รายงานโดย วรรณภา บูชา
1 ก.ย.2552 ที่ผ่านมา...คณะรัฐมนตรี (ครม.)
มีมติให้ขยายความคุ้มครองคู่สมรสที่จดเบียน และบุตร
ตามกฎหมายของผู้ประกันตนจำนวน 5.8 ล้านคน
จากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปใช้สิทธิประกันสังคม
ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้นั้น
มีข้อดีข้อเสียอย่างไร หรือประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือไม่
ทั้งนี้
เนื่องจากหากพิจารณาสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลแล้วทั้ง 2 ระบบ
ถือว่ายังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่มาก
โดยเฉพาะสิทธิของการรักษาพยาบาลของประกันสังคมบางส่วนยังด้อยกว่าสิทธิที่
ได้จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ยกตัวอย่างเช่นใน
เรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังของ
สปสช.ที่ส่งเสริมให้ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง
ผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน
ไม่ต้องมาโรงพยาบาลไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพราะมีเจ้าหน้าที่ส่ง
น้ำยาล้างไตให้ถึงบ้าน ขณะที่
สปส.ให้ความสำคัญกับการล้างไตด้วยเครื่องไตเทียมมากกว่า
และแม้ว่าจะมีหน่วยบริการล้างไตผ่านช่องท้อง
แต่ก็อาจจะไม่มีระบบส่งน้ำยาล้างไตให้ถึงบ้าน
หรือในกรณีของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยบัตรทองมีโอกาสเข้าถึงการ
รักษาและยารักษามากกว่า
เพราะผลการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล)
นอกจากนี้ยังให้บริการรากฟันเทียมและข้อเข้าเทียม
หรือแม้แต่การได้รับค่าชดเชยความเสียหายเบื้องต้นทางการแพทย์และสาธารณสุข
ตามมาตรา 41 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 สูงสุดถึง 2
แสนบาท ซึ่งในระบบประกันสังคมไม่มีตรงจุดนี้
อย่างไรก็ตาม หากถามว่า ใครจะได้ประโยชน์มากที่สุด
จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คงต้องต้นหาคำตอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
"สุบิล นกสกุล" ประธานชมรมเพื่อนโรคไต มองว่า
ผู้ป่วยบัตรทองมีสิทธิในการรักษาพยาบาลที่ดีอยู่แล้ว
ตัวอย่างที่ชัดคือสิทธิประโยชน์การรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเพราะมี
ผู้ป่วยไตวายอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการดูแลแม้จะเป็นผู้ประกันตนและเสีย
เงินทุกเดือน เนื่องจากต้องมีการพิสูจน์ก่อน
อีกทั้งหากโอนไปให้ประกันสังคมจะมีปัญหาว่ารัฐบาลจะนำเงินมาจากส่วนไหน
ดังนั้น จึงยังไม่เห็นประโยชน์จากนโยบายนี้ของรัฐบาล
เพราะหากรัฐบาลต้องการให้แต่ละกองทุนมีการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกันจริงๆ
รัฐบาลควรตัดสินใจรวมกองทุนเลยดีกว่าหรือไม่
เช่นเดียวกับ "นิมิตร์ เทียนอุดม"
ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ของรัฐบาลอย่าง
ยิ่ง เนื่องจากมองว่า
สปส.ไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการในเรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชนโดย
เฉพาะ ทำให้ผู้ประกันตนไม่ได้รับการดูแลที่ดี
เพราะต้องดูแลสิทธิประโยชน์หลายเรื่อง ดังนั้น
แทนที่จะขยายสิทธิด้านการรักษาพยาบาลควรจะเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆ
ของผู้ประกันตน เช่น
ขยายวงเงินในระบบกองทุนชราภาพให้มีศักยภาพในการดูแลผู้ประกันตนยามชราได้
จริง อาจเป็นประโยชน์กับผู้ประกันตนมากกว่า
หรือกรณีผู้ประกันตนได้รับการเจ็บป่วยจากการประกอบอาชีพ
ซึ่งมักจะไม่ได้รับการสนใจอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพควรเป็นหน้าที่ขององค์กรที่ดูแลเฉพาะเพื่อให้เป็นไปในมาตรฐาน
เดียวกัน ซึ่ง สปสช.สามารถที่จะบริหารจัดการได้ดีกว่าอย่างแน่นอน
"ผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างแน่นอนคือ
โรงพยาบาลเอกชน ที่เป็นคู่สัญญากับประกันสังคม
เพราะกลุ่มผู้ที่จะย้ายไปอยู่ประกันสังคมเป็นหนุ่มสาวที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง
ทำให้โรงพยาบาลเอกชนได้ค่าหัวเพิ่มขึ้น
โดยที่คนกลุ่มนี้อาจไม่เคยเข้าไปใช้บริการเลย ขณะที่
สปสช.ต้องแบกรับภาระผู้อายุที่มีอัตราการป่วยด้วยโรคที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
สูง อีกทั้งน่าสงสัยว่า ระบบการบริการจัดการของ
สปส.สามารถตรวจสอบได้ยากอาจเป็นช่องทางให้เกิดกรณีการทุจริตได้ง่าย
กลายเป็นการเตะหมูเข้าปากหมา
มีโอกาสที่จะเกิดการฉวยประโยชน์จากเงินกองทุนได้อย่างง่ายๆ หรือไม่
เนื่องจากบอร์ด สปส.ไม่มีความเข้มแข็ง
ตัวแทนแรงงานเองก็ไม่มีความความเข้าใจในสิทธิของตนอย่างแท้จริง"
นิมิตร์ ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า หากรัฐบาลมองว่า
นโยบายนี้จะเป็นการได้คะแนนเสียงจากประชาชน ถือเป็นความคิดที่ผิด
แทนที่จะได้คะแนนน่าจะเสียคะแนนมากกว่าเพราะแสดงถึงความไม่เข้าใจระบบการ
รักษาสุขภาพของประเทศ ไม่รู้จุดเด่นจุดด้อยของระบบสุขภาพของแต่ละกองทุน
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000103607
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น