++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

กระแสต่อต้านการเสริมสร้างทุนทางสังคม

โดย ไสว บุญมา 25 กันยายน 2552 17:50 น.
โดย...ไสว บุญมา

เมื่อวันที่ 11 ผมเรียนว่าการจะพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป
สังคมไทยต้องเสริมสร้างทุนทางสังคมให้แข็งแกร่งขึ้น วันนี้จะเรียนว่า
การทำเช่นนั้นนับวันจะยิ่งยากเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่ขับเคลื่อน
วิวัฒนาการโลกจะเป็นอุปสรรคที่หนักหนาสาหัสขึ้น ปัจจัยพื้นฐานมี 4
อย่างด้วยกันคือ ทรัพยากร จำนวนคน การบริโภคของแต่ละคนและเทคโนโลยี
เราทราบดีแล้วว่าโลกมีทรัพยากรจำกัด นั่นเป็นสัจพจน์
ขณะนี้โลกมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 6,800 ล้านคนแล้ว ทุกคนต้องบริโภค
หรือใช้ทรัพยากรเพื่อยังชีวิต เทคโนโลยีถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา
มันมีคุณอนันต์แต่มักแฝงโทษมหันต์มาด้วย

ก่อนเกิดยุคเกษตรกรรมเมื่อเกือบ 10,00 ปีที่แล้ว
โลกมีประชากรประมาณ 5 ล้านคนซึ่งดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่าและล่าสัตว์
จึงจำกัดการบริโภคเท่าที่หาได้
เทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นในตอนนั้นได้แก่การรู้จักปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์
ซึ่งเอื้อให้ผลิตอาหารได้มาก เมื่อมีอาหาร คนโบราณก็ผลิตลูกเพิ่ม
พวกเขามีเวลาแสวงหาความก้าวหน้าและสร้างอาณาจักรต่างๆ ขึ้นด้วย
แต่การเพิ่มขึ้นของประชากรและการสร้างอาณาจักรเหล่านั้นนำไปสู่การใช้
ทรัพยากรมากขึ้น
มันเป็นคำสาปของเทคโนโลยีใหม่เมื่อมันนำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อมและการแย่ง
ชิงทรัพยากรกันอย่างเข้มข้นจนในที่สุดอาณาจักรทั้งหลายก็ล่มสลายลง
ไม่ว่าจะเป็นบาบิโลน โรมัน หรือมายา

โลกตกอยู่ในยุคเกษตรกรรมหลายพันปีก่อนที่เทคโนโลยีใหม่ซึ่งได้แก่
เครื่องจักรกลจะเกิดขึ้นเมื่อราว 250 ปีที่ผ่านมา
ตอนนั้นประชากรโลกเพิ่มเป็นประมาณ 800 ล้านคน
เครื่องจักรกลทำให้เกิดยุคอุตสาหกรรมอันมีโรงงานขนาดใหญ่ที่จูงใจคนงานให้
ทิ้งถิ่นฐานบ้านเดิมไปรับงานใหม่ในเมือง
พวกเขามักถูกเอาเปรียบจากนายจ้างยังผลให้เกิดความแตกต่างอย่างฟ้ากับดินของ
คนสองชนชั้น ความแตกต่างนั้นผลักดันให้เกิดแนวคิดระบบคอมมิวนิสต์
ระบบนี้แตกต่างกับระบบตลาดเสรีซึ่งมีมาก่อนแล้วคือ
รัฐเป็นเจ้าของทรัพยากรทุกอย่างและจะสั่งใครทำอะไรก็ได้
ในขณะที่ในระบบตลาดเสรี
เอกชนมีสิทธิ์เป็นเจ้าของทรัพยากรและมีอิสระที่จะประกอบอาชีพ

