++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2552

สังคมและดุลยภาพ

โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน 16 กันยายน 2552 16:48 น.
วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

สังคมมนุษย์เกิดขึ้นเนื่องจากมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม
โดยลักษณะอุปนิสัยและจิตใจโดยธรรมชาติมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้น
การอยู่รวมกันเป็นสังคมจึงเป็นปรากฏการณ์ตามปกติ
นอกเหนือจากธรรมชาติที่ต้องอยู่รวมกันแล้ว
การอยู่รวมกันเป็นสังคมของมนุษย์ยังมาจากเหตุผลหลายประการ
การรวมกันเป็นกลุ่มทำให้สามารถผนึกกำลังกันเพื่อทำการที่มนุษย์คนเดียวไม่
สามารถจะทำได้ เช่น การล่าสัตว์ใหญ่
สิ่งก่อสร้างที่ต้องใช้กำลังคนผสานกัน นอกจากนั้นการพึ่งพาอาศัยกัน
การต่อสู้เพื่อป้องกันเผ่าพันธุ์ หรือการรุกรานของสัตว์ร้าย
ก็เป็นเหตุผลสำคัญของการอยู่ร่วมกันเพื่อรักษาไว้ซึ่งการอยู่รอดของเผ่า

แต่การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ย่อมหนีไม่พ้นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง
ซึ่งจะมีความขัดแย้งในเรื่องอาหาร การแย่งคู่ จนถึงเรื่องสถานะทางสังคม
และอำนาจในการจัดการทรัพยากร
นอกจากนั้นยังมีประเด็นเกี่ยวกับสังคมที่จะต้องมีการจัดระเบียบ เช่น
เรื่องครอบครัวซึ่งจะต้องเป็นสิทธิของแต่ละครอบครัว
จะเข้าไปรุกรานโดยเข้าไปเอาลูกเมียคนอื่นมาโดยพละการไม่ได้
หรือการเคารพในสิทธิทรัพย์สินของผู้อื่น

แต่การที่จะจัดระเบียบสังคมดังกล่าวนี้จะต้องกระทำโดยผู้ซึ่งมีอำนาจ
ซึ่งในตอนเริ่มต้นของมนุษย์ก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่แข็งแรงที่สุด
หรือผู้ที่มีความสามารถในการแก้ปัญหา เช่น เก่งกาจในการล่าสัตว์ ในการรบ
จีนโบราณนั้นมีตำนานเกี่ยวกับจักรพรรดิองค์แรกๆ
ที่คัดสรรมาจากบุคคลที่สามารถทดน้ำแม่น้ำหวงโฮไม่ให้ท่วมบ้านท่วมเมืองได้ก็
จะได้รับการสถาปนาเป็นผู้ปกครองสูงสุด

การสถาปนาอำนาจรัฐเช่นนั้นทำให้บุคคลกลุ่มเล็กๆ
กลุ่มหนึ่งมีอำนาจรัฐ และใช้อำนาจดังกล่าวจัดระเบียบการเมือง
ระเบียบสังคม และระเบียบเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความขัดแย้ง
แบ่งปันทรัพยากรเพื่อให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
ใช้ทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติในการแก้ปัญหาและการพัฒนา
และสูงสุดคือการใช้ทรัพยากรต่อสู้ป้องกันการรุกรานจากเผ่าอื่น
หรือชนชาติอื่น

นอกเหนือจากที่กล่าวมา
ผู้ใช้อำนาจรัฐยังต้องทำตัวเป็นแบบอย่างของคนที่มีความรู้ความสามารถในการ
ปกครองบริหาร การจัดการปัญหาสังคมและการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ
มีศีลธรรมและจริยธรรม มีหลักการในการปกครองให้บ้านเมืองผาสุก
เกิดความยุติธรรมโดยทั่วหน้า
เพื่อเสริมกับภารกิจดังกล่าวก็มีบทบาทในทางพิธีกรรม
ทั้งพิธีกรรมที่เป็นของรัฐและของราษฎร
ซึ่งในอดีตสังคมเกษตรก็จะมีพิธีกรรมเรื่องการขอฝน การปัดเป่าเคราะห์ร้าย
การบวงสรวงเทพและเทวะต่างๆ
การบวงสรวงและพิธีกรรมจึงเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการปกครองบริหารบ้าน
เมืองตั้งแต่สมัยโบราณ

