++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552

"ครูแจ้ง คล้ายสีทอง" บรมครูขับกรับ หัวใจล้มเหลว สิ้นใจด้วยวัย 74 ปี

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์


"ครูแจ้ง คล้ายสีทอง" บรมครูขับกรับ สิ้นใจด้วยอาการหัวใจล้มเหลว
ขณะทำกายภาพบำบัด ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยวัย 74 ปี ภรรยาและญาติ
เตรียมเคลื่อนศพไว้ที่วัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.นางบุญนะ คล้ายสีทอง ภรรยา ครูแจ้ง
คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) พ.ศ.2538
เปิดเผยว่า ครูแจ้งได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยอาการหัวใจล้มเหลวที่โรงพยาบาลศิริราช
ขณะกำลังทำกิจกรรมกายภาพบำบัดจากการเป็นอัมพฤกษ์
ซึ่งทางคณะแพทย์ด้านโรคหัวใจได้วินิจฉัยว่า
เกิดจากอาการเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ส่งผลให้ระบบหัวใจล้มเหลว
โดยคณะแพทย์ได้ทำการปั๊มหัวใจครูแจ้งอย่างสุดความสามารถแล้ว
แต่ร่างกายครูแจ้งไม่ตอบสนองจึงจากไปอย่างสงบเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.
ทั้งนี้ ครูแจ้งได้เข้ารับการรักษาตัวด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบด้านขวาเฉียบพลัน
ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม
ตนคิดว่าจะนำศพครูแจ้งไปบำเพ็ญกุศลยังวัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี
ซึ่งจะมีการกำหนดวันสวดพระอภิธรรมกี่วันอีกครั้ง

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า
ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว
โดยในส่วนกระทรวงวัฒนธรรมจะให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เนื่องจาก
ครูแจ้ง เป็นศิลปินแห่งชาติ
อยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ทั้งนี้
ตนขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของบรมครูขับกรับที่ยิ่งใหญ่
ซึ่งประเทศไทยได้สูญเสียปูชนียบุคคลด้านศิลปวัฒนธรรมไปอีกคนหนึ่ง

นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
กล่าวว่า ทางสวช.ขอแสดงความเสียใจกับทางญาติของครูแจ้ง
เพราะถือว่าประเทศไทยได้สูญเสียศิลปินที่มีความสำคัญของประเทศไทยอีกท่าน
หนึ่ง อย่างไรก็ตาม สวช.จะเป็นเจ้าภาพในการสวดพระอภิธรรมศพ
พร้อมทั้งมอบเงินค่าจัดพิมพ์หนังสือ 120,000 บาท
และขอพระราชทานเพลิงศพให้ต่อไป

สำหรับประวัติ ครูแจ้งนายแจ้ง คล้ายสีทอง เกิดเมื่อวันที่ 10
มีนาคม 2478 ที่ จ.สุพรรณบุรี จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
โรงเรียนวัดโบสถ์ดอนคำแพน และเข้ารับราชการในตำแหน่งคีตศิลปินจัตวา
กรมศิลปากร เนื่องจากครูแจ้งเป็นผู้มีความสามารถในการขับเสภาพร้อมขยับกรับ
ไพเราะหวานหู จนได้รับสมญาว่า "ช่างขับคำหอม" เพราะเสียงดี
ขยับกรับได้ยอดเยี่ยมจนไม่มีใครเทียบ
เป็นนักขับเสภาที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้
ขับเสภาได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถขับบทเสภาเก่าๆ
ที่ถูกลืมกลับมามีชีวิตโดดเด่นจนกระทั่งได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ เช่น
เรื่องขุนช้าง ขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม

นอกจากนี้ ครู
ยังเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาศิลปะการขับกล่อมให้แก่ศิษย์มากมาย
จนได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อคราวขับไม้ประกอบซอสามสายในพระราชพิธีขึ้นระวาง
สมโภชพระศรีนรารัฐราชกิริณี ที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2520
และได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ในงานพระราชพิธีขึ้นระวาง
และสมโภชช้างสำคัญ 3 เชือกที่ จ.เพชรบุรี ปี 2521
และได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) จาก
สวช. เมื่อปี 2538


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000067837

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น