ผมเขียนไม่เห็นด้วยกับการกู้เงิน 8 แสนล้านบาท ผ่านพระราชกำหนด
และร่างพระราชบัญญัติอย่างละ 4 แสนล้านบาท ณ ที่นี้ไปแล้ว 2 สัปดาห์
โดยชี้แจงแสดงเหตุผลตามสมควรวันนี้
จะมีการอภิปรายกันในสภาผู้แทนราษฎรแล้วโดยน่าจะมีการถ่ายทอดสดด้วย
ส่วนการอภิปรายกันในวุฒิสภานั้นจะเป็นสัปดาห์หน้าวันที่ 22 มิถุนายน 2552
ผมขอทบทวนแนวความคิดในการคัดค้านรัฐบาลท่านนายกฯ อภิสิทธิ์
เวชชาชีวะอีกสักครั้ง
ผมไม่เห็นด้วยทั้งใน "วิธีการ" และ "หลักการ" ของเงินกู้ก้อนใหญ่
8 แสนล้านบาท
และเชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งเห็นพ้องต้องกันในประเด็นแรกว่า
"วิธีการ" ไม่ถูกต้อง!
ต้องเข้าใจว่าเงินกู้ 8 แสนล้านบาทจากกฎหมาย 2 ฉบับ มีถึง 6
แสนล้านบาทที่นำไปใช้ในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555
ยอดรวมงบประมาณทั้งสิ้น 1.4 ล้านล้านบาท
ที่รัฐบาลคิดร่วมกับข้าราชการประจำกันในเวลาเพียงไม่นานนัก ไม่เกิน 1 - 2
เดือน ไม่ผ่านรัฐสภา ไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
มีเพียง 2
แสนล้านบาทเท่านั้นที่จะนำไปชดเชยเงินคงคลังอันเนื่องจากรายได้ของรัฐในปีนี้ไม่เข้าเป้าเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ
ถือเป็นการฉวยโอกาสเริ่มต้นใช้เงินตามแผนที่ระบุไว้ 3
ปีเป็นอย่างต่ำ 1.4
ล้านล้านบาทโดยไม่ผ่านช่องทางพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ถือเป็นการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบโดยรัฐสภา
ถือว่ามีวาระซ่อนเร้นในการหาเสียงเลือกตั้งที่อาจจะมีขึ้นในไม่ช้าไม่นานนี้
ผมไม่ได้คัดค้านอย่างเดียว
แต่เสนอทางออกไว้โดยสังเขปด้วยว่าวิธีการที่ถูกที่ควรหากไม่มีวาระซ่อนเร้น
น่าจะเป็นขั้นเป็นตอน สัปดาห์ที่แล้วผมนำเสนอขั้นต้นเพียง 2
ขั้นตอนเท่านั้น
วันนี้ขอขยายความเพิ่มเติมเป็นทั้งหมด 7 ขั้นตอน
1. ออกพระราชกำหนดกู้เงินเพียง 2 แสนล้านบาท หรือน้อยกว่านั้น
เพื่อนำเข้าสมทบเงินคงคลัง ชดเชยการเก็บภาษีที่ไม่เข้าเป้าในปีนี้
2. หรือถ้าจะออกพระราชกำหนดกู้เงินเกิน 2 แสนล้านบาท
เพื่อนำส่วนที่เกินจากการนำเข้าสมทบเงินคงคลังมาใช้จ่ายในการกระตุ้น
เศรษฐกิจรอบ 2 ซึ่งอาจจะมีความจำเป็นอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ต้องใช้ภายในเดือนสองเดือนนี้
ก่อนพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553
จะมีผลใช้บังคับและเบิกจ่ายได้จริงๆ ก็ต้องเกินไม่มาก
และไม่ใช่จากส่วนทั้งหมดของแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555
ที่ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในรูปแบบใดเลย
น่าจะเป็นการต่อยอดจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2552
ที่เพิ่งผ่านพ้นไปจะเหมาะกว่า
เพราะอย่างน้อยก็ถือว่ารัฐสภาได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว
ยอดเงินในพระราชกำหนดไม่น่าจะเกิน 3 แสนล้านบาท
3. ไม่ต้องออกร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 4 แสนล้าน
4. เปิดรัฐสภาอีกครั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179
เพื่อหารือถึงแผนกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจชาติ เพื่อรับฟัง
ประมวลข้อเสนอแนะและความคิดเห็น
5. เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
และขอรับฟังข้อเสนอจากองค์กรภาควิชาการที่สำคัญ เช่น สถาบันพระปกเกล้า
ทีดีอาร์ไอ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ฯลฯ
ถึงแผนกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจชาติ
6. นำข้อเสนอที่ได้จากข้อ 4 และข้อ 5 มาประมวล กลั่นกรอง
