++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552

สำรวจตัวเราเป็นพ่อแม่ Kangaroo Parents หรือไม่/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

แนวโน้มหนึ่งของ
โลกในทศวรรษนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับประชากรศาสตร์
นอกเหนือจากแนวโน้มที่คู่สมรสไม่ต้องการมีลูก
หรือมีลูกจำนวนน้อยลงอย่างชัดเจน
ก็คือค่านิยมเกี่ยวกับการแต่งงานก็เปลี่ยนไปเช่นกัน
หนุ่มสาวจำนวนมากเลือกวิถีชีวิตโสด หรือไม่แต่งงาน
หรือเมื่อมีชีวิตแต่งงานที่แตกแยก
ทำให้สุดท้ายต้องกลับมาใช้ชีวิตลำพัง...!!

แต่ชีวิตลำพังของคนโสดส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตกับครอบครัวเดิม
หรือใช้ชีวิตกับพ่อแม่ของพวกเขานั่นเอง

และแนวโน้มดังกล่าวกำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

ผลสำรวจหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ
มีหนุ่มสาวจำนวนมากที่คุ้นชินกับชีวิตที่อยู่กับพ่อแม่
เพราะสบายกว่ากันเยอะเลย
เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่อยากออกไปสร้างครอบครัวของตัวเอง

ประเทศแถบเอเชียที่กำลังประสบปัญหานี้ชัดเจน คือเกาหลีใต้
คนเป็นพ่อแม่จำนวนมากยังคงพึ่งพาอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย
หรือกับพ่อแม่ของตนเอง

The Hanul Education
ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกในวัยประถมศึกษา
ซึ่งอาศัยอยู่ในย่านกรุงโซล จำนวน 276 ราย พบว่า 15%
ยังคงพึ่งพาปู่ย่าตายายในเรื่องค่าใช้จ่ายการกินอยู่และค่าการศึกษาของลูก

ในขณะที่ 10.9%
ยอมรับว่าได้รับเงินจากพ่อแม่เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาของลูก
และในจำนวนนี้ประมาณ 47% ระบุว่าพ่อแม่ให้เองโดยสมัครใจ และอีก 17%
บอกว่าการได้รับเงินช่วยเหลือจากพ่อแม่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

พ่อแม่จำพวกนี้ถูกเรียกว่า 'Kangaroo Parents'

ศาสตราจารย์ ปาร์ค จาง-อุน แห่งภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย
Yonsei University อธิบายถึง 'Kangaroo Parents'
ว่าเป็นคำที่ใช้เรียกพ่อแม่ที่ทำตัวเหมือนจิงโจ้ที่ไม่ยอมโต
ยังต้องอาศัยอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องของแม่จิงโจ้

"พ่อแม่ที่ทำตัวเป็นจิงโจ้กำลังเป็นเทรนด์ที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้
ชัดในเกาหลีใต้ คนกลุ่มนี้เป็นเจนเนอเรชั่นที่สองและสามของตระกูล
ซึ่งถูกเลี้ยงดูมาแบบมีพ่อแม่คอยดูแลจัดการรับผิดชอบให้อย่างไม่มีที่สิ้น
สุด แม้จะแต่งงานมีครอบครัวของตัวเองแล้วก็ตาม
แต่ก็ยังคงพึ่งพาพ่อแม่ต่อไปอยู่ดี"

สาเหตุของปัญหานี้นับวันจะขยายมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมชาวเอเชีย
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ไม่เหมาะสม
เนื่องเพราะพ่อแม่ยุคใหม่ไม่ต้องการให้ลูกๆ ต้องลำบาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวชนชั้นกลาง มักจะช่วยเหลือลูกในทุกเรื่อง
เพราะกลัวลูกลำบาก

ทัศนคติที่ไม่อยากให้ลูกลำบากได้ขยายไปในวงกว้าง
พ่อแม่ต้องการชดเชยความลำบากในวัยเด็ก
เมื่อมีลูกจึงไม่ต้องการให้ลูกลำบาก
ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องอันตรายยิ่ง
เพราะเท่ากับพ่อแม่ไม่ได้ฝึกทักษะในการใช้ชีวิตอย่างรอบด้าน
ทำให้ลูกทำอะไรไม่เป็นเพราะพ่อแม่ทำให้มาโดยตลอด

ครั้นต้องแต่งงาน แยกครอบครัวออกไป
ก็ไม่สามารถใช้ชีวิตโดยปราศจากพ่อแม่ได้
สุดท้ายก็ต้องกลับไปอยู่กับพ่อแม่หรือครอบครัวเดิม
และกลายเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตคู่ของตนเองไปในที่สุด

เข้าข่ายสำนวนที่ว่า พ่อแม่เลี้ยงลูกไม่รู้จักโตนั่นเอง

ประเทศอิตาลีเป็นอีกประเทศที่กำลังประสบปัญหานี้อย่างหนัก
เพราะผู้ชายชาวอิตาลีไม่อยากแต่งงาน ยังคงอยากอยู่กับพ่อแม่เช่นเดิม
ถ้ามีคู่รักก็เป็นการเดทกันและต่างคนต่างอยู่ ไม่มีการวางแผนแต่งงาน
ด้วยเหตุผลที่ว่าชีวิตที่อยู่กับพ่อแม่ไม่ต้องลำบากดิ้นรนสร้างครอบครัวใหม่
อีกทั้งผู้หญิงเองก็เริ่มยอมรับกับค่านิยมดังกล่าว
เพราะไม่ต้องดูแลครอบครัวใหม่เช่นกัน

