++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2547

ชุมชนเข้มแข็ง : คำตอบอยู่ที่ชุมชน

กระแสของการพัฒนาที่ต้องการพัฒนาให้ชุม ชนเข้มแข็ง ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่อยู่ในระดับต้น ๆ นอกเหนือจากการพัฒนาที่ยั่งยืน ประชาสังคม เศรษฐกิจพอเพียง หรือชุมชนแห่งการเรียนรู้ และเมื่อกล่าวถึงชุมชนเข้มแข็ง หลายคนคงนึกถึง กลุ่มฮักเมืองน่าน
กลุ่มสมุนไพรครบวงจร เพื่อเศรษฐกิจชุมชนบางกะพุ่ม ชมรมอุ้มชูไทอีสาน ศูนย์อินแปง กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ (พระสุบิน มณีโต) เครือข่ายวนเกษตร (ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเสริม) ชุมชนสาคลี ประชาคมคนรักแม่กลอง เครือข่ายอาสาสมัครต่อต้านยาเสพย์ติดชุมชนแออัดคลองเตย กลุ่มเกษตรกรทำสวนไม้เลี้ยง กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านอำเภอสิเกา กลุ่มออมทรัพย์ตำบลคลองเปียะ และกลุ่มอื่น ๆ อีกมากมาย

กลุ่ม หรือชุมชนดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ภาคเหนือ อีสาน กลาง กรุงเทพฯ ลงไปถึงภาคใต้ โดยมีผลการสำรวจพบว่าชุมชนหรือองค์กรที่มีกิจกรรมร่วมมือกันพัฒนาชุมชนมี อยู่ถึง 40,186 กลุ่ม ซึ่งในจำนวนนี้มีกลุ่มที่เข้มแข็งอยู่ประมาณ 13% ดังนั้นคำถามจึงมีว่า ทำไมชุมชนเหล่านั้นจึงเกิดขึ้นและมีความเข้มแข็ง
มีการเรียนรู้
และพึ่งตนเองอยู่ได้ ซึ่งหากจะพิจารณาภาพรวมของการเกิดขึ้น และพัฒนาการของชุมชนเหล่านั้นมีประเด็นที่สมควรพิจารณา ได้แก่ 1. ความตระหนักในปัญหาหรือความต้องการของชุมชน ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่เป็นเรื่องวิกฤติของชุมชน
มีผู้นำของชุมชนลุกขึ้นมานำและเริ่มรวมตัวกลุ่มคน
เพื่อหาทางแก้ปัญหาวิกฤตินั้น ด้วยภูมิปัญญาของตนเองก่อน 2. ความเป็นเครือญาติ หรือความเป็นมิตรต่อกัน ทำให้คนในชุมชนที่มีวิถีชีวิตสัมพันธ์กัน มีความใกล้ชิด มีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ในชุมชนมีการรวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมการพัฒนาร่วมกัน เช่น การออมทรัพย์ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การรักษาป่า หรือการประกอบอาชีพ 3. มีผู้นำชุมชนที่สามารถประสานกลุ่มได้ มีความเสียสละ มีประสบการณ์ในการทำงาน รักและห่วงใยชุมชน มองโลกในแง่ดี มีเครือข่ายแกนนำในการดำเนินงาน เปิดโอกาส
และให้ความเสมอภาคแก่คนในชุมชนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน สนทนากัน และมีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายภายนอกชุมชน และ 4. มีกระบวนการในการแสวงหาความรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งการสนทนากลุ่มเล็ก ๆ การประชุมร่วมกันในชุมชน การศึกษาดูงานต่างชุมชน การเข้ารับการฝึกอบรม การได้รับการถ่ายทอดความรู้จากผู้รู้ หรือเครือข่ายชุมชนอื่น จนทำให้ความรู้ใหม่ ๆ กลายเป็นพลังในการวางแผน ตัดสินใจ การลงมือปฏิบัติงาน ตลอดจนการทบทวนและติดตามการดำเนินงาน

การเชื่อมโยงความคิด ความรู้
และประสบการณ์ของคนในชุมชนจนเกิดความเข้มแข็ง จะมีลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้มุ่งผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหลัก แต่เป็นผลที่มุ่งให้เกิดขึ้นกับชุมชนและไม่ไปกระทบกระเทือนสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งอมรวิชช์ นาครทรรพ เคยสรุปไว้ว่า "ความพยายามที่จะเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งจะพัฒนาไปสู่การร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเรียนรู้ ของคนในชุมชน ซึ่งต้องอาศัยความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างเข้มแข็ง มีหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจร่วมกัน เป็นพลังจิตวิญญาณในการทำงานร่วมกัน เสริมด้วยผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ที่จะกระตุ้นชุมชนให้มีพลังในการเรียนรู้ และปรับตัวในยุคโลกาภิวัตน์"

