สำหรับผู้ที่ติดตามเทคโนโลยีทางด้านโทรศัพท์มือถือ
ในเวลานี้คงไม่มีใครไม่รู้จักแพลตฟอร์มแอนดรอยด์
ที่ทางกูเกิลร่วมมือกับนักพัฒนาทั่วโลก
พัฒนาขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งระบบปฏิบัติการบนโทรศัพท์มือถือ
เพื่อที่จะเข้ามาสู้กับระบบปฏิบัติการที่มีอยู่ในท้องตลาดอย่าง ซิมเบี้ยน
และ วินโดวส์โมบาย
ในประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้มีการเปิดวางจำหน่ายพร้อมให้
บริการ HTC Magic ซึ่งถือเป็นแอนดรอยด์โฟนตัวแรกในประเทศไทย
ที่มีวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ
ซึ่งสำหรับทางเอชทีซีคาดว่าจะมีตามมาอีกประมาณ 2-3 รุ่น ส่วนแบรนด์อื่นๆ
ก็จะทยอยเข้ามาร่วมเล่นในตลาดนี้กัน
ทำไม HTC Magic ยังเป็นเพียงแค่ แอนดรอยด์โฟน?
ระบบการให้บริการที่กูเกิลพัฒนาขึ้นมาสำหรับ กูเกิลโฟน
ที่เรียกกว่า Google Mobile Service (GMS) นั้นจะประกอบไปด้วย
การให้บริการทางด้าน Gmail, Google Maps, Googla Talk, Google Street
View, Google Search, Market Place, Youtube และ Sync
ซึ่งถ้าไม่ประกอบด้วยบริการเหล่านี้ ก็จะไม่นับว่าเป็นกูเกิลโฟน
ถ้ามองในตลาดก็จะมีเพียง Google G1 เท่านั้น ที่เป็นกูเกิลโฟน
สำหรับเครื่องที่เอชทีซีนำเข้ามาจำหน่ายในชื่อ HTC Magic นั้น
จะเป็นเพียงแอนดรอย์โฟนที่มี Open Handset Distribution (OHD)
กล่าวคือจะใช้บริการของกูเกิลได้แค่เพียง Gmail, Google Search และ
Youtube เท่านั้นในเบื้องต้น
ดังนั้นผู้ที่อยากลองใช้แอนดรอยด์ในเบื้องต้น
คงต้องทำใจว่าจะยังไม่สามารถใช้บริการของกูเกิลได้อย่างเต็มที่
แต่ถ้าในอนาคตทางกูเกิลอนุญาตให้ทางเอชทีซีนำ GMS มาใช้ได้อย่างเต็มที่
ผู้ที่มีเครื่องรุ่นนี้อยู่ก็สามารถนำไปอัปเกรตเฟิร์มแวร์ให้ใช้งาน GMS
ได้เช่นเดียวกัน
เมื่อไม่มี Market Place จะทำอย่างไร?
ปัญหาที่ตามมาจากระบบ OHD คือ
ผู้ใช้จะไม่สามารถเข้าไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจาก Market Place
ของกูเกิลได้ ซึ่งในจุดนี้ทางเอชทีซีได้ร่วมมือกับเอไอเอส
ในการเปิดให้บริการ AIS Market Place ทำให้ผู้ที่ใช้เครื่อง HTC Magic
สามารถเข้าไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่มเติมได้
นอกจากนี้ทางเอชทีซียังได้แนะนำให้ผู้ใช้
สามารถเข้าไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่มีผู้พัฒนาในหลายๆประเทศในเว็บไซต์อย่าง
m.slideme.org หรือถ้าต้องการเข้าไปโหลดจากหน้าทดสอบที่ทางเอชทีซีประเทศไทยทำขึ้นมาคือ
myhtc.thaiddns.com/android/
การลงโปรแกรมของแอนดรอยด์นั้น จะดาวน์โหลดมาเป็นไฟล์นามสกุล APK
ซึ่งจำเป็นต้องใช้แอปพลิเคชันที่จะมาช่วยรันไฟล์ดังกล่าว
แน่นอนว่าสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ในลิงก์ข้างต้น
เชื่อมอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา?
