++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552

“ฟุตบาธแฟมิลี่” ครอบครัวดนตรี วิถีเปื้อนฝุ่น

โดย ASTVผู้จัดการออนไล




       บ่อยครั้งที่ ความฝันและความตั้งใจของเด็ก ถูกปล่อยปละละเลยจากคนเป็นพ่อแม่ บ้างอาจจะมองว่าไร้สาระ บ้างก็คิดว่าความฝันของลูกนั้น “แพง” กว่าที่พ่อแม่จะสนับสนุน แต่ในครอบครัวเล็กๆ ที่ห่างไกลคำว่าร่ำรวย พวกเขาสนับสนุนฝันเสียงดนตรีของลูกสาวทั้งสอง...
      
       “ลำบากครับ เราลำบากมาก แต่เพราะความลำบาก เพราะความจน ทำให้เรามีและเป็นได้ดังเช่นทุกวันนี้” ประโยคซื่อๆ จากปากคำซื่อๆ ของชายวัยกลางคนผู้เป็นเจ้าของผมเผ้าและหนวดเครารุงรัง หากมิอาจปิดบังรอยยิ้มสดใสและฟันขาวๆ เมื่อเขาฉีกยิ้มกว้างๆ ให้ตลอดระยะเวลาการพูดคุยได้
      
       ผู้ชายคนนี้ชื่อ “อิทธิพล วาทะวัฒนะ”... ซึ่งถ้าเอ่ยชื่อนี้ หลายคนอาจเกิดเครื่องหมายคำถามในใจ หากแต่เรียกเขาแบบที่พี่น้องในวงการดนตรีเรียกจนเคยคุ้นว่า “อี๊ด ฟุตบาธ” ไม่น้อยที่ต้องร้องอ๋อ! โดยเฉพาะคอเพลงใต้ดินสไตล์อบอุ่นแนวครอบครัว โดยเฉพาะแฟนๆ เพลง “จดหมายถึงพ่อ” อันซาบซึ้งกินใจ
      
       และแน่นอนว่าคนอย่าง “อี๊ด ฟุตบาธ” ไม่เคยฉายเดี่ยว เขาจะมี 3นางฟ้าของเขาติดตามเขาไปทุกที่ เริ่มจาก “ปุ๋น” – สาวิตรี ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของ “อี๊ด ฟุตบาธ” และสองความภูมิใจอย่าง “เปรียว-สรีวันท์” และ “ปี๊ก-สมรรถยา” ลูกไม้ใต้ต้นของอี๊ดและปุ๋น



       หัวหน้าวงฟุตบาธ เริ่มด้วยการเล่าเส้นทางชีวิตคลุกดินคลุกทรายของเขาอย่างย่อๆ ว่า เขาเป็นลูกชายของพ่อที่เป็นข้าราชการระดับเสมียน และแม่ที่เป็นช่างเย็บผ้า มีความสุขตามอัตภาพ และโชคดีที่ผู้เป็นพ่อเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาถึงขนาดเมื่อสอบเข้า โรงเรียนช่างศิลป์ในกรุงเทพฯ ได้ ก็ปิดบ้านยกครัวจากภาคอีสานเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อให้ลูกชายได้เรียนศิลปะอย่างที่เขารัก
      
       “วันไหนเรียนฝึกวาดลายเส้นดินสอในกระดาษปรูฟก็สบายหน่อย มีเงินเหลือกินข้าว แต่ถ้าตอนไหนเป็นช่วงที่เรียนในกระดาษร้อยปอนด์ ต้องใช้สีใช้อะไร ก็ลำบาก ไม่มีเงินจะกินข้าว ต้องเอาน้ำลูบท้อง แต่ถึงแม้ลำบาก แต่เรียนในสิ่งที่รักที่ชอบ มันก็มีความสุข” อี๊ด เริ่มเล่าช่วงชีวิตวัยเด็ก
      
       และ ด้วยความที่พ่อของอี๊ดไม่ทิ้งความฝันของลูกนี่เอง ทำให้เมื่ออี๊ดถึงวันที่กลายเป็นพ่อของลูกสาวทั้ง 2 คน ทำให้เขาไม่ทอดทิ้งและละเลยความฝันของลูกทั้งสอง ทั้งที่สภาพเศรษฐกิจในครอบครัวเรียกได้ว่า “ง่อนแง่น”
      
