ท่านผู้อ่านที่เคารพ
อาจารย์ปราโมทย์ให้เกียรติผมโดยส่งคทาของคอลัมน์ "คิดถึงเมืองไทย"
มาให้ คอลัมน์นี้มีประวัติยาวนานและกล่าวได้ว่าผู้ถือคทาล้วนสวมรองเท้าเบอร์
14-15 กันทั้งสิ้น ผมสวมรองเท้าเบอร์ 9
ฉะนั้นผมจะไม่สามารถวัดรอยเท้าของท่านเหล่านั้นได้แน่
แต่เมื่อรุ่นพี่ที่ผมเคารพรักและหนังสือพิมพ์ผู้จัดการให้ความไว้วางใจ
ผมก็จะพยายามรักษาอุดมการณ์ของคอลัมน์ไว้อย่างสุดความสามารถ
ขอเรียนว่าผมรับคทามาในฐานะผู้สืบทอดอุดมการณ์โดยจะประสานให้นักวิชาการสลับ
กันเขียน
ในขณะนี้เรามีผู้เขียน 4 คนรวมทั้งผมด้วย
ท่านได้อ่านงานของคุณทวิช จิตรสมบูรณ์ คุณวิทยา วชิระอังกูร
และคุณสุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธ์ บ้างแล้ว อีกไม่นานคุณชำนาญ พิเชษฐพันธ์
เนติบัณฑิตอังกฤษซึ่งมีลำนำชีวิตโดดเด่นและประสบการณ์หลากหลายจะมาร่วมหัวจม
ท้ายด้วย ในวันข้างหน้า คงจะมีผู้กระโดดเข้ามาร่วมเขียนเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้นอาจารย์ปราโมทย์ก็คงจะกลับมาเขียนบ้างเป็นครั้งคราวเมื่ออาจารย์
คันไม้คันมือขึ้นมาและพอหาเวลาได้
สำหรับวันนี้ซึ่งอาจารย์ปราโมทย์บอกว่าเป็นฤกษ์ดีเพราะเป็นวาระครบ
รอบ 8 ปีที่สหรัฐอเมริกาถูกถล่มด้วยผู้ก่อการร้ายที่ใช้เครื่องบินโดยสารเป็นอาวุธ
ผมขออนุญาตโหมโรงด้วยเรื่องก้อนเส้าซึ่งคงมีพวกเราไม่กี่คนเคยเห็น
ผมมองว่าอาจารย์ปราโมทย์และผู้เขียนคอลัมน์ "คิดถึงเมืองไทย"
ในอดีตพยายามเสริมสร้างก้อนเส้าก้อนหนึ่งติดต่อกันมาเป็นเวลานาน
ย้อนไปในสมัยก่อน
ชาวบ้านที่ออกไปทำงานในป่าและตามท้องไร่ปลายนาต้องหาก้อนหินหรือก้อนดินที่
สูงเท่าๆ กันมาตั้งเป็นสามเส้าแล้วก่อไฟตรงกลางเพื่อตั้งหม้อหุงข้าว
ก้อนเส้าต้องแข็งแกร่งและสูงเท่าๆ กัน มิฉะนั้นหุงข้าวไม่ได้
ผมใช้ก้อนเส้าหุงข้าวเป็นประจำเมื่อครั้งยังอยู่กับพ่อแม่ในทุ่งนา
จากมุมมองของการใช้ก้อนเส้า
เมืองไทยของเราประสบปัญหาหนักหนาสาหัสอยู่ในขณะนี้เพราะตกอยู่ในภาวะที่มี
ก้อนเส้าไม่เท่ากัน ตั้งแต่วันที่เมืองไทยเริ่มเร่งรัดพัฒนาเมื่อราว 50
ปีก่อน เราพยายามเสริมสร้างก้อนเส้าก้อนหนึ่งซึ่งมักเรียกกันว่าการลงทุน
รัฐบาลใช้เงินจำนวนมหาศาลก่อสร้างปัจจัยพื้นฐานจำพวกถนนหนทาง ท่าเรือ
สนามบิน เขื่อนและโรงไฟฟ้า
นอกจากนั้นก็มีการกระตุ้นการลงทุนในโรงงานและการผลิตชนิดอื่นผ่านรัฐ
วิสาหกิจและการจูงใจให้เอกชนทำ ทั้งเอกชนคนไทยและชาวต่างประเทศ
เนื่องจากรัฐบาลมีรายได้ไม่พอต่อการลงทุนเหล่านั้น
จึงไปกู้เงินจากต่างประเทศมาเพิ่มทั้งจากธนาคารเพื่อการพัฒนา เช่น
ธนาคารโลกและจากภาคเอกชน
รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนและการนำเงินทุนเข้ามาจากต่างประเทศผ่าน
แรงจูงใจต่างๆ เช่น การยกเว้นภาษี
การลงทุนเหล่านั้นเป็นการลงทุนทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการผลิตโดยตรงซึ่งก็
มีผลให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ทั้งในด้านการมีปัจจัยพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง
และการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นยกเว้นในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น