ความก้าวหน้าทางการรักษาพยาบาลที่เกิดพร้อมๆ
กันกับเครื่องจักรกลทำให้จำนวนคนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและการแย่งชิง
ทรัพยากรเข้มข้นจนเกิดการล่าอาณานิคมและสงครามน้อยใหญ่ไปทั่วโลก
สงครามเย็นเป็นสงครามที่ฝ่ายตลาดเสรีต่อสู่กับฝ่ายที่ใช้ระบบคอมมิวนิสต์
ซึ่งมีผลทั้งในด้านการค้นพบเทคโนโลยีใหม่และการทำลายทรัพยากรที่ใช้สร้าง
อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เพื่อทำลายล้างกัน
ในบรรดาเทคโนโลยีใหม่ได้แก่เทคโนโลยีดิจิตอลซึ่งขับเคลื่อนให้เกิดยุค
สารสนเทศเมื่อราว 30 ปีที่ผ่านมา แม้ฝ่ายคอมมิวนิสต์จะแพ้สงครามเย็น
แต่การแย่งชิงทรัพยากรยังเข้มข้นเพราะจำนวนคนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ร้ายยิ่งกว่านั้น เกือบทุกคนยังต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุด
เทคโนโลยีใหม่ช่วยแก้ปัญหาได้มากแต่ก็พกเอาคำสาปมาด้วยเช่นเดิม
โดยเฉพาะการหลอมรวมตลาดเงินเป็นตลาดเดียวกันจนทำให้การโยกย้ายเงินจำนวน
มหาศาลสามารถทำได้ภายในพริบตา
เมืองไทยได้รับผลร้ายของการโยกย้ายเงินแบบนี้เมื่อกลางปี 2540

การบริโภคที่เพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุดนี้มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัว
หน้าใหญ่ซึ่งผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุดโดยการให้
เสรีภาพแก่ภาคเอกชนจนระบบตลาดเสรีเลื่อนไปตกขอบ
แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวจนเอื้อให้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่บริโภคได้มากจนอ้วนเกิน
พอดีและแต่ละคนใช้ทรัพยากรราว 6 เท่าของชาวโลกแล้ว
แต่ชาวอเมริกันยังต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น
วิธีที่พวกเขาจะทำได้คือการสร้างความร่ำรวยมหาศาลซึ่งมีค่าทำกับการแย่งชิง
ทรัพยากรมาไว้ในครอบครองนั่นเอง
กระบวนการนี้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ นั่นคือ
หนุ่มสาวอเมริกันที่มีมันสมองปราดเปรื่องนิยมเรียนวิชาบริหารธุรกิจแทนการ
เรียนสาขาที่นิยมกันมาก่อน เช่น แพทย์
เมื่อเรียนจบก็มักไปทำงานในภาคการเงินเพื่อหวังสร้างความร่ำรวยอย่างรวดเร็ว
ส่วนหนึ่งทำได้ แต่อีกส่วนหนึ่งกลับใช้การละเมิดจรรยาบรรณและการฉ้อโกง

วิธีการสร้างความร่ำรวยที่สำคัญได้แก่การสร้างนวัตกรรมทางการเงิน
อาทิ การสร้างตราสารหนี้ขึ้นจากดัชนีและหนี้อื่นๆ
แล้วนำมาขายในรูปของอนุพันธ์
และการตั้งกองทุนขนาดใหญ่เพื่อใช้เก็งกำไรและโจมตีค่าเงิน
เมืองไทยได้เห็นพิษสงของกิจกรรมจำพวกนี้เมื่อปี 2540
วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันก็เกิดจากกระบวนการเดียวกัน นั่นคือ
ชาวอเมริกันจำนวนมากก่อหนี้จนเกินระดับที่ตนสามารถชำระได้เพื่อนำเงินไปซื้อ
บ้าน

การก่อหนี้นั้นได้รับการช่วยเหลือจากนายหน้าซึ่งลดมาตรฐานของการให้
กู้และบางคนทำผิดกฎหมายด้วยการสร้างหลักฐานเท็จขึ้น เมื่อให้กู้ไปแล้ว
พวกเขาก็นำสัญญาหนี้ไปขายให้สถาบันการเงินซึ่งนำสัญญาเหล่านั้นมารวมกันแล้ว
แยกขายในรูปของอนุพันธ์ต่างๆ
ผู้ที่ซื้อไปไม่รู้แม้กระทั่งความเสี่ยงเพราะคิดแต่เพียงว่าจะทำกำไรได้
อย่างงดงาม นั่นเป็นการลงทุนที่มีจรรยาบรรณต่ำมาก
เทคโนโลยีใหม่เอื้อให้การซื้อขายอนุพันธ์จำนวนมหาศาลเกิดขึ้นได้เพราะมันทำ
ให้ตลาดเงินไร้พรมแดนแล้ว
กระบวนการนี้เป็นไปหลายรอบจนกระทั่งถึงวันที่ลูกหนี้จำนวนมากไม่สามารถชำระ
หนี้ได้ตามสัญญา ชนวนวิกฤตก็ถูกจุดให้ปะทุออกมาเมื่อกลางปี 2550