ในขณะที่ผู้ชายชาวอเมริกันปัจจุบันอายุ 25 ปีขึ้นไป
ไม่ยอมแยกบ้านก็มีจำนวนสูงขึ้นจนน่าเป็นห่วง
หนำซ้ำหลายคนยังไม่ยอมจ่ายค่าเช่าบ้าน หรือแม้แต่จะช่วยงานบ้าน

แดเนียล โกลแมน เคยเขียนหนังสือเรื่อง Emotional Intelligence:
Why It Can Matter More Than IQ อ้างผลการศึกษาของเจโรม เคแกน
เรื่องเด็กที่เป็นโรคขี้กลัวโดยธรรมชาติ
เขาพบว่าเด็กขี้กลัวที่ถูกเลี้ยงจากครอบครัวอย่างประคบประหงม
ยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม
มีแนวโน้มที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ขี้ขลาดในอนาคต

ตรงกันข้ามกับพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกโดยให้ลูกได้มีโอกาสเผชิญปัญหา
และแก้ปัญหาด้วยตนเอง จะทำให้สามารถพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ขลาดกลัว
และพร้อมที่จะเผชิญความลำบาก

ผลการศึกษาชิ้นนี้ทำให้พ่อแม่ชาวอเมริกันถึงกับอึ้งไปกับความเชื่อ
เดิมๆ ที่ว่า ควรปกป้องลูกให้พ้นจากความทุกข์ยากในชีวิต
แต่ความจริงพ่อแม่ต่างหากที่ต้องเป็นผู้ช่วยเหลือให้ลูกเอาชนะความกลัวตาม
ธรรมชาติ และสามารถพัฒนาตนเองให้กล้าเผชิญชีวิตได้

เด็กที่ต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดเวลาเพราะถูกเลี้ยงดูแบบประคบประหงมส่วน
ใหญ่เกิดจากพ่อแม่ไม่สามารถทนเห็นน้ำตาของลูกได้ ทำใจไม่ได้
ก็ยิ่งเท่ากับต้องปกป้องเด็กต่อไป
ทำให้เด็กไม่รู้จักรสชาติของการดิ้นรนเพื่อความสำเร็จ

จริงอยู่พ่อแม่ทุกคนล้วนมีเจตนาดี อยากเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี
คนเก่ง แต่หารู้ไม่ว่า บางครั้งพ่อแม่ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
จนกลายเป็นพ่อแม่รังแกลูกไปโดยปริยาย

ในทศวรรษ 1960 วอลเตอร์ มิชเชล
นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ทำงานวิจัยเรื่อง
การชะลอการทำตามความประสงค์ของเด็ก (Delay of Gratification in Children)
ซึ่งเขาค้นพบว่า เด็กที่หยิบขนมไปกินทันทีที่มีคนให้
กับเด็กที่ยอมอดใจรอเพื่อให้ได้ขนมมากชิ้นขึ้น
จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีลักษณะแตกต่างกัน

เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น
เด็กที่สามารถชะลอการทำตามความประสงค์ได้จะอดทนรอคอยได้ดีกว่า
ประสบความสำเร็จสูงกว่า และสามารถปรับตัวทางด้านอารมณ์และสังคมได้ดีกว่า
ประสบปัญหาน้อยกว่า และที่สำคัญมีความสุขมากกว่า
เด็กคนแรกที่หยิบขนมไปกินทันที

และนั่นก็หมายความว่า
สาเหตุที่เด็กเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่พร้อมจะเผชิญปัญหาก็ไม่ใช่ใครหรอกค่ะ
ก็เพราะพ่อแม่นั่นเอง

ค่านิยมในการเลี้ยงลูกแบบกลัวลูกลำบาก สร้างปัญหาในภายหลังอย่างแน่นอน

ถ้าไม่อยากให้ลูกต้องกลายเป็น 'Kangaroo Parents' ในภายภาคหน้า
ต้องเริ่มจากการเลี้ยงดูลูกของเราอย่างเหมาะสม ฝึกให้เขาหัดคิด ลงมือทำ
รวมถึงแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
และเมื่อเขาเติบโตก็ต้องให้เขามีวิถีชีวิตของตัวเอง
โดยมีพ่อแม่เป็นผู้หยิบยื่นโอกาสและสนับสนุนเขาแบบห่างๆ ตามวัยที่เติบโต
ก็จะไม่ทำให้การเลี้ยงดูลูกของเราไม่มีวันจบสิ้น

ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวลูกของเราเอง

ถือคติที่ว่า "ลำบากในวันนี้ แต่มีชีวิตที่ดีในวันหน้า" ดีกว่าค่ะ

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000107694

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น