++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

รถเมล์ 4,000 คัน: โหมดเช่าซื้อชีวิตผู้บริโภค

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ


มองมุมผู้บริโภคโดยผิวเผิน รถเมล์เอ็นจีวีใหม่เอี่ยมอ่อง 4,000
คันที่จะเข้ามาแทนที่รถเมล์กร่อนเก่าคร่ำคร่าย่อมได้รับเสียงตอบรับชื่นชม
เป็นธรรมดา ทว่าถ้าพินิจแล้วจะประจักษ์ว่าความตกต่ำขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
(ขสมก.) ในสายตาผู้บริโภคไม่ได้มาจากสภาพรถผุพังทรุดโทรมเพียงประการเดียว
หากยังยึดโยงกับมาตรฐานการบริการที่ขาดความปลอดภัย สะดวกสบาย รวดเร็ว
และตรงเวลา ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและภาคีเครือข่ายสำรวจพบปีที่แล้วว่ารถโดยสาร
สาธารณะทั้ง ขสมก. รถเอกชนร่วมบริการ รถทัวร์บริษัทขนส่งจำกัด (บขส.)
และรถไฟเป็นบริการยอดแย่ปี 2551

เสียงประชาชนที่โหวตให้บริการรถโดยสารสาธารณะเป็นบริการยอดแย่แห่งปี
ก็ถือว่าเลวร้ายแล้ว
ยิ่งถ้าซ้ำเติมด้วยคอร์รัปชันก็จะยิ่งนำหายนะมาสู่ขนส่งสาธารณะทั้งระบบ
ไม่ใช่แค่ ขสมก.

สุดลิ่มทิ่มประตูกับการดันโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000
คันโดยกระทรวงคมนาคมเพื่อแก้ปัญหา ขสมก.ขาดทุน ทั้งๆ
ที่มีข้อสงสัยว่าคอร์รัปชันจากสื่อมวลชน นักวิชาการ นักการเมือง
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณชน ดังสวนดุสิตโพลสำรวจพบว่าประชาชนร้อยละ
48.48 คิดว่าไม่โปร่งใส ขณะแค่ร้อยละ 6.50 คิดว่าโปร่งใส และร้อยละ 36.03
ระบุว่าต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อความรอบคอบ โปร่งใส
และปรับลดค่าใช้จ่ายมากกว่านี้ถ้าตนเองมีอำนาจตัดสินใจ จึงอันตรายยิ่งนัก

ในความรวบรัดเร่งรีบผลักดันเมกะโปรเจกต์โดยขาดกระบวนการมีส่วนร่วม
ของประชาชนผู้บริโภคที่มีส่วนได้เสียเพียงเพื่อหวังคะแนนเสียงการเมืองควบ
คู่กับกระสุนดินดำทำให้คุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ
รวมถึงปริมณฑลไม่ได้ดีขึ้นสักมากน้อย
เพราะท้ายสุดรถเมล์ก็ยังคงเคลื่อนที่ด้วยความเร่งเร็วเท่าเดิมท่ามกลางสภาพ
จราจรติดขัด แค่เย็นฉ่ำเพราะติดแอร์และปล่อยมลพิษลดลงก็เท่านั้น

นั่นก็เพราะปัญหาจราจรเชิงระบบไม่ได้ถูกคลี่คลายหรือกระทั่งหยิบยก
กล่าวถึงเลยสักครา
แม้นว่าถึงที่สุดแล้วการวางระบบจราจรจักต้องสัมพันธ์กับระบบขนส่งมวลชนทั้ง
ในปัจจุบันและอนาคต ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน รถบีอาร์ที
รวมถึงรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คันนี้ด้วย

คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(สศช.) ที่รับฝากความหวังประชาชนที่จะได้ใช้บริการขนส่งมวลชนอุดมคุณภาพจึงไม่ควร
หยุดอยู่แค่การพิจารณาประเด็น 'เช่า เช่าซื้อ หรือซื้อ'
ตามแรงกดดันการเมืองที่คิดแต่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าสาธารณะ
ทว่าต้องเชื่อมโยงสังเคราะห์ด้วยว่ารถเมล์นับพันคันที่เข้ามาในระบบจะสามารถ
ยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุงได้แค่ไหน ถ้าเทียบกับการนำเม็ดเงิน 67,992
ล้านบาทที่ใช้ในโครงการนี้ไปลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น
โดยเฉพาะระบบรางที่ระยะยาวคุ้มค่าเม็ดเงินและการบริการกว่ามหาศาล

