++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552

รู้ได้อย่างไรว่า...อ้วนลงพุง/ ผศ.ดร.พญ.มยุรี หอมสนิท ภ.เวชศาสตร์ป้องกันและสังคม

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 กันยายน 2552 07:32 น.
โรคอ้วนลงพุง หรือทางการแพทย์เรียกว่า เมตะบอลิค ซินโดรม
(Metabolic syndrome) เป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม
กินอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง
ร่วมกับขาดการออกกำลังกาย จึงทำให้น้ำหนักมากเกินจนพุงยื่น

หลายคนอาจสงสัยว่า รู้ได้อย่างไรว่าเข้าข่ายอ้วนลงพุงแล้ว
วันนี้เรามีความรู้และคำแนะนำดีๆ มาฝากค่ะ

สำหรับคนไทย โดยปกติ ผู้ชาย ไม่ควรมีรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร
ส่วนผู้หญิง ไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตร
แต่ผู้ที่มีปัญหาอ้วนลงพุงมักจะมีความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่
1.ความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ 130/80 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
(ความดันโลหิตตัวใดตัวหนึ่งสูงก็ถือว่าผิดปกติ)
2.น้ำตาลในเลือดสูง ตั้งแต่ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
3.ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สูง ตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
4.โคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL cholesterol) ต่ำกว่า 40
มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สำหรับผู้ชาย และผู้หญิง ต่ำกว่า 50
มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

การ มีความผิดปกติต่างๆ เหล่านี้
ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
อัมพาตที่เกิดจากหลอดเลือดสมองอุดตันทำให้สมองขาดเลือด นอกจากนี้
ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน
และยังอาจก่อให้เกิดโรคตับเรื้อรังจากการที่มีไขมันสะสมอยู่ในเนื้อตับซึ่ง
นำไปสู่โรคตับแข็งได้

**สัญญาณบอกเหตุ

มีหลายคนมองจากภายนอกไม่พบความผิดปกติใดๆ ยกเว้น "อ้วนลงพุง"
ถ้าไม่ได้รับการตรวจสุขภาพก็จะไม่รู้ว่ามีความดันโลหิตสูง น้ำตาลสูง
หรือมีไขมันผิดปกติแฝงอยู่ บางรายที่ความดันโลหิตสูงอาจมีอาการปวดศีรษะ
หรือเวียนศีรษะ ส่วนรายที่น้ำตาลในเลือดสูงเข้าขั้นเบาหวานอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย
กระหายน้ำบ่อย หรือมีอาการอื่นๆ ของโรคเบาหวานร่วมด้วย
สำหรับผู้ที่มีปัญหาต่างๆ เหล่านี้มานาน และไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพ
อาจมีภาวะของโรคแทรกซ้อน เช่น เจ็บหน้าอก หัวใจวาย หรืออัมพาตในที่สุด

**ใครๆ ก็มีสิทธิ์เสี่ยงจริงหรือ

ใช่แล้วค่ะ ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคอ้วนลงพุงได้
โดยเฉพาะผู้ที่น้ำหนักเกิน
ซึ่งผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าเด็กหรือหนุ่มสาว แต่ส่วนใหญ่
กลุ่มอาการนี้เป็นผลจากการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม กินอาหารที่มีพลังงานสูง
กินล้นกินเกิน และการใช้ชีวิตแบบนั่งๆ นอนๆ ไม่ค่อยออกกำลังกาย
ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานจากสารอาหารมากขณะที่การใช้พลังงานในชีวิตประจำ
วันน้อยลง ทำให้พลังงานส่วนเกินซึ่งถูกสะสมอยู่ในรูปของเนื้อเยื่อไขมันที่พอกพูนอยู่
ในช่องท้องรวมทั้งส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ส่งผลให้เกิดความผิดปกติอื่นๆ
ตามมาอย่างต่อเนื่อง

-2-

ที่ร้ายก็คือ ไขมันในช่องท้องนี้สามารถหลั่งสารต่างๆ
ที่มีผลเสียต่อการทำงานของร่างกาย เช่น
ทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายตอบสนองต่อการทำงานของอินซูลิน
ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้น้อยลง
ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น สารบางชนิดทำให้มีระดับความดันโลหิตสูงขึ้น
และยังก่อให้เกิดความผิดปกติอื่นๆ
อีกมากมายที่ส่งผลให้หลอดเลือดแดงมีโอกาสเกิดการอุดตันจากคราบไขมันที่ไป
สะสมอยู่ในหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น

**กินอย่างฉลาดช่วยได้

การมีสุขภาพดีและรูปร่างที่สมส่วน ไม่ใช่เป็นเรื่องยาก เริ่มจาก

1.กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม
โดยสัดส่วนของอาหารที่กินในแต่ละมื้อควรประกอบด้วย
- ผักครึ่งหนึ่งของอาหารทั้งหมด
- อีกก ? เป็นข้าวหรือแป้ง
- อีก ? เป็นเนื้อสัตว์หรือโปรตีน
ไขมันนั้นมีอยู่ในอาหารส่วนใหญ่อยู่แล้วจากการประกอบอาหาร

ทั้งนี้ ปริมาณอาหารที่กินขึ้นกับน้ำหนักตัว
หากน้ำหนักมากเกินไปก็ต้องลดปริมาณอาหารลง หากน้ำหนักเหมาะสมอยู่แล้ว
ก็ต้องกินให้พอดีเพื่อไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงขนมหวาน
เครื่องดื่มหวานๆ ลูกอม ช็อกโกแลต ไอศกรีม เค้ก คุกกี้ ขนมอบ ของทอด
หรือกินแต่น้อย เนื่องจากให้พลังงานสูง ทำให้อ้วนได้ง่าย

2.การออกกำลังกาย มีประโยชน์มากในการควบคุมน้ำหนัก ช่วยลดน้ำตาล
ลดไขมันร้ายทั้งโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ เพิ่ม HDL ซึ่งเป็นไขมันดี
และช่วยลดความดันโลหิต ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป
สัปดาห์ละ 3 - 5 ครั้ง โดยอาจเลือกเล่นกีฬาที่ชอบ เช่น แบดมินตัน ว่ายน้ำ
เต้นแอโรบิก เดินเร็ว หรือวิ่งจอกกิ้ง เป็นต้น

สำหรับผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน อาจเริ่มออกกำลังกาย 5-10
นาทีก่อน แต่เมื่อทำสม่ำเสมอแล้ว จะทำได้นานและหนักขึ้น นอกจากนี้
ควรเพิ่มกิจกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อช่วยเผาผลาญพลังงานเช่น
เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟท์ ทำงานบ้าน ทำสวน เป็นต้น

**การรักษา

สำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุงแล้ว
การกินอาหารอย่างเหมาะสมและออกกำลังกายสามารถช่วยให้ความผิดปกติต่างๆ
เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และมีโอกาสกลับมาเป็นปกติได้

ส่วนผู้ที่จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยา เช่น
ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือไขมันในเลือดผิดปกติ
ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการรักษาอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ส่วนใหญ่เป็นผลจากพฤติกรรมของคนเรา คุณเท่านั้นที่จะช่วยได้
ด้วยกำลังใจและความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง ขอเอาใจช่วยค่ะ


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000104767

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น