พัฒนาการทางการเมืองประเทศไทยวันนี้ มีสิ่งที่สามารถ "จุดประกาย" ปัญญา
ควรแก่การนำมา "ปุจฉา-วิสัชนา"กันในหมู่พวกเราชาวพันธมิตรฯ
กันอยู่หลายเรื่องทีเดียว
เรื่องที่คิดว่ามีความสำคัญระดับต้นๆ ก็คือเรื่องของ "ภูมิปัญญา" พันธมิตรฯ
ทั้งนี้ หากเราบอกว่า "ต้นไม้พันธมิตรฯ"
เป็นไม้พันธุ์ที่โตเร็วมาก ก็คงไม่มีใครปฏิเสธ
เพราะเป็นต้นไม้ที่เราปลูกขึ้นมากับมือของเราเอง
ด้วยปัญญาตื่นรู้ของเราเอง ในสภาพดินฟ้าอากาศที่เป็นใจ
โดยเฉพาะเมื่อระบอบทักษิณกลายเป็นปุ๋ยบำรุงเนื้อดินให้ต้นไม้พันธมิตรฯ
เจริญเติบโต แตกกิ่งก้านสาขาครอบคลุมไปทั่วทั้งแผ่นดิน
แต่ที่มีความหมายมากกว่านั้น ก็คือ
ไม่เพียงแต่ต้นไม้นี้จะโตเร็วเท่านั้น แต่ยังได้ผลิดอกออกผลเป็น
"ภูมิปัญญา" พวงใหญ่อันประกอบด้วย
1. อุดมการณ์ "การเมืองใหม่" ที่จะเข้าแทนที่การเมืองเก่าอย่างแน่นอน
2. "อำนาจปัญญา" ของชาวพันธมิตรฯ อันเริ่มต้นจากการ
"จุดเทียนปัญญา" ปัจจุบันกำลังพัฒนาเป็น "อำนาจกำหนดใหม่"
ที่จะเอาชนะอำนาจกำหนดเก่าของการเมืองเก่า
3. "ประชาธิปไตยมวลมหาชน" เป็น ระบบ กลไก
ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกระบวนการใช้อำนาจของ "อำนาจปัญญา"
ที่เป็นอำนาจกำหนด/กำกับจากเบื้องล่าง
ดังที่ได้ปรากฏออกมาแล้วในรูปของการลงมติในที่ประชุมสภาพันธมิตรฯ
และการแสดงฉันทามติในที่ชุมนุมใหญ่พันธมิตรฯ
ในเรื่องการตั้งพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 24-25 มิ.ย. ที่ผ่านมา
ในการตีความ "การเมืองใหม่" ก็คืออุดมการณ์ หรือ "ธง"
สำหรับให้ชาวพันธมิตรฯ ยึดมั่น ไม่ย่อท้อ วอกแวก
ไม่ว่าจะเผชิญกับปัญหาอุปสรรคแสนยากลำบากเพียงใด
เพราะมันคือทางออกของประเทศชาติและของคนไทยทุกคน
"อำนาจปัญญา" คือเนื้อหาสาระที่เราจะสร้างให้ใหญ่โตและเข้มแข็ง
เพราะมันคือตัวหลักของอำนาจการเมืองใหม่
ต้องทำให้ทรงพลังยิ่งใหญ่สุดที่ใครจะเทียบได้
"ประชาธิปไตยมวลมหาชน" คือระบบ กลไก
ที่เราจะพัฒนาให้สมบูรณ์รอบด้าน ในรูปแบบที่เหมาะสม
เพื่อเป็นหลักประกันให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ยังประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน
ทั้งสามสิ่งนี้ คือ
"ขุมพลัง"การขับเคลื่อนของขบวนการการเมืองภาคประชาชนนำโดยพันธมิตรประชาชน
เพื่อประชาธิปไตย ในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย
ภูมิปัญญาพันธมิตรฯ จึงเป็นภูมิปัญญาที่ทรงพลัง
ที่นับวันจะสร้างความเข้มแข็งเกรียงไกรให้แก่พันธมิตรฯ
กระนั้น การเข้าถึงความจริงของภูมิปัญญาพันธมิตรฯ
จำเป็นจะต้องใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์เข้าช่วย นั่นคือต้องมองเห็นที่มา
ว่ามาจากการเคลื่อนไหวต่อสู้ของพวกเราชาวพันธมิตรฯ นั่นเอง
อีกนัยหนึ่ง มาจากการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างยืดเยื้อยาวนานของชาวพันธมิตรฯ
ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นจริงๆ ก็คือการ "จุดเทียนปัญญา"ของแกนนำ
ตั้งแต่ต้นปี 2549 (หากนับย้อนจริงๆ ก็ต้องเริ่มจากปลายปี 2548)