อีกทั้งยังต้องรอบคอบว่าหลังสิ้นสุดโครงการปีที่ 10
จะดำเนินการอย่างไรต่อไปให้การจราจรเมืองกรุงไม่ติดขัดหนักหน่วง
เนื่องจากโครงการรถเมล์เอ็นจีวีนี้ก็เข้าข่าย 'ขนรถมากกว่าขนคน'
จนอาจจะชะงักตัดตอนระบบขนส่งมวลชนที่ 'ขนคนมากกว่าขนรถ' เช่น
ระบบรางที่สามารถเชื่อมร้อยโครงข่ายทั้งภายในและนอกศูนย์กลางอย่างมี
ประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดได้

ไม่เท่านั้น สศช.
ในฐานะองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะและสังคมที่มีค่านิยมมุ่งมั่น
ทุ่มเทเพื่อพัฒนาประเทศและประโยชน์สุขแก่สังคมด้วยคุณธรรมตามหลักวิชาการ
อย่างมืออาชีพต้องกล้าหาญไม่ยอมจำนนให้การเมืองแทรกแซงผลการศึกษา เท่าๆ
กับเดินหน้าไม่ให้กรุงเทพฯ
ขยายตัวด้านประชากรและเศรษฐกิจโดยขาดการวางแผนพัฒนาและจัดทำขนส่งระบบรางรอง
รับอย่างเพียงพอ

เพราะไม่เช่นนั้นการจราจรเมืองหลวงจะเป็นยิ่งกว่าอัมพาตเพราะถนนหน
ทางท่วมท้นรถยนต์ส่วนตัวที่ต่างคนต่างคำนวณแล้วว่าความสัมพันธ์ระหว่างค่า
ใช้จ่ายกับเวลาเดินทางคุ้มค่ากว่านั่งรถโดยสารประจำทาง
ขณะที่การขนส่งสินค้าก็นำเงินตราไหลออกนอกประเทศมากมายจากการซื้อน้ำมัน

การ วางแผนและจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศสู่ความสมดุลยั่งยืน
ยึดประโยชน์ส่วนรวมอย่างเท่าทันการเปลี่ยนแปลงจึงต้องมุ่งพัฒนาขนส่งมวลชน
ระบบรางเพื่อแทนที่การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและทดแทนบริการที่รถเมล์จัดสรรให้
ไม่ได้ทั้งด้านความปลอดภัย สะดวกสบาย และตรงต่อเวลา
ในขณะเดียวกันก็รองรับการขนส่งสินค้าและบริการที่บริโภคน้ำมันมโหฬารด้วย

ทั้งนี้ เมื่อแนวโน้มรูปแบบการเดินทาง (Modes)
ของประชาชนไปทางรถโดยสารสาธารณะระบบรางมากกว่าล้อ
การพิจารณาโครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4,000
คันโดยคณะรัฐมนตรีจึงต้องกระทำด้วยวิสัยทัศน์ไกลกว้างขวางกว่ามองปลายเท้า
แค่เสถียรภาพรัฐบาล ความสมานฉันท์พรรคร่วม หรือถูกใจประชาชน
ด้วยแท้จริงต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านพัฒนาการของระบบขนส่งมวลชนและระบบ
ลอจิสติกส์ของประเทศไทยควบคู่ไปด้วยกัน
นอกเหนือจากความโปร่งใส่ไร้คอร์รัปชันที่สำคัญเหนืออื่นใด

แต่ก็ไม่ใช่หวาดระแวงจนไม่กล้าเดินหน้า
ถ้าหากสามารถตอบโจทย์สังคมได้ทั้งเรื่องความสะอาดปราศจากทุจริต
ความคุ้มค่า และความพึงพอใจของประชาชนผู้บริโภค
ตรงกันข้ามหากส่อนัยคอร์รัปชัน ไม่คุ้มค่าการลงทุน
และประชาชนไม่พึงพอใจก็ควรยับยั้งโครงการนี้เสียโดยไวอย่าซื้อเวลา

