สังคมมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นจากภายในประเทศ
รวมทั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก การปรับตัวของค่านิยม
วัฒนธรรมและองค์กรสังคม เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่บางครั้งการปรับตัวไม่สามารถจะกระทำได้อย่างแนบเนียนจนนำไปสู่ความขัด
แย้งและความตึงเครียด ทำให้ดุลยภาพสังคมถูกสั่นคลอนได้
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในนั้นเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงทาง
จำนวนหรือปริมาณ เมืองซึ่งมีคนประมาณ 1 ล้านคน เมื่อเพิ่มเป็น 6 ล้านคน
เช่น กรุงเทพฯ เมื่อปี 2500 มีประชากรทั้งสิ้น 1.2 ล้านคน
แต่มาในปัจจุบันถ้ารวมทั้งคนซึ่งไม่ได้ย้ายสำมะโนครัวและนักท่องเที่ยวหรือ
ขาจร กรุงเทพฯ อาจจะมีประชากรถึง 8-10 ล้านคน
จากปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายนี้ย่อมทำให้โครงสร้างการบริหาร
การอุปโภคบริโภค วัฒนธรรมและพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น
การขนส่งโดยใช้รถสามล้อหรือรถลากก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง
ต่อมาเมื่อมีการใช้รถรางหรือรถเมล์
แต่เนื่องจากความจำเป็นต้องใช้พื้นผิวจราจรก็ต้องเลิกรถราง
จนมาในปัจจุบันมีรถไฟฟ้าและรถใต้ดิน
นอกจากที่กล่าวมาแล้วการเดินทางการเคลื่อนไหวทางกายภาพก็ต้องเร่งฝีเท้าขึ้น
ตามลำดับ เนื่องจากมีข้อจำกัดของเวลาเพราะเป็นสังคมที่มีการค้าและอุตสาหกรรม
เป็นชุมชนเมืองที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ในส่วนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมนี้มีตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ
คนซึ่งมีวัฒนธรรมทิ้งของโดยไม่ระมัดระวังอันเป็นนิสัยในชนบทนั้น
เมื่อย้ายมาอยู่ในเมืองใหญ่ก็อาจจะคงไว้ซึ่งนิสัยดั้งเดิมซึ่งทำให้เกิดความ
ไม่สอดคล้องต่อการดำรงชีวิตของคนที่อยู่ในชุมชนเมือง
มีตัวอย่างที่ว่าคนอิตาลีที่มาจากชนบทเมื่อย้ายมาอยู่ในเมืองชิคาโก
เมื่อเปิดอาหารกระป๋องก็จะขว้างกระป๋องออกทางหน้าต่างเพราะเป็นสิ่งที่
ปฏิบัติกันมา จากตัวอย่างข้างบนนั้นทำให้เกิดสภาวะอันหนึ่งในเมืองใหญ่ๆ
หลายแห่งในโลก นั่นคือการเกิดหมู่บ้านในเมือง กล่าวคือ
มีชุมชนที่อยู่กันเป็นกลุ่มที่ยังรักษาไว้ซึ่งพฤติกรรมปฏิบัติเหมือนกับอยู่ในชนบท
หากแต่มีกายภาพอยู่ที่เมืองใหญ่
ตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งคือภายใต้สังคมเกษตร
คนมักจะไม่คำนึงถึงการตรงต่อเวลา เมื่อนัดว่าจะพบกันตอนเช้าซึ่งหมายถึงตี
5 - เที่ยงวัน ไม่ได้กำหนดเจาะจง แต่ในสังคมเมืองอย่างกรุงเทพฯ
นี้การนัดพบจะกำหนดตายตัวคือ 9.00 น. หรือ 9.30 น.
