โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
“โครงงานวิทยาศาสตร์ทั่วไป มักเน้นไปที่การแข่งขัน เด็กที่เข้าร่วมจึงต้องเป็นเด็กเก่ง เรียนดี ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก ทั้งที่ความเป็นจริงวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว หากพวกเขารู้จักสำรวจ วิเคราะห์และประเมินผลอย่างเป็นขั้นตอน นั่นละคือวิทยาศาสตร์แล้ว”คือทั้งปัญหาและข้อเท็จจริงที่ ชายกร สินธุสัย นักวิชาการด้านการบริการเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาชนบท ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) สะท้อนจากมุมมองในฐานะวิทยากรที่มีประสบการณ์ด้านอบรมวิทยาศาสตร์มายาวนาน
เมื่อรวมกับการหนุนเสริมจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงเป็นที่มาของ “โครงงาน(เชิง)วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า”
โครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า คือโครงการเสริมสร้างสุขภาพอนามัยแก่เด็กและเยาวชน ผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบโครงงานวิทยาศาสตร์ ที่เน้นเนื้อหาไปในด้านการแก้ปัญหาสุขภาพ ทั้งพฤติกรรม อาหาร สิ่งแวดล้อม ฯลฯที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียน โดยขั้นตอนเริ่มจากการรับสมัครครูแกนนำที่อยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะ กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ปฏิบัติการของสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง ชาติ(สวทช.)เข้าอบรม ก่อนนำแนวทางที่ได้ไปขยายผลต่อในแต่ละโรงเรียน ผ่านการสอนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรค่าย โครงงานวิทยาศาสตร์ หรือการเรียนการสอนในคาบเรียนปกติ ที่ชี้ให้เด็กเห็นความสำคัญของประเด็นปัญหาใกล้ตัวจนอยากรู้สึกเปลี่ยนแปลง
ชายกร ในฐานะผู้จัดการโครงการฯ อธิบายว่า โครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า มีหัวใจสำคัญที่การปลูกฝังให้เด็กนักเรียนรู้จักการสำรวจสภาพแวดล้อมและ พฤติกรรมต่างๆในโรงเรียนที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ เป็นการลดความทุกข์และสร้างความสุขในโรงเรียน ไม่ใช่การมุ่งแข่งขันหรือใส่ใจกับความเป็นเลิศทางวิชาการเหมือนโครงงานอื่นๆ ดังนั้นเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กเรียนดี เพียงแค่สนใจและต้องการเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเป็นพอ เนื้อหาโครงงานหลักในช่วงแรกที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องราวง่ายๆในรั้วโรงเรียนที่สะท้อนสภาพแวดล้อมหรือปัญหาสุขภาพ ที่นักเรียนประสบอยู่ อาทิ “โครงงานกำจัดขยะเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” “โครงงานฟ.ฟันยิ้มสวย ด้วยพี่ดูแลน้อง” “โครงงานสุขาน่าใช้” หรือโครงงานที่มีชื่อเก๋ๆว่า”การสำรวจดัชนีความสุขและความเครียดของนักเรียน ป.6ในตำบลบ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน” ของนักเรียนโรงเรียนบ้านแพะพิทยา จ.แม่ฮ่องสอน
ด.ญ.สุพรรณษา ประเสริฐวิมล หนึ่งในทีมโครงงานวิทยาศาสตร์สำรวจดัชชีความสุขฯ เล่าถึงที่มาว่า ขณะที่ทำโครงงานครั้งนั้นอยู่ชั้นม.2 แต่นึกย้อนไปถึงสมัยที่เรียนอยู่ชั้นป.6กำลังจะเข้าเรียนม.1ที่โรงเรียนแห่ง ใหม่ จำได้ว่าช่วงนั้นรู้สึกเครียด กลัวว่าไปเรียนที่ใหม่จะไม่มีเพื่อน กังวลว่าการเรียนและการเดินทางยากขึ้น ช่วงเวลานั้นจึงรู้สึกไม่มีความสุขจนไม่ค่อยอยากจะทำอะไร ดังนั้นเมื่อครูที่โรงเรียนบอกว่าจะให้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์จึงเลือกที่จะทำ เรื่องนี้เพื่ออยากค้นหาคำตอบถึงความรู้สึกของคนอื่นๆบ้าง