หาไม่แล้วไวรัสคอร์รัปชันจะกัดกินกระดูกสันหลังรัฐบาลจนประคับประคองตัวไปไม่รอด

ส่วนความอยู่รอดของ ขสมก.จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดย SWOT Analysis
ในเว็บไซต์องค์กรจักพบว่าจุดเด่น (Strengths)
ในการเป็นผู้ประกอบการเดินรถประจำทางรายใหญ่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด
มีสิทธิได้รับใบอนุญาตโดยตรงจากกรมการขนส่งทางบกก่อนผู้ประกอบการรายอื่น
และมีรายได้เงินสดทุกวัน บวกกับโอกาส (Opportunities)
ที่สามารถขยายตลาดตามการขยายตัวของเมืองและประชากร ตลอดจนภาครัฐสนับสนุน
ก็น่าจะกำจัดจุดด้อย (Weaknesses) โดยเฉพาะหนี้สินสะสม 57,381 ล้านบาท
และอุปสรรค (Threats) เสียส่วนแบ่งการตลาดจากระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ได้

การ ดำรงอยู่ของ ขสมก.นั้นสำคัญนัก
หากก็ไม่ต้องถึงขั้นข่มขู่คุกคามประเทศชาติหรือทำลายเครดิตสาธารณชนที่ต่อ
ต้านคัดค้านเรื่องความโปร่งใสว่าเป็นผู้ไม่ต้องการให้
ขสมก.อิสระไถ่ถอนพันธนาการหนี้สินล้นพ้นตัว
หรือยื่นเงื่อนไขแบบปัดปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เช่า ก็ต้องเช่าซื้อ
หรือซื้อเท่านั้น

ทางตรงข้ามถ้าตั้งปณิธานเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการ
ขสมก.ให้กลับมาถูกใจผู้บริโภครายได้ต่ำถึงปานกลางที่มีมหาศาลในสังคมไทยด้วย
การเสริมสร้างความปลอดภัย สะดวกสบาย และตรงเวลา คำนวณเวลาการเดินทางได้
ในขณะเดียวกันก็ควบคุมคุณภาพรถเอกชนร่วมบริการอย่างเคร่งครัด
ทั้งเรื่องกิริยามารยาทพนักงาน คุณภาพตัวรถ จนถึงความรวดเร็วในการขับขี่
ก็คงจะดึงดูดใจประชาชนให้ใช้บริการมากมายกว่าก่อน
จากเดิมทนใช้เพราะไม่มีตัวเลือกราคาถูก

มากกว่านั้นวิสัยทัศน์กระทรวงคมนาคมที่มุ่งพัฒนาระบบการขนส่งและ
จราจรที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ทันเวลา
โดยประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงระบบการคมนาคมขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่า
เทียมกันก็ผูกพันองค์กรจนไม่อาจผลักดันโครงการหมื่นล้านที่ไม่โปร่งใสสู่
สังคมได้ ไม่ใช่เป็นผู้บริหารอยู่ดีๆ
นึกจะเป็นนายหน้าเจรจาต่อรองเรื่องที่ชงเองกินเองก็เป็น

หากละเลยปฏิบัติ อย่าว่าแต่จะเป็น 'ฮับคมนาคมระดับภูมิภาค'
ที่เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งทุกระบบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถประเทศเลย
แค่ระบบขนส่งมวลชนเพื่อประชาชนในเมืองหลวงที่ไม่ล้มละลายทางความปลอดภัย
สะดวกสบาย รวดเร็ว ตรงเวลาก็ยากสาหัสแล้ว

หรือว่าถ้าคิดบวกโครงการรถเมล์เอ็นจีวีอาจจะยกระดับคุณภาพชีวิตคน
กรุงให้กลับมามีความปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว
ทุกคราเวลาเดินทางใกล้ไกลตรงตามมาตรฐานการบริการสากลของ ขสมก.
จนกระทั่งท้ายสุดได้รับเสียงโหวตจากประชาชนให้เป็นบริการยอดเยี่ยมแห่งปีก็
ได้ ใช่ไหม?

ถ้า ไร้วี่แววแนวโน้มหามีไม่
ก็คงเป็นหน้าที่ผู้บริโภคออกมาเรียกร้องการมีส่วนร่วมประชาพิจารณ์
อย่าให้รัฐเช่าซื้อชีวิตเราไปด้วยการเช่าซื้อรถเมล์แต่พยายามครอบครอง
กรรมสิทธิ์ทั้งรถเมล์และชีวิตผู้คนที่มีสิทธิจะได้รับบริการขนส่งมวลชนมาก
คุณภาพ เพราะถึงที่สุดแล้วประชาชนที่ใช้บริการรถเมล์ก็คือผู้จ่ายเงินจนครบกำหนด
เวลา หาใช่รัฐบาลแต่อย่างใดไม่.

เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000064342

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น