมการจริยธรรมในคนพิจารณา
และอนุมัติก่อนดำเนินการ โดยต้องปฏิบัติตามหลักจริยธรรมอย่างเคร่งครัด
แจ้งอาสาสมัครให้ทราบความเสี่ยงต่างๆ
และได้รับความยินยอมจากอาสาสมัครและเรียกเก็บเงินจากอาสาสมัครไม่ได้
การดำเนินการใดๆ นอกเหนือจากนี้
ถือว่าผิดมาตรฐานวิชาชีพผู้ประกอบวิชาชีพและผู้ประกอบโรคศิลปะ
"ข้อที่ 3.ไม่มีหลักฐานว่า "คีเลชั่น" รักษาโรคเบาหวาน
ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต
4.ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ
ที่ไม่ปฏิบัติตามอาจถูกลงโทษ 2 สถาน คือ
ถูกสอบสวนทางด้านจริยธรรมโดยองค์กรวิชาชีพ
และในฐานะบุคคลอาจถูกดำเนินคดีทั้งอาญาและแพ่ง
5.ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องรับผิดชอบกำกับดูแล
ไม่ให้มีการประกอบวิชาชีพที่ไม่ได้มาตรฐานในสถานพยาบาลของตน" นพ.วิชัย
กล่าว
นพ.ประพจน์ เภตรากาศ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า
แม้ยังไม่มีตัวเลขที่แท้จริง
ว่ามีการนำคีเลชั่นมารักษามากน้อยเพียงใดในไทย
แต่มีประชาชนสอบถามมาจำนวนมาก ที่สำคัญ
พบการใช้คีเลชั่นทั้งในสถานพยาบาลของรัฐ เอกชน และคลินิก
ทั้งยังอวดอ้างสรรพคุณแบบสารพัดนึก รักษาได้หลายโรค
ครอบคลุมไปจนถึงอาการอ่อนเพลีย
หรือโรคที่หาสาเหตุไม่ได้ค่ารักษาคิดเป็นคอร์สๆละ 15 ครั้ง สัปดาห์ละ 1
ครั้ง ในโรงพยาบาลของรัฐคิดคอร์สละ 30,000 บาท
โรงพยาบาลเอกชนคิดคอร์สละตั้งแต่ 70,000-200,000 บาท
โดยมีการนำค่ารักษามาเบิกในระบบสวัสดิการข้าราชการด้วย
"อยาก ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ
สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แพทยสภา
กองการประกอบโรคศิลปะ ดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
เพราะการใช้คีเลชั่นในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ
ไม่มีใครทราบว่าจะมีอันตรายมากน้อยเพียงใด การรักษาด้วย "คีเลชั่น"
เดิมใช้ในการรักษาของแพทย์การแพทย์แผนปัจจุบันใช้ในการรักษา
เพื่อรักษาผู้ที่ได้รับโลหะหนักอย่างทองแดง หรือตะกั่วมากเกินไป
โดยการฉีดสาร EDTA เข้าสู่ร่างกาย
เพื่อดึงโลหะหนักออกมาผ่านทางปัสสาวะ"นพ.ประพจน์ กล่าว
นพ.ธารา ชินะกาญจน์ ผอ.กองการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า
มีประชาชนร้องเรียนว่า มีแพทย์ที่ให้การรักษาด้วยวิธีคีเลชั่น
แต่เป็นการร้องเรียนว่าผู้รักษาเป็นแพทย์จริงหรือไม่
และการโฆษณาเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงหรือไม่
ซึ่งได้ทำหนังสือไปถึงแพทยสภาเพื่อขอข้อมูลวิชาการ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ
จึงไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ ทั้งนี้หากพบว่าไม่ได้เป็นมาตรฐานทางวิชาชีพ
ทางกองฯจะส่งเรื่องให้แพทยสภาดำเนินการกับบุคลากรทางการแพทย์
ส่วนสถานพยาบาลเป็นหน้าที่ของกองฯ
ที่จะดำเนินการในฐานะเจ้าของสถานที่ที่ต้องดูแลให้บุคลากรวิชาชีพปฏิบัติ
หน้าที่ด้วยความถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพ
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000066085
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น