หลายๆ ท่านอาจจะไม่ทราบว่าแอนดรอยด์โฟนนั้นจะทำการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา
ผ่านบริการอย่าง GPRS, EDGE และ 3G
ซึ่งผู้ที่ไม่ได้สมัครโปรโมชันใช้บริการแบบไม่จำกัดชั่วโมง
อาจจะเกิดปัญหาเมื่อครบรอบบิลที่ต้องจ่าย
จากค่าบริการอินเทอร์เน็ตในหลักหมื่นบาท
แน่นอนว่าผู้ใช้งานสามารถเข้าไปตั้งค่า
ไม่ให้เครื่องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้หลายวิธี
ซึ่งทางเอชทีซีได้แนะนำวิธีการที่บอกว่าง่ายที่สุดคือ เข้าไปแก้ไขค่า APN
Type ให้ต่างจากเดิม
เพื่อที่จะทำให้เครื่องไม่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต
ดังนั้นก็จะไม่เสียค่าบริการอินเทอร์เน็ตนั่นเอง
วิธีการเข้าไปแก้ไข APN Type คือการเข้าไปที่หน้าจอ Setting เลือก
Wireless Control > Mobile Control > Mobile Network > Access Point
Names > AIS GPRS Internet > APN Type โดยให้แก้ไขค่าจาก default
ไปเป็นค่าอื่น ซึ่งถ้าต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตผู้ใช้ก็ทำเพียงแค่แก้ไขให้ค่า
APN กลับมาเป็น default เช่นเดิม
แน่นอนว่าอาจจะยุ่งยากไปสักนิดเมื่อเทียบกับระบบปฏิบัติการชนิดอื่นๆ
แต่คงต้องยอมรับกันว่า แอนดรอยด์ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนา
ทำให้การใช้งานบางอย่างยังไม่สะดวกเท่าที่ควร
ผูกกับเอไอเอส?
อีกหนึ่งข้อสงสัยคือ ทำไม HTC Magic จำเป็นต้องจับมือกับเอไอเอส
ถ้ามองไปในต่างประเทศจะเห็นว่าประเทศที่มีวางจำหน่าย HTC Magic
มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเทศเท่านั้น คือ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และไทย
จากผู้ให้บริการเครือข่ายบริษัทแม่อย่าง Singtel
ทำให้เครื่องที่วางจำหน่ายต้องผูกสัญญากับเอไอเอสนั่นเอง
นอกจากนี้คือเครื่องรุ่นดังกล่าวรองรับการใช้งาน 3G
ที่คลื่นความถี่ 900MHz/2100 MHz
ซึ่งปัจจุบันทางเอไอเอสก็ได้มีการเปิดให้บริการในคลื่นความถี่ 900MHz
ในจังหวัดเชียงใหม่ กับชลบุรีแล้ว
สุดท้ายเครื่องที่วางจำหน่ายในประเทศไทย
ทางเอชทีซีได้มีการใส่คีย์บอร์ดภาษาไทยเข้ามาให้เรียบร้อย
ทำให้สามารถใช้งานภาษาไทยได้อย่างหายห่วง ผู้ที่สนใจแอนดรอยด์โฟน
คงจะได้เวลาขยับตัวกันเสียที
แต่ทั้งนี้อย่าลืมว่าการให้บริการในประเทศไทยยังเป็นเพียง OHD เท่านั้น
ถ้าต้องการใช้บริการต่างๆของกูเกิลให้มากกว่านี้คงจะต้องรอกันอีกสักพัก
ใหญ่ๆ
http://www.manager.co.th/CBizReview/ViewNews.aspx?NewsID=9520000060787
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น