       หลังมีครอบครัวอี๊ด เล่าว่า เขาต้องทำงานหลายอย่างเพื่อให้มีเงินพอจะดูแลลูกและภรรยาได้ เขาเล่นดนตรีทั้งริมฟุตบาธและร้านอาหาร แถมรับจ้างด้านงานศิลปะด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่เคยขาดตกบกพร่องคือการให้เวลาลูกสาวทั้งคู่
      
       “ตื่นเช้ามาแม่เขาก็ทำกับข้าว ผมเป็นคนไปส่งที่โรงเรียน สายก็ออกไปทำงาน เล่นดนตรี พอเย็นผมก็มารับ กล่อมลูกนอน พอลูกหลับ จากนั้นก็ออกไปรับจ้างเสก็ตช์ภาพเหมือนที่ตามสะพานพุทธ”


       หัวหน้าวงฟุตบาธ กล่าวต่อไปอีกว่า แม้จะลำบาก แต่เขาก็มีความสุขที่จะให้ลูกทั้งสองของเขา ไล่ตามความฝันการเป็นนักดนตรีให้ได้ ด้วยการสนับสนุนมาแต่เล็กแต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีดีๆ โอกาส ตลอดจนการศึกษา โดยกล่าวว่าตอนเล็กๆ ก็พอจะสอนเองได้ แต่เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นก็รู้สึกว่าหมดภูมิและคิดว่าต้องให้ทั้งเปรียวและ ปี๊กมีโอกาสได้เรียนทฤษฎีทางดนตรีที่ถูกต้อง
      
       “ไปเจอโรงเรียนดนตรีเอื้อมอารีย์ของ อ.ดร.สุกรี เจริญสุข ท่านก็เรียกลูกๆ ไปสัมภาษณ์ ทำไมถึงอยากมาเรียนดนตรี ลูกก็ตอบว่า อยากเล่นดนตรีได้ จะได้เอาไปเล่นกับพ่อ พ่อหนูเล่นดนตรีอยู่ข้างถนน ปรากฏว่าอ.สุกรีท่านก็ให้ทุนการศึกษา เรียนแบบไม่เสียเงิน เด็กๆ จึงได้มีโอกาสเรียนทฤษฎีอย่างเป็นเรื่องเป็นราว”
      
       ทั้งคู่เริ่มเล่นเปียโนตั้งแต่เปรียวอายุ 7 ขวบ และปี๊ก 5 ขวบ ต่อมาตอนเปรียวอายุ 10 ปี เธอเบนเข็มมาเลือกที่จะเล่นไวโอลิน เนื่องจากเป็นเครื่องดนตรีขนาดกะทัดรัด และสามารถพกไปเล่นกับพ่อได้สะดวก ในขณะที่น้องสาวคนเล็กอย่างปี๊กเลือก “ปิคโกโล่” คือขลุ่ยผิวขนาดเล็ก เพราะเหตุผลเดียวกัน แต่ให้หลังเพียง 1 ปี ปี๊กได้ไปเห็นเด็กญี่ปุ่นเล่นเชลโล่อย่างสนุกสนาน
      
       “เค้าเล่นแบบมันส์มาก ตัวนิดเดียวแต่สีไฟแลบ ดูแล้วท่าจะสนุก แถมเสียงของมันทุ้มมาก มันโหดและหดหู่ ฟังแล้วขนลุก เลยเกิดความอยากเล่นแล้วให้อื่นฟังแล้วขนลุกเหมือนเรา” สมาชิกสุดท้องของบ้านกล่าวปนหัวเราะ


       อี๊ด เล่าความเป็นไปของลูกทั้งสองว่า เปรียวและปี๊กต้องทำงานหนักกว่าเด็กอื่นๆ ในวัยเดียวกันอีกหลายคน เพราะนอกจากจะเรียนในโรงเรียนแล้ว เธอทั้งคู่ยังต้องเรียนดนตรีและออกไปเล่นดนตรีกับพ่อทุกคืน
      
       “แต่ทั้งคู่เรียนดีครับ เรียนในโรงเรียนได้สี่หมด เรียนดนตรีก็อยู่ในเกณฑ์ดีมากครับ”
      
       ปัจจุบัน เปรียว กำลังจะจบการศึกษาจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในขณะที่ปี๊กกำลังสอบชิงทุนใหม่อีกครั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่กว่าจะถึงจุดที่ลูกสาวคนโตเรียนจบ และส่งลูกสาวคนสุดท้องเรียนมหาวิทยาลัยได้นั้น ทั้งอี๊ดและปุ๋นต้องผ่านภาวะที่สามารถใช้คำว่า “เลือดตาแทบกระเด็น” ได้เต็มปาก
      