“เริ่มสำรวจโดยการถามน้องๆป.6 ทั้งหมด7โรงเรียนในตำบลบ้านกาศ จ.แม่ฮ่องสอน พวกเขากำลังจะเตรียมย้ายโรงเรียนเพราะโรงเรียนที่เรียนอยู่ไม่ได้สอนชั้นม.1 จึงรู้ว่าส่วนใหญ่แล้ว ทุกคนมีความเครียดคล้ายๆกัน ต่างกังวลไม่รู้ว่าไปเรียนโรงเรียนใหม่แล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง จะมีเพื่อนไหม คุณครูดุรึเปล่า เริ่มคิดถึงเพื่อน”
โครงงานสำรวจในครั้งนั้นจึงได้ผลสรุปที่เป็นสาเหตุของความเครียดของ นักเรียนและยังเป็นจุดริเริ่มของโครงงานวิทยาศาสตร์อื่นต่อไปคือ”สุขภาพดี ด้วยเสียงเพลง”และ”ก่อนบ่าย15นาทีมีความสุข” ซึ่งเป็นโครงงานที่สอดแทรกกิจกรรมลดความเครียดให้แก่นักเรียนชั้นป.6 เสมือนเป็นภาคต่อจากงานชิ้นแรก โดยโครงงานสุขภาพดีด้วยเสียงเพลงนั้นเป็นการขออนุญาตครูเปิดเพลงผ่านเสียง ตามสายภายในโรงเรียนเพื่อเป็นวิธีช่วยลดความเครียด เช่นเดียวกับอีกโครงงานที่จัดให้มีกิจกรรมเต้นแอโรบิคออกกำลังกาย ที่นักเรียนทุกระดับต่างชอบและมีความสุขมากขึ้น
ด้านอรุณศรี วัลลภ ครูวิทยาศาสตร์โรงเรียนบ้านแพะพิทยา ที่ปรึกษาโครงงานฯ เล่าว่า โครงงานการสำรวจดัชนีวัดความสุขฯเกิดจากประเด็นใกล้ตัวของนักเรียนเอง การที่เด็กเหล่านั้นมีประสบการณ์มาก่อน ทำให้เข้าใจกลุ่มเด็กที่ไปสำรวจ เมื่อเข้าใจแล้วการซักถามเพื่อเก็บข้อมูลจึงทำได้ง่ายขึ้น ข้อมูลที่ได้จึงสะท้อนความรู้สึกได้ใชัดเจน
“นอกจากจะช่วยลดความเครียดและสร้างสุขให้แก่นักเรียนกลุ่มตัวอย่าง แล้ว กิจกรรมที่ทำเช่นการออกกำลังกาย การร้องเพลงก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นแต่ทั้งหมดยังนำ มาสอดแทรกกิจกรรมของโรงเรียนให้แก่นักเรียนชั้นอื่นๆด้วย จะว่าเป็นโครงงานฯที่ช่วยลดความเครียดให้กับทุกคนในโรงเรียนก็ว่าได้”ครู อรุณศรีกล่าวและว่าสิ่งนี้คือปัจจัยที่ทำให้โครงงานฯได้รับรางวัลดาวทองการ ประกวดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับวิถีชีวิตเมืองในหมอกครั้งที่8 ซึ่งจัดโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัด
สำหรับในช่วงระยะที่2นี้ ชายกร อธิบายว่า โครงการจะจัดลำดับสำคัญและมุ่งการพัฒนาด้านสุขลักษณะในโรงเรียน ทั้งในด้านอาหาร โรงครัว สิ่งแวดล้อม ห้องน้ำ หอพัก ที่ทิ้งขยะให้มากขึ้น เนื่องด้วยประเด็นปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นประเด็นร่วมที่ เกือบทุกโรงเรียนประสบอยู่มากน้อยต่างกัน มีการพยายามสร้างกิจกรรมเพื่อจัดการ สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมจนนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาจับต้องและคลี่ คลายปัญหาให้เห็นผลชัดเจนได้ โดยการจัดอบรมครูแกนนำในครั้งนี้ที่จะเน้นที่ในโรงเรียนห่างไกลความเจริญ มีการคมนาคมและสาธารณูปโภคที่ไม่สะดวก
“ส่วนหัวข้อต่างจากนี้ก็ยังสามารถทำได้ เรายังเน้นความสำคัญที่เรื่องปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนในมิติ ต่างๆ นักเรียนและครูสามารถมีส่วนร่วมกับโครงงานวิทยาศาสตร์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กเก่ง เพราะไม่ได้เน้นที่ผลการแข่งขัน”ชายกรกล่าว
http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000048772
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น