วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2552 นี้ ผมตั้งใจจะไปเป็นพระรองให้ดร.ชัยอนันต์
สมุทวณิช ที่วิทยาลัยวันศุกร์ มหาวิทยาลัยสงขลาฯ ที่หาดใหญ่
เจ้าภาพขอให้เราพูดเรื่องการเมืองใหม่
เราทั้งสองได้พูดและเขียนเรื่องนี้มาพอสมควร
ผมเคยไปพูดที่วิทยาลัยนี้หนึ่งครั้งโดยบังเอิญ
เพราะผมไปคืนวันพุธ และกรรมการก็อุตส่าห์จัดขึ้นมาอย่างกะทันหัน
หนังสือรายงานกิจกรรมของวิทยาลัยทำให้ผมชื่นใจและศรัทธา
ในนั้นมีบทความประกอบการพูดเกือบ 200 ครั้งในหัวข้อต่างๆ ที่มีประโยชน์
ผมไปที่ไหนก็เที่ยวไปโฆษณาว่าอยากเห็นจังหวัดอื่นทำอย่างวิทยาลัยวันศุกร์
ที่หาดใหญ่บ้าง ความแห้งแล้งทางปัญญาของเมืองไทยจะได้ลดลง
การจัดของวิทยาลัยเป็นแบบง่ายๆ กันเอง แต่เอาจริงเอาจัง
เป็นระบบและต่อเนื่อง แบบวัฒนธรรมฝรั่ง คนไทยที่ไร้วินัยมักจะทำไม่ได้
หากแค่นี้ยังทำไม่ได้ แล้วจะไปทำการเมืองใหม่ได้อย่างไร
ผจก.ออนไลน์อาทิตย์ 7 มิถุนายน 2552 มีบทความผมชื่อ
"อภิสิทธิ์กับบราวน์ : ใครจะไปก่อนกัน" คล้ายๆ บทความก่อนของผมชื่อ
"ทักษิณ แบลร์ : ใครจะไปก่อนกัน" (ผจก. 16 ก.พ. 2549)
ผมเปิดดูปฏิกิริยาของผู้อ่าน ใน 5,072 ราย มีผู้โหวต 43 ราย
และแสดงความคิดเห็น 40 ราย มีผู้สนับสนุนอภิสิทธิ์อย่างแข็งขัน พอๆ
กับผู้ที่ไม่พอใจนายกฯ
มีผู้สาปแช่งให้ผมไปก่อนทั้งอภิสิทธิ์และบราวน์อยู่ 2-3 ราย
ผมแผ่เมตตาและทำมรณานุสติเป็นประจำวันอยู่แล้ว จึงเห็นเป็นเรื่องธรรมดา
ตอนที่ผมเข้าเป็นน้องใหม่จุฬาฯ 50 กว่าปีมาแล้ว เพื่อนคณะวิทยาศาสตร์
เขียนบทความเรื่อง "สักวันหนึ่งเราจะต้องตาย" ขณะนี้ผู้เขียนยังไม่ตาย
ชื่อพลอากาศตรีทองเยี่ยม สิงหดารา
นอกจากเกิด แก่ เจ็บ ตายในวัฏสงสาร มนุษย์ทุกชีวิตเหมือนกันทุกคน
คือ (1) ไม่ประสบกับสิ่งที่ตนพึงปรารถนา และ (2)
ประสบกับสิ่งที่ตนไม่พึงปรารถนา
อะไรดี อะไรไม่ดี นี้ขึ้นกับความคิดของแต่ละคน
แต่ที่เหมือนกันก็คือทุกๆ คนอยากเห็น อยากได้สิ่งที่พึงปรารถนา
และไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ ต้องการกำจัดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา
ผมเองเป็นนักศึกษาวิชาการเมืองไทย อยากเห็นสิ่งที่พึงปรารถนา
เรายังไม่เคยมีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งๆ
ที่เรามีประมุขที่ทรงเป็นประชาธิปไตย
ผมมองโลกในแง่ดี และมีศรัทธาในประเทศไทยและความเป็นคนไทย
ไม่งั้นผมคงไม่กลับมาอยู่เมืองไทย
และผมไม่เคยเป็นพลเมืองชั้นสองในต่างประเทศ ถ้าไม่มีความหวัง
ผมคงไม่มานั่งเขียนบทความ เฉพาะที่ผู้จัดการก็เกือบห้าร้อยเรื่อง