ในขณะนี้และเมื่อปี 2540
พร้อมๆ กับการลงทุนทางเศรษฐกิจ
เราลงทุนทางด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยควบคู่กันไปด้วย
รัฐบาลและเอกชนใช้เงินจำนวนมหาศาลในด้านนี้ซึ่งก็มีผลให้เห็นเป็นที่
ประจักษ์เช่นกัน
ทั้งในรูปของโรงเรียนชั้นประถมซึ่งกระจายออกไปถึงชุมชนห่างไกลและในรูป
ของมหาวิทยาลัยซึ่งเพิ่มขึ้นนับสิบเท่าจากเดิมที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ เพียง
5 แห่ง ตอนนี้เมืองไทยจึงมีผู้เรียนจบมหาวิทยาลัยนับล้านคนและประชาชนโดยทั่วไปมี
ความเชี่ยวชาญในด้านเทคนิคต่างๆ สูงกว่าในสมัยเมื่อ 50 ปีที่แล้ว
กระบวนการลงทุนทางเศรษฐกิจและการศึกษาที่กล่าวมานั้นเกิดขึ้นทั้งใน
เมืองไทยและในต่างประเทศ นักพัฒนาเคยหวังกันว่าหลังเวลาผ่านไป 50 ปี
ประเทศต่างๆ จะก้าวหน้าจนทัดเทียมกับประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปตะวันตก
สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น แต่ความจริงหาเป็นเช่นไม่
เพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ทำได้ เช่น เกาหลีใต้และสิงคโปร์
ในขณะที่ส่วนใหญ่ยังตกอยู่ในสภาพเดิมๆ
ผู้สนใจในกระบวนการพัฒนาจึงพยายามค้นหาสาเหตุและได้ข้อสรุปซึ่งส่วนใหญ่ชี้
ไปที่การมีทุนด้านที่สามไม่เพียงพอ
ด้านนี้มีชื่อว่าทุนทางสังคมซึ่งไม่มีใครให้ความใส่ใจมาก่อนทั้งที่เคยมีผู้
ศึกษามานานแล้ว ยิ่งกว่านั้นเมื่อมีผู้เสนอว่ามันมีความสำคัญ
ผู้นั้นก็มักถูกโจมตี เริ่มจากวันที่ปราชญ์ชาวเยอรมันชื่อแมกซ์ เวเบอร์
เขียนหนังสือชื่อ The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism
เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว
เมื่อไม่นานมานี้อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดชื่อ เดวิด แลนเดส
เขียนหนังสือออกมาชื่อ The Wealth and Poverty of Nations
หลังจากได้พยายามแสวงหาปัจจัยที่อธิบายความล้มเหลวและความสำเร็จของประเทศ
ต่างๆ ทุนทางสังคมเป็นปัจจัยหนึ่งถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ใช้คำนี้โดยตรงก็ตาม
ข้อสรุปของเขาได้รับการโจมตีคล้ายกับของเวเบอร์
ตอนนี้เริ่มมีการศึกษาเรื่องทุนทางสังคมมากขึ้น
ตัวอย่างของการศึกษาในประเทศที่ก้าวหน้ามากแล้วได้แก่งานของอาจารย์มหาวิทยา
ลัยฮาร์วาร์ดอีกคนหนึ่งชื่อโรเบอร์ต พัทนัม ซึ่งรวมเป็นหนังสือชื่อ
Bowling Alone ส่วนตัวอย่างของการศึกษาในประเทศที่ก้าวหน้าน้อยลงมาได้แก่งานของอาจารย์
มหาวิทยาลัยดุ๊กชื่อ อนิรุธ กฤษณา ซึ่งพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อ Active
Social Capital หนังสือเล่มนี้เป็นผลการวิจัยหมู่บ้านในอินเดีย 69
แห่งซึ่งสรุปว่า ทุนทางสังคมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา
ในการทำงานของระบอบประชาธิปไตยและในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
สองคนนี้ให้คำจำกัดความของทุนทางสังคมว่า เครือข่าย
ฐานทางคุณธรรมและความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งเอื้อให้เกิดการประสานงานและการทำงานร่วมกันให้สัมฤทธิผล
หากนำคำจำกัดความนั้นมาเป็นฐานของการประเมินวิวัฒนาการและเหตุการณ์
