เปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ เปลี่ยนโกรธให้กลายเป็นความไม่โกรธ เปลี่ยนหลงให้กลายเป็นความไม่หลง ความทุกข์ทำให้ไม่ทุกข์ ความโกรธทำให้ไม่โกรธ ความหลงทำให้ไม่หลง”
พวกเราที่ฟังคำบรรยายของท่านเป็นประจำคงเห็นเหมือนอาตมาว่า นี่เป็นข้อความที่ท่านพูดบ่อยมาก และถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่ามีครูบาอาจารย์น้อยคนที่พูดแบบนี้ หรืออาจไม่มีเลยก็ได้
คงไม่ผิดถ้าจะบอกว่าข้อความแบบนี้เป็นเอกลักษณ์ของหลวงพ่อคำเขียนเลยทีเดียว แต่มันเป็นมากกว่าเอกลักษณ์ เพราะมันมีสาระที่ลึกซึ้ง แฝงอยู่ในข้อความในคำพูดเหล่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มาจากความคิดของท่าน แต่เกิดจากประสบการณ์การปฏิบัติ เกิดจากสภาวธรรมที่ท่านได้เห็นและเข้าถึง
“ในทุกข์มีความไม่ทุกข์ ในโกรธมีความไม่โกรธ ในหลงมีความไม่หลง” ข้อความนี้บอกอะไรเราบ้าง มันบอกเราว่า ความทุกข์ก็ดี ความหลงก็ดี ความโกรธก็ดี มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องกำจัด ถ้าเราต้องการแสวงหาความไม่ทุกข์ แสวงหาความไม่โกรธ แสวงหาความรู้ตัว ก็หาได้จากความทุกข์ ความโกรธ และความหลงนั้นเอง
ผู้คนมักจะเข้าใจว่าความทุกข์ ความโกรธ และความหลงเป็นสิ่งที่ต้องกำจัด แต่หลวงพ่อพูดอีกแบบหนึ่งว่า ไม่ต้องกำจัดมันหรอก เพียงแค่ดูให้ดีๆ ในความทุกข์จะพบความไม่ทุกข์ ในความโกรธจะพบความไม่โกรธ ในความหลงจะพบความไม่หลง นักปฏิบัติธรรมจำนวนมากมักมองความทุกข์ ความโกรธ และความหลงว่าเป็นสิ่งที่ต้องกำจัด ต้องทำลาย จึงนำไปสู่การกดข่มผลักไส วิธีนี้มีประโยชน์สำหรับคนที่ต้องการทำความดีและต้องการรักษาศีล เวลามีความโกรธ ความโลภ ความหลงเกิดขึ้นก็ต้องกดข่มเอาไว้ เช่นอยากจะทำร้ายใคร อยากจะด่าใคร อยากจะขโมยของใคร ก็ต้องกดต้องข่มความอยากเอาไว้โดยอาศัยขันติ คือความอดทน ความอดกลั้น อันนี้เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการทำความดี
แต่หลวงพ่อสอนให้เราก้าวไปไกลกว่านั้น คือไม่ใช่แค่ทำดีและเว้นชั่ว แต่ควรฝึกจิตให้เห็นความจริง เพราะปัญญาที่เห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้งเท่านั้นที่จะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ การที่จะมีปัญญาเช่นนั้นได้ก็ต้องเริ่มต้นจากการเห็นความจริงที่ปรากฎในลักษณะต่างๆ รวมทั้งความจริงที่มาในรูปของทุกข์ มาในรูปของความโกรธ มาในรูปของความหลง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรมที่สามารถสร้างปัญญาให้แก่เราได้
พระไพศาล วิสาโล - Phra Paisal Visalo
http://www.visalo.org/article/person15lpKumkien8.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น