ตั้งแต่ผู้จัดการยังเชียร์ทักษิณอยู่
ผมตั้งเงื่อนไขว่าผมจะเขียนวิจารณ์ทักษิณและผจก.จะต้องไม่เซ็นเซอร์
ผมรู้ดีถึงข้อจำกัดว่า
ผมไม่สามารถจะเขียนให้ผู้อ่านทุกคนเข้าใจเหมือนกันหรือตรงกับความต้องการของ
ผมได้ โดยเฉพาะผู้อ่านที่อ่านอย่างฉาบฉวย
และอ่านด้วยความคิดที่ยึดมั่นมาก่อนแล้ว ผู้อ่านประเภทนี้น่าเป็นห่วง
ไม่น้อยกว่าผู้ที่มาชุมนุมประท้วง
หรือผู้ที่มีส่วนในการตัดสินใจทางการเมืองอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นตามสถานการณ์
มีผู้อ่านท่านหนึ่งโพสต์มาว่า "กลาย เป็นว่า มีแต่คน post มาด่า
อ.มากกว่าที่จะวิเคราะห์ต่อจาก อ.ในเชิงความรู้ เพียงเพราะ
อ.ไปเตือนนายกฯ มาร์คแรงๆ ขอให้กำลังใจ อ.ครับ อ่านมานานเห็นว่า ข้อเขียน
อ.มีประโยชน์เสมอครับ ถึงแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยในบางเรื่องก็ตามครับ"
แปลว่าผู้อ่านไม่น้อยเชื่อว่าผมเขียนเพื่อทำลายนายกรัฐมนตรี
ในขณะที่ผมคิดว่าผมเขียนเพื่อช่วยนายกรัฐมนตรี
คุณหมออรรถสิทธิ์ บิดาของนายกฯ และอีกหลายคนในตระกูลเวชชาชีวะ
เป็นกัลยาณมิตรของผม เช่นเดียวกับอาจารย์พงศ์เพ็ญและคุณประภาพิมพ์
พ่อตา-แม่ยายของอภิสิทธิ์ อาผมคือ พญ.อร่ามศรี นาครทรรพ
ผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นผู้ดูแล
ดช.มาร์คที่อังกฤษเมื่อยังเยาว์เวลาที่พ่อแม่เธอต้องไปเรียนหนังสือ
ก่อนเป็นนายกฯ ประมาณหนึ่งเดือน
อภิสิทธิ์มาเป็นแขกเกียรติยศในงานรำลึกถึงศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหะอำไพ
พี่ชายผม เรานั่งกินข้าวติดกันเพราะผมทำหน้าที่เจ้าภาพแทนพี่สะใภ้
ผมบอกอนาคตนายกฯ ว่า เป็นนายกฯ เมื่อใดผมขอฝากให้ทำก่อน 3 อย่าง
คือ (1)ไปเฝ้าฯ ในหลวงเป็นประจำเพื่อสร้างจารีตประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขเหมือน
อังกฤษ (2) นำพรรคประชาธิปัตย์ออกจาก Liberal International
หรือสมาคมนานาชาติของพรรคการเมืองลิเบอรัล ซึ่งเป็นสมาคมพรรครองบ่อน
ประชาธิปัตย์ควรเข้า Conservative Union สมาคมของพรรครุ่นเดอะ
ซ้ำยังเป็นรัฐบาลอยู่เกือบทุกประเทศในยุโรป
อภิสิทธิ์จะเป็นดาวเด่นของผู้นำโลกทันที และ (3)
ต้องสร้างยุทธศาสตร์อีสานประชาธิปัตย์ให้สำเร็จ
ผมเห็นว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองถาวรพรรคเดียวในระบบการเมืองไทย
พรรคอื่นๆ เป็นพรรคหัวหน้าตั้งจึงไม่ยั่งยืน
เป็นแก๊งเลือกตั้งชั่วคราวหมด
แต่ประชาธิปัตย์ยังมีพฤติกรรมกึ่งหนึ่งเป็นแก๊งเลือกตั้ง
หากมีเสียงพอสมควรจากอีสานเมื่อใด ประชาธิปัตย์ก็จะเป็นพรรคเต็มภาคภูมิ
