++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552

โลกสัมพันธ์ไทย:เงินส่งกลับบ้านของชาวเวียดนามในต่างประเทศ

โดย ดร.ธัญญาทิพย์ ศรีพนา    

       เราอาจจะนึกไม่ถึงว่า เงินที่ชาวเวียดนามในต่างประเทศส่งกลับมายังประเทศเวียดนามนั้น มีจำนวนไม่น้อยและเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี เวียดนามเป็นประเทศซึ่งติดอันดับ 1 ใน 10 ที่ได้รับเงินส่งกลับประเทศจากคนของตน เงินดังกล่าวนี้เป็นแหล่งที่มาของรายได้เข้าประเทศแหล่งหนึ่ง นอกเหนือจากรายได้จากการส่งออกและเงินลงทุนจากต่างประเทศ
      
        มูลค่าของเงินที่ชาวเวียดนามส่งกลับไปยังประเทศของตนในปี 2008 มีถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งอยู่ในอันดับรองจากมูลค่าการส่งออกของน้ำมันดิบที่มีถึง 10.5 พันล้านเหรียญ กับมูลค่าสิ่งทอและเสื้อผ้าซึ่งมีมูลค่า 9.1 พันล้านเหรียญเท่านั้น มูลค่าของเงินที่ส่งกลับประเทศจากชาวเวียดนามในต่างประเทศนั้น สูงกว่ามูลค่าการส่งออกรองเท้าซึ่งมีมูลค่า 4.7 พันล้านเหรียญ และสูงกว่ามูลค่าการส่งออกสัตว์ทะเล และข้าว ซึ่งมีมูลค่า 4.6 และ 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ
      
        เงินส่งกลับจากชาวเวียดนามในต่างประเทศประกอบด้วยเงินของชาวเวียดนามที่มี ถิ่นฐานถาวรอยู่ในต่างประเทศ และเงินของคนงานชาวเวียดนามที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ
      
       ชาวเวียดนามที่มีถิ่นฐานถาวรอยู่ในต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นพวกที่หนีออกจากประเทศไปหลังจากที่มีการรวมประเทศในช่วงกลาง ทศวรรษที่ 1970 ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองประเทศด้วยระบบสังคมนิยม และถูกกดดันจากรัฐบาลเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพวกที่มีธุรกิจการค้า หรือเป็นผู้มีฐานะดีที่ถูกยึดทรัพย์สินหลังจากการรวมประเทศ คนเหล่านี้ไปตั้งหลักแหล่งในประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรปตะวันตก เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ฯลฯ ในยุโรปตะวันออก ในยุโรปเหนือ ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และในออสเตรเลีย เป็นต้น
      
       ในปัจจุบัน คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีหน้าที่การงาน มีธุรกิจการค้า มีฐานะมั่นคง จำนวนไม่น้อยมีสถานะทางสังคมและได้รับสัญชาติของประเทศที่ไปตั้งหลักแหล่ง ใหม่แล้ว คนเหล่านี้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและสามารถส่งเงินกลับมาให้ครอบครัว หรือญาติพี่น้องในเวียดนามได้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้การโอนเงินผ่านธนาคารสามารถทำได้อย่างสะดวก รวดเร็ว
      
       ในปัจจุบัน ชาวเวียดนามที่ไปตั้งถิ่นฐานและทำงานในต่างประเทศ มีจำนวนประมาณ 2.7 ล้านคน (บางแหล่งข้อมูลบอกว่า 3 ล้านคน) ใน 40 ประเทศและดินแดน จำนวนร้อยละ 80 ของจำนวน 2.7 ล้านคนนี้อาศัยอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว เงินที่ถูกส่งกลับไปยังประเทศเวียดนามจำนวนหนึ่ง มีจุดมุ่งหมายที่จะส่งมาช่วยเหลือเกื้อกูลญาติพี่น้องในประเทศ แต่อีกจำนวนหนึ่งถูกส่งมาเพื่อการลงทุนทำธุรกิจ หรือเพื่อนำมาฝากไว้ในธนาคารในประเทศเวียดนาม
      
       ในแต่ละปีที่ผ่านมา เงินส่งกลับประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นในแต่ละปี หากเปรียบเทียบระหว่างปี 1991 และปี 2008 จะเห็นความแตกต่างมากกว่า 200 เท่า นับจากปี 1991 ถึง 2008 เงินที่ส่งกลับประเทศมีถึง 38.54 พันล้านเหรียญสหรัฐ
      
       จะเห็นว่า นับตั้งแต่ปี 2007 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2008 เงินดังกล่าวเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าปีก่อนๆ ในปี 2008 เงินส่งกลับประเทศที่ส่งมายังนครโฮจิมินห์แห่งเดียวมีถึง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากเงินส่งกลับประเทศจำนวนทั้งหมด 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2007 เงินส่งกลับประเทศที่ส่งมายังนครโฮจิมินห์ มีเพียง 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

