++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ระบบที่ไม่สามารถ Undo บทความกระตุกต่อมคิด

» บทความกระตุกต่อมคิด : ระบบที่ไม่สามารถ Undo

เมื่อยี่สิบปีก่อน... ก่อนที่เครื่องคอมพิวเตอร์จะกลายมาเป็นเครื่องมือจัดการเอกสารประจำบ้าน ...เครื่องพิมพ์ดีดเคยทำหน้าที่นี้มาก่อน

เครื่องพิมพ์ดีด มีเสน่ห์อย่างหนึ่ง คือ การทำงานด้วยระบบที่เป็นกลไก ใช้แรงคนในการกดแป้นตัวอักษรให้คานเหล็กที่เกี่ยวกับคานอีกตัวกระดกขึ้น เพื่อให้ตัวอักษรเหล็กนูนกดผ้าหมึกสีดำลงบนกระดาษ

ดังนั้น คนพิมพ์จึงต้องรู้น้ำหนักในการกดหรือเคาะแป้นพิมพ์ เพื่อให้ตัวอักษรกดลงบนผ้าหมึกด้วยความเข้มที่พอดี ๆ

ถ้าแรงเกินไป หมึกจะกระจายขอบตัวอักษรจะไม่คม ถ้าเคาะเบาเกินไปสีหมึกก็จาง

และด้วยระบบกลไกเช่นนี้เอง เมื่อพิมพ์ผิดจึงไม่สามารถถอยหลังมายกเลิก หรือ ใช้คำสั่ง undo ได้ และไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ลบคำผิดยี่ห้อใด ๆ ก็ตาม ก็ยังคงทิ้งร่องรอยไว้บนกระดาษอยู่ดี

ดังนั้น เวลาพิมพ์สัญญาหรือเอกสารสำคัญ ๆ คนพิมพ์จึงมักเกร็งหรือเครียดกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ในความไม่สะดวกสบายนี้กลับทำให้เราพบว่า...

เราถูกฝึกให้มี สมาธิ และ ใส่ใจ กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ หากวอกแวกเมื่อไร ร่องรอยขูดขีดบนกระดาษก็จะประจานเราเมื่อนั้น

::::::::::::::::::

มีเรื่องที่พระไพศาล วิสาโล กล่าวถึงท่านพุทธทาสกับการพิมพ์ดีดไว้ใน เรื่องเล่าวันพระ รู้ธรรมจากความประหยัด ว่า...

ต้นฉบับพิมพ์ดีดจำนวนหลายพันหน้าที่ออกจากสวนโมกข์สมัยที่ท่านพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่นั้น ไม่เคยสัมผัสกับยางลบหมึกเลย

เพราะเมื่อเวลาที่ลูกศิษย์พิมพ์ผิด ท่านจะแนะให้ลูกศิษย์ใช้เข็มซ่อนปลายค่อย ๆ เขี่ยจนหมดรอยหมึก ด้วยเหตุนี้ ลูกศิษย์จึงต้องพิมพ์ดีดอย่างระมัดระวัง

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ทุกวันนี้วิทยาการด้านเทคโนโลยีได้ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพเพื่ออำนวยสะดวกให้กับมนุษย์มากกว่ายุคสมัยใด ๆ ในประวัติศาสตร์

เราสะดวกสบายกว่าแต่ก่อนมาก มากจนแทบไม่ต้องทำอะไรด้วยตัวเอง

เราแทบจะไม่ต้องออกแรง แทบจะไม่ต้องรอคอย และแทบจะไม่ต้องคิดตัดสินใจอะไรเอง

เพียงแค่เอื้อมมือไปกดปุ่ม หยอดเหรียญ หรือใช้ปลายนิ้วสไลด์เบา ๆ สิ่งที่เราต้องการก็ปรากฏอยู่ตรงหน้าในบัดดล

::::::::::::::::::

แต่ตราบเท่าที่จักรวาลยังคงกุมความลับบางอย่างเอาไว้ นักวิทยาศาสตร์ก็จะยังไม่สามารถประดิษฐ์เครื่องมือที่ใช้ undo ชีวิตมนุษย์ได้

และด้วยความที่เราต่างถือกำเนิดขึ้นมาในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง สวนทางกับการเติบโตของจิตวิญญาณที่ถดถอยลงทุกขณะ