และยุทธศาสตร์ที่จะครองใจอีสานสู้กับทักษิณได้จะต้องเป็นยุทธศาสตร์แบบการ
เมืองใหม่
ผมเขียนมามากแล้ว
ถึงความเป็นไปไม่ได้ในการปราบคอร์รัปชันหรือพัฒนาการเมือง
หากเรายังอยู่ในระบบพรรคการเมืองแบบปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเมืองเก่า
เรามีแต่พรรคหัวหน้าตั้ง "รวมศูนย์-รวบอำนาจ-เป็นทาสหัวหน้า"
มีลักษณะเป็นพรรคชั่วคราว ขาดความมั่นคง แต่แย่งกันกินอย่างต่อเนื่อง
เพราะกฎหมายบังคับสังกัดพรรค โดยกฎหมายตั้งพรรคและกฎหมายควบคุมพรรคโดย
กกต.ซึ่งล้าหลังไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งคู่
ผมเขียนมากเหมือนกันถึงความเป็นไปได้ยากของการเมืองใหม่
ถึงแม้จะมีปรากฏการณ์บันลือโลก 193
วันของพันธมิตรประชาชนประชาธิปไตยก็ตาม
ผมชื่นชมและยอมรับความยิ่งใหญ่ในน้ำใจและความเสียสละของประชาชนในขบวนการดัง
กล่าวนี้ แต่ผมเห็นว่ามติอันล้นหลามอันนำไปสู่การตั้งพรรค และอุดมคติ 4
ประการของแกนนำพรรค คือ กล้าหาญ ซื่อสัตย์ เสียสละและอะไรอีกอย่างนั้น
ใช่ว่าจะถ่ายทอดไปสู่ความสำเร็จของพรรคได้โดยอัตโนมัติ
ซ้ำกรอบความคิดและกติกาหรือกฎหมายเก่าๆ จะบังคับให้ยอมจำนน
หากต้องการเข้ามาเล่นการเมืองในเกมแบบเดิมๆ
ผมเห็นด้วยกับดร.อมร ว่าการเมืองและทางออกของประเทศเป็นไปไม่ได้
ถ้ายังยึดกรอบความคิดเดิมเรื่องตั้งพรรคและบังคับพรรค
ผมคิดว่าทั้งอภิสิทธิ์และพันธมิตรฯ มีความคิดคล้ายๆ กัน เรื่องการมีพรรค
หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ เพราะคิดว่าตนจะได้เปรียบ
แต่ผมเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
ความคิดเป็นต้นแบบของการกระทำ การต่อสู้ระหว่างกรอบคิดเดิม (old
paradigm) กับกรอบคิดใหม่ (new paradigm) จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
ผู้แสวงหาความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งพึงปรารถนาที่ยังไม่มีจะต้องสลัดกรอบคิด
เก่า และสามารถคิดในกรอบใหม่ โดยไม่เอาสิ่งที่มีอยู่เป็นตัวตั้ง
ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย ระบบบริหาร หรือระบบพรรคการเมืองก็ตาม
พรรคการเมืองเป็นสถาบันสังคมชั้นยอด
เพราะพรรคจะต้องเหนือกองทัพและพ่อค้า จึงต้องมีทั้งวินัยและความสามารถ
ดังนั้นพรรคจะต้องพัฒนาการขึ้นมาตามหลักของการเคลื่อนไหวทางสังคม
ตามหลักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ นั่นก็คือ เริ่มด้วยความคิด (สู่อุดมการณ์)
กลายเป็นความเคลื่อนไหว แล้วยกระดับเป็นกระบวนการ
