2 นักวิจัย มทส. คิดค้น "เครื่องสับพืชผลทางการเกษตร"
สุดยอดนวัตกรรมใบมีดแบบพิเศษ สามารถถอด เลือกใช้งานตามความต้องการ
ทำให้เครื่องจักรมีประสิทธิภาพสูง สับพืชผลทางการเกษตรหลากหลายชนิด
นอกจากนี้ยังสามารถรีไซเคิลเหล็กเก่า
นำกลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศักดิ์ระวี ระวีกุล นักศึกษาปริญญาเอก และ
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร. สราวุฒิ สุจิตจร สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส)
ผู้คิดค้นเครื่องสับพืชผลทางการเกษตร
กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบและสร้างเครื่องจักร
เพื่อต้องการแก้ปัญหาในการใช้เทคโนโลยีแปรรูปมันสำปะหลังเป็นมันเส้นหรือ
ชิ้นส่วนขนาดเล็ก เนื่องจากมันสำปะหลังมีความชื้นและ เส้นใยสูง
ขณะที่เครื่องจักรที่ใช้งานกันโดยทั่วไปทำงานและสับย่อยชิ้นมันสำปะหลัง
มักเกิดการติดล็อคในใบสับและเครื่องจักร
ทำให้เครื่องจักรทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ
ทั้งยังสิ้นเปลืองพลังงานจากการใช้เครื่องยนต์หรือใช้มอเตอร์ระบบ 3 เฟส
ขนาดใหญ่มาฉุดดึงเครื่องจักรให้ทำงานอีกด้วย
"ทีมวิจัยได้คิดค้นและออกแบบเครื่องจักรดังกล่าวได้เป็นผลสำเร็จ
สามารถ ใช้สับพืชผลทางการเกษตรได้หลากหลายชนิด อาทิ
สับหัวมันสำปะหลังสดออกเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดประมาณ 1 x 2 x 0.5 เซนติเมตร
ย่อยกาบมะพร้าวแห้งออกเป็นเส้นใยมะพร้าว
พร้อมที่จะใช้ในกระบวนการผลิตเครื่องเรือน หรือวัสดุในการปลูกพืช
เพาะเห็ด ย่อยกะลามะพร้าวสำหรับทำเชื้อเพลิง เป็น ต้น
ทั้งนี้เครื่องจักรนี้สามารถเสียบปลั๊กไฟบ้านใช้งานได้ทั่วไป
มอเตอร์ที่ใช้เป็นแบบ เฟสเดียว บำรุงรักษาง่ายและประหยัดพลังงาน
ด้วยการออกแบบใบมีด 3 ชั้น แต่ละชั้นมีลักษณะแตกต่างกัน
เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานจริง"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศักดิ์ระวี ระวีกุล นักศึกษาปริญญาเอก และ
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร. สราวุฒิ สุจิตจร สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส) ผู้คิดค้น
จุดเด่นของเครื่องจักรดังกล่าว ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.
สราวุฒิ สุจิตจร กล่าวว่า
"ชิ้นส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบมีดได้รับการออกแบบพิเศษ
เหมาะสำหรับการกระแทก สับ ฝานหรือเฉือน โดย
ทีมวิจัยใช้เหล็กหมดอายุที่มีปริมาณคาร์บอนสูง
อันเป็นของเสียจากภาคอุตสาหกรรมมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลด้วยการอบอ่อนแบบ
พิเศษ และกระบวนการอบชุบที่ทีมวิจัยเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น
ซึ่งแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ทำให้เหล็กหมดอายุกลายเป็นใบมีดที่แข็งแกร่ง
เหนียวและทนทาน สามารถใช้สับพืชผลทางการเกษตรได้หลากชนิด
จุดเด่นของการออกแบบชุดใบมีด ซึ่งจะมีใบมีดอยู่ทั้งหมด 3 ชุด
แต่ละชุดสามารถถอดประกอบได้ ลดหรือเพิ่มจำนวนใบมีดได้
ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน"
ขณะนี้ทีมวิจัยได้สร้างเครื่องจักรต้นแบบซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดที่
เป็นไปได้ในการใช้งานจริงในภาคสนาม ต้นทุนไม่เกิน 5 แสนบาท
และได้จดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว
หากมีการผลิตเป็นจำนวนมากต้นทุนก็จะต่ำลง
" ตอนนี้เราต้องการขยายขนาดเครื่องจักรต้นแบบเพื่อนำไปสู่การผลิตที่ใหญ่ขึ้น
ก็ไม่ต้องทำการปรับปรุงการออกแบบแต่อย่างใด สามารถขยายได้เลย
แต่หากจะขยายให้เป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ในระดับโรงงานอุตสาหกรรมจำเป็นต้อง
มีการดัดแปลงการออกแบบเป็นบางจุด
อย่างไรก็ตามเราไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะทำเครื่องจักรขนาดยักษ์เพื่อ
ไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม
แต่วัตถุประสงค์ตั้งแต่เริ่มออกแบบและสร้างเครื่องจักรนี้
เพื่อต้องการส่งเสริมให้ภาคเกษตรกรรม เช่น สหกรณ์การเกษตร อบต.
เป็นเจ้าของและสามารถจัดตารางการใช้งานให้กับชุมชน กลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น
กลุ่มมันสำปะหลัง กลุ่มผลิตเครื่องเรือน กลุ่มทำขนม หรือ OTOP เป็นต้น
ก็จะเป็นการใช้เครื่องจักรได้อย่างคุ้มค่าตลอดปี
ช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างครบวงจรมากขึ้น
และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น" ศาสตราจารย์ น.ท. ดร.สราวุฒิ สุจิตจร
กล่าวทิ้งท้าย
http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000107391
++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น