กระบวน การความเข้มแข็งของชุมชนนี้จะก่อตั้งและเกิดขึ้นในกิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ เช่น กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ (พระสุบิน มณีโต จังหวัดตราด) หรือกลุ่มออมทรัพย์ตำบลคลองเปียะ ที่มีลุงอัมพร ด้วงปาน เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งเกิดจากเงินออมเพียง 2,850 บาท ในปี 2523 และเป็น 50 กว่าล้านบาทในปัจจุบัน หรือกลุ่มฮักเมืองน่าน ที่มีพระครูพิทักษ์นันทคุณ เป็นผู้นำในการใช้วิถีทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางในการพัฒนา จนเกิดการพัฒนาในหลายด้าน ทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ป่า อนุรักษ์แหล่งน้ำ ตลอดจนประกอบอาชีพ ส่วนกิจกรรมการแก้ไขปัญหายาเสพย์ติด เช่น
เครือข่ายอาสาสมัครต่อต้านยาเสพย์ติด
ชุมชนแออัดคลองเตย ที่มีป้านะ หรือป้าอามีนะ บีดีล
เป็นผู้นำคนในชุมชนคลองเตย
มาร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพย์ติด จนอยู่ในภาวะที่สามารถควบคุมได้

องค์ ประกอบสำคัญที่เชื่อมั่นว่าความเข้มแข็งของชุมชนที่เกิดขึ้น จะมีกระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กันเสมอเกิดจากการเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ ปฏิบัติการ ปรับปรุง แก้ไข และประเมินผล จนสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ไปได้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสว่า "การระเบิดจากข้างใน" เพราะผู้นำชุมชนและแกนนำจะร่วมกันคิด และตระหนักในปัญหาของชุมชน และเริ่มกระบวนการเรียนรู้มาจากชุมชนก่อน
อย่างไรก็ตาม
การดำเนินงาน ไม่ใช่จะสำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์โดยง่าย ซึ่งหลายชุมชนก็ดำเนินงานไป ล้มเหลวไป แต่ได้ลุกขึ้นมาร่วมคิด ร่วมแก้ไขปัญหากันต่อไป บางเรื่องก็สำเร็จ บางเรื่องก็ล้มเหลวอีก แต่ก็พยายามต่อสู้จนสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับต่าง ๆ ซึ่งความล้มเหลวแต่ละครั้งนั้น ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนด้วย ซึ่งตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน ทรงเรียกว่า "ขาดทุนคือกำไร" เพราะความล้มเหลว การขาดทุนนั้น ทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ถึงบทเรียนราคาแพง และจะได้พยายามแก้ไขจุดบกพร่อง ไม่เดินไปตามแนวทางเดิมอีก และในที่สุดจะสามารถพลิกฟื้นกลับกลายมาเป็นกำไรได้

ปัจจัยความ สำเร็จของชุมชนที่เข้มแข็ง อาจสรุปได้ด้วยปัจจัย 2 ประการ คือ ปัจจัยภายใน ได้แก่ ความตระหนัก และการทำความเข้าใจในปัญหาของชุมชน
การมีผู้นำในชุมชนทั้งผู้นำที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ขึ้นในชุมชน รวมทั้งความสามารถในการประสาน และเชื่อมโยงกับองค์กรหรือชุมชนภายนอก ส่วนปัจจัยภายนอก ได้แก่ ความร่วมมือ และการสนับสนุนจากองค์กรภายนอก การช่วยเหลือด้านการเงินหากเกิดความจำเป็น การให้ความสำคัญ และความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง จากหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนนี้ งานการศึกษานอกโรงเรียนจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญ
ในการพัฒนาศักยภาพ และเสริมการเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) สามารถมีส่วนส่งเสริม สนับสนุน ในเรื่องการจัดการศึกษานอกโรงเรียนให้กับชุมชนได้อย่างมาก ส่วนหน่วยงาน หรือองค์กรอื่น ๆ ก็มีบทบาทในงานการศึกษานอกโรงเรียนได้เช่นกัน ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยภายนอก ที่จะเป็นกลไกผลักดันการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน

อย่างไรก็ตาม กระบวนการเกิดความเข้มแข็งของชุมชนนั้น ปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลสำเร็จคงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว
ดังนั้นการนำสูตรการปฏิบัติงานจากชุมชนหนึ่ง ไปใช้ในอีกชุมชนหนึ่งจึงอาจได้ผลไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละชุมชนจะมีสถานการณ์ และเงื่อนไขที่หลากหลายแตกต่างกันมาก ดังนั้นแนวทางที่เป็นไปได้ก็คือสิ่งที่ ดร.ทองอยู่ แก้วไทรฮะ อธิบดี กศน. เคยเสนอไว้ว่า "ผู้นำชุมชน และชุมชน ควรเป็นนักวิจัย คือรู้จักนำกระบวนการคิด การวิเคราะห์มาใช้หาทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม" ซึ่งคำกล่าวนี้สามารถใช้เป็นแนวทางของการเรียนรู้ เป็นกระบวนการที่ชุมชนหรือองค์กรสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาชุมชน ให้เข้มแข็งได้ จะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้วคำตอบในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนก็อยู่ที่ ชุมชนนั่นเอง.

ดร.ปาน กิมปี กรมการศึกษานอกโรงเรียน โดยคุณ : ดร.ปาน กิมปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น