โมงยามนี้จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความสับสนและโกลาหลอย่างยิ่งยวด
เราแยกไม่ออกว่าความสุขสบายทางกายกับความสุขสบายทางใจแตกต่างกันอย่างไร

เราถูกค่านิยมที่บิดเบี้ยวบดบังทำให้มองไม่เห็นว่า ลึก ๆ แล้วคุณค่าของเราอยู่ที่ไหน

::::::::::::::::::

เราจึงทำได้เพียงหยิบฉวยเอาความสุขสบายทางกาย และเครื่องประดับภายนอก มาเติมลงไปในจิตใจที่ว่างเปล่า และไม่เคยตั้งคำถามหรือฉุกคิดเลยว่าทำไมมันถึงเติมไม่เต็มเสียที

ทุกครั้งที่เรารู้สึกผิด รู้สึกอับอาย หรือรู้สึกเสียดาย ต่อสิ่งที่ได้กระทำลงไปแล้ว เราไม่สามารถเรียกคืนหรือยกเลิกสิ่งที่ทำลงไปได้

นี่คือ จุดสำคัญที่อยากชี้ชวนให้คุณมาพิจารณา มันไม่ใช่ความไม่สะดวก ไม่ใช่แม้กระทั่งอุปสรรคหรือปัญหาของชีวิต ตรงกันข้าม นี่เป็นเสน่ห์ของชีวิต

สังคมจะวุ่นวายขนาดไหนถ้าเราสักแต่ทำ ๆ โดยไม่คิดถึงสิ่งที่จะตามมา เพราะคิดว่า อย่างไรก็สามารถเรียกคืน หรือลบล้างความผิดพลาดได้อย่างหมดจด

::::::::::::::::::

ภรรยาใช้ไม้หน้าสามตีศีรษะสามีที่กลับดึกและมีกลิ่นเหล้าฟุ้ง ตามด้วยคำผรุสวาทอีก 1 ชุดใหญ่ ก่อนจะลูบหลังเบา ๆ แล้วบอกว่า ที่ผ่านมาเมื่อกี้นั้นขอ undo นะคะ

แม้ไม่ได้มีเจตนาทำร้ายคนฟัง แต่ทันทีที่คำพูดหลุดออกจากปากของเราก็อาจทำให้คนฟังเสียใจไปแล้ว ทั้งที่ลึกๆ แล้ว เราอาจพูดออกไปด้วยความรู้สึกผิดหวังหรือน้อยใจก็ตาม

จึงไม่แปลกที่มีเพื่อนที่ตัดสัมพันธ์อันยาวนานด้วยคำพูดไม่กี่คำ

มีลูกที่คิดฆ่าตัวตายเพราะคำพูดเพียงประโยคเดียวของพ่อแม่

มีคนแปลกหน้าที่เอาปืนยิงกันเพราะคำพูดสองสามคำ ฯลฯ

::::::::::::::::::

วันพรุ่ง คือ หมุดหมายสมมติที่อาจจะมาถึงหรือไม่ก็ได้
ในขณะที่วันวานก็เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว ไม่อาจทวนย้อนกลับมาใหม่ได้

นั่นหมายความว่า เราไม่อาจทำอะไรกับวันพรุ่งหรือวันวานได้ เราจึงมีเพียงโอกาสเดียวเท่านั้น คือ วันนี้

เราสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ตอนนี้ ด้วยการชะลอชีวิตให้ช้าลง ใส่ใจกับสิ่งที่กำลังทำมากขึ้น เลือกวิธีการที่จะได้ใช้ความคิดและออกแรงให้มากขึ้น

ถอดปลั๊กระบบปฏิบัติการอัตโนมัติเสียบ้าง และใช้ชีวิตแบบทำเองกับมือ (Manual) เสียบ้าง ลองใช้ชีวิตแต่ละขณะให้เหมือนกับกำลังกดน้ำหนักลงบนแป้นพิมพ์ ด้วยความใส่ใจและระวัดระวัง

แม้ยามที่เผลอไผลผิดพลาดไป ก็ขอให้คิดว่า ร่องรอยของการขูดขีดจะช่วยย้ำเตือนให้เรายิ่งใส่ใจและระมัดระวังมากขึ้น

แล้วจะพบว่า จำนวนความรู้สึกผิด ความอับอาย และความเสียดายจะลดลง

::::::::::::::::::

Credit บทความ : มะลิ ณ อุษา | คอลัมน์ มองย้อนศร - โพสต์ทูเดย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น