แรกเริ่มที่เราเคลื่อนไหว แกนนำพันธมิตรฯ ก็ได้ยึดหลัก
"จุดเทียนปัญญา" "เอาธรรมนำหน้า" เป็นตัวตั้ง
เดินหน้าวิ่งสู้ฟัดกับระบอบทักษิณแบบ "เจ๊งเป็นเจ๊ง ตายเป็นตาย"
การเริ่มต้นที่ถูกต้อง
สามารถสร้างความเข้มแข็งทางปัญญาให้แก่ประชาชน กลายเป็น
"มวลชนที่มีปัญญา" มีศักยภาพยิ่งใหญ่ กลายเป็นพลังอำนาจใหม่
ภายใต้การนำของพันธมิตรฯ
นอกจากนี้ ด้วยยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องคือ "สันติอหิงสา"
เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างพลิกแพลงยืดหยุ่น
มีความถูกต้อง ชอบธรรม สมเหตุสมผลตั้งแต่ต้นจนปลาย
ผลคือ ทำให้สามารถแยกมิตรแยกศัตรูได้ถูกต้อง การยึดเอา "ธรรม"
กับ "อธรรม" เป็นเส้นแบ่ง ทำให้พันธมิตรฯ ยืนอยู่ในฝ่ายธรรมอย่างชัดเจน
ผู้เข้าร่วมและสนับสนุนจึงประกอบไปด้วยบุคคลและกลุ่มบุคคลจากทุกวงการ
ทุกสาขาอาชีพ ทุกเพศวัย ทุกสถานะสังคม ทุกลัทธิความเชื่อ
และทุกนิกายศาสนา ที่รักความเป็นธรรม ยึดมั่นในธรรม ทำให้พันธมิตรฯ
กลายเป็นแหล่งรวมของคนดี มีศีลธรรม มีคุณภาพ และศักยภาพที่ "ตื่นรู้"
ในเรื่องเดียวกัน ว่าการเมืองเก่าคือต้นตอของหายนะทั้งหลายทั้งปวง
จักต้องสร้างการเมืองใหม่ขึ้นมาให้ได้
ทุกคนพากันมารวมกันอยู่ใต้ร่มธงเดียวกันคือ การสร้างการเมืองใหม่
ขึ้นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มีนัยของความเป็น "อุดมการณ์" สูงสุด
โดยเนื้อหาก็คือ การสร้างระบบอำนาจกำหนดใหม่
ต่อสู้เอาชนะระบบอำนาจกำหนดเก่า
พัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้เข้ม
แข็งและยั่งยืน ยังประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน
เชิดชูไว้ซึ่งชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ให้มั่นคงสถาพร
สอดคล้องกับขั้นตอนพัฒนาการของสังคมไทย
คือไม่ล้ำเกินขั้นตอนการพัฒนาของสังคมไทย
ทุกอย่างดำเนินไปอย่างมี "สติ"
โดยเฉพาะการมีหลักนำที่ถูกต้อง คือ ให้ "ประชาชนเป็นเจ้าภาพ"
ในการสร้างการเมืองใหม่ ตามคำขวัญที่ว่า "การเมืองใหม่ไม่มีขาย
อยากได้ต้องทำเอง"
อันเป็นจุดเริ่มต้นของระบบประชาธิปไตยมวลมหาชนของพันธมิตรฯ
ทั้งนี้ ระบบประชาธิปไตยมวลมหาชน สาระสำคัญก็คือ
มวลมหาชนผู้ตื่นรู้ มีปัญญาเป็นเจ้าของอำนาจกำหนด
ใช้อำนาจกำหนดนี้ไปกำกับการใช้อำนาจของแกนนำ เป็นกระบวนการใช้อำนาจ
"เบื้องล่าง" กำหนดการใช้อำนาจ "เบื้องบน"
โดยผ่านกระบวนการลงมติในที่ประชุมที่แน่นอน เช่น สภาพันธมิตรฯ
และการขอฉันทามติในที่ชุมนุมมวลชน เป็นต้น
อันเป็นระบบประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าและใหม่มาก
เป็นที่สนใจของวงการเมืองของต่างประเทศ
โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างมาก
และที่น่าสังเกตคือ
แม้แต่นักการเมืองน้ำเน่าในพรรคการเมืองแบบเก่า ยังพยายามเลียนแบบเลย
ไม่เชื่อลองไปถาม "คุณเน"ดู
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000067852
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น