วันนี้ผมนึกถึงคำโบราณที่ว่า 'คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย'
ผมนึกถึงตัวเองกับศาสตราจารย์ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ว่า จนแก่ตาย
เพื่อนทั้งสองก็คงจะไม่มีปัญญา หรือความสามารถพอที่จะอธิบาย
(พูด+เขียน+สอน+อภิปราย) ให้หมา เทวดา และคนในสังคมไทยเข้าใจได้ว่า
กฎหมายที่บังคับให้ตั้งพรรคการเมืองและบังคับให้ผู้สมัคร
ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองนั้น
เป็นการสร้างและรักษาเผด็จการไว้ให้ยืนยงในประเทศไทย
ทั้งนี้ เพราะความคิดเรื่องความดีของการให้
ส.ส.สังกัดพรรคได้กลายเป็นความเชื่อหรือความรู้ที่หยั่งรากหรืออีกนัยหนึ่ง
เป็นกรอบความคิดหลัก-กรอบความคิดเดิมหรือ old paradigm
ประจำสังคมไทยไปเสียแล้ว
กรอบความคิดเดิมนี้ เดิมทีก็เป็นของใหม่
แต่เป็นที่ถูกใจของชนชั้นปกครองที่ขึ้นมาครองอำนาจตั้งแต่การรัฐประหาร 8
พฤศจิกายน 2490 เป็นต้นมา
ตอนนั้นพอเริ่มต้นก็ถูกอภิมหาอำนาจใหม่ไร้ประสบการณ์การเมืองโลก
หลอกให้เกรงกลัวคอมมิวนิสต์จนขี้ขึ้นขมอง
นอกจากตามก้นอเมริกันแล้ว
เผด็จการก็รังเกียจและรำคาญผู้แทนราษฎรที่เป็นชนชั้นต่ำกว่า
ว่าจะพากันมาเพ่นพ่านกดดันและรีดไถ
จึงจำต้องหาทางป้องกันไว้ล่วงหน้าด้วยการจับมาเข้าคอกเสีย
สื่อและนักวิชาการส่วนใหญ่ซึ่งผอมโซและหิวโหย
ก็พากันเลียตีนเผด็จการ ทำหน้าที่ตอกย้ำกรอบความคิด
ด้วยการสรรหาข้อมูลสถิติและทฤษฎีต่างๆ
นานามาเพื่อแลกกับอามิสสินจ้างและฐานันดร
กรอบความคิดเรื่องผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคจึงกลายเป็นศาสนาของการเมืองไทย
ทั้งๆ ที่มีข้อเท็จจริงว่า
ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกเชื่อหรือกระทำเช่นนั้นเลย
การบังคับให้
ส.ส.สังกัดพรรคเท่ากับการทำลายสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานทางการเมือง
ความเป็นจริงของสังคมไทย
ทำให้การเมืองตกอยู่ใต้อำนาจผูกขาดของเผด็จการและนายทุน
รัฐธรรมนูญทุกฉบับเข้าล็อกเผด็จการหมด ไม่เว้นแม้แต่ฉบับ 2517
ที่ผมมีส่วนเป็นกรรมการร่าง ฉบับ 2540 ยิ่งร้ายหนัก
เพราะเปิดโอกาสให้ทุนผูกขาดได้เบ็ดเสร็จทั้งอำนาจรัฐสภาและอำนาจราชการ
ก่อนวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ผมเป็นอาจารย์หัวแข็งของอธิการบดี
สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกา
พอได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี
อาจารย์สัญญากลับขอร้องให้ผมไปช่วย ผมได้ทำความเข้าใจกับท่านนายกฯ ว่า
ผมจะไม่ขอตำแหน่ง ไม่ไปงานบ้าน งานวันเกิด
และขอแต่งกายอย่างสุภาพตามภูมิอากาศเหมือนคนไทยทั่วไป
สมัยนั้นยังไม่มีเสื้อพระราชทาน และพล.ท.เปรม
ติณสูลานนท์ยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก
อาจารย์สัญญาแต่งตั้งผมเป็นกรรมการประสานงานของนายกรัฐมนตรีกับ
ครม.กองทัพ กระทรวงและกลุ่มต่างๆ จนเพียบ
รวมทั้งให้ทำงานการเมืองของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งสุภาพบุรุษ
พลโทชูศักดิ์ วัฒนรณชัย เลขาธิการตัวจริงไม่ยอมทำ
เพราะถือมารยาทว่าท่านสืบทอดตำแหน่งมาจากรัฐบาลจอมพลถนอม
คอลัมนิสต์ชื่อพญาไม้ เลยด่าว่าผมแส่ทุกเรื่อง ทั้งๆ ที่งานอะไรนายกฯ
ไม่สั่ง ผมจะไม่ทำและไม่ริเริ่ม
งานที่ผมผิดหวังที่สุดคืองานร่างรัฐธรรมนูญ ที่นายกฯ
อยากให้เสร็จเร็วๆ เป็นประชาธิปไตยและป้องกันปฏิวัติรัฐประหารได้
ดร.อมร จันทรสมบรณ์
เป็นหนึ่งในสามทหารเสือจากกฤษฎีกาที่มาร่วมเป็นกรรมการร่าง มีดร.สมภพ
โหตระกิตย์ เลขาธิการ และดร.อักขราทร จุฬารัตน์
ทำหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการ ส่วนมีชัย ฤชุพันธุ์
ในตอนนั้นเป็นอนุกรรมการและทำหน้าที่ติดตามดร.สมภพ
หน้าที่หลังนี้ทำให้มีชัยเติบใหญ่ขึ้นมาในทางการเมือง
คณะกรรมการร่างนอกจากผมและดร.อมร เฉพาะผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็มี
ดร.อักขราทร จุฬารัตน์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช รศ.พงศ์เพ็ญ ศกุนตภัย
พ่อตานายกฯ อภิสิทธิ์ เอนก สิทธิประศาสน์ สรรเสริญ ไกรจิตติ
และหนึ่งเดียวคือ สุมาลี วีระไวทยะ คอลัมนิสต์และนักเคลื่อนไหวสตรี
ส่วนผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ได้แก่ประธานคณะคือ ศ.ดร.ประกอบ
หุตะสิงห์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายมนูญ บริสุทธิ์
อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พลเอกสุรกิจ มัยลาภ นายโอสถ โกศิน ศ.ดร.สมภพ
โหตระกิตย์ เสวตร เปี่ยมพงษ์สานต์ และไพศาล กุมาลย์วิสัย เป็นต้น
เราร่างรัฐธรรมนูญเสร็จภายใน 4 เดือน
และส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ความผิดหวังของผมทวีขึ้นหลายเท่า
เมื่อสภานิติบัญญัติซึ่งผมเป็นสมาชิกอยู่ด้วยผ่านร่างที่ดร.ธวัช มกรพงศ์
ยกมือค้านอยู่คนเดียว ผมอยู่ข้างดร.ธวัช แต่ในฐานะผู้ร่างเสียงข้างน้อย
ผมทำได้แค่งดออกเสียง
ผมบอกไม่ถูกว่ารู้สึกละอายหรือสมเพชที่มีคนชมรัฐธรรมนูญ 2517
ว่าเป็นฉบับที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด ผมไม่อาจคุยได้อย่าง ศ.ดร.บวรศักดิ์
ว่าฉบับที่ท่านร่าง (2540 ) เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี 1 ใน 10 ของโลก
รัฐธรรมนูญ 2517 มีลักษณะเผด็จการและมีปัญหาหลายประการ คือ
1. การติดยึดกรอบความคิดเดิม คือ
กระบวนการร่างอย่างฝรั่งเศสซึ่งยาวรุงรังและใช้ภาษาคลุมเครือ
2. สงวนอำนาจไว้ให้รัฐ โดยอ้างไว้ในถ้อยคำว่า
'ทั้งนี้ตามแต่บทบัญญัติของกฎหมาย'
แท้จริงรัฐธรรมนูญจะต้องสงวนอำนาจไว้ให้ราษฎร
รัฐบาลมีอำนาจเพียงตามที่มอบหมาย นอกจากนั้นจะต้องขออนุมัติจากราษฎร
(สภา)
3. สิทธิทางการเมืองของคนไทยไม่เท่าเทียมกัน เช่น
สิทธิเลือกตั้งของคนไทยที่เป็นลูกคนต่างด้าว
ซึ่งมีหน้าที่ทุกอย่างเท่ากับพลเมืองคนอื่น
4. สิทธิพื้นฐานทางการเมืองถูกจำกัดโดยการบังคับสังกัดพรรค
พรรคต้องส่งผู้สมัครเกินครึ่ง และเขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้แทนได้ 3 คน
ฯลฯ
โดยเฉพาะในข้อ 4 ทั้งดร.อมรและผมเห็นว่าเป็นต้นชี้ตายปลายชี้เป็น
ทำให้การเมืองไทยด้อยพัฒนา เพราะส.ส.ต้องตกเป็นทาสนายทุนพรรค
แต่กรรมการร่างและสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนอื่นกลับเห็นตรงกันข้าม
เพราะเขากลัวคอมมิวนิสต์และกลัวผู้แทนขายตัว
แต่ตราบใดที่ยังมีบทบัญญัตินี้ในกฎหมายเลือกตั้งหรือรัฐธรรมนูญ
เมืองไทยไม่มีวันเป็นประชาธิปไตยได้ จะต้องวนเวียนอยู่ในวัฏจักรน้ำเน่า
และวงจรอุบาทว์สลับกันไปมา หาวันจบมิได้
ในสมัยคมช.และรัฐบาลสุรยุทธ์ ดร.อมร
ได้พยายามทุกอย่างทั้งการเขียน พูดในที่ประชุม
ชี้ภัยให้ผู้นำรัฐบาลและคมช.ได้สำนึกว่า
หากปล่อยให้มีเลือกตั้งโดยรักษากรอบความคิดเดิมไว้
บ้านเมืองก็จะเกิดกลียุคและสงครามกลางเมือง ผมก็เช่นกัน และหลายๆ
ครั้งก็ร่วมกัน แต่เหลว
ดร.อมรเขียนและพูดอย่างเป็นนักวิชาการเต็มตัว มีการเสนอทฤษฎี
หลักการ สถิติ ข้อมูลและเอกสารอ้างอิงอย่างลึกซึ้งน่าเชื่อถือ ลองเปิดดู
google.co.th พิมพ์ชื่อนามสกุลดร.อมร ภาษาไทย ก็จะมีรายชื่อบทความ
ความเห็น และปาฐกถาในเรื่องเดียวกันนี้ถึง 6 หมื่นรายการ
เหตุที่เมืองไทยติดยึดกรอบความคิดเดิมนี้ ดร.อมรเชื่อว่าเพราะ 1.
ผู้ร่าง ผู้ใช้ และผู้ตีความรัฐธรรมนูญไม่มีความรู้มีแต่อวิชชา
สังคมไทยโดยเฉพาะครูสอนกฎหมาย หลักสูตรกฎหมาย
และนักรัฐศาสตร์ความรู้ยังอ่อน
สถานะทางวิชาการกฎหมายและรัฐศาสตร์เมืองไทยยังล้าหลัง และ 2.
เมืองไทยขาดผู้นำ
และขาดรัฐบุรุษที่มีสติปัญญากล้าหาญและเสียสละอย่างเดอร์โกลของฝรั่งเศสและ
วูดโรว วิลสัน ของอเมริกา ผมเคยขอร้องพล.อ.เปรม พล.อ.ชาติชาย
พล.อ.สุจินดา และนายอานันท์
ปันยารชุนให้เป็นผู้นำสร้างประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาแล้ว
ทุกคนปัดให้สภา
ดร.อมรได้ไปแสดงปาฐกถาในมหาวิทยาลัยที่ วปอ. ที่ศาลปกครองสูงสุด
ในที่ประชุมอธิการบดี ฯลฯ ครั้งล่าสุดคือ การบรรยายวันที่ 18 เมษายน 2552
และบทความเรื่อง 'คนไทยจะหาทางออกทางการเมืองได้อย่างไร 'วันที่ 10
พฤษภาคม 2552
ดร.อมร ได้เปรียบเทียบกับการบรรยายรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกอภิสิทธิ์
ว่า มีสาระที่แตกต่างกับความเห็นของท่านนายกรัฐมนตรีในทางตรงกันข้าม
ดร.อมรได้ยกตัวอย่างกระบวนการร่างและการปฏิรูปของนายกฯ
อภิสิทธิ์ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจากการถามประชาชน ตั้งสถาบันเป็นกลาง
ตั้งกรรมการร่วมของสภา
ทั้งหมดนี้ตรงข้ามกับกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ดร.อมรนำเสนอ
ดร.อมร มิได้ยกตัวอย่างที่นายกฯ
อภิสิทธิ์เขียนไว้ใน'การเมืองไทยหลังรัฐประหาร' ที่ยืนยัน กรอบ
ความคิดเดิมเรื่องการบังคับสังกัดพรรคและกำหนด 90 วัน เพราะนายกฯ
อภิสิทธิ์ก็ยังเชื่อว่า ถ้าจะไปถึงขั้นเปิดอิสระ จะทำให้สภาการเป็นตลาด
ส.ส.
ผมจะยังไม่ฝากความหวังไว้แม้แต่กับการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ
ผมเองเขียนเรื่องนี้ไว้มากแล้ว
และจะเขียนโดยละเอียดสไตล์ดร.อมรอีกสักครั้งหนึ่ง
แล้วผมจึงจะสรุปว่าจะต้องพูดกับดร.อมรหรือไม่ว่า
'ไว้ชาติหน้าบ่ายๆ ก็แล้วกันนะ สองคนเรา'
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000060959
เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ แต่ผมว่ายังไม่เป็นต้นเหตุที่แท้จริง
จะขอกล่าวถึงในอดีต ร. 7 ให้อำนาจคณะราชฯให้การสร้าง
ประชาธิปไตย แต่คณะราชฯ โดยเฉพาะนักเรียนนอก
เข้าใจผิดคิดว่าการมี รัฐธรรมนูญ การมีการเลือกตั้ง จะเป็น
ประชาธิปไตย เหล่านี้แสดงให้เห็นแล้วว่า 77 ปี ที่ผ่านมา
เมืองไทยยังเป็นเผด็จการรัฐสภา สลับกับ เผด็จการทหาร
เพราะนักวิชาการ มีความคิดได้แค่ ลิทธิรัฐธรรมนูญ
การสร้างอนุสาวรียประชาธิปไตย ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผิด
ที่ปลูกฝังให้คนในสังคมเข้าใจผิดต้องการรัฐธรรมนูญ กับ
การเลือกตั้ง เท่านั้น โดยไม่เข้าใจหลักของประชาธิปไตย
ที่แท้จริง ส่วน รัฐธรรมนูญ กับการเลือกตั้ง เป็นองค์ประกอบ
หนึ่งของ ระบอบประชาธิปไตย เท่านั้น
การจะสร้างประชาธิปให้เกิดขึ้นจริง
จะต้องเริ่มที่การปฎิบัติ ให้เป็นจริงเหมือนในอดีต
ตัวอย่าง น. 66/2523 เป็นนโยบายประชาธิปไตย ทำให้เกิด
ขึ้นจริง แต่เป็นในระดับภูมิภาคเท่านั้น เป็นนโยบายที่ทำให้
คนในชาติไม่ต่อสู้กันเอง เหมือนในปัจจุบัน ที่กำลังทำให้
เรากับไปสู้สิ่งเก่าๆ ที่จะเกิดขึ้นอีก ในอนาคต
ดิว
+++
อยากให้นักวิชาการ ศึกษา พระมหากษัติรย์ในอดีต
ของไทยว่าท่าน สร้างรากฐานในการสร้างประชาธิปไตย
มาแต่อดีต อย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่จะเป็นต้อง
ตามต่างชาติไปทุกอย่าง ท่านประยุกต์ ให้เข้ากับสังคม
ไทย และนำพาประเทศให้เจริญก้าวหน้า มาจนถึงทุกวันนี้
อยากให้แกนนำ พธม. ไม่ต้องยกตัวอย่าง จากต่างชาติ
เช่น การเลิกทาส ของ ร.5 ก็เป็น สันติอหิสา ที่เกิดขึ้น
ดิว เพิ่มเติม
+++
เห็นตรงกับอาจารย์ครับ อีกเรื่องที่อยากเห็นคือยกเลิกการจ้างตำรวจ
แล้วจ้าง รปพ หรือยามแทน
เพราะทุกวันนี้ตำรวจทำอะไรกันมีอะไรที่ควรแล้วไม่ทำ
ยามที่เราจ้างยังดีกว่า รับเงินเดือนเรา เคารพเรา ดูแลรถเข้าออก
ตรวจตราโจรผู้ร้าย จับโจร จับเด็กอันธพาลที่มาเพ่นพ่าน บางทีก็ช่วยจับงู
หมาหลงทาง ตามหาเต่าที่หนีตอนน้ำท่วม เรียกแท็กซี่ให้
สั่งซื้อก๋วยเต๋ยวและนำมาส่ง และอื่นๆสารพัด เราอุ่นใจ ปลอดภัยระดับหนึ่ง
ถามว่าตำรวจวันนี้ทำได้ดีเท่ายามหรือเปล่า
ว่าแล้วก็ขอซื้อปืนพกก่อนเพื่อความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สิน
เพราะเรามีคนกินเงินเดือนเรา
อวดเบ่งกดขี่เราแถมบางทีก็ไถเงินเราหน้าด้านๆ มีพวกมันไปทำไม
เสียสตางค์เปล่า
buannguan
+++
ผมอ่านบทความนี้ด้วยความชื่นชมเป็นพิเศษ
ด้วยว่าผู้หลักผู้ไหญ่ผมสองสีหรือเหลือสีขาวสีเดียวแล้วนี้
ก็ยังมีอย่างคุณปราโมทย์ คุณอมรที่ยังมีหลักการ แนวคิด
วิถีการมองปัญหาของระบอบและระบบการบริหารการปกครองที่บ้านเมืองนี้ใช้อยู่
อย่างที่ว่าคนรุ่นหลังต้องได้อายเพราะคิดไม่ถึงและละเลยปัญหาเรื่องกติกาไป
บางท่านก็เค่คิดจะไปแก้ไขกันในสภา ทั้งที่งานบางอย่างนั้น
รัฐธรรมนูญให้โอกาสประชาชนรวมกลุ่มกันลงชื่อเสนอขอแก้ไขได้เองอยู่แล้ว
เรียกว่าทำการเมืองนอกสภาแบบการเมืองภาคประชาชนได้
ถ้าไม่หวังจะเข้าสภาไปเพื่อได้อำนาจบริหาร
หรือได้ประโยชน์จากสิ่งที่อำนาจบริหารจัดหาให้ได้
พธม.นั้นเคยแข็ง แกร่งอย่างยิ่งในงานการเมืองภาคประชาชน
จะหาคนเซ็นชื่อสักห้าหมื่นสักแสนคนไม่ใช่เรื่องเหนือความสามารถ
แต่การตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาโดยมีสื่อเอเอสทีวีหนุนอยู่นั้น
แนวร่วมพันธมิตรที่พอใจแค่การทำหน้าที่ยามเฝ้าแผ่นดินตรวจสอบและแสดงความคิด
เห็นแบบไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัตติโดยตรงย่อมหลีก
เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องลดระดับความน่าเชื่อถือของกลุ่มแกนนำพันธมิตรที่เข้า
ร่วมเล่นการเมืองกับเขาลง ในระดับเดียวกับนักการเมืองหน้าใหม่
ซึ่งอย่างน้อยก็ดีกว่านักการเมืองหน้าเก่า
และต้องถูกตรวจสอบเหมือนนักการเมืองทั่วไปด้วย
การตั้งพรรคการเมือง ของกลุ่มพันธมิตรนั้น
แม้อ้างได้ว่าเกิดจากมติของพันธมิตรที่เข้าร่วมชุมนุมวันที่๒๔-๒๕พค.๕๒
แต่ก็อย่าได้ลืมว่าแม้ว่าจะอาศัยบทความทัศนะความเห็นที่สนับสนุนแนวความคิด
นี้ของบรรดาแนวร่วมแกนนำสักเท่าใด ในเกือบทุกคอลัมม์ของเวปไซด์นี้
แต่ผมไม่เห็นว่าความเห็นเพิ่มเติมที่เข้ามาจากบรรดาพันธมิตรหน้าจอ
ซึ่งอย่างน้อยก็มีวุฒิภาวะระดับใช้คอมเพื่อการสื่อสารเป็น
มันจะแสดงความเห็นด้วยในการตั้งพรรคอย่างท่วมท้นดังเจตนาที่คอลัมนิสต์ผู้
อยากตั้งพรรคและโถมเข้าไปเล่นการเมืองทั้งตัว
เอาชื่อเสียงแกนนำออกหน้าปราถนาจะเห็น...
สังเกตุกันไหมครับว่า ความเห็นเมาร่วม
และจำนวนผู้อ่านผู้สนับสนุนการตั้งพรรคนั้นมันน้อยกว่าผู้อ่านซ้อเจ็ดหรือ
ข่าวกิฬาดังๆอีก
น้อยกว่าผู้ให้การสนับสนุนรัฐบาลตอนสงกรานต์ด้วยซ้ำ...ยังจำกันได้ไหมครับ
ว่าดอนเมืองกับสุวรรณภูมินั้นผู้คนที่อยู่หน้าจอคอมออกมาร่วมกันมากน้อยขนาด
ไหน กำลังที่มาจากทำเนียบนั้นเท่าไหร่กันเชียว
คนพวกนั้นแค่ทำเนียบยังไม่ไปแล้วธรรมศาสตร์รังสิตจะไปไหมครับ
เรื่องมันเกิดใกล้บ้านเขาๆก็ออกมาร่วมครับ ไม่งั้นก็เฝ้าจออยู่เป็นปรกติ
หรือแกนนำจะถือว่าพวกนี้ไม่ใช่พันธมิตรก็ไม่ว่ากัน....
ถ้าผมเป็นแบ รนด์เมเนเจอร์สินค้าตัวนี้
ผมต้องกังขาและระแวดระวังสินค้าตัวนี้เป็นพิเศษแล้วครับ
บริษัทก็ไม่ได้เงินถุงเงินถังจะออกสินค้าท้าชนกับคู่แข่งมันได้ตลอดไป
ผู้บริโภคออกอาการอย่างนี้สัญญานไม่ค่อยดี....
คุณปราโมทย์และคุณอมร
รักษาสุขภาพไว้อยู่เป็นหลักเป็นแกนให้คนรุ่นใหม่ๆที่ชื่นชมอย่างบริสุทธิ์ใจ
ต่อแนวความคิดยามเฝ้าแผ่นดิน
และด้วยด้อยประสบการณ์ภาคปฎิบัติในระบบการเมืองไทย
ก็ปราถนาจะได้มีผู้อาวุโสผู้เปี่ยมประสบการณ์ที่มีความคิดเห็นเป็นอิสระจาก
พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคใดมาคอยชี้นำบ้าง...
ผมคงไม่ขอมากเกินไปนะครับ.....
ไม่สงวนความเห็น
+++
ผมเคยคิดแบบคุณครับ ดูคอลัมน์ ดูการตอบกระทู้ แต่พอถึงวันงานที่พธมจัด
แล้วเห็นคนที่ไปร่วมงาน คอลัมน์ซ้อเจ็ดอะไรไม่มีความหมายเลยครับ
ผม ไม่เห็นด้วยกับการตั้งพรรคเช่นเดียวกันครับ
เพราะคิดว่าพันธมิตรควรจะทำให้การเมืองภาคประชาชนและสื่อที่มีอยู่ในมือให้
เต็มที่ ซะก่อน รวมถึงการสวมหลายบทบาท
แต่เห็นวันที่คนไปร่วมงานพันธมิตรเยอะอย่างนั้น
แถมตอนถามความเห็นว่าใครไม่เห็นด้วยกับการตั้งพรรคให้ยืนขึ้น
ดันยืนแค่คนเดียว(ใครจะกล้ายืน 55)
ใจนึงผมรู้สึกเสียหน้าเพราะคิดว่าคนจะไม่เห็นด้วยเยอะ
แต่ใจนึงผมดันมีความหวังกับพรรคที่จะตั้งขึ้นมา
และคิดว่าเหตุผลด้านลบของการตั้งพรรคที่ผมเคยเชื่อมันแทบจะไม่มีความหมาย
อะไรเลย ถ้าพรรคที่ตั้งขึ้นสามารถ
รักษาจุดยืนและต่อสู้กับความไม่ถูกต้องในบ้านเมืองได้จริง เอาแค่นี้
ไม่ต้องหวังไกลถึงกับเป็นรัฐบาล
ไม่ต้องหวังไกลว่าจะต้องมีคนเก่งมีฝีมือชื่อเสียงโด่งดังมาช่วยร่างนโยบาย
สุดยอดใดๆทั้งสิ้น เอาแค่เจอประชาชนถูกนักการเมือง
ถูกผู้มีอิทธิพลรังแกที่ไหน
แล้วพรรคนี้ยื่นมือเข้าไปช่วยได้สำเร็จเพียงครั้งเดียว
หรือเป็นกระบอกเสียงพูดในสภาด้วยเหตุผล
ไม่ต้องยกมือค้านปัญาอ่อนแบบที่เป็นอยู่ ได้ซัก คนสองคน
ผมว่าแค่นี้ก็เป็นประโยชน์มากแล้วครับ
มันจะกลายเป็นโอกาสที่คนไทยซึ่งเคยหมดหวังกับนักการเมือง
ได้เห็นความหวังที่เป็นรูปธรรม
ปัญหาใหญ่ที่สุดของพรรคก็คือจะรักษาความ ดี
ความเที่ยงธรรมไว้ได้เหมือนตอนที่มันเกิดหรือไม่
และอีกเรื่องก็คือคุณสนธิบางครั้งดูเหมือนคนหลงตัวเองครับ
โดนด่าชัวร์
+++ เรียนท่าน โดนด่าชัวร์ และ ท่านไม่สงวนความเห็น
ผมไม่ด่าท่านครับ และก็ไม่เห็นว่าท่านจะต้องชี้นำเรื่องนี้
ระบอบประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิ์ จะพูดอะไรก็ได้ภายใต้กรอบของกฎหมายครับ
ผมเห็นด้วยกับการตั้งพรรค และถึงแม้คนจะไม่มากเหมือนที่สนามบินทั้ง 2
แห่งก้ไม่ได้หยความว่าเขาไม่เห็นด้วยครับ
ผม เห็นด้วยกับข้อที่ว่าถ้าเป็นพรรคแล้วเราจะสามารถรักษาความดี
ความเที่ยงธรรมไว้ได้เหมือนตอนที่มันเกิดหรือไม่ เรื่องคุณสนธิ
ไว่มีพรรคหรือไม่มี คุณสนธิก็มีสิทธิ์จะเป็นอย่างที่ท่านเป็นครับ
เราจะเลือกหรือไม่เลือกก็เป็นสิทธิ์ของเราเช่นกัน
ผมขอให้พูดกันมากๆ แต่อย่างอแงเป็นเด็กๆครับ
เอาเหตุผลมาพูดและเปิดโอกาสให้โต้เถียงกัน
ว่าแต่ว่าทำไมท่านไม่ไปค้านวันนั้นล่ะครับ ทำไมมาพูดหลังจากมันจบไปแล้ว
กล้าทำ ไม่ว่าที่ไหนก็ไม่สำคัญครับ ดูเจ๊ไก่วอยละลายทรัพย์
เป็นตัวอย่างซิครับ
นับถือ
เด็กBoston
+++
เห็นด้วยกับบทความนี้เป็นอย่างยิ่ง จะไปกลัวอะไรล่ะครับในเรื่อง สส.
ขายตัวหรือรับเงินยกมือ ก็เรามีข้อตกลงกันแล้วมิใช่หรือว่า
ประชาชนสามารถเข้าชื่อถอดถอนนักการเมืองได้
หากจะให้ศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้น ก็ให้ตัดสิทธิ์ทางการเมืองของ สส.
ขายตัวด้วย พร้อมให้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
แล้วให้เอา สส. คะแนนถัดไปขึ้นมาแทน แบบนี้ สส. ขายตัวจะลดลงได้มาก
แล้วทำไมการบังคับสังกัดพรรคซึ่งเป็นการขายตัวหนักกว่าอีก
รัฐธรรมนูญกลับให้ทำ จึงเห็นด้วยกับ อ.ปราโมทย์
ว่าเป็นเรื่องของพวกนักการเมืองตัวหลักๆกลัวจะไม่ได้อำนาจปกครอง
ผม เคยนำเสนอไว้ว่า พรรคการเมืองจะมีหรือไม่ไม่สำคัญ
และให้พรรคเป็นแค่ที่รวมตัวของนักการเมืองที่มีนโยบายสอดคล้องกัน
และท่าจะให้ดี ควรจำกัดด้วยว่า สส. ไม่ให้เป็นรัฐมนตรี ใครอยากเป็น
รัฐมนตรี ก็อย่ามาสมัคร สส. แล้วไปรอลุ้นเอาเองหลังการเลือกตั้ง
แบบนี้จะทำให้คนดีคนเก่งเป็นที่ต้องการของบ้านเมือง
ไม่ใช่เป็นรัฐมนตรีอย่างยุคนี้ ซึ่งไม่มีความรู้ความสามารถในการทำงานเลย
เป็นแค่คนที่ทำงานพรรคการเมืองมาเท่านั้นมีพวกมาก ก็เป็นรัฐมนตรีได้แล้ว
ดำเกิง
+++
กรุณาเล่า เถิดครับ...อย่าได้รู้หยุด...เล่าอีก เอาอีก...ขอดเกร็ดเทวดา
2551/2552 จารึกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย ฉบับคนกล้าทางจริยธรรม
..........................................................
ขอขอบพระคุณครับ
ฯลฯ
1. ผู้ร่าง ผู้ใช้ และผู้ตีความรัฐธรรมนูญ...ไม่มีความรู้...มีแต่อวิชชา
ฯลฯ
และ
2. เมืองไทยขาดผู้นำ
และขาดรัฐบุรุษ
ที่มีสติปัญญากล้าหาญและเสียสละ
อย่าง
เดอร์โกลของฝรั่งเศส
และ
วูดโรว วิลสัน ของอเมริกา
ฯลฯ
............................................................
แผ่น ดิน รูปขวานโบราณ...เมืองไทย คนร่วมชาติ เกิดๆตายๆ
หลายยุคสมัย...เกิดๆตายๆเกิดๆตายๆเกิดๆตายๆเกิดๆตายๆ....ยอดสะสม 700 ปี
วันนี้ หายใจรวยริน รดแผ่นดินราว 66
ล้านคน...ชนชั้นนำส่วนใหญ่สนุกสนานกับการอมพ่น>>>>มากกว่า กล้าคิด
กล้าพูด และกล้าทำ
ใช่ครับพี่ ...ดีครับผม ...เหมาะสมครับท่าน...
...
การจัดระเบียบทางสังคมแบบสองมาตรฐาน
...บกพร่องโดยสุจริตเอย...
...ยังไม่ได้รับรายฮานเอย...
...ไม่ต้องรับผิด ทั้งๆที่กระทำผิด ด้วยข้อยกเว้นนานาประการ....
ฯลฯ
2551/2552
+++
เรียน ท่านอาจารย์ปราโมทย์ที่เคารพ
ได้อ่านบทความของท่านอาจารย์แล้ว เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง
แต่ประชาธิปไตยที่พวกเราอยากจะให้เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งหมดทุกคน
คงจะเป็นไปไมได้ในช่วงทศวรรษนี้ ความคิดเห็นของผม
ปัจจุบันพวกเราชาวพันธมิตรซึ่งผมกล้าพูดได้เลยว่าพวกเรามีหัวใจมีปัญามีความ
นึกคิดเป็นประชาธิปไตยเกือบทุกคน
แต่พวกเราก็เป็นเสี้ยวหนึ่งของสังคมโดยรวมเท่านั้น
ทำอย่างไรเราจึงจะแก้ไขกฎหมายกฎกติกาของสังคมเพื่อให้ประชาชนที่ยังไม่เข้า
ใจในวิถีทางประชาธิปไตยได้ยึดถือปฏิบัติ
ปัจจุบันพวกเราชาวพันธมิตรและแกนนำก็ได้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา
เพื่อจะเข้าไปหาแนวทางในการแก้ไขกฎหมายกฎกติกาของสังคมในสภา
ซึ่งเป็นช่องทางเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่องทางจากเดิมที่มีแต่ ASTV เท่านั้น
คงจะต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะได้ประชาธิปไตยมาเป็นของปวงชนชาวไทยทุกคน
ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์อยู่ต่อสู้ร่วมกับพวกเราต่อไป
ขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคาพยาธิมีจิตใจร่าเริงเบิกบาน
พันธมิตรเมืองเอก
+++
ฝากส่ง link ถึงผู้เขียน
ปราโมทย์ นาครทรรพ
:: รธน 40 มีโครงสร้างอำนาจผิดพลาดมาก
www.nesac.go.th/kms/Main_highlight/pdf/pol49[1].pdf
ไกรศร krisorn@computer.org
+++
ผมพูด และเชื่อเสมอว่า ถ้า"ประชาชน" ต้องการอะไร เขาก็จัก
เลือกสิ่งนั้น ซึ่งสิ่งที่ผมเห็นก็คือการสงวนอำนาจ และกักอำนาจ
ไว้ที่นักการเมือง "ให้เป็นไปตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง", "ทั้งนี้
ตามแต่บทบัญญัติของกฎหมาย", หรือ "โดยไม่ขัดกับบท
บัญญัติอื่นใด"
แล้วเมื่อกล่าวถามว่าใครเป็นผู้ออกกฏหมาย และระเบียบทาง
ปกครอง ก็ต้องย้อนกลับตอบไปว่านักการเมือง
ขอโทษนะครับอาจารย์ที่ผมต้องพูดว่า ประชาชนไม่มีความรู้
ขาดความเข้าใจอย่างแท้จริง นักการเมืองก็ไม่ยอมเสียผล
ประโยชน์ และอำนาจของตนง่ายๆ หรอกครับ ถ้าอาจารย์
ต้องการผลักดันเรื่องนี้ อาจาีรย์อาจต้องหาหนทางเสียใหม่
โดยกลับไปเริ่มที่ประชาชน(โดยทั่วไป ไม่ใช่กลุ่มปัญญาชน
เท่านั้น)
เช่นว่า รณรงค์ให้คณาจารย์ และครูทั้งหลายส่งเสริมความรู้
ทางประชาธิปไตยอย่างถูกวิธี สอนทั้งสิ่งที่ถูก และผิด โดย
ใจเหตุการณ์ปัจจุบันเป็นเกณฑ์ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด สิ่งใดเป็น
เผด็จการ ให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยได้มากกว่า
ประเทศจีนที่ปกครองโดยคอมมิวนิสต์เผด็จการเบ็ดเสร็จสักที
จริงๆ ที่อยากได้เมล์ของอาจารย์เพราะว่าจะส่งข้อเขียนเกี่ยว
กับความคิดเห็นของผมในเรื่องที่อาจารย์เคยกล่าวไว้
การกระจายอำนาจของตำรวจ เพราะผมเห็นข้อบกพร้องใหญ่
ในสังคมไทยคือ "การสร้างอิทธิพล" ผมไม่เชื่อว่า ตำรวจไทย
จะไม่ทำตัวแบบผู้คุมบ่อน ถ้ากระจายอำนาจของตำรวจ
ถึงจะไร้ยศใดๆ หากแต่ก็ยังเป็นคนคุมบ่อนได้อยู่ดี
จริงๆ ผมมีประเด็นที่จะเขียนตอบอาจารย์หลายประเด็นในเรื่อง
ต่างๆ ที่อาจารย์ได้เคยลงไว้ แต่โดยมากแล้วผมอยากส่งให้
อ่านแบบส่วนตัวกันเสียก่อนน่ะครับ ไม่ค่อยกล้าลงในนี้
ดูจักสาธารณะเกินไป...
วิบูลย์
+++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น