แต่คนที่อยู่ในสังคมทุกสังคมมีสิ่งที่พึงประสงค์เดียวกัน
นั่นคือความศานติสุขปลอดจากภัยจากภายในและภายนอก แคล้วคลาดจากภัยธรรมชาติ
หรือโรคระบาด มีชีวิตอยู่อย่างผาสุกโดยอยู่ร่วมกันภายใต้วัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน
สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำมาหากินโดยสุจริต มีความสุขกายสบายใจ
สามารถดูแลครอบครัวให้เจริญเติบโต มีอนาคตตามวัฒนธรรมที่กำหนดขึ้นในสังคม

แต่ข้อเท็จจริงหนึ่งก็คือ ทรัพยากรในทุกสังคมมักจะมีจำกัด
ดังนั้นจึงต้องจัดระบบการแบ่งปันทรัพยากรอย่างทั่วถึง
เริ่มต้นจากที่ดินทำกินในสังคมเกษตร
และน้ำที่ต้องแบ่งปันใช้กันอย่างยุติธรรม
การเก็บภาษีของรัฐก็ต้องอยู่ในระดับที่ไม่สร้างปัญหาให้แก่ประชาชน
นอกเหนือจากนั้น การออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคม เช่น
การกำหนดสถานะทางสังคมก็ต้องเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่
ไม่ให้นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงของชนชั้นจนเปิดโอกาสให้มีการข่มเหง
รังแกคนชั้นล่างโดยคนที่มีฐานะสูงกว่า
แต่ที่สำคัญที่สุดอำนาจรัฐจะต้องมีความชอบธรรมด้วยกติกาอันเป็นที่ยอมรับของ
ประชาชน และด้วยคุณลักษณะของตัวบุคคลที่ต้องมีความรู้ความสามารถ
มีศีลธรรมและจริยธรรม และมีความยุติธรรม

เมื่อใดก็ตามที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นจะต้องมีกลไกที่จะแก้ไขความขัด
แย้งนั้น โดยการแก้ไขนั้นเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยรวม
เมื่อไหร่ก็ตามกลไกการแก้ไขความขัดแย้งไม่เป็นที่ยอมรับเนื่องจากมีความ
อยุติธรรมที่เห็นเด่นชัด กลไกดังกล่าวก็จะล้มเหลว
เมื่อความขัดแย้งถึงจุดๆ หนึ่งและไม่สามารถแก้ไขได้ในกลไกของระบบ
มนุษย์ก็จะหันไปแก้ไขความขัดแย้งด้วยการใช้ความรุนแรง

กล่าวโดยสรุป เมื่อกลไกของสังคมทั้งในทางการเมือง
สังคมและเศรษฐกิจ
ไม่สามารถจะแก้ไขความขัดแย้งได้โดยสันติและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
กลไกดังกล่าวหรือระบบดังกล่าวก็จะหมดความชอบธรรม
ไม่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม ดุลยภาพของสังคมก็จะสั่นคลอน
ความชอบธรรมของระบบก็เริ่มจะล่มสลาย
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่สภาวะของอนาธิปไตย

กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ในประวัติศาสตร์ก็คือ กรณีของสังคมจีนโบราณ
ในยุคปลายราชวงศ์แมนจูเมื่อมีการกบฏเกิดขึ้นหลายแห่งในประเทศจีน
ที่รุนแรงที่สุดก็ได้แก่กบฏไต้เผ็งและกบฏชาวมุสลิม
จากนั้นก็มีขบวนการปฏิรูปการเมืองนำโดยคังอยู่เหวย
และขบวนการปฏิวัติเพื่อล้มระบบนำโดยนายแพทย์ซุนยัดเซ็น
หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน ค.ศ. 1911
สังคมจีนก็ตกอยู่ในสภาวะของความขัดแย้งระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งนำโดยเหมา
เจ๋อตุง และฝ่ายประชาธิปไตยหรือจีนคณะชาติซึ่งนำโดยนายพลเจียง ไคเช็ค
จีนตกอยู่ในสภาวะของอนาธิปไตยจนกระทั่งเกิดความสงบลงเมื่อเหมา เจ๋อตุง
ยึดแผ่นดินใหญ่ใน ค.ศ. 1949
แต่สังคมจีนก็ยังตกอยู่ในความปั่นป่วนจนกระทั่งรุนแรงที่สุดเมื่อมีปฏิวัติ
วัฒนธรรมซึ่งกินเวลาถึง 10 ปีเต็ม