       “ปิคโกโล่ของปี๊กนั่นสองหมื่น กว่าเราจะได้มา เราต้องลงไปทัวร์เล่นดนตรีที่ใต้อยู่ 3 เดือน ได้เงินมาก็ซื้อให้ลูก เพราะเราอยากดูแลและรักษาความฝันของเขา ให้เขาได้มีโอกาสทำในสิ่งที่เขาอยากทำ”
      
       เปรียว ผู้เป็นลูกสาวคนโตกล่าวอย่างติดตลกว่า ช่วงสิ้นเดือนจะเป็นช่วงที่คนเป็นแม่บ้านที่ดูแลค่าใช้จ่ายของบ้านเครียดที่ สุด ด้วยเพราะภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน
      
       “ปี๊กกับเปรียวจะรู้ดี ช่วงปลายเดือนจะเป็นช่วงที่เราจะไม่เข้าใกล้แม่ เพราะแม่จะหงุดหงิดและอารมณ์ไม่ดี บิลและหนี้ต่างๆ จะเริ่มเรียกเก็บ แม่จะเครียดมาก”
      
       ด้านผู้รับบทหนักอยู่หลังฉากทั้งการควบคุมบริหารการเงินภายในบ้านรวม ไปถึงงานบ้านทุกอย่างอย่างปุ๋น กล่าวถึงภาระค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ประจำเดือนของครอบครัวว่า พวกเขายังต้องจ่ายค่าผ่อนบ้านและผ่อนรถ นอกเหนือไปจากค่ากินอยู่และค่าเล่าเรียนรวมไปถึงค่าใช้จ่ายของลูกทั้งสอง
      
       “แต่เปรียวเขาเป็นหลักได้แล้ว เขามีเงินเดือนจากที่เขาไปเล่นในวงออเครสตร้าของมหาวิทยาลัย ได้เงินเดือนละ 13,000 บาท เขาจะช่วยแม่ผ่อนบ้านผ่อนรถ ก็ให้เดือนละ 10,000 เก็บไว้ใช้เอง 3,000 แต่บางเดือนที่เศรษฐกิจในบ้านไม่ดีจริงๆเปรียวก็หมดเลย เขาจะหาเงินเก่ง เขาจะไปรับเล่นในงานต่างๆ เช่นพวกงานแต่งงาน ก็จะได้เงินมาช่วยที่บ้านด้วย
      
       สำหรับเปรียวนี่ค่าเรียกเข้าเทอมละ 60,000 ซึ่งมันเป็นเงินเยอะมากสำหรับเรา แม่ก็จะบอกเขาเสมอ ประกวดนะลูก ชิงทุนนะลูก ไม่ได้เอาโล่ แต่ต้องเอาเงิน ไม่งั้นหนูจะไม่มีเงินเรียน ซึ่งเงินค่าเทอมของเขา เป็นเงินที่เขาต้องประกวดแข่งขัน เพราะเราไม่ได้ร่ำรวยเหมือนครอบครัวอื่น ก็ต้องลุ้นกันทุกปี แต่เขาก็ได้มาตลอด นั่นก็แบ่งเบาภาระเราไปได้มาก”
      
       สาวิตรีกล่าวต่อไปว่า แม้ในระดับปริญญาโทจะไม่มีทุนสนับสนุนด้านดนตรีแล้ว เธอและสามีก็จะกัดฟันส่งลูกสาวคนโตศึกษาต่อในสิ่งที่เจ้าตัวเลือกต่อไป แม้จะลำบากก็ตาม ในขณะที่ลูกสาวคนเล็กซึ่งการเรียนดีและความสามารถด้านดนตรีไม่แพ้พี่สาว น่าจะสอบชิงทุนในระดับปริญญาตรีได้ และทำให้ครอบครัวไม่ต้องรับภาระค่าเรียนของเธอมากนัก
      