และประยุกต์ขึ้นเป็นแผนกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจชาติ
7. นำการใช้เงินตามแผนกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจชาติตามข้อ 6 ทั้งหมด
(จะเป็น 1.4 ล้านล้านบาท หรือน้อยกว่ามากกว่าเท่าไรก็สุดแท้แต่)
ไปแยกบรรจุไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553, 2554 และ
2555 หรือถ้าจำเป็นก็อาจมีร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของปี
2553 เสนอเข้ามาราวๆ เดือนมีนาคม-เมษายน 2553 ก็ได้
แผนกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจชาติที่ได้ตามในข้อ 6
อาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินกู้ทั้งหมด
แต่หากยังคงต้องใช้เงินกู้บ้าง
และจำนวนที่จะใช้นั้นติดขัดประเด็นสัดส่วนเงินกู้ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบ
ประมาณ และพระราชบัญญัติหนี้สาธารณะ ทำให้การดำเนินการตามข้อ 7 มีปัญหา
ก็สามารถแก้ปัญหาได้โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ
เพิ่มสัดส่วนเงินกู้ โดยให้ใช้สัดส่วนใหม่ใช้เป็นการชั่วคราวไม่เกิน 3 ปี
ถ้าทำได้เช่นนี้จะได้ผลในทางที่เป็นการยกระดับการเมืองไทย 2 ประการ
1. ทำให้แผนกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจชาติเป็นไปด้วยความรอบคอบ
เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้งผ่านระบบตัวแทน และโดยตรง
2. ทำให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีวินัย
นั่นหมายถึงว่าประเทศไทย ณ ปี 2555
น่าจะพอเริ่มต้นเข้มแข็งได้ในระดับสำคัญ
หากยังจะคงใช้ชื่อแผนนี้ว่าแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 อยู่
เพราะการระดมความคิดตามกระบวนการที่ผมว่ามา แทนที่จะได้
"ถนนปลอดฝุ่น" หรือรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ
เราน่าจะพอได้แผนลอจิสติกส์ของประเทศทั้งระบบ อาทิ
รถไฟรางคู่และรางกว้างทั่วประเทศ,
รถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงเทพมหานครกับเมืองใหญ่
และระหว่างเมืองใหญ่กับเมืองใหญ่ ซึ่งจะนำไปสู่ระบบเมืองบริวารรอบๆ
กรุงเทพมหานครที่เป็นจริง และ ฯลฯ
รัฐบาลอาจบอกว่าหากทำตามที่ผมเสนอมานี้จะใช้เวลานาน ไม่ทันกาล
นั่นเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อกลบวาระซ่อนเร้น!
เพราะหากย้อนไปดูข้อเสนอของผมข้อ 1 และข้อ 2
ได้เปิดกว้างไว้ให้พอสมควรแล้วเรารับได้หากจะมีพระราชกำหนดใช้เงิน 2
แสนล้านบาทเพื่อชดเชยการจัดเก็บรายได้ที่ไม่เข้าเป้า และอีก 1
แสนล้านบาทเพื่อใช้จ่ายในกรณีเร่งด่วนก่อนพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปี 2553 มีผลใช้บังคับและเบิกจ่ายได้จริง ที่จริงผมว่า 1
แสนล้านบาทนี้ใช้ได้ถึงต้นปีหน้าด้วยซ้ำ
เวลา 3 เดือนเต็มจากวันนี้ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2552
ถ้าจะทำกันจริงๆ ผมเชื่อว่ารัฐบาลทำกระบวนการตามข้อ 4 - 7 ข้างต้นได้
เพราะหากในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553
ยังบรรจุงบประมาณได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ก็สามารถไปออกพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553
เพิ่มเติมได้ตั้งแต่ช่วงต้นปีหน้า
รัฐสภาและสังคมโอเคอยู่แล้ว
เพราะเห็นว่าเป็นการปฏิบัติตามข้อเสนอที่ได้จากทั้งรัฐสภาและสังคม
แต่เชื่อเถอะครับว่ารัฐบาลไม่เลือกวิธีที่ผมเสนอมาทั้งหมดนี้หรอก
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000066982
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น