จากกระบวนการไปสู่การจัดการ กลายเป็นองค์การ สามารถบริหารโดยวัตถุประสงค์
และจำเริญขึ้นเป็นสถาบัน มิใช่จู่ๆ
ก็เขียนกฎหมายขึ้นมาบังคับให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้
การมีองค์กร ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากองค์กรระดับที่หนึ่ง ได้แก่
ครอบครัว ศาสนา อาชีพ หรือโรงเรียน จนกลายเป็นองค์กรระดับที่สอง เช่น
วิทยาลัยวันศุกร์ สมาคม สหภาพแรงงาน หรือสหกรณ์ เหล่านี้เป็นต้น
เป็นเงื่อนไขระดมทรัพยากรมนุษย์และแข่งกันสร้างผู้นำไปสู่สถาบันการเมือง
ประเทศไทยเรายังถูกครอบงำด้วยระบบราชการ
และระบบการเมืองที่ผูกขาดด้วยอำนาจและเงิน ดังเช่นปัจจุบัน
คำถามที่ถูกต้อง คือ เมื่อไรเราจะมีการเมืองใหม่
เพราะการเมืองเก่าคงจะอยู่ไม่ได้แน่ๆ แต่ผมกลับถามผิดๆ ว่า
การเมืองใหม่จะเป็นไปได้จริงหรือ
คนที่จะตอบได้คือคนไทยทั้งประเทศ
เมื่อไรคนไทยรู้สึกหรือมีความคิดว่าต้องการการเมืองใหม่
เมื่อนั้นการเมืองใหม่จึงจะเป็นไปได้
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000066035
ท่านอาจารย์ไม่ต้องเป็นห่วงครับ ผมรับรองได้ว่า นายก ฯ
อภิสิทธิ์ไม่มีทางเป็นได้อย่างที่ท่านอาจารย์หวัง
และด้วยกำลังจิตใจของตัวท่านนายก ฯ เองยังไม่กล้าหาญ
ยิ่งใหญ่พอที่จะทำให้บ้านเมืองนี้เปลี่ยนไปในทิศทางที่ทุกคนมุ่งหวังได้
ในที่สุดท่านนายก ฯ ก็จะเป็นคนดีเหมือนท่านนายก ฯ สุรยุทธ์ จุลานนท์
ที่ดีแต่ไม่กล้าหาญที่จะทำประโยชน์ใหญ่ให้แก่บ้านเมือง แต่ท่านนายก ฯ
สุรยุทธ์ ยังน่าตำหนิน้อยกว่า
เพราะท่านไม่ได้อยากอาสามารับใช้บ้านเมืองในตำแหน่งนี้ ส่วนนายก ฯ
อภิสิทธิ์นั่นไม่ใช่ เพราะเป็นคนที่เสนอตัว
อาสามาเพื่อแก้ปัญหาให้บ้านเมือง แต่สิ่งที่ท่านกำลังทำอยู่ทุกวันนี้
ไม่ได้มากไปกว่านักการเมืองธรรมดา
ที่กำลังซื้อเวลาให้อยู่ในตำแหน่งได้นาน
1. คนไทยที่รักชาติบ้านเมือง ขอให้ลองคิดพิจารณาดูว่า
ทำไมการโกงกินและการคอรัปชั่นที่โจ่งแจ้ง(ไม่มีแอบแฝง)เข้ามาในโครงการต่าง
ๆ ของรัฐบาลยุคนี้ ถึงไม่ได้แตกต่างจากสมัยยุคทรราชทักษิณ
ไม่มีความเกรงกลัวหรืออับอายอะไร
เสมือนบ้านเมืองนี้มีแต่คนพาลสันดานหยาบที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ
ท่านนายก ฯ เป็นเสมือนเพียงคนเดียวที่กำลังต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้
โจรในพรรคและนอกพรรคต่างจับมือกัน
พยายามกดดันท้าทายต่อคุณธรรมของบ้านเมืองนี้ ทั้งนี้เพราะท่านนายก ฯ
กำลังรับผลของกรรม "ไม่มีเขา เราไม่ได้เป็นรัฐบาล"
ราชสีห์ที่ตั้งใจอยู่ในฝูงหมา ถ้าไม่กล้าหาญ จริงใจ
ต่อผลประโยชน์ของชาติและประชาชน ในที่สุดก็ถูกขยี้ไม่เหลือ
2. ท่านที่กำลังหวังท่านนายก ฯ จะมากู้ชาติ บ้านเมืองนั้น ขอให้คิดดูว่า
จะเป็นไปได้หรือไม่
เพราะในสถานการณ์ของประชาธิปไตยที่โจรเป็นเสียงข้างมาก
ที่คุมขุมกำลังทั้งมหาดไทย กลาโหม คมนาคม คงไม่เปิดโอกาสให้ท่านนายก ฯ
ทำอะไรได้ ยิ่งถ้านายก ฯ ชอบอ้างความเป็นประชาธิปไตย
ฟังเสียงพวกโจรข้างมาก โดยไม่ใช้่ความเป็นผู้นำในฐานะนายก ฯ
ที่เป็นหัวหน้าในการบริหารแผ่นดิน ที่จะเดินหน้ากล้าหาญทำสิ่งที่ถูกต้อง
ชอบธรรมให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน สิ่งที่ท่านต้องทำแก้ไข เร่งด่วน คือ
ปรับปรุงฟื้นฟูระบบความยุติธรรมให้เข้มแข็ง ทั้งตำรวจ อัยการ
(ศาลไม่ต้องเพราะท่านทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว) รวมทั้งการเอาคนผิดมาลงโทษ
ไม่ใช่ปล่อยให้คนชั่วลอยนวล เพียงเพราะพี่เป็นนายทหารใหญ่คุมกลาโหม
น้องเลยยังมีอำนาจเป็นนายตำรวจใหญ่ คนชั่วในแผ่นดินนี้จึงนั่งยิ้มได้ใจ
และข้าราชการทั้งหลายดูตัวอย่างแบบนี้จึงนั่งเฉย ท่านนายก ฯ
ไม่สามารถขับเคลื่อนให้เป็นมือเป็นไม้ในการบริหารแผ่นดินได้
ทุกวันนี้จึงต้องนั่งแก้ปัญหาโกงกินเป็นรายวัน (เพราะโกงกินกันแล้ว
แทบไม่มีนักการเมืองอยู่ติดคุกสักราย ยกเว้น
นายรักเกียรติเพราะยังใหญ่ไม่จริง พวกข้าราชการใหญ่ก็เหมือนกัน
พอจะติดคุกก็บินหนีไปต่างประเทศ จบคดีอย่างมีความสุข)
3. ในที่สุดนายก ฯ ขวัญใจคนใหม่จะเป็นเพียงนายก ฯ ขัดตาทัพ
เพื่อรอเวลาของโจรทัพใหญ่ที่จะกลับมา ทั้งนี้เพราะท่านนายก ฯ
คงยอมให้โกงกินอย่างนี้ไม่ได้ เพราะอายประชาชน
จนมีเหตุให้ยุบสภาในเวลาไม่นาน คราวนี้ก็จะเป็นการต่อสู้ครั้งใหม่
แน่นอนว่า พรรค ปชป. ที่ไม่มีอะไรมากไปกว่าพรรคท้องถิ่น
ก็จะมาเป็นพรรคเสียงข้างน้อย โดยมีพรรคเสียงข้างมากอย่างพี่ห้อย
เป็นตัวนำ ส่วนพรรคทรราชเดิม คงไม่มีอะไร อาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปมา
ให้นายทุนพรรคหมดตัวและเจ็บใจไปได้เรื่อย ๆ
(การเลือกตั้งครั้งนี้พี่ห้อยจะทุ่มเทที่สุด
เพื่อให้เข้ามามีเสียงข้างมากให้ได้
ยิ่งอำนาจในท้องถิ่นทุกอย่างอยู่ในมือ และยังมีทหารใหญ่หนุุนหลังยิ่งง่าย
เพราะถ้าไ่ด้้ครั้งนี้ ครั้งต่อไปจะเป็นเรื่องง่าย ๆ
จนแทบไม่ต้องทำอะไรอีก)
4. ส่วนพรรคการเมืองใหม่ ที่อาจจะเรียกว่า พรรคความหวังใหม่ ๆ
คงจะต้องไปดูโจทย์ "ผลการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550" ว่า
ผลออกมาเป็นอย่างไร เพราะขณะนั้นฝ่ายปฏิวัติมีอำนาจเต็ม
รณณรงค์กดดันทุกอย่าง และทั้ง ๆ
ที่มีการต่อสู้ที่ชัดเจนแล้วระหว่างฝ่ายพันธมิตรกับฝ่ายรักทักษิณ
ยังชนะมาได้เพียง 14 ล้านเสียงต่อ 10 ล้านเสียง
ดังนั้นการต่อสู้ของพรรคการเมืองใหม่ ในวันนี้ที่ไม่มีใครหนุนช่วย
(พันธมิตรเริ่ม ทหารปฏิวัติ จึงขับไล่ทรราชทักษิณได้)
จะทะลุด่านทุกภาคขึ้นมามีบทบาทได้ คงไม่ใช่เรื่องง่าย แน่นอนว่า
ในที่สุดก็น่าจะเข้ามาเป็นตัวประกอบในสภาโจรได้
แต่จะไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้ได้ เหมือนอย่างที่ตอนนี้มี
นายก ฯ อภิสิทธิ์ คนดีที่เกือบโดดเดี่ยว (มีท่านกษิตอีกคนที่เป็นเพื่อน)
5. ผลการเลือกตั้งครั้งหน้ามันน่าจะเป็นไปอย่างนี้
และเราก็จะเห็นสิ่งที่คิดว่าไม่น่าจะเห็น แต่เห็นจนชินตา คือ
คนชั่วได้ปกครองบ้านเมืองเหมือนเดิมอีก และครั้งนี้จะแนบเนียนกว่าเดิม
เพราะทหารใหญ่ที่มีอำนาจจะหนุนหลังและเป็นขั้วอำนาจใหม่
ที่อยู่ภายใต้เสื้อคลุมของประชาธิปไตย
ขอเพียงอย่าไปแตะกับเบื้องสูง(ตัวอย่างมีให้เห็นเหมือนอย่างทรราช)
จะโกงกินอย่างไร คงไม่มีใครทำอะไรได้ และจะค่อย ๆ
กลืนอำนาจเหมือนสมัยที่ทักษิณทำจนระบบราชการ ทหาร ตำรวจ อัยการ
เป็นมือไม้ในการใช้อำนาจเหมือนอย่างเคย แต่คราวนี้ไม่สร้างระบอบใหม่
แต่จะอาศัยกินอยู่ในระบอบเดิม
6. กำลังของความดีในบ้านเมืองจะอ่อนแอลงเรื่อย ๆ
ขบวนการพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยก็ยากที่จะเกิดขึ้นอีก เหลือทางเดียว คือ
ประชาชนต้องทนกับสภาพนี้เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา
และคราวนี้จำเป็นต้องทนจนชินไปเอง
หรือในที่สุดก็ต้องเกิดการปฏิวัติแต่จะโดยใคร เพื่อใคร
คงเป็นเรื่องของโชคชะตาบ้านเมือง และถ้าวันนั้นเป็นโชคดีของบ้านเมือง
เราก็คงจะเห็นบ้านเมืองถูกจัดระเบียบเพื่อความเจริญที่แท้จริง
ก่อนที่จะเริ่มประชาธิปไตยกันใหม่
และไม่ใช่ประชาธิปไตยโจรเสียงข้างมากเหมือนอย่างทุกวันนี้
ผมขอ วิเคราะห์อย่างนี้แหละ ใครว่า นั่งเทียน ยกเมฆ ก็เอาเหตุผล
เอาสถานการณ์ในบ้านเมืองนี้แย้งมา จะถูก-ผิด ในวันข้างหน้าคงเห็นกัน
ถ้าผิดยิ่งดี เพราะย่อมเป็นนิมิตหมายที่ดีของบ้านเมือง
ผมฝากไว้ให้คิดเรื่องท่านนายก ฯ อีกเรื่องว่า ดูตามสถานการณ์ที่ท่านนายก
ฯ ลากยาวซื้อเวลาให้ตัวเองมาถึงวันนี้
และแม้ท่านไม่กล้าหาญทำในสิ่งที่ควรจะทำ แต่ด้วยคุณความดีของท่าน
ที่คงจะต้องกระทืบเรือที่โจรพายเรือให้นั่ง จนจมไปทั้งลำแน่นอน
จะยังคงทำให้ท่านนายก ฯ กลับมาเป็นนายก ฯ ในวันข้างหน้า
แต่ไม่ใช่ได้มาจากการเลือกตั้ง
คนผ่านทาง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น