       แต่แม้จะเหนื่อยกันทั้งพ่อและแม่ อี๊ด และภรรยา ก็ยังชื่นใจในความสามารถ ความเพียรพยายาม และความเป็นลูกที่ดี ที่คิดดี ทำดี และใฝ่ดีของลูกทั้งสองของพวกเขา เพราะผลงานของทั้งปี๊กและเปรียว ปรากฏเด่นชัดและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล การันตีจากผลงานและรางวัลที่ทั้งคู่ได้รับ อาทิ การที่เปรียวได้เล่น Back Up ให้นักไวโอลินระดับโลกอย่าง วาเนสซ่า เมย์ เมื่อครั้งมาทัวร์คอนเสิร์ตในเมืองไทยครั้งที่ 2 หรือการที่ทั้งคู่ได้ร่วมเล่นกับ วง Dr. Sax Chamber Orchestra ซึ่งเป็นวงดนตรีที่เกิดจากโครงการวิจัยพรสวรรค์ เป็นวงดนตรีเยาวชนตัวแทนประเทศไทย ไปคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขัน International Youth Chamber Music Competition 2005 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ท่ามกลางความตกตะลึง ของ 17 วงจาก 17 ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน


       “คือ จริงๆ แล้ว การเรียนสาขาดนตรีคลาสสิค 95% ของผู้เรียนเป็นพวกที่ค่อนข้างมีฐานะ แต่หนูกับปี๊กนี่ถือเป็น 5% ที่จน” เปรียว กล่าวปนหัวเราะ พร้อมกับพูดประโยคต่อไปด้วยแววตามุ่งมั่น
      
       “แต่นั่นมันก็ทำให้เราต้องพยายามมากกว่าคนอื่น...”
      
       ด้านคนเป็นพ่อฟังแล้วถึงกับส่งยิ้มขาวๆ ผ่านไรหนวดและเครารกๆ ก่อนจะตอกย้ำประโยคของลูกสาว
      
       “ใช่ครับ เพราะเราลำบาก เพราะความจน ถึงทำให้เรามานะพยายามมาจนถึงวันนี้ เราไม่ได้ร่ำรวย แต่เราก็ทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ที่คิดว่าการเรียนดนตรีเป็นเรื่องที่แพง สิ้นเปลือง และอาจจะเกินตัวเห็นว่า เราซึ่งจนก็สามารถทำได้ เราจนขนาดนี้ แต่ลูกของเราทั้งคู่ได้ทำในสิ่งที่พวกเขารัก แค่เราพยายาม เราประหยัดและทำงานหนัก แต่มันก็คุ้ม เพราะมันคือความสุขของเขา เราคุยกันเสมอ ขอให้ลูกเล่นเพราะรัก ไม่ใช่ลูกเลือกเล่นดนตรีเพราะมันเท่ห์นะลูก ถ้าหนูเล่นเพราะมันเท่ห์ มันจะเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้เลย เพราะพ่อแม่พร้อมจะสนับสนุน ขอให้เอาจริงเอาจัง ถึงมันจะแพง และพ่อแม่ต้องทำงานเก็บเงินเยอะ แต่ถ้าหนูจะเอาจริงและเอาดีทางนี้ พ่อกับแม่ก็มีหน้าที่ดูแลความฝันของหนู ซึ่งแม้ว่าตอนนี้เราจะดีขึ้นบ้าง ก็ไม่ใช่ว่าจะสบาย เราคงจะต้องทำงานไปอีกหลายเหนื่อยครับ”
      
       หัวหน้าวงฟุตบาธต้องทำหน้าที่ครอบครัว “วาทะวัฒนะ” ไปพร้อมกัน ยอมรับว่าลูกของเขามีความสามารถพิเศษด้านดนตรี แต่เขากล่าวว่า เขาจะสอนลูกเสมอ ว่าการมีความสามารถพิเศษหรือการมีพรสวรรค์ จะไม่มีประโยชน์อันใดเลย หากไม่ฝึกฝน แสวงหา และเรียนรู้เพิ่มเติม
      
       “สำหรับ พ่อแม่ที่รู้ว่าลูกมีพรสวรรค์ด้านใดก็ตาม นอกจากจะส่งเสริมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือและโอกาสทางการศึกษาเพิ่มเติมให้ เขาแล้ว การดูแลให้เขามีสมาธิที่ยาว และหมั่นฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอก็เป็นเรื่องสำคัญครับ” อี๊ด ฟุตบาธ ทิ้งท้าย
      

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000048591

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ8 ตุลาคม 2552 เวลา 09:25

    อี๊ด...
    กุ้ง ช่างศิลป์คิดถึง อยากติดต่อมาก จะติดต่อได้ที่ไหน
    กุ้ง...

    ตอบลบ