ในเมืองไทย เราคงได้แง่คิดชนิดเถียงกันไม่รู้จบเช่นเดียวกับข้อสรุปของเวเบอร์และแลนเดส
ที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งเพราะในบรรดาทุนทั้งสามอย่าง
ทุนทางสังคมวัดยากที่สุด
ยังผลให้นำไปใช้พิสูจน์สมมติฐานได้ยากกว่าทุนอีกสองอย่าง
หลังจากได้คลุกคลีกับการพัฒนามานาน ผมแน่ใจว่า
ทุนทางสังคมเป็นก้อนเส้าก้อนที่สามที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าก้อนอื่น
และเมืองไทยจะไม่สามารถแก้ไขเหตุการณ์ปัจจุบันได้และพัฒนาต่อไปอย่างมั่นคง
หรืออีกนัยหนึ่งหุงข้าวไม่สำเร็จ
ถ้าไม่ลงทุนสร้างเสริมก้อนเส้าก้อนนี้ให้มีความสูงและแข็งแกร่งทัดเทียมกับ
ก้อนอื่น
คำจำกัดความรวมคำว่า "ฐานทางคุณธรรม" อยู่ด้วย
คำนี้มีความลุ่มลึกมากจนยากแก่ผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญทางด้านสังคมศาสตร์
เช่น ผมจะอธิบายจากมุมมองของการพัฒนา ผมมองง่ายๆ ว่ามันคือ
การทำตามกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมที่จะยังผลให้สมาชิกของสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่าง
ราบรื่น สังคมไหนมีการทำตามกฎเกณฑ์ของสังคมมาก สังคมนั้นมีทุนทางสังคมสูง
ตรงข้าม การไม่ทำตามกฎเกณฑ์ของสังคมอย่างแพร่หลายยังผลให้สังคมมีต้นทุนต่ำซึ่งรวม
ทั้งการกระทำง่ายๆ ที่ไม่มีผลร้ายแรงนัก เช่น ทิ้งเศษกระดาษลงบนถนน
ไปจนถึงความฉ้อฉลและการลุแก่อำนาจของผู้นำซึ่งมีความร้ายแรงสูงยิ่ง
จากประสบการณ์ที่ผมพยายามนำเรื่องเมืองไทยขาดก้อนเส้าก้อนที่สามมา
เสนอในเวทีต่างๆ
บางครั้งผมได้รับการโต้แย้งแบบเผ็ดร้อนเนื่องจากเพื่อนคนไทยหลายๆ
คนมองไม่เห็นว่ามันเป็นประเด็นสำคัญ
ส่วนฝรั่งที่รู้จักเมืองไทยเป็นอย่างดีมักจะเห็นด้วย
แต่บอกว่าพวกเขาไม่กล้าพูดกับคนไทยแบบตรงไปตรงมาเพราะกลัวว่าจะเจ็บตัว
ที่พูดเช่นนี้มิใช่ผมเป็นจำพวกขี้ชื่นชมฝรั่ง
หากมองว่าความเห็นของพวกเขาคือกระจกเงาที่ช่วยให้เรามองเห็นตัวเอง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผมไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านสังคมศาสตร์
จึงขอเสนอต่อผู้ที่มีความรู้ด้านนี้ให้ออกมาช่วยกันชี้แนะ
หรือถ้าเป็นไปได้ ออกไปช่วยกันเสริมก้อนเส้าก้อนที่สามด้วย
สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยอ่านหนังสือของแลนเดสซึ่งพูดถึงปัญหาของเมือง
ไทยและของกฤษณาซึ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน แต่ไม่มีเวลาไปอ่านทั้งเล่ม
ผมได้ทำบทคัดย่อเป็นภาษาไทยไว้ให้แล้วและกัลยาณมิตรผู้หนึ่งได้นำไปใส่ไว้ใน
เว็บไซต์ชื่อ www.sawaiboonma.com
ซึ่งเขาสร้างขึ้นเพื่อปันงานส่วนหนึ่งของผมมาให้ผู้ที่สนใจอ่าน
หวัง ว่าประเด็นนี้จะมีผู้นำไปคิดต่อ
ศึกษาและวิจัยโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนถึงระดับปริญญาโทและ
เอก นอกจากนั้น ผู้ที่พอจะทำได้จะออกมาช่วยกันเสริมก้อนเส้าก้อนที่สามและอีกไม่นานก้อนเส้า
ก้อนนี้จะมีความสูงและแข็งแกร่งทัดเทียมกับอีกสองก้อนจนสังคมไทยสามารถหุง
ข้าวได้สำเร็จ
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000105239
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น