ปรากฏการณ์หลายอย่างในเมืองไทยอาจอธิบายได้ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่ผลัก
ดันให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรกันนี่เอง
ความไร้จรรยาบรรณของชนชั้นพ่อค้าและความฉ้อฉลของชนชั้นผู้นำที่หาทางสร้าง
ความร่ำรวยแบบไม่มีที่สิ้นสุดเป็นปรากฏการณ์เลวร้ายที่เห็นได้ชัดยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีร่วมสมัยช่วยให้การฉ้อฉลและการซุกซ่อนกลโกงทำได้ง่าย
การสั่งจ่ายสินบนในต่างประเทศ การโยกย้ายเงินไปซุกไว้ในเกาะต่างๆ
และการถอนเงินนั้นมาใช้ในการป่วนบ้านป่วนเมืองล้วนทำได้ภายในพริบตา
แต่สังคมไทยก็ใช่จะโดดเดี่ยวเพราะประเทศที่ก้าวหน้า เช่น
สหรัฐอเมริกาก็มีความฉ้อฉลเพิ่มขึ้นเช่นกัน

หากเราอ่านหนังสือชื่อ Are We Rome? ซึ่งมีบทคัดย่ออยู่ในเว็บไซต์
www.sawaiboonma.com ยิ่งกว่านั้น
การแย่งชิงทรัพยากรกันในระดับประเทศก็เข้มข้นขึ้นด้วย
เกือบทุกสัปดาห์จึงมีรายงานว่าจีนไปซื้อบริษัทขนาดยักษ์ที่ผลิตวัตถุดิบจาก
ทั่วสารทิศ กระบวนการนี้มิใช่ของใหม่เพราะบริษัทใหญ่ๆ
ของฝรั่งทำกันมานานแล้ว

ในภาวะเช่นนี้เรามีทางออกอย่างไร?
อันที่จริงคนไทยเคยมองการณ์ไกลมาก่อน
จึงได้ลดอัตราการเกิดของประชากรลงอย่างรวดเร็ว
แต่เราต้องพยายามลดต่อไปจนกว่าประชากรไทยจะไม่เพิ่มขึ้น
นั่นหมายความว่าคู่สามีภรรยาโดยทั่วไปไม่ควรมีลูกเกินสองคน อย่างไรก็ตาม
การบริโภคของแต่ละคนยังเพิ่มขึ้นทั้งที่บางส่วนไม่มีความจำเป็น ฉะนั้น
ผู้ที่เห็นว่าตนบริโภคเกินก็ควรลดส่วนนั้นลงบ้าง เกี่ยวกับประเด็นนี้
รัฐบาลมีบทบาทสำคัญ นั่นคือ
ใช้มาตรการจูงใจให้ผู้ที่ยังไม่ค่อยตระหนักถึงผลเสียของการใช้ทรัพยากรเกิน
ความจำเป็นให้หยุดยั้งและลดละการกระทำเช่นนั้น

ผมได้เสนอแนวคิดสำหรับมาตรการต่างๆ ไว้ในหนังสือชื่อ "ทางข้ามเหว
: แนวคิดสำหรับแก้วิกฤตไทย" ซึ่งคุณหมอนภาพร
ลิมป์ปิยากรได้จัดพิมพ์เพื่อนำส่วนหนึ่งไปมอบให้ผู้ที่อาจมีบทบาทในการ
เปลี่ยนแปลงสังคมอ่านรวมทั้งผู้ที่อยู่ในรัฐบาลด้วย
แก่นของหนังสือคือการเสนอแนะว่าจะนำพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่แนว
ปฏิบัติอย่างจริงจังได้อย่างไร
แต่ขณะนี้คงไม่มีใครใส่ใจกับหนังสือเล่มนั้น
เพราะนอกจากมันจะกลั่นออกมาจากสมองของปลาซิวปลาสร้อยแล้ว
รัฐบาลยังกำลังประสบกับความกดดันรอบด้านโดยเฉพาะจากคนฉ้อฉลที่ปะปนอยู่ใน
รัฐบาลเองและจากพวกพ้องของนายกรัฐมนตรีขี้ฉ้อฉลสามคนที่พ้นอำนาจไป

ปัจจัย ทั้งหลายทั้งปวงที่ผมเล่ามานี้จะมีผลผลักดันให้กระแสต่อต้านการเสริมสร้าง
ทุนทางสังคมนับวันจะยิ่งเชี่ยวกรากขึ้น ฉะนั้น
หากคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนัก
ไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่เหมาะสมกว่า
ไม่อาสาเข้ามาทำงานเพื่อส่วนรวมบ้างและไม่ช่วยกันขัดขวางคนเลว หรือดูดาย
โอกาสที่เมืองไทยจะพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปมีเพียงน้อยนิด

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000112814

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น