ญี่ปุ่นก่อนสมัยเมจิก็เกิดความปั่นป่วนเช่นเดียวกัน ในยุค 260
ปีภายใต้รัฐบาลโตกุกาวะมีกบฏชาวนาถึง 2,800 กว่าครั้ง
นอกจากนั้นยังมีการลุกฮือขึ้นในเมืองต่างๆ หลายร้อยครั้งด้วยกัน
ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวเนื่องจากความไม่พอใจการบริหารที่ล้มเหลว
และการเก็บภาษีที่กระทำโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของชาวนา
จนเมื่อมีการสถาปนาการฟื้นฟูเมจิ สังคมญี่ปุ่นจึงเริ่มเข้ารูปเข้ารอย
แต่ต่อมาไม่นานก็มีนโยบายสงครามโดยรบกับจีนและรัสเซียเรื่อยไปจนถึงสงคราม
โลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง ในขณะนั้นดุลยภาพสังคมญี่ปุ่นก็ถูกกระทบ
และยิ่งหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่สองดุลยภาพของสังคมญี่ปุ่นดั้งเดิมก็ถูก
สั่นคลอน จนมาสู่สภาวะปัจจุบันก็กลับสู่ความมีเสถียรภาพอีกครั้งหนึ่งในภาพรวม

การรักษาดุลยภาพของสังคมจึงเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย
แต่ขณะเดียวกันถ้าระบบแข็งพอสังคมก็จะมีดุลยภาพโดยพิจารณาจากการต่อเนื่อง
ระยะยาว กล่าวอีกนัยหนึ่ง ไม่มีสังคมใดที่จะมีดุลยภาพอย่างแน่นิ่ง
สังคมจะมีการพัฒนา จากนั้นก็จะสะดุดด้วยปัญหา
และก็จะขยับตัวขึ้นมาใหม่โดยจะมีลักษณะเหมือนลูกคลื่นขึ้นลง
แต่ตราบที่ยังเป็นคลื่นที่ขึ้นลงในแบบกระสวนเดียวไม่เหวี่ยงขึ้นลงอย่างสุด
โต่งก็ต้องถือว่าสังคมนั้นมีดุลยภาพแบบพลวัต (dynamic equilibrium)

แต่เมื่อใดก็ตามที่มีความขัดแย้งถึงขนาดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้าง
พื้นฐานที่เรียกว่าการปฏิวัติพลิกแผ่นดิน
ก็ต้องถือว่าสังคมนั้นเสียดุลยภาพอย่างหนัก จนระบบการเมืองเดิมสิ้นสลาย
เช่น การปฏิวัติในจีนเมื่อ ค.ศ. 1911 และการปฏิวัติในรัสเซีย ค.ศ.1917
เป็นต้น

ถ้า สัจธรรมของมนุษย์ตามหลักศาสนาพุทธคือความเป็นอนิจจัง
สังคมมนุษย์ก็มีลักษณะใกล้เคียงกันอันเห็นได้จากการล่มสลายของจักรวรรดิที่
ยิ่งใหญ่ และอาณาจักรที่รุ่งเรืองจำนวนไม่น้อย จักรวรรดิโรมัน
จักรวรรดิออตโตมัน จักรวรรดิมองโกล จักรวรรดิอังกฤษ จักรวรรดิรัสเซีย ฯลฯ
ล้วนแล้วแต่เคยเจริญรุ่งเรืองมาแล้วทั้งสิ้น
หลักการเรื่องสัจธรรมของชีวิตมนุษย์ที่มีความไม่แน่นอนและความเป็นอนิจจัง
เป็นฐาน ก็น่าจะใช้การวิเคราะห์สังคมมนุษย์ได้
แม้สังคมมนุษย์จะมีความมั่นคงกว่ามนุษย์ที่เป็นปัจเจกบุคคลเพราะมีการจัด
ตั้งสถาบันอย่างแข็งขัน แต่ก็คงหนีไม่พ้นหลักการสูงสุดคือความไม่แน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น