แต่ก็จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของคนในสังคมยังคงรักษาไว้ซึ่งค่านิยมแบบสังคม
เกษตร การตรงต่อเวลามักจะไม่สม่ำเสมอ นักศึกษามาสาย
การนัดหมายมักจะผิดเวลา
โดยไม่มีความรู้สึกว่าเป็นการเสียบุคลิกและเสียมารยาท
นี่คือตัวอย่างของความไม่สอดคล้องของค่านิยมและพฤติกรรมเมื่อมีการเปลี่ยน
แปลงทางสังคมเกิดขึ้น
แต่สิ่งซึ่งควรพิจารณาอย่างยิ่งก็คือ องค์กรต่างๆ
ในสังคมที่มีการพัฒนามาอย่างยาวนานยังสอดคล้องอยู่กับสังคมที่เปลี่ยนแปลง
หรือไม่อย่างไร ตัวอย่างเช่น
การบริหารภาครัฐที่ข้าราชการจำนวนไม่น้อยยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ซึ่งมี
อำนาจ มีสถานะ บางครั้งมีอภิสิทธิ์
ยังคงมีทัศนคติและพฤติกรรมแบบเดิมซึ่งภายใต้สังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
อย่างพลวัต และระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เน้นถึงสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค
ย่อมเกิดความไม่สอดคล้องระหว่างผู้ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานขององค์กรบริหาร
สาธารณะ กับประชาชนผู้เสียภาษีและเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
ในส่วนของสถาบันการศึกษา
วิชาความรู้และการเรียนการสอนอาจจะตามไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม
เช่น ครูบาอาจารย์ที่ไม่ค้นคว้าเพิ่มเติมตามไม่ทันกับยุคสมัย
วิธีการสอนที่มุ่งเน้นการท่องจำโดยไม่ปล่อยให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็น
หรือหลักสูตรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม
เนื่องจากทางภาคเอกชนก้าวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วกว่าการปรับตัวของสถาบันการ
ศึกษา ย่อมจะนำไปสู่ช่องว่างระหว่างบุคลากรที่ผลิตโดยสถาบันการศึกษากับความต้อง
การของสังคมในยุคใหม่ อันได้แก่
อารยธรรมในคลื่นลูกที่สองและผสมกับคลื่นลูกที่สามคืออุตสาหกรรมและข่าวสาร
ข้อมูล
แต่ที่สำคัญที่สุด
ในขณะที่สังคมกำลังก้าวไปอย่างรวดเร็วด้วยวิธีการแบบวิทยาศาสตร์
มีการค้นคว้าวิจัย มีองค์ความรู้ใหม่ๆ
ที่มาจากการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ
สังคมบางส่วนยังผูกพันอยู่กับความเชื่อและค่านิยมแบบเดิม
จะเห็นได้ว่ายังมีการไหว้ปรากฏการณ์ที่ผิดปกติ เช่น แพะที่มีขา 5
ขาโดยเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะให้โชคให้ลาภ
ความไม่สอดคล้องของความเชื่อกับการพัฒนาในสังคมยุคใหม่นี้
อาจจะส่งผลในทางลบต่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและการเมืองได้ คำกล่าวที่ว่า
"ไม่เชื่ออย่าลบหลู่"
เป็นคำกล่าวที่แสดงถึงการเปิดเสรีให้คนมีความเชื่ออะไรก็ได้
ซึ่งก็เป็นสิทธิอันชอบธรรม
แต่ขณะเดียวกันก็เสมือนเป็นการให้ความชอบธรรมกับความเชื่อที่ไร้แก่นสารและ
สาระ
ความไม่สอดคล้องระหว่างสิ่งซึ่งมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน
จนเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี
กับความรู้แบบใหม่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความตึงเครียดทางสังคม
ถ้าเป็นกรณีที่ไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อปัจเจกบุคคลหรือคณะก็พอจะอดทนอดกลั้น
ได้ แต่ถ้าหากกระทบต่อสิทธิของผู้อื่น เช่น
การเปิดเครื่องกระจายเสียงเฉลิมฉลองจนถึงตีหนึ่งโดยไม่เกรงใจเพื่อนบ้าน
เหมือนกับที่เคยทำในชนบท ย่อมก่อให้เกิดความตึงเครียดในสังคม
การไม่รักษาความสะอาดของบริเวณที่อยู่อาศัย
ทิ้งขยะเกะกะจนหลายแห่งในกรุงเทพฯ เป็นที่ทิ้งขยะโดยปริยาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินว่างเปล่าที่เจ้าของปล่อยปละละเลยจะมีถุงพลาสติกและ
ขยะกองพะเนินเป็นภาพที่น่ารังเกียจอย่างยิ่ง
ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ ก็คือความไม่สอดคล้องระหว่างค่านิยม
วัฒนธรรมและพฤติกรรมดั้งเดิม
กับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ประชาชนต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อไม่ให้เกิดผล
ในทางลบต่อสังคมและต่อผู้อื่นตามที่ได้กล่าวมาแล้ว
ในทางการเมือง
ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะต้องให้น้ำหนักกับอำนาจอธิปไตยของประชาชน
คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคอันเป็นพื้นฐานสำคัญ
แต่ถ้าผู้ปฏิบัติการทางการเมืองมองประชาชนในฐานะเป็นเครื่องมือเพื่อตนจะ
เข้าสู่ตำแหน่งอำนาจ โดยใช้วิธีการที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย
ย่อมจะเป็นการแสดงออกถึงความไม่เคารพต่อประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
นั้น การปลุกเร้ามวลชนโดยใช้ข้อมูลซึ่งไม่เป็นความจริง
โดยอาศัยความอ่อนแอของสังคม
ฉกฉวยประโยชน์และละเมิดต่อกฎหมายและความถูกต้อง
คือความไม่สอดคล้องระหว่างการพัฒนาสังคมกับการพัฒนาทางการเมือง
ขณะเดียวกัน ถ้าประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง
เรียกร้องการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น
แต่ระบบการเมืองไม่สามารถจะตอบรับความตื่นตัวดังกล่าว
ก็จะชี้ให้เห็นถึงการเสียดุลระหว่างความตื่นตัวทางการเมืองและการพัฒนา
สถาบันทางการเมืองที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงดงกล่าว
ซึ่งก็จะเป็นปัญหาอีกปัญหาหนึ่ง
การพัฒนาโดยสามารถสร้างดุลยภาพได้
จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการพัฒนาที่ต่อเนื่องและยั่งยืนทั้งในทางการเมือง
สังคม และเศรษฐกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น