       การเพิ่มขึ้นของจำนวนเงินที่ชาวเวียดนามในต่างประเทศส่งกลับมายังเวียดนามในปี 2008 มีสาเหตุมาจาก
      
       ประการแรก การออกนโยบายใหม่ของรัฐบาลเวียดนามเรื่องการให้สิทธิบางประการแก่ชาว เวียดนามที่อาศัยอยู่นอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการซื้อที่อยู่อาศัยได้ ทำให้ชาวเวียดนามในต่างประเทศส่งเงินกลับประเทศมากยิ่งขึ้น
      
       ประการที่สอง อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารในเวียดนามที่อยู่ในอัตราสูง ดังเช่น ร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ชาวเวียดนามเหล่านี้อาศัยอยู่ซึ่งมี เพียงร้อยละ 5 - 5.5 ทำให้ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศส่งเงินมาฝากในเวียดนามมากขึ้น
      
       ประการที่สาม ว่ากันว่า ในปี 2008 โครงการประมาณ 2,000 โครงการ ของบริษัท 500 แห่ง ของชาวเวียดนามที่มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศ หรือชาวเวียดนามโพ้นทะเล (หรือที่ในภาษาเวียดนาม เรียกว่า เหวียตเกี่ยว หรือ Viet Kieu) ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจและลงทุนในประเทศเวียดนามได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางใต้ของประเทศ โดยมูลค่าการลงทุนของโครงการเหล่านี้มีถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และร้อยละ 60 ของโครงการกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ จึงไม่น่าแปลกใจที่เงินส่งกลับเวียดนามจากชาวเวียดนามนอกประเทศในปี 2008 จึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก
      
       ประการที่สี่ การเพิ่มขึ้นจำนวนเงินของชาวเวียดนามในต่างประเทศที่ส่งกลับมายังเวียดนาม ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ส่งกลับของคนงานชาวเวียดนามในต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีด้วยเช่นกัน ในปัจจุบัน คนงานเวียดนามในต่างประเทศมีจำนวนไม่น้อยกว่า 400,000 คน ใน 40 ประเทศและดินแดน ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2008 คนงานเวียดนามจำนวนอย่างน้อย 51,000 คน ได้เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยจำนวน 2,500 คนได้เดินทางไปทำงานยังตลาดแรงงานแห่งใหม่ เช่น โปรตุเกส ออสเตรเลีย มาเก๊า สาธารณรัฐเช็ค สโลวาเกีย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และสิงคโปร์ นอกเหนือไปจากตลาดแรงงานดั้งเดิมเช่น มาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และตะวันออกกลาง
      
       ในปี 2007 เงินที่คนงานเวียดนามในต่างประเทศส่งกลับบ้านมีประมาณ 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากเงินที่ส่งกลับมาทั้งหมดจำนวน 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยอีก 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้น เป็นเงินที่ส่งกลับบ้านของชาวเวียดนามที่ไปตั้งรกรากอยู่ในประเทศต่างๆ
      
       ธนาคารเวียดนามที่คนเวียดนามนอกประเทศใช้บริการในการโอนเงินกลับเข้า ประเทศ อันดับแรก ได้แก่ Vietcom Bank ซึ่งในปี 2007 รับโอนเงินจากชาวเวียดนามในต่างประเทศไปยังเวียดนามเป็นจำนวน 1.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2008 Vietcom Bank รับเงินโอนกลับเวียดนามมากกว่า 1.45 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ Sacomrex รับเงินโอนกลับเวียดนามประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ยังส่งเงินผ่าน Agri Bank, Western Union, MoneyGram International, Asia Commercial Bank (ACB) และ East Asia Bank (EAB), ซึ่งรับเงินโอนกลับเวียดนามประมาณ 631 เหรียญสหรัฐในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2008
      
       อย่างไรก็ตาม ยังมีเงินอีกจำนวนหนึ่งที่มิได้ส่งกลับโดยผ่านธนาคาร แต่ใช้วิธีฝากไปกับคนใกล้ชิดที่เดินทางกลับประเทศ
      
       เงินที่ส่งกลับประเทศจากชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่นอกประเทศและคนงาน เวียดนามในต่างประเทศ มีส่วนช่วยลดความยากจนและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม อีกทั้งมีส่วนในการแก้ไขปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเงินนั้นถูกนำมาใช้ในการทำธุรกิจการค้าการลงทุน
      
       อย่าง ไรก็ตาม จากวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา เงินที่ส่งกลับจากต่างประเทศนี้อาจจะลดลงเนื่องจากคนเวียดนามเหล่านี้ก็ ถูกกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ และการจ้างแรงงานเวียดนามในต่างประเทศก็ถูกกระทบด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในเวียดนามได้ถูกปรับให้ลดลงในช่วงหลังตรุษจีน หรือ “ตรุษญวน” ของปีนี้ซึ่งอาจจะทำให้แรงจูงใจในการส่งเงินกลับมาฝากธนาคารในประเทศ เวียดนามในปี 2009 นี้ลดน้อยลง
      
       หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Website: http://www.thaiworld.org


http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000043735

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น