จังหวัดเลยเชิญร่วมงาน "ประเพณีบุญหลวงการละเล่นผีตาโขน" ณ
บริเวณวัดโพนชัยและหน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย จ.เลย ในวันที่ 26-28
มิถุนายน 2552 โดยงานบุญหลวงถือเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีประจำท้องถิ่น
โดยรวมเอา "งานบุญพระเวส" (ฮีตเดือนสี่) และ "งานบุญบั้งไฟ" (ฮีตเดือนหก)
เข้าไว้เป็นงานบุญเดียวกัน
งานบุญพระเวสนั้นเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อฟังเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์
ซึ่งเชื่อว่าจะได้อานิสงค์แรงกล้า
บันดาลให้พบพระศรีอริยเมตไตรย์ในชาติหน้า
ส่วนงานบุญบั้งไฟเป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อบูชาอารักษ์หลักเมืองและถือเป็น
ประเพณีการแห่ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งในงานบุญหลวงนี้จะมี
"การละเล่นผีตาโขน" ช่วยสร้างความสนุกสนานครื้นเครงในขบวบแห่ด้วย
การละเล่นผีตาโขนถือเป็นการแสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรมอันดีงามน่าภาคภูมิใจ
อย่างหนึ่งของชาว อ.ด่านซ้าย
โดยได้ยึดถือปฎิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล
"ผีตาโขน" เป็นการละเล่นชนิดหนึ่งของคนอีสาน
ผู้เล่นจะสวมหน้ากากและแต่งตัวให้หน้ากลัว แต่ไม่ใช่การเชิญผีมาเข้าทรง
เป็นการเล่นตลกอย่างหนึ่ง ในอดีตคนอีสานนิยมเล่นผีตาโขนในงานบุญบั้งไฟ
และงานบุญผะเหวด(พระเวส)มาโดยตลอด เหตุที่มีขบวนแห่ผีตาโขน
เพราะมีความเชื่อว่าเมื่อพระเจ้ากรุงสัญชัยกับพระนางผุสดีไปเชิญพระเวสสันดร
และพระนางมัทรีกลับเมือง ขบวนแห่แหนเข้าเมือง
มีคนป่าหรือผีป่าที่เคยปรนนิบัติและเคารพรักพระเวสสันดรร่วมขบวนมาส่งด้วย
ผีตาโขนในขบวนแห่จะแยกเป็น 2 ชนิดคือ ผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก
"ผีตาโขนใหญ่" ทำเป็นหุ่นรูปผีทำจากไม้ไผ่สานมีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณ
2 เท่าประดับตกแต่งรูปร่างหน้าตาด้วยเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เวลาแห่
คนเล่นจะต้องเข้าไปอยู่ข้างในตัวหุ่น แต่ละปีจะทำผีตาโขนใหญ่เพียง 2
ตัวผีตาโขนชาย1ตัว หญิง1ตัว สังเกตจากเครื่องเพศปรากฏชัดเจนที่ตัวหุ่น
ผู้มีหน้าที่ทำผีตาโขนใหญ่จะมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น
เพราะคนอื่นไม่มีสิทธิ์ทำต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อน
ถ้าได้รับอนุญาตแล้วต้องทำทุกปีหรือทำติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี
ส่วน "ผีตาโขนเล็ก" นั้น ทุกคนไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่ หญิงหรือชาย
มีสิทธิ์ทำและเข้าร่วมสนุกได้ทุกคน
แต่ผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร่วมเพราะเป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผนและซุกซน
สำหรับหน้ากากผีตาโขนอันเป็นจุดเด่นของชุดผีตาโขนนั้น
ทำจากส่วนที่เป็นโคนของก้านมะพร้าวและหวดนึ่งข้าวเหนียว
โดยนำมาเย็บติดกันแล้วเขียนหน้าตา ทำจมูกเหมือนผี
ส่วนชุดแต่งกายของผีมักมีสีฉูดฉาดบาดตา
โดยอาจเย็บเศษผ้าเป็นเสื้อตัวกางเกงตัวหรือเย็บเป็นชุดติดกันตลอดตัวก็ได้
ข้อสำคัญคือต้องคลุมร่างกายให้มิดชิด
ส่วนเครื่องแต่งตัวประกอบที่เป็นเอกลักษณ์ของผีตาโขนคือหมากกะแหล่งและดาบไม้
โดยหมากกะแหล่ง คือเครื่องดนตรีรูปร่างคล้ายกระดิ่งหรือกระดึงแขวนคอวัว
ผีตาโขนจะใช้หมากกะแหล่งแขวนติดบั้นเอวเมื่อเดินโยกตัวหรือเต้นเป็นจังหวะ
ขย่มตัวสายสะโพกเสียงหมากกะแหล่งก็จะดังเสียงน่าฟังและน่าสนุกสนาน
ส่วนดาบไม้ เป็นอาวุธประจำกายผีตาโขนไม่ได้เอาไว้รบกัน
แต่เอาไว้ควงหลอกล่อและไล่จิ้มก้นสาวๆ
ซึ่งก็จะร้องวิ๊ดว้ายหนีกันจ้าละหวั่น ทั้งอายทั้งขำ แต่ไม่มีใครถือสา
เพราะเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมา
เหตุที่วิ่งหนีเพราะปลายดาบนั้นแกะสลักเป็นรูปอวัยวะเพศชายแถมทาสีแดงให้
เห็นอย่างเด่นชัด การเล่นแบบนี้ไม่ถือเป็นเรื่องหยาบ
หรือลามกเพราะมีความเชื่อกันว่าหากเล่นตลกและนำอวัยวะเพศชายหญิงมาเล่นมา
โชว์ในพิธีแห่และงานบุญบั้งไฟจะทำให้พญาแถนพอใจ ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล
พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย โทร. 0 4289 1266
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000065312
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น