ความจริงที่เราต้องยอมรับว่า "การเมืองไทย" ได้มีทั้ง
"พัฒนา-วิวัฒนาการ" มาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะ "ล้มลุกคลุกคลาน"
มาบ้าง ตลอดระยะเวลา 77 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย
จากการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ คืบคลานจากระบอบสถาบันพระมหากษัตริย์
มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทางโครงสร้างการเมืองการปกครอง มาเป็นประชาธิปไตย
ซึ่งว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว เราคงไม่กล้าเรียกเต็มปากเต็มคำว่า
"ประชาธิปไตย" เนื่องด้วย "การเมือง" เป็นเรื่องของ "อำนาจ-ผลประโยชน์"
การแก่งแย่งช่วงชิงจึงเกิดขึ้นตลอดมา
จริงๆ แล้ว ระบบการเมืองการปกครองบ้านเรานั้น เป็น
"ประชาธิปไตยจอมปลอม (Pseudo Democracy)" มากกว่า
ด้วยการสลับผลัดเปลี่ยนเป็น "ประชาธิปไตยเต็มใบ" บ้าง
"ประชาธิปไตยครึ่ง-ค่อนใบ" บ้าง แต่ในช่วงระยะ 7-8 ปีที่ผ่านมา เป็น
"ธนาธิปไตย" และ "วาณิชยาธิปไตย" ซะล่ะมากกว่า
กล่าวคือ "ธนาธิปไตย" เป็นระบบการเมืองที่ "เงิน-ทุน"
เข้ามามีบทบาทอย่างมาก จน "ครอบงำ (Dominate)"
ระบบการเมืองไทยแบบเกือบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และค่อยๆ "ถูกยึด" ด้วย
"ระบบทุนนิยมสามานย์" จาก "กลุ่มนายทุนนักธุรกิจ"
ต่อจากนั้น การเมืองที่พึงประสงค์ด้วยการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน
ด้วยการแอบอ้างของ "พรรคการเมืองทุนนิยมสามานย์"
ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองด้วยการเป็น "ธุรกิจการเมือง (Political
Business)" จนบรรดา "นักธุรกิจการเมือง" เริ่มเข้ามามีบทบาท และ "ครอบงำ"
จน "ยึด" การเมืองไทยได้เกือบทั้งระบบ และ "คิดเลยเถิด" ไปจนถึง
"เปลี่ยนโครงสร้างการเมืองการปกครอง"
"วาณิชยาธิปไตย" แปลว่า "การปกครองโดยพ่อค้าวาณิช"
ที่ประกอบไปด้วย "นักธุรกิจ" และ "นายทุน"
โดยเฉพาะในช่วงที่พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองที่แข็งแกร่ง "เงินหนา"
และเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่
มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่งไปหลายสิบราย
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็หมายความว่า เป็น
"พรรคการเมืองพรรคเดียว" ที่เรียกว่า "Single Party Government" หรือ
"รัฐบาลพรรคเดียว" จึงมีอำนาจและพลังมากที่สุด
ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย สาเหตุเพราะ "รัฐธรรมนูญ
ปี 2540 : ฉบับประชาชน"
จนมีการเรียกขานว่า "เผด็จการทางสภาผู้แทนราษฎร" และ
"เผด็จการทางการบริหาร" จนเลยเถิดไปถึง "เผด็จการทางรัฐสภา" กล่าวคือ
พรรคไทยรักไทยสามารถคืบคลานและยึดสมาชิกวุฒิสภาได้จำนวนเกือบ 100 คน
เอาไว้เป็นพวก เพื่อไม่ให้เกิดการตรวจสอบแต่ประการใด
ตลอดจนบรรดา "องค์กรอิสระ" ทั้งหลาย ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2540
ยังถูก "แทรกแซง-ครอบงำ" จนกลายเป็น "การเมืองไร้การตรวจสอบ" ช่วง พ.ศ.
2544-2548
เป็นกรณีที่น่าเสียดาย จนถึงขั้น "เจ็บใจ" ว่า
การเมืองในยุคของพรรคไทยรักไทยนั้น น่าจะมีการพัฒนาไปสู่ "การเมืองใหม่"
อย่างแท้จริง เนื่องด้วย "สมรรถนะ" และ "ศักยภาพ" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร นั้น "พร้อม" ด้วยประการทั้งปวง ทุกสรรพปัจจัย ไม่ว่า
"เงินทุน-ชื่อเสียง-ประสบการณ์-ความสำเร็จ" ซึ่งล้วนเป็น "ปัจจัยพื้นฐาน"
สำคัญสำหรับการลงสนามการเมือง ด้วยการตั้งพรรคการเมือง เพราะ
"ระดมนักการเมือง" ได้เยอะ พูดง่ายๆ คือ "ต้นทุนสูง!"
นอกเหนือจากนั้น "มอตโต้-สโลแกน-แนวคิด"
ที่พรรคไทยรักไทยนำเสนอสู่สังคมที่เป็น "การเมืองใหม่"
สร้างความฮือฮาอย่างมาก และตอบรับพรรคการเมืองนี้ว่า "ใหม่-เจ๋ง!"
กับประโยคที่ว่า "คิดใหม่-ทำใหม่" กับ "คิดนอกกรอบ!"
จนได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นตอบรับจากประชาชนทั่วไป เหตุผลสำคัญ ขอย้ำว่า
"กระแส-กระสุน" ดี!
แต่วันเวลาผ่านไป "พรรคการเมือง-นักการเมืองไทย"
เป็นปกติธรรมดาที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป ที่ไม่สามารถยืนหยัด "ความใหม่"
ไว้ได้นาน "ธาตุแท้-ตัวตน" ก็ค่อยๆ โผล่ออกมาถึง "ความเก่า" และ
"ความเก๋าเกม" ที่ค่อยๆ "งอก" ออกมาทั้งจากปากและบั้นท้าย
ตลอดจนเลยเถิดไปจนถึง "น้ำเน่า" ที่เลวร้ายกว่าเดิม จน
"ความศรัทธา-เชื่อมั่น" ว่า "การเมืองใหม่" จะพัฒนาเดินหน้าต่อไป จน
"ล้มครืน" ด้วย "การยึดอำนาจ (Coup de' Tat)" อีกครั้ง!
ขอย้ำว่า "การยึดอำนาจ-รัฐประหาร" เกิดจาก
"พฤติกรรมทุจริตคดโกง-ฉ้อราษฎร์บังหลวง" จนเลยเถิดไปจนถึง "คิดการใหญ่!"
จนต้องเกิด "การกระตุก" และ "ให้หยุด!" ในที่สุด
ซึ่งความจริงที่เราต้องยอมรับว่า "ถ้าไม่มีเหตุการณ์วันที่ 19 กันยายน
2549 โครงสร้างทางอำนาจการเมืองการปกครอง อาจจะเปลี่ยนแปลงไปไกลโข
จนกู่ไม่กลับ!"
การรวมตัวของ "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย"
ที่ได้ก่อตัวกันขึ้นเพื่อ "ล้มล้างระบอบทักษิณ" เนื่องด้วย "รู้เท่าทัน"
การบริหารประเทศชาติ ที่มีแต่ "วาระซ่อนเร้น-ผลประโยชน์ทับซ้อน" และ
"ล่วงละเมิดต่อสถาบันเบื้องสูง" จึง
ได้มีการระดมสรรพกำลังประท้วงให้รัฐบาลจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
และเหตุการณ์ก็เลยเถิดไปจนถึงขั้นรุนแรงและเปลี่ยนแปลงการเมืองได้สำเร็จใน
ที่สุด
เพียงแต่เป้าหมายและอุดมการณ์สำคัญของ "กลุ่มพันธมิตรฯ"
หรือมักเรียกติดปากว่า "เสื้อเหลือง" นั้น ชัดเจนในการ
"ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์" และ "สกัดกั้นธุรกิจการเมือง"
ที่นับวันจะยิ่งเข้มข้นมากยิ่งขึ้น จนว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว
"ความอหังการ" เริ่ม "น่ากลัวมากยิ่งขึ้น!"
แต่ที่สำคัญคือ
การแสดงพลังของกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ
หรือเสื้อเหลืองนั้น ต้องเรียกว่า
"การเมืองภาคประชาชน-การเมืองภาคประชาสังคม" ที่ได้ก่อกำเนิดอย่างแท้จริง
ในช่วงพ.ศ. 2549 เป็นต้นมา
"การแสดงพลังของประชาชน" เกิด ขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง
และมีการบริหารจัดการอย่างเป็นโครงสร้างและเป็นระบบ
ที่มิใช่เกิดจากการจัดตั้งแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะเกิดจาก "ความตื่นตัว"
และ "ความรู้-ความเข้าใจ" ของประชาชนที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารมากยิ่งขึ้น
จนต้องการมี "ส่วนร่วม" กับการเปลี่ยนแปลง
"การเมืองน้ำเน่า-ธุรกิจการเมือง" สู่ "การเมืองใหม่"
ที่ขอเรียกอีกครั้งว่า "การเมืองภาคประชาชน-ภาคประชาสังคม"
"การเมืองใหม่" เป็นมิติใหม่ของสังคมการเมืองไทย ที่มุ่งเน้น
"การมีส่วนร่วมของประชาชน" ด้วย "ปรัชญา-อุดมการณ์" เช่นนั้น
แต่ตามสัจธรรมโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว "อุดมคติเกินไป-ฝันหวาน"
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "วัฒนธรรมการเมืองไทย"
ถ้าการเมืองไทยสามารถพัฒนาไปสู่ "การเมืองใหม่" ได้
ถือว่าเป็นสิ่งที่จะประเสริฐสุดสำหรับอนาคตของประเทศไทย
เนื่องด้วยชาติบ้านเมืองที่ค่อนข้าง "พิกลพิการ-เป๋ไปเป๋มา!"
อย่างที่เป็นอย่างนี้ ทั้งด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ก็เพราะ
"การเมือง" ที่ชี้นิ้วไปที่ "พรรคการเมือง-นักการเมือง"
"พรรคพันธมิตรฯ" หรือ "พรรคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย"
ที่กำลังก่อเค้าโครงร่างที่มีโอกาสสูงว่าจะเกิดเป็น "พรรคการเมือง"
น้องใหม่ในสนามการเมืองไทย ที่จุดประกายเมื่อวันที่ 24-25
พฤษภาคมที่ผ่านมา กับ "งานรำลึก 193 วัน" แห่งการต่อสู้ของพันธมิตรฯ
(พธม.) ที่สามารถ "ล้มระบอบทักษิณ!" ได้สำเร็จ
การตัดสินใจของแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ในการจัดตั้งพรรคการเมืองนี้
เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และฮือฮาอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "อุดมการณ์"
ของพรรคคือ "การเมืองใหม่" ที่ต้อง "ธรรมาภิบาล" กล่าวคือ "ซื่อสัตย์
โปร่งใส และเป็นการเมืองภาคประชาชน"
เมื่อ "พรรคพันธมิตรฯ" จะเลือกเดินสู่เส้นทางทางการเมืองในระบบ
หรือดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใน "ระบบรัฐสภา"
ก็ต้องกล่าวว่าเป็นกรณีที่น่ายินดี แต่ถามว่า "การชุมนุมประท้วง"
บนท้องถนน "นอกสภาฯ" จะเกิดขึ้นหรือไม่ ก็น่าเชื่อว่า
คงจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับ "พรรคเพื่อไทย"
แต่จะต้องเป็นการชุมนุมเรียกร้องตาม "สิทธิ" ของ "รัฐธรรมนูญ"
ที่พึงดำเนินการได้ โดยต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่สาธารณชน
อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของพรรคพันธมิตรฯ น่าจะสร้าง "ความถ่วงดุล"
ระหว่าง "การเมืองเก่า-การเมืองใหม่" และไม่สำคัญ "พัฒนาการเมือง" สู่
"การตรวจสอบ" มิให้การเมืองไทยวนเวียนอยู่กับ "ธุรกิจการเมือง" อีกต่อไป
ขอให้ "พรรคพันธมิตรฯ" ก่อกำเนิดได้จริง
ดังเจตนารมณ์ของการพัฒนาการเมืองเป็น "วัฒนธรรมการเมืองไทย" ซึ่งเชื่อว่า
"มวลชน" จำนวนมากพอสมควรจะสนับสนุน "พรรคพันธมิตรฯ" ตลอดจน "กำลังใจ"
ให้ประสบความสำเร็จ ส่วนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะได้เท่าไหร่นั้น
เป็นกรณีที่น่าห่วงว่าอาจจะได้เพียง 20 ที่นั่ง
เอาเถอะ! ขอให